คำ ผกา | สังคมเส็งเคร็ง

คำ ผกา

นั่งอ่านข่าวคนแก่อายุเจ็ดสิบ แปดสิบ หลายรายต้องคืนเบี้ยผู้สูงอายุที่ได้รับมา บ้างก็ต้องคืนห้าหมื่นกว่าบาท บ้างก็ต้องคืนแสนกว่าบาทพร้อมดอกเบี้ย

หลายรายบอกว่า ไม่มีเงินคืน ขอยอมติดคุกก็ได้

ที่สำคัญไม่ได้มีแค่รายสองราย แต่มีหลายสิบรายทั่วประเทศ

ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากหลักเกณฑ์การได้รับเบี้ยผู้สูงอายุมีอยู่ว่า ต้องไม่ได้รับเงิน “สวัสดิการ” อื่นๆ จากรัฐบาลเป็นที่ซ้ำซ้อนกัน

เรื่องของเรื่องเมื่อระบบของกรมบัญชีกลางในการมอบ “สวัสดิการ” เหล่านี้ให้กับประชาชนเกิดจะสามารถเชื่อมต่อข้อมูลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จึงทำให้มีข้อมูลมาในระบบว่า นางนั้น นายนี้ ได้รับเงินบำเหน็จจากสามีที่ตายไปแล้วบ้าง ได้รับเงินจากลูกที่เป็นตำรวจ ทหารแล้วตายในหน้าที่บ้าง เมื่อปรากฏข้อมูลเช่นนี้ “หลวง” ท่านว่า นางและนายดังกล่าวรับเงินสวัสดิการซ้ำซ้อน ผิดกฎหมาย ปิดบังความจริง ริจะโกงเงินหลวง

ดังนั้น จึงต้องเอาเงินมาคืนพร้อมดอกเบี้ย มิเช่นนั้นก็จงมารับโทษทัณฑ์แต่โดยดี

อ้างตามระเบียบก็ใช่ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นพยายามจะช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยการอุดหนุนคนแก่เหล่านั้น รายละ 1,000 บาทต่อเดือน (น้อยโคตรๆ แต่เมื่อมองว่า นี่ท้องถิ่นพยายามจะให้สวัสดิการประชาชน ก็ต้องชมเชยว่าดีกว่าไม่พยายาม และเรื่องนี้มันควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางด้วยซ้ำไป เพราะรัฐบาลกลางเอาภาษีไปกองไว้ที่ตัวเองหมด ท้องถิ่นทำได้แค่นี้ก็เก่งแล้ว)

ถามต่อไปอีกว่า คนแก่ที่อายุหกสิบ เจ็ดสิบ และสังกัดชนชั้นที่ห็นว่าเงินหนึ่งพันบาทเป็นเงินที่มีค่ามากๆ สำคัญมากๆ คือคนแก่ที่ “จน” ใช่หรือไม่?

ถามต่อไปว่า คนแก่ที่ “จน” เหล่านี้ย่อมไม่ใช่อีลีต ไฮโซ ราชบัณฑิต หรือมีความรู้พอที่จะเข้าใจว่า เงินเบี้ยคนชราจากเทศบาลกับเงินรายเดือนที่ “หลวง” จ่ายเพราะลูกไปตายในหน้าที่นั้นถือเป็นเงิน “สวัสดิการ” อย่างเดียวกัน

จินตนาการถ้าฉันเป็นยายอายุ 80 แล้วเทศบาลมาถามฉันว่า “เนี่ย มีเบี้ยยังชีพที่เทศบาลจะให้คนแก่นะ เดือนละพัน ยายได้รับเงินสวัสดิการอะไรอยู่แล้วไหม ถ้าได้จะถือว่าไม่มีสิทธิ แต่ถ้าไม่ได้ จะได้เงินนี้” ถ้าฉันเป็นยาย ฉันก็ต้องคิดว่า เงินเทศบาล กับเงินเดือนที่เป็นของลูกที่ตายในหน้าที่ มันต้องเป็นเงินคนละส่วนกันสิ

ลูกเราตายในหน้าที่ เราได้รับเงินชดเชย – อันนี้มันไม่น่าเป็นสวัสดิการป่าววะ? เงินลูกตายคือเงิน “ชดเชย” แต่เงินเบี้ยคนชราเนี่ย มันเงินสวัสดิการที่เทศบาลจัดให้เราคนแก่โดยเฉพาะ!

อันนี้มันไม่มีล่วงรู้หรือเปล่าว่า นิยามคำว่าเงิน “สวัสดิการ” ของทางหลวงเจ้าท่านรัฐบาลนั้นนิยามว่าอย่างไร?

คำถามต่อไปคือ ตอนที่ไปถามคนแก่ว่า ได้รับเงินสวัสดิการอะไรไปแล้วบ้าง ซ้ำซ้อนหรือเปล่า เจ้าหน้าที่ทั้งหลายได้ไปบอกคนแก่เหล่านั้นหรือไม่ว่า “คุณตาคะ คุณยายคะ หลวงเขากำหนดไว้อย่างนี้นะ ถ้าตา ถ้ายายได้เงินชดเชย ลูก-ผัวตาย หรือได้รับเงินดังต่อไปนี้อยู่แล้ว ไม่มีสิทธินะ เอาล่ะ ยายตอบคำถามหนูนะ ยายได้รับเงินนี้ไหม? ตาได้รับเงินนี้ไหม? บลา บลา”

ก่อนให้เงินเขาได้ไปแจกแจงกับเขาละเอียดหรือไม่?

และเมื่อระบบเกิด connect กันแล้วเห็นว่า อ้าว มีคนแก่ได้รับเงินซ้ำซ้อน อีทาง “หลวงท่าน” ก็จะต้องเถรตรง เที่ยงธรรม ส่งจดหมายไปเรียกเก็บเงินคืนรัวๆ

ส่วนคนแก่ชาวชนบทเหล่านั้นที่เกิดและโตมาในสังคมไทยในยุคที่เห็นข้าราชการแล้วกลัวตัวสั่น ถูกฝังหัวมาให้กลัว “หลวงท่าน” อย่างสุดๆ

เจอจดหมายแบบนี้เข้าไปก็ตัวสั่นงันงก ยกมือไหว้ท่วมหัว ยายไม่รู้ ตาไม่รู้ เงินรับมาเป็นสิบปี เดือนละพัน เดือนละพัน ได้มาก็ต้องหมดไป แล้วจะให้ไปเอาเงินที่ไหนมาคืน

แล้วถ้าเป็นคนแก่มั่งคั่งมีเงินหมื่นเงินแสน ใครเขาจะมาตัวสั่นงันงกกลัวโดนหลวงท่านจับเข้าคุก

ฉันไม่รู้ว่าในทางกฎหมายต้องทำอย่างไร แต่ฉันขอคิดแบบชาวบ้านๆ ว่า ไหนๆ ระบบ “หลวงท่าน” ก็ connect กันแล้ว ก็ควรจะทวนข้อมูล รวบรวมมาทีเดียวว่าตอนนี้มีผู้ได้รับเงิน “สวัสดิการ” ซ้ำซ้อนนี้ทั่วประเทศไทยทั้งหมดกี่คน ทำให้เกิดปัญหาทางบัญชีเป็นเงินทั้งหมดเท่าไหร่

จากนั้นควรทำการ “นิรโทษ” ทั้งหมดนี้เสีย เซ็ตซีโร่ไป

ถ้าจะมีคนตั้งใจหลอกลวงจริงๆ ก็ต้องถือว่าทั้งหมดนี้เป็นความผิดจากทางภาคราชการด้วยช่วยไม่ได้ ยกผลประโยชน์ให้แก่จำเลยไป

จากนั้นค่อยมานั่งนับหนึ่งใหม่ ประกาศให้ชัดๆ ว่า มีข้อยกเว้นอะไรบ้างที่จะทำให้คนแก่ทั้งหลายไม่ได้เงินเดือนละหนึ่งพันบาทนี้ เขียนหรือทำกราฟฟิก รูปภาพเข้าใจง่ายๆ

แต่นี่คือการแก้ปัญหาไปตามน้ำกับระบบที่เป็นอยู่ แต่อันที่จริง เราสามารถทำได้ดีกว่านี้ในเรื่องของ “สวัสดิการ” ประชาชน ที่ไม่ใช่ “บัตรคนจน” ที่บังอาจเรียกว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

ตัดภาพมาที่ข่าวภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อสวัสดิการ พยายามรวบรวมรายชื่อประชาชน เพื่อเสนอ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติฉบับประชาชน เสนอให้ยกเลิก “เบี้ยยังชีพชราภาพ” เป็น “บำนาญแห่งชาติ” แทน

ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ฉันคิดว่าสังคมไทยต้องขจัดสำนึกและความเข้าใจโลกและสังคมจากกรอบคิดแบบระบบมูลนายออกไปก่อน นั่นคือ ทุกวันนี้คนไทยชินที่จะแบ่งคนออกเป็นเกษตรกร คนค้าขาย ข้าราชการ ราวกับว่าเรายังสังกัดมูลนาย บวกกับแนวคิดเรื่องวรรณะในศาสนาฮินดู

ทำให้การออกแบบ “สวัสดิการ” ของเราไม่สามารถเกิดขึ้นในรูปแบบของ universal หรือ “ถ้วนหน้า” ได้ พอจะทำอะไรถ้วนหน้า ก็จะถูกเรียกว่า “เหมาเข่ง”

พอจะทำอะไรให้เหมือนๆ กันถ้วนหน้า ก็จะคอยคิดแต่ว่าเดี๋ยวประชาชนจะเอาเปรียบ “หลวง” เดี๋ยวประชาชนจะหลอกลวง เดี๋ยวคนที่มีตังค์จะพลอยได้ประโยชน์จากการช่วยคนจน เดี๋ยวเงินไปถึงคนที่ “ต้องการจริงๆ”

เฮ้ยยยยย สวัสดิการรัฐไม่ใช่ “ความช่วยเหลือ”

แต่เป็นรูปแบบการบริหารเงิน ทรัพยากรอย่างหนึ่ง ที่คนเขาเชื่อว่าด้วยวิธีการบริหารแบบนี้ มันจะสร้างคุณภาพชีวิต “มาตรฐาน” สำหรับคนทุกคนที่เป็นพลเมืองของรัฐ

ไม่เกี่ยวกับว่าคนจนต้องได้รับความช่วยเหลือมาก คนรวยต้องได้รับความช่วยน้อย เพราะท้ายที่สุดแนวคิดสวัสดิการจะทำให้คนส่วนใหญ่มีฐานะ “ปานกลาง” แต่เป็นปานกลางที่มีคุณภาพชีวิตดีเยี่ยมเหมือนกันหมด

แต่สังคมไทยที่ติดพันกับโลกทัศน์มูลนายและวรรณะ แม้เข้าสู่ระบบราชการสมัยใหม่ ก็ทำระบบให้เป็นระบบสวัสดิการสำหรับข้าราชการ แล้วส่วนที่เหลือให้เรียกว่าการสงเคราะห์คนยากจน ที่ต้องพยายามคัดกรองว่าใครจนจริง ใครจนปลอม

แล้วถ้าจับได้ว่าใครจนปลอม คนนั้นก็ต้องถูกลงโทษ (เอาเข้าจริงๆ คนจนจริงจนปลอม ก็คือคนจนอีหรอบเดียวกันนั่นแหละ แค่จนมากกับจนน้อยหน่อย)

เมื่อติดกับวิธีคิดแบบมูลนายและวรรณะ ทุกวันนี้แม้เรามี 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ยังมีสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการแยกออกไป มีประกันสังคมแยกออกไป ทั้งๆ ที่ควรทำให้ทุกคนมาอยู่ 30 บาทรักษาทุกโรค แล้วสร้างระบบ “ประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่เจ๋งๆ สำหรับทุกคนไปเลยระบบเดียว

แต่ก็ไม่มีใครยอม เพราะคนที่เป็นข้าราชการก็กลัวว่าตัวเองจะได้คุณภาพการรักษาพยาบาลที่ด้อยลง ซึ่งแปลกมาก แทนที่จะคิดว่า เมื่อรวมเป็นกองเดียว ข้าราชการซึ่งมีจำนวนมากจะสร้างอำนาจต่อรองทำให้ประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีระบบที่เจ๋ง ดีขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งท้ายที่สุดผลลัพธ์คือคนไทยทุกคนจะได้เข้าสู่การบริหารสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

เรื่องเงินบำนาญก็เช่นกัน มีทั้งบำเหน็จ บำนาญของข้าราชการไม่รู้กี่ระบบ ไขว้กันไปมา ต่างคนต่างบริหาร เสร็จแล้วก็ต้องมาทำการ “สงเคราะห์” ให้เงินคนแก่เดือนละพันบาท แบบมีเงื่อนไขไม่ให้ทับซ้อนกับเงินอื่นๆ

ทั้งๆ ที่วิธีที่ง่ายและเป็นสากลคือการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับคนไทยทุกคน

ไม่ต้องแยกข้าราชการ พนักงานบริษัท อาชีพฟรีแลนซ์

ทำให้คนไทยทุกคนมีบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ผูกกับบัตรสามสิบบาท และให้ทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร

กำหนดอัตราการจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามอัตรารายได้ และสำหรับคนที่ไม่มีรายได้ เมื่ออายุ 60 แล้ว อย่างต่ำสุดจะมีเงินเดือนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเงินบำนาญไปจนตาย อย่างต่ำที่สุดเดือนละเท่าไหร่

ส่วนคนที่โดนหักเงินไปสม่ำเสมอก็จะได้เงินบำนาญจากกองทุนตามสัดส่วนที่ถูกหักเงินไปตลอดระยะเวลาที่มีรายได้จากการทำงาน

นี่ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน และไม่ได้เป็น “สังคมนิยม” จัดอะไรนักหนา แค่การบริหาร “เงิน” เพื่อเป็นหลักประกันให้พลเมืองทุกคนมีความมั่นคงในชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ต้องแบ่งแยกตามคอนเซ็ปต์มูลนาย

แค่คิดว่า “คนเท่ากัน” พลเมืองก็คือพลเมือง จะข้าราชการ จะชาวนา จะคนค้าขาย จะคนไม่มีงานทำ แต่พวกเขาก็คือ “พลเมือง” ของประเทศชาติที่จะดีจะชั่วก็ต้องได้รับการดูแลตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งมีชีวิตในฐานะพลเมือง

ไม่ใช่ขอทาน ไม่ใช่ผู้ยากไร้ น่าสมเพชเลยต้องเข้าไปสงเคราะห์

เมื่อไม่ใช่การสงเคราะห์ก็ไม่ต้องไปนั่งกรองนั่งตรวจสอบว่าใครจนจริง ใครลำบากจริง หรือใครมีตังค์ควรสละสิทธิ์ให้คนอื่น

และนี่คือความหมายของการทำสวัสดิการของรัฐปกติธรรมดา

และในประเทศที่คนเขาคิดเป็นเขาจะเข้าใจว่า ทั้งหมดนี้ก็เพื่อภาวะปกติสุขของสังคมโดยรวม ทุกคนดูแลตัวเองได้จากบริการและสวัสดิการโดยรัฐส่งผลให้ไม่มีใครเป็นภาระต่อใครโดยรวม ทุกคนพึ่งพา ช่วยเหลือตัวเองได้ประมาณหนึ่ง เราก็สบาย เขาก็สบาย รัฐบาลก็สบายไม่ต้องเสียเวลาไปกับการจัดการปัญหาสังคมวงเวียนชีวิต

มีเวลาไปพัฒนาประเทศในสเต็ปที่มันก้าวหน้ากว่าเรื่องปัญหาปากท้องแบบพื้นๆ

แค่เนียะ อีประเทศไทยเราก็เข้าใจยากเข้าใจเย็น

พอพูดเรื่องรัฐสวัสดิการก็ต้องเถียงคอเป็นเอ็นว่า เดี๋ยวทำให้คนขี้เกียจ คนขยันก็เสียเปรียบสิ

คิดได้แค่นี้ก็ไม่ต้องไปไหน อยู่เป็นทาสหาภาษีปรนเปรอให้รัฐบาลที่มีมายด์เซ็ตเดียวกันคือมายด์เซ็ตกลัวประชาชนได้ดีมีความสุข มายด์เซ็ตกลัวประชาชนโกงเงินหลวง แต่ตัวเองกินภาษีประชาชนไม่คิดชีวิตมองว่าเป็นความเสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง

ไม่เรียกว่าสังคมเส็งเคร็งก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร