ม็อบราษฎร ฝ่าม่านหมอกแห่งคำถาม 4 แกนนำไม่ได้ประกัน อิสรภาพถูก ‘ขัง’ ยาว

ม็อบราษฎรฝ่าม่านหมอกแห่งคำถาม4 แกนนำไม่ได้ประกันอิสรภาพถูก ‘ขัง’ ยาว

 

การเคลื่อนไหวของม็อบราษฎร กลับมาชุมนุมกดดันรัฐบาลอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่เริ่มเบาบาง

ขณะที่บรรดาแกนนำต่างทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116

รวมถึงความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่รัฐบาลอ้างว่าใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อีกด้านกลับถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมราษฎรอย่างต่อเนื่อง

ในจำนวนนี้รวมถึง 4 แกนนำคนสำคัญอย่างนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายอานนท์ นำภา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงก์ ที่อัยการส่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา จากกรณีร่วมชุมนุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และปักหมุดลงบนท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563

ศาลพิจารณาเห็นว่าทั้ง 4 คนยังกระทำผิดซ้ำๆ หากอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอาจก่อเหตุลักษณะนี้อีก จึงไม่ให้ประกันปล่อยตัวชั่วคราว ส่งเข้าไปคุมขังในเรือนจำทันที

กลายเป็นชนวนส่งผลให้สถานการณ์ชุมนุมกลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมเพิ่มข้อเรียกร้องใหม่ให้ปล่อย 4 แกนนำ นำมาสู่การลุกฮือเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย

 

การชุมนุมรอบใหม่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ โดยประกาศนัดชุมนุมด่วนยังสกายวอล์ก แยกปทุมวัน กดดันคืนอิสรภาพแก่ 4 แกนนำที่ไม่ได้รับการประกันตัว

เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างตำรวจที่ขอให้ยุติการชุมนุมกับผู้ชุมนุมที่ฮือขับไล่ แต่ไม่มีเหตุรุนแรงบานปลาย

จนถึงการนัดชุมนุมใหญ่ 13 กุมภาพันธ์ ในกิจกรรม “นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน”

กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยืนกรานข้อเรียกร้องปล่อยตัว 4 แกนนำ พร้อมนำผ้าแดงผืนใหญ่มาคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนขบวนการชุมนุมไปยังศาลหลักเมือง

แต่เมื่อขบวนมาถึงบริเวณศาลฎีกา ม็อบราษฎรต้องเผชิญหน้ากับตำรวจที่นำเครื่องกีดขวางมาตั้งสกัด เจรจาขอให้ส่งเพียงตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าไปสักการะศาลหลักเมือง

ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมบางส่วนเข้ารื้อเครื่องกีดขวางและขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน สถานการณ์เริ่มบานปลาย นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ แกนนำราษฎรจึงตัดสินใจประกาศยุติชุมนุมเวลา 20.20 น.

พร้อมประกาศเส้นตายให้ปล่อยตัวแกนนำทั้ง 4 คนภายใน 7 วัน หากไม่ทำตามจะกลับมาชุมนุมอีกครั้งวันที่ 20 กุมภาพันธ์

แม้แกนนำจะสั่งยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมบางส่วนยังคงเผชิญหน้ากับแนวตำรวจ มีการขว้างปาสิ่งของและประทัดยักษ์

ตำรวจจึงยกระดับเข้าควบคุมสถานการณ์ จับกุมผู้ชุมนุมจำนวน 11 ราย

ระหว่างนั้นมีอาสาสมัครพยาบาลซึ่งกำลังทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ กลับถูกเจ้าหน้าที่รุมทำร้ายบาดเจ็บเสียเอง ส่งผลให้สถานการณ์ทวีความร้อนแรง

ภาพคลิปเหตุการณ์ที่แชร์ต่อกันในโลกโซเชียล ทำให้ตำรวจถูกสังคมตั้งคำถามอย่างหนักว่ากระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

ผลักดันแฮชแท็ก #ตำรวจกระทืบหมอ ขึ้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์ชั่วข้ามคืน

 

เหตุการณ์ตำรวจกับอาสาสมัครพยาบาล กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ลุกลาม

เหตุใดตำรวจถึงต้องทำร้ายอาสาสมัครทางการแพทย์

คำถามนี้ถูกส่งต่อไปยัง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ในฐานะหัวหน้าควบคุมเหตุการณ์ ซึ่งได้ชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้ความรุนแรง แม้จะถูกขว้างปาสิ่งของเข้าใส่จนบาดเจ็บไปถึง 23 นายก็ตาม

ยืนยันไม่มีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง หรือแก๊สน้ำตา

ในวันนั้นตำรวจจับกุมผู้ชุมนุม 11 ราย มี 3 รายเมาสุราจึงปล่อยตัวไป ส่วนอีก 8 รายดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานและร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ซึ่งต่อมาศาลให้ประกันตัวทั้งหมด หลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท

ส่วนที่มีการกล่าวหาตำรวจทำร้ายหมอและพยาบาลนั้น จากการตรวจสอบพบว่าบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีอาชีพเป็นหมอหรือพยาบาล แต่เป็นบุคคลที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมและร่วมก่อความวุ่นวาย

ซึ่งตำรวจประกาศแจ้งเตือนหลายครั้งให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่ยังคงขว้างปาสิ่งของและทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องตั้งแนวและผลักดันคนออก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า ในส่วนนี้ต้องพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าคนเจ็บเป็นเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครพยาบาลจริงหรือไม่ ขออย่าบิดเบือนหรือฟังความด้านเดียว พร้อมย้ำทุกคนต้องเคารพกฎหมาย

กระนั้นก็ตาม แถลงการณ์ของแพทยสภา แสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการกระทำยั่วยุและละเมิดกฎหมาย ขอให้ทุกฝ่ายให้เกียรติและระมัดระวังไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์

ขอหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดให้มีระบบการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม ติดสัญลักษณ์ที่ระบุเป็นบุคลากรหรืออาสาสมัครทางการแพทย์ที่ชัดเจน พร้อมกับแสดงความชื่นชมบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ที่เสียสละ มีจิตอาสาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุม

ทั้งหมดคือม่านหมอกแห่งคำถามว่า การปะทะรุนแรงเริ่มต้นจากจุดใด

 

มีการนำเสนอมุมมองน่าสนใจว่า

การที่ 4 แกนนำม็อบราษฎรถูกส่งตัวเข้าคุมขังในเรือนจำหลังจากไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นศาล เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลที่กำลังต้องเผชิญศึกหลายด้าน

ทั้งเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การเยียวยา ปัญหาบ่อนพนัน ยาเสพติด แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองที่กลับมาร้อนระอุ จากการยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน

หากต้องแบ่งสมาธิมารับศึกม็อบราษฎรอีกด้านก็จะหนักเกินกำลัง

แล้วก็เหมือนโชคเข้าข้าง เมื่อศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำม็อบราษฎรในคดีมาตรา 112 เพราะนั่นทำให้รัฐบาล “ลอยตัว” จากแรงกดดัน “ปล่อยเพื่อนเรา” โดยอ้างว่าเป็นเรื่องดุลพินิจของศาลอาญา

ส่วนการชุมนุมกลุ่มราษฎร ก็โยนให้เป็นภาระหน้าที่ของตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย รัฐบาลยืนดูอยู่วงนอก ให้สัมภาษณ์โจมตีแต่ไม่ลงมาเป็นคู่ปะทะ

ในระยะเวลากระชั้นชิด รัฐบาลเหลือแค่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งต้องกังวลเพราะเป็นเกมที่รัฐบาลได้เปรียบ เนื่องจากมีเสียง ส.ส.ในสภาเหนือกว่าฝ่ายค้านมากพอสมควร

หลายคนวิเคราะห์หมากตานี้ฉายให้เห็นว่ารัฐบาลมีเชิงการเมืองสูง การคุมขัง 4 แกนนำม็อบราษฎรในเรือนจำ แม้นำมาสู่การชุมนุม “ปล่อยเพื่อนเรา” อันแข็งกร้าว แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ 3 ข้อเรียกร้องเดิม ลดความเข้มข้นลง

โดยเฉพาะการที่พรรคพลังประชารัฐจับมือกับ ส.ว.เตะถ่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืมมือที่ประชุมร่วมรัฐสภายื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ เป็นผลให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องล่าช้า และอาจถึงขั้นล้มกระดานด้วยซ้ำ

ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องเดิมของม็อบราษฎร ที่ควรเคลื่อนไหวควบคู่ไปกับการเรียกร้องปล่อยตัว 4 แกนนำ เพนกวิน ทนายอานนท์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข และหมอลำแบงก์

รวมถึงแกนนำอีกหลายคนที่ชะตากรรมอาจซ้ำรอยเดียวกัน ไม่ว่า รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ และมายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เป็นต้น

 

อิสรภาพถูกจองจำของ 4 แกนนำม็อบราษฎร มีแนวโน้มถูกขังยาว

คือชนวนนำมาสู่การลุกฮือระลอกใหม่ของม็อบราษฎรที่ยกระดับความแข็งกร้าวมากขึ้น เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วน กับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ท่ามกลางม่านหมอกแห่งคำถาม

“อัยการจะพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องในคดีมาตรา 112 หรือไม่ เพราะมันเป็นคดีเดียวกับทั้ง 4 แกนนำ เพราะธงมันออกมาชัดเจนแล้วว่าเขาต้องการให้เราเข้าไปถูกขัง และไม่ได้รับการประกันตัว”

คือบทสรุปคำตอบจากรุ้ง ปนัสยา