ประมวลความคิด ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เสนอไอเดียแก้จน ช่วยคนไทยพ้นวิกฤต / รายงานพิเศษ

แม้จะไม่ได้กลับเมืองไทยมาหลายปี จากมรสุมทางการเมือง

แต่ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์และชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยที่ต้องเผชิญความยากลำบาก และยิ่งสาหัสจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 “ดร.ทักษิณ ชินวัตร” ก็ได้แสดงความเป็นห่วงพร้อมให้กำลังใจอยู่เสมอ

ล่าสุด ถือเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ชุดใหญ่ในรอบหลายปี เมื่อทักษิณได้ปรากฏตัวในรูปคลิปวิดีโอ ในงาน CARE Talk “คนไทย ไร้จน” – “ฝันเฟื่อง” หรือ “เรื่องจริง” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เพื่อเสนอทางออกปัญหาความยากจนที่คนไทยได้รับอันเป็นผลจากวิกฤตโรคระบาดที่ปั่นป่วนโครงสร้างทั้งระบบ ให้สามารถกลับมามีชีวิตที่ดีต่อได้ และสามารถบรรเทาความเสียหายเมื่อเผชิญวิกฤตรูปแบบใหม่ในอนาคต

ท่ามกลางแก้ไขปัญหาในปัจจุบันที่เยียวยาด้วยการแจก ที่ต้องแลกมาด้วยการรีดภาษีในภาวะทุกข์ยากและกู้เงินจำนวนมหาศาล

 

ทักษิณสื่อสารไปยังผู้ชมที่มีทั้งนักการเมือง นักคิดและคนรุ่นใหม่ในลิโด้ คอนเน็กต์ ผ่านวิดีโดคลิปความยาวประมาณ 20 นาที ย้อนช่วงเวลาเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย 1 ในนโยบายสำคัญที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งคือ การประกาศสงครามกับความยากจน

ทักษิณเริ่มด้วยการยกวาทะของบิล เกตต์ อดีตซีอีโอไมโครซอฟต์ ที่ได้กล่าวว่า

“If you are born poor, It’s not your mistake. But if you die poor, it’s definitely your mistake”

“ถ้าเราเกิดมาจน มันไม่ใช่ความผิดของเรา แต่ถ้าเรายังตายจน มันเป็นความผิดของเรา”

ก่อนที่ทักษิณจะเสริมต่อประโยคดังกล่าวว่า “แต่ว่าถ้าเรายังไม่อยากตายจน แต่ยังต้องตายจนเนี่ย คือหมายความว่าเรามีความพยายามแล้วอะไรแล้ว เราไม่อยากตายจน แต่เรายังต้องตายจน มันเป็นความผิดของรัฐบาล หมายความว่ารัฐบาลมีหน้าที่สร้างโอกาสให้กับประชาชนของตัวเองทุกคน เพื่อจะได้มีโอกาสได้สร้างฐานะและก็ปรับตัวเองจากคนยากจนเป็นคนไม่ยากจน”

ทักษิณย้ำว่า สิ่งเหล่านี้พูดง่ายแต่ทำยาก

 

จากนั้น ทักษิณกล่าวถึงแนวคิด Spirit of Time ซึ่งรับรู้สมัยเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐ โดยในภาษาเยอรมันเรียกว่า Zeitgeist จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย ที่ช่วงจังหวะของเวลามีความลงตัวทุกอย่าง โดยทักษิณระบุว่า ภาวะนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมี 3 สิ่ง นั้นคือ

1. Political Support แรงหนุนทางการเมือง

2. Leadership ภาวะความเป็นผู้นำในการลงมือแก้ไขปัญหา

และ 3. Know-How มีองค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ

ทักษิณได้สรุปความเป็นแรงสนับสนุนทางการเมือง ในการแก้ไขความยากจนว่า เราถือว่าความยากจนไม่ใช่คนจน ความยากจนเป็นการบ่อนทำลายประเทศ ดังนั้น ต้องไม่ให้ความยากจนเหลืออยู่ เพราะความยากจนมีผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

“วันนี้ผมก็อยากจะถามรัฐบาลว่า รัฐบาลมองความยากจนเป็นอย่างไร จะประกาศสงครามไหมครับ เราจะได้ซื้ออาวุธให้กับการแก้ปัญหาความยากจน” ทักษิณกล่าว และว่า สิ่งที่ political support ต้องมี จะเอาจริงไหม สงครามยังไม่เกิดเลยยังซื้ออาวุธ แต่วันนี้สงครามมันเกิดแล้วก็คือสงครามความยากจน มันต้องซื้ออาวุธเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ไม่ใช่ซื้ออาวุธไปใช้สำหรับสงครามที่ยังไม่เกิด

ต่อมา ภาวะความเป็นผู้นำ สิ่งที่ทักษิณสื่อสารออกมาคือ ความแน่วแน่ จริงใจที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนหรือไม่ มีความต้องการแรงกล้าหรือไม่ เมื่อตั้งใจก็ทุ่มเทอย่างเต็มกำลัง

ส่วนองค์ความรู้ในการแก้ไขความยากจน ทักษิณเสนอว่า จะใช้สูตรเดิมมาแก้ปัญหาบนโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดไม่ได้ ต้องปรับสูตรหรือใช้บางส่วน ซึ่งอาจจะใช้ได้ไม่มากนัก เพราะของใหม่มันเปลี่ยนไปเร็วมาก จึงใช้สมมุติตั้งต้นว่า คนจนเพราะรายได้น้อยกว่ารายจ่าย แม้ไปกู้เงินก็ต้องโดนดอกเบี้ย โดนทวงหนี้ พอมีลูก ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น ทางแก้คือ เพิ่มรายได้ จึงเกิดข้อสรุป “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย” แล้วถ้ายังไม่พออีก ต้องขยายโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม

นี่คือจุดเริ่มต้นของสโลแกน “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” ที่ถูกใช้โดยพรรคเพื่อไทยในตอนนี้

 

ทักษิณกล่าวอีกว่า เราอยู่บนโลกของระบบทุนนิยม ตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคมในประเทศจนถึงระบบโลกาภิวัตน์ ทุกกิจกรรมล้วนพึ่งทุน แต่สิ่งที่แตกต่างคือความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนที่ไม่เท่ากัน

“ชาวบ้านไม่มีเงินในการจะมาทำทุน ถ้าไม่มีเงินจะทำทุน มันก็ลำบากที่จะไปทำอะไร ไม่ว่าจะทำอะไรทุกอย่างมันต้องใช้ทุนหมด จะเลี้ยงไก่ก็ใช้ทุน จะไปขายข้าวโพดในตลาดก็ต้องใช้ทุน การเข้าหาแหล่งทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่ง ก่อนที่จะคิดว่าจะเพิ่มรายได้อย่างไร” ทักษิณกล่าว

ทักษิณยังได้แสดงตัวอย่างของหลัก “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” ผ่านกรณีการใช้ ธ.ก.ส.ลงพื้นที่ช่วยประชาชนทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น และใช้โครงการ OTOP เป็นเครื่องมือขยายโอกาส กระตุ้นให้ประชาชนสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ไม่เพียงสร้างทำเงินในพื้นที่ชุมชนตัวเอง แต่ยังไปไกลถึงระดับประเทศและระดับโลก

แต่นโยบายทั้งหมดที่ถูกนำเสนอจะไม่เกิดขึ้นได้ หากไม่มีสิ่งที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ที่ย้ำให้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย ทักษิณชี้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 คือตัวกระตุ้น ทำให้คนไทยหันมองดูคนจน ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ต่ำจากคนส่วนใหญ่ นั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ต้องแก้ไขความยากจนและทุ่มเทกับปัจจัย 4 ที่คนจนยังขาดแคลน

กลับมามีครบถ้วนเต็มบริบูรณ์

 

อย่างไรก็ตาม ทักษิณกล่าวว่า สิ่งที่ทำเมื่อหลายปีก่อน ถ้าจะมาใช้ซ้ำเพื่อแก้ไขปัญหาในตอนนี้ กับโลกมีความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ จนดิสรัปต์ชีวิตความเป็นอยู่และธุรกิจดั้งเดิมหลายตัวให้ล้มหายตายจาก เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพอย่างโควิด-19 อาจไม่เพียงพอ

ช่วงไม่ปีกี่มานี้ มีการพูดถึงแนวคิดสวัสดิการรูปแบบใหม่ที่เป็นที่รู้จักในชื่อ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า หรือ Universal Basic Income – UBI ซึ่งถูกพูดขึ้นโดยผู้นำด้านไอทีและอุตสาหกรรมดิจิตอล ทักษิณได้เสนอว่า รายได้ที่ประชาชนคนไทยควรได้รับมีเท่าไหร่ และยังกล่าวถึง ภาษีเงินได้เชิงลบ (Negative Income Tax) ที่ทักษิณเสนอให้ทุกคนทำแบบฟอร์มสรรพากร แม้ต่อให้รายได้ต่ำยังไงก็ต้องทำ เมื่อตรวจสอบแล้วมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐาน รัฐจะช่วยเติมเงินเข้าไป

ทักษิณยังพูดถึงคนจนในภาวะดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยีว่า ต้องส่งเสริมอู้มชูให้คนจนปรับตัวได้ ไม่ใช่ให้ภาวะนี้มาซ้ำเติมกดให้จนยิ่งกว่าเดิม ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือดึงคนจนพ้นจากความยากจน ด้วยการขยายโอกาสทางการศึกษาและทางด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ทักษิณย้ำถึงสิ่งที่ต้องทำ นั้นคือ ตื่นตัวทันโลก ระบบแรงงานมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ประชาชนจะกลับมามีรายได้ด้วยการเป็นแรงงานไม่ได้แล้ว ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ คิดใหม่จากกรอบเดิม พร้อมกับย้ำถึงทุกคนว่า

“คิดตั้งแต่วันนี้ครับ ถ้าคิดช้ากว่านี้ คนชั้นกลางก็จะเป็นคนจนต่อไป ไม่ใช่ว่าเอาคนจนขึ้นมาพ้นจากความยากจนนะ คนชั้นกลางเราจะตกชั้นด้วย”

ถึงเวลาแล้ว