การเดินทางของตำรวจไทย / บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

“นอกเครื่องแบบ”

 

การเดินทางของตำรวจไทย (1)

ภาพรวมงานรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโลก

 

เมื่อปรารถนาจะทำความเข้าใจเป็นการเฉพาะ ในเรื่อง “การเดินทางของตำรวจไทย (ROYAL THAI POLICE JOURNEY” เบื้องต้น

จำเป็นต้องเรียนรู้ภาพรวมของงานรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมโลกก่อน

ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า ปรากฏการณ์ของโลกในภาพกว้างมีส่วนเชื่อมโยง ส่งผลกระทบถึง และมีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมองค์กรของหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมไทยด้วย

การรับรู้ลักษณะนี้ย่อมเป็นประโยชน์ในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบ ทำให้เข้าใจความเป็นมาความเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ พฤติกรรม และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ความจำเป็น

ของการมีหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อย

ในสังคม

 

นับแต่สมัยแรกเริ่มที่มีมนุษย์เกิดขึ้นบนโลก มนุษย์แยกอาศัยอยู่ตามเพิงผาและถ้ำต่างๆ มีทั้งที่อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว และรวมไม่กี่ครอบครัวมาอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ ช่วงเวลานั้นการรักษาความสงบเรียบร้อยยังไม่มีรูปแบบที่แน่นอนเพราะมีคนในกลุ่มไม่มาก เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นก็จะช่วยเหลือ ระงับเหตุร้ายเป็นครั้งคราวไป

ระยะต่อมา จำนวนคนมีเพิ่มมากขึ้น จากการรวมกลุ่มไม่กี่ครอบครัวในเบื้องต้น กลายเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ห่างๆ จึงเริ่มมีข้อตกลงร่วมกันภายในชุมชน ระบุว่าอะไรต้องทำ และอะไรห้ามทำ มีการคัดเลือกคนขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าชุมชน เมื่อมีเหตุทะเลาะวิวาทก็จะให้หัวหน้าชุมชนเป็นผู้ตัดสินความ หน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยยังคงเป็นของคนในชุมชนเป็นหลัก หากตกลงกันไม่ได้ จึงจะให้หัวหน้าชุมชนเป็นผู้ตัดสินว่าใครถูก ใครผิด และจะลงโทษคนผิดอย่างไร

เมื่อชุมชนหรือหมู่บ้านเล็กๆ หนาแน่นขึ้นจนขยายตัวเป็นสังคมใหญ่ ระดับความขัดแย้งก็เพิ่มสูงตามไปด้วย ข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันแต่เดิมได้ถูกปรับเขียนเป็นกฎหมายรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมนั้น พร้อมกับจัดตั้งหน่วยงานในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในระยะแรกใช้ยาม นักรบ หรือทหารให้เป็นผู้ทำหน้าที่

หน่วยงานที่ตั้งขึ้นนี้กลายเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้สังคมสงบสุข ส่างผลให้มีคนภายนอกมาอยู่ร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยเฉพาะ ก็ยิ่งมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว กลายเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำให้ประชาชนของชุมชนใหญ่สงบปลอดภัยมากขึ้น

ความสำคัญของหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อยจึงปรากฏชัด ต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงานรักษากฎหมายลักษณะนี้มาเป็นลำดับ

ท้ายสุดจึงพัฒนากลายเป็นหน่วยงานตำรวจในปัจจุบัน

คำว่า “ตำรวจ” ความหมายของพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คือ “…เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบ…” กล่าวคือ ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน

รักษากฎหมายและดูแลรักษาประโยชน์สาธารณะของประชาชน

การทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ช่วยเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจ/สังคมดีขึ้น คนในชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ของประเทศชาติ

พัฒนาการการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโลก

Charlie a London Watchman in the 18th century
https://www.meisterdrucke.uk/fine-art-prints/English-School/464723/Charlie-a-London-Watchman-in-the-18th-century-.html

สามารถแบ่งได้เป็น 6 ยุคใหญ่ๆ คือ

1. ยุคก่อนมีกฎหมาย

เป็นยุคที่อาจกล่าวได้ว่า “ผู้รักษาความสงบคือประชาชน ประชาชนคือผู้รักษาความสงบ” พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะ และด้วยเหตุที่มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน จึงต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เกิดเป็นสังคมเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ห่างกัน

เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ก็จะใช้การส่งเสียงร้องเอะอะโวยวาย (Hue and Cry) หรือใช้การตีเกราะเคาะไม้ ส่งสัญญาณให้ทุกๆ คนออกมาช่วยกันจัดการกับเหตุร้ายนั้น

2. ยุคเริ่มมีกฎหมาย

มนุษย์เริ่มมีการเขียนและจารึกกฎหมายเมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว คือ ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี-ประมวลกฎหมายสุเมเรียน (The Code of Hammurabi-Sumerian Code) ซึ่งใช้บทลงโทษแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ในการบังคับใช้กฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น หากมีเหตุฆ่ากันตาย ญาติของผู้ตายก็จะจับคนที่ฆ่าญาติของตนนำมาฆ่าให้ตายตกไปตามกัน ทำให้เกิดการล้างแค้นไปมาไม่สิ้นสุด หรือหากใครขโมยของคนอื่น เมื่อถูกจับได้ก็จะถูกตัดมือ เป็นต้น

ยุคนี้นับเป็นปลายยุคของ “ผู้รักษาความสงบคือประชาชน ประชาชนคือผู้รักษาความสงบ” เพราะยังคงไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษากฎหมายโดยเฉพาะ รวมทั้งให้ทหารทำหน้าที่รักษาความสงบเป็นครั้งคราวด้วย

The Code of Hammurabi-Sumerain Code
https:/www.britannica.com/topic/Code-of-Hammurbi

3. ยุคเริ่มมีตำรวจ

ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 รัฐเริ่มจัดการลงโทษผู้กระทำผิดเอง ผู้เสียหายกลายเป็นแค่ผู้แจ้งหรือเป็นพยานในคดี ไม่มีสิทธิ์ร่วมตัดสินใจในการพิจารณาคดีด้วยตัวเอง ผู้รักษาความสงบ ได้รับการจัดตั้งให้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยมีเงินเดือนตอบแทน พร้อมกับได้รับการขนานนาม

เรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า “ตำรวจ”

ตำรวจยุคเริ่มต้น มีความเข้าใจเอาเองว่า เป็นผู้รู้เรื่องอาชญากรรม และสามารถเอาชนะอาชญากรรมได้โดยลำพัง ตำรวจจึงไม่พึ่งพาประชาชน เป็นยุคที่ “ตำรวจคือตำรวจ ประชาชนคือประชาชน” แยกจากกันอย่างชัดเจน

การที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐคิดว่าตนเองเป็นผู้รู้ ผู้ชำนาญในการปราบปรามอาชญากรรม ทำให้กฎหมายถูกนำมาใช้เสมือนกับ “ยาฆ่าเชื้อโรค” เพียงด้านเดียว ไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดกับคนไข้ เน้นใช้ความรุนแรงในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การตัดแยกชิ้นส่วนของร่างกายในการประหารชีวิต

มีการใช้ “กฎหมายโทษซ้ำสาม” คือ เมื่อมีผู้ทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่สอง ก็จะถูกลงโทษสองเท่า แต่ถ้าทำผิดซ้ำตั้งแต่ครั้งที่สามขึ้นไป ก็จะถูกลงโทษสามเท่า ไม่ได้ใช้กฎหมายแบบ “รักษาและฟื้นฟูร่างกาย” คือ ไม่ได้ใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาคนในสังคมให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น แต่กลับเน้นใช้การปราบปรามแทนที่การป้องปราม เท่ากับว่า จะรอจนมีเหตุร้ายเกิดขึ้น หรือมีการสูญเสียแล้ว จึงจะนำตัวคนทำผิดมาลงโทษ

ยิ่งใช้ความรุนแรงกับอาชญากรรมมากเท่าใด ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมจะยิ่งรุนแรงและทำให้สังคมเสียหายมากเป็นทวีคูณ