’แคร์’ ชวนฝันใฝ่ให้เป็นจริง ฝ่าวิกฤต สู่เป้าหมาย ‘คนไทยไร้จน’

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเวลา 13.15 น. ที่ลิโด้ คอนเนค กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย จัดเวทีสาธารณะ “คนไทย ไร้จน” “ฝันเฟื่อง” หรือ “เรื่องจริง” เพื่อร่วมเสวนาถึงปัญหาทั้งระบบและเสนอหาทางออกจากปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนที่ประชาชนเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ โดยมีวิทยากรที่จะมาร่วมเสนอไอเดียและตั้งประเด็นปัญหาได้แก่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ดวงฤทธิ์ บุนนาค ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ สฤณี อาชวานันทกุล รัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจ “ทูตนอกแถว” และปราชญ์ ปัญจคุณาธร

ในงานนี้ ยังมีบรรดาบุคคลสำคัญ และนักการเมืองคนสำคัญอาทิ ศิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.แบบเขตพรรคภูมิใจไทย พิชัย นริพทะพันธุ์ คณาพจน์ โจมฤทธิ์ ผู้อำนวยการคิดเพื่อไทย ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน

 

คนไทยไร้จน ฝันที่ถึงได้ แค่ต้องเดินทีละก้าวอย่างมั่นคง

นพ.สุรพงษ์ กล่าววว่า ทุกคนต่างมีความฝัน อาจฝันต่างกัน ตอนเด็กฝันยิ่งใหญ่ ไม่มีสงคราม มีแต่สันติภาพ อยากให้ทุกคนเป็นพี่น้อง แต่พอโตขึ้น ฝันอาจเล็กลง อาจฝันแค่ให้สังคม ชุมชนที่อยู่ดีขึ้น พอเข้าทำงานอาจฝันแค่ว่า มีการงาน หลักประกันมั่นคง มีวัยเกษียณมีความสุข ผมคิดว่าถ้าฝันใหม่ อาจไปได้ไกลมากกว่านั้น

เมื่อ 22 ปีที่แล้ว ในปี 2542 คำถามนี้เปลี่ยนชีวิต จากคน 3 คนและเปลี่ยนชีวิตหลายล้านคน เรายังมีความฝันที่ยังไม่ได้ทำอยู่เหลือไม่? นพ.สงวน นิตตยารัมพงศ์ คนคิดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ผมถามหมอสงวนว่ามีฝันอะไรที่อยากทำ แกฝันอยากทำหลักประกันสุขภาพ จึงไปพบดร.ทักษิณ ชินวัตร

วันแรกที่ผมเดินเข้ากระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรัฐมนตรี ได้พบกับนพ.มงคล ณ สงขลา ในฐานะปลัดกระทรวง บอกอยากทำนโยบายนี้ และนำร่อง 7 จังหวัด ปี 2544 ก่อนกระจายสู่หลายจังหวัด นี่คือความฝันที่กลายเป็นจริง

ทุกวันนี้ เป็นความฝันที่ทุกคนในโลกอยากให้เป็น องค์การสหประชาชาติชักชวนทั่วโลก ร่วมผลักดันทำให้เกิดขึ้น คำถามคือ ทำให้ความฝันนี้ถึงเป็นที่ต้องการ

มีคำ 3 คำที่ถูกสอนในชั้นเรียนคือ โง่-จน-เจ็บ คำถามคือ เป็นเรื่องของคนๆหนึ่งที่สามารถก้าวพ้นได้ไหม เป็นไปไม่ได้เลย บางคนพยายามถีบตัวเองด้วยปัญญา แต่การให้ก้าวพ้นความยากจนไปความร่ำรวยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีโครงสร้างสังคมกดทับ ไม่ให้เราหลุดพ้น ปัจจุบันไม่ใช่แค่ใดคนหนึ่งถีบให้พ้น แทบเป็นไปไม่ได้ โครงสร้างสังคมที่เป็นดั่งใยแมงมุม ไม่สามารถทำให้พ้นไปได้

คำถามคือ เราจะทำยังไง? เราทำให้เกิดขึ้นใน 30 บาทแล้วความโง่และความเจ็บล่ะ ทำยังไงให้คนไทยไร้จน หรือการศึกษาอาจต้องถึงขั้นปฏิวัติครั้งใหญ่

โทมัส เพน ได้พูดถึงแนวคิดถึง UBI หรือมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ เบอร์ทรันด์ รัสเซล หรือปรีดี พนมยงค์ ปัจจุบัน อีลอน มักส์แห่งเทสล่าเอง ก็เสนอแนวคิดว่าต้องใช้ UBI ในภาวะที่โลกในอนาคตเปลี่ยนแปลง มนุษย์ถูกดิสรัปจนตกงาน การมีตัวกันกระแทกให้คนปรับตัวไม่ทัน

มาถึงวันนี้ ยังไม่มีคนลงมือจริงจังนอกจากการทดลองบางพื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบกับ 30 บาทรักษาทุกโรค และคนไทยไร้จน อาจใกล้เคียงกัน

นั้นคือ เป็นสิทธิ ไม่ใช่การอนุเคราะห์ และการได้สิทธิต้องมีมาตรฐานทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม ในเรื่องคนไทยไร้จนเป็นสิทธิการให้รายได้พื้นฐานเป็นสิทธิ ไม่ใช่การสงเคราะห์ และต้องพ้นจากเส้นความยากจน ราวๆ2,763 บาทต่อเดือน ยังมีคนจำนวนมากที่วันหนึ่งร่ำรวย แต่วันนี้จนหรือตกงาน รายได้น้อยจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย

เรื่องของการให้รายได้ถ้วนหน้า จึงเป็นหลักประกันให้คนในสังคม ถามว่ายากไหม ยาก ถ้าเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคว่ายากแล้ว คนไทยไร้จนอาจยากกว่า  แต่เป็นเรื่องที่ทำทีละขั้น

ในช่วงแรก การรักษาโรค อาจติดขัดเรื่องงบประมาณ กับโรคร้ายแรง จนกระทั่งพัฒนาเครื่องมือ เราอาจพูดได้เต็มปากว่า ครอบคลุมทุกโรคไม่ว่าค่าใช้จ่ายต่ำหรือสูง

เราจะเริ่มต้นอย่างไร มีข้อเสนอ Negative Income Tax คนที่ยื่นภาษี มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน มีจ่ายย้อนกลับมาช่วยให้ยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรี หรือบำนาญถ้วนหน้า เรามีเบี้ยผู้สูงอายุ ถ้าเราอยากให้มีรายได้เพียงพอพ้นเส้นความยากจน

ถ้าเราให้ผู้สูงวัยทุกคนทั้งประเทศ อาจต้องใช้ถึง 3.4 แสนล้านบาท

ส่วนเด็กอาจใช้ 4.7 แสนล้านบาท ให้เท่าเทียมกับเด็กได้เข้าถึงการศึกษาและดำรงชีวิต

ทั้งหมดในเรื่องนี้เป็นความเพ้อฝันหรือเปล่า เมื่อ 22 ปีก่อนก็มีความคิดเช่นนี้ จนมีคนทำให้เกิดขึ้น ถ้าเราดูผลลัพธ์ที่กลับมา โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ใช้งบ 7 หมื่นล้าน แต่ได้กลับมากว่าแสนล้าน มีตัวเลขที่บอกว่าคนที่ต้องสะสมเงินเป็นหลักประกันรักษาพยาบาล ก็ปลดเปลื้องจากความไม่มั่นใจ เอาเงินที่สะสมไปลงทุน สร้างรายได้ต่อไป

เศรษฐกิจช่วงปี 40 ที่ฟื้นตัว นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคก็มีส่วนตรงนี้ที่ช่วยประหยัดเงิน แล้วคนไทยไร้จน คนถ้ามีปัญหา มีเงินพอประทังชีวิตในเวลาที่มีรายได้ไม่แน่นอน จะมีกลุ่มที่ไม่ปรับตัว ถ้าไม่เรียนรู้ทักษะใหม่ก็เป็นปัญหาได้ หรือเศรษฐกิจแบบ Gig ไม่แน่นอนในรายได้ ถ้ามีรายได้พื้นฐานจะทำให้มั่นใจได้ว่าเขาค้นหาตัวเองได้เจอ

โดยสรุป เรื่องของความจน เราอาจมีความคิดหลายแบบ มีสวัสดิการแห่งรัฐช่วยคนจน แต่คนจนอยู่ไหน ให้เงินเยียวยา 3เดือน พอพ้นกำหนดไปอยู่ไหน คนไม่มีหลักประกันก็ให้หลักประกัน คนจนทำยังไงก็ให้เงินจนพ้นความยากจน

เรื่องนี้อาจต้องเดินทีละก้าวจนถึงเป้าหมาย เราอาจช่วยคิดว่า เราฝันตรง ฝันไกลแล้วถึงจุดหมายได้อย่างไร สร้างปัญญาไปทีละก้าวได้ยังไง หรือฝันว่าเราจะชนะเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งทีละก้าวได้ยังไง

ลองดูว่าความฝันในวัยเยาว์ ความฝันเรายังอยู่ดีหรือไม่ ชีวิตนี้เรายังมีความฝัน ที่ยังไม่ได้ทำอยู่หรือไม่?

 

ความจนเปลี่ยน เมื่อเราเลิก “ทน”

คุณดวงฤทธิ์ กล่าวว่า คนไทยไม่จำเป็นต้องจน เราเผชิญกับปัญหาหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ และมองว่าเราต้องยืนจุดนี้หรือเปล่า ทำไมเราต้องเจอแบบนี้ แต่เราจนเพราะไม่จำ เราอนุญาตให้บางสิ่งในอดีตเกิดขึ้น แล้วเกิดขึ้นอีก

ถ้าถามว่าประเทศไหนอดทนที่สุดในโลก ประเทศไทยนี่แหละอดทนมาก อะไรที่ใช้การไม่ได้ เราก็ทน ไม่โวยวายว่าสิ่งนี้ใช้การไม่ได้ ระยะหลังเราพูดถึงมากขึ้นแต่ยังไม่พอ เรายังทนกันอยู่ ถ้าเป็นที่อื่นอยู่ในระดับนโยบาย ความคิดแบบนี้ พวกเขาลุยแล้ว ไม่ปล่อยให้อดกว่านี้ แต่คนไทยกลับอดทน ทำให้เรายังอยู่กับความจนเป็นที่เป็นอยู่

ผมคนหนึ่งเชื่อว่า คนไทยมีสติปัญญา เก่งในความคิดสร้างสรรค์ งานฝีมือ ศิลปะ คนไทยเก่งที่สุด รู้จักคนหลายวงการทั่วโลก คนไทยละเอียดลออ พิถีพิถัน แต่ทำไมยังจนอยู่ ถ้าเปรียบคนไทยเหมือนรถ เราเหมือนรถกระบะ ถึกทน สมบุกสมบัน พอมองไป รถกระบะส่วนใหญ่ มีความอดทนไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ผมบอกว่า แล้วถ้ารถกระบะลงเหว เป็นกรรมของรถหรือคนขับ?

ถ้าโทษรถกระบะไม่ดีแต่ไม่โทษคนขับ เราจะอธิบายยังไง?

ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ เราไม่มีเงินเข้าประเทศ ไม่ว่าเดินสาเหตุอะไร แต่ประสบการณ์ที่เรามีคือ เงินหายไปไหนหมด?

อัตราแลกเปลี่ยนจากปี 2544 FDI ในสัดส่วนประเทศอาเซียน  อยู่ในอัตรา 44% ของกลุ่มอาเซียน เป็นความหอมหวาน ใครก็อยากลงทุนไทย แต่พอปี 2561 เหลือเพียง 14% ของกลุ่มประเทศอาเซียน นักลงทุนไปประเทศอื่น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

แล้วเมื่อมาดู คนไทยไปลงทุนต่างประเทศ อย่าว่าคนต่างประเทศไม่ลงทุน แม้แต่คนไทยก็ไม่ลงทุนตลาดไทย

ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นทิ้งไป 1 ล้านล้านบาท ทำให้ตัวเลข GDI มีแนวโน้มลดลง ที่จริงการทำให้เกิดการลงทุน ถ้ารัฐไม่กู้เงิน ค่าเงินบาทอาจสมดุล แต่เราไม่ได้ทำแบบนั้น พอคนไทยจน รัฐเก็บภาษีไม่ได้ก็กู้เงิน ถ้าทำการค้าไม่เป็น แต่ได้กู้เงิน เราทุกคนเป็นหนี้แน่

กลุ่ม CARE เคยเสนอหลายเรื่องเช่น การออกพันธบัตร 100 ปี เพื่อดึงเงินบางส่วนออกมาให้หมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ เราเสนอไปหลายครั้ง แต่ไม่มีใครฟัง เป็นช่วงทั้งกระทรวงคลังและแบงก์ชาติเปลี่ยนผู้นำ ปัญหาเอสเอ็มอีก็ไม่มีทุนหมุนเวียน ก็เปรียบเทียบเหมือนบ่อน้ำแห้ง ไม่รู้จะรดน้ำยังไง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ SME มีเงินอยู่ พอเจอโควิด และรัฐบาลสั่งปิดธุรกิจ เราก็ไม่มีรายได้ SME ไม่มีรายได้ พอถูกสั่งปิด ขาดรายได้ เงินเก็บก็หมด เราต้องเอาเงินสำรองไปจ่ายพนักงาน แล้วค่อยทยอยจ่าย แต่ก็มีปัญหาใหม่คือจ่ายค่าไฟ ค่าน้ำ พอไม่พอจ่ายก็ถูกขู่ตัดไฟ ตัดน้ำ เอาเงินพนักงานมาจ่ายก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พนักงานไม่ได้เงินเดือน แล้วเจอสรรพากรจ่ายภาษีต่อ สุดท้ายเราไม่มีเงินจ่าย สรรพากรก็ไม่ผ่อนปรน ก็ปิดบัญชี เป็นหมัดหนึ่งที่แทง SME

พนักงานที่ไม่ได้เงินเดือน ก็ลาออก รับเงินประกันสังคม และพนักงานฟ้องกรมแรงงาน

อันต่อมา คือ นายธนาคาร ก็เก็บเงิน SME ไม่ได้ ก็ฟ้องอีก ไม่มีหน่วยงานรัฐไหนเมตตา ทุกคนพร้อมขยี้ตายคามือ ไม่แน่ใจว่าเราอยู่รัฐไหนกัน?

ภาษีเมื่อมองจากเรา เราเห็นระบบภาษีเป็นยังไง สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้กับประชาชนจนๆคือไม่มีตังค์ จ่ายภาษีน้อยลง สิ่งที่รัฐทำได้ รัฐก็เก็บภาษีหนักขึ้น คือประชาชนรายได้น้อยแต่เก็บภาษีหนัก คนยิ่งจนหนัก เป็นวงจรอุบาทว์จนกว่ามีคนตายไปข้างหนึ่ง เป็นสิ่งที่รัฐบาลคิด คิดอย่างเดียวว่ารีดภาษีให้มากขึ้น ไม่มีเงิน ก็กู้ ไม่มีเงินก็รีดภาษี

สิ่งที่เสนอเรื่อง ภาษีเงินได้ติดลบ ของ CARE ปี 2564 ไม่ได้ช่วยแค่ธุรกิจ แต่รวมถึงประชาชน ขยายขอบเขตภาษีให้ประชาชนสามารถเติบโตได้ สิ่งที่รัฐบาลทำคือทำให้เรากลัว ซึ่งทำให้ประชาชนควบคุมง่าย บรรรดาพรก.ฉุกเฉิน นอกจากทำให้คนไทยกลัว นักลงทุนต่างชาติก็กลัว ความกลัวเกิดจากอะไร?

ทุกประเทศในอาเซียนเข้าโครงการ COVAX ยกเว้นไทย ทุกคนได้วัคซีนและมีจำนวนโดสมากขึ้น แต่คนไทยยังไม่ได้เลย เรากว่าจะได้วัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศตาม EIU ก็ปลายปี 2565 เราอยู่ในความกลัว

รัฐบาลเก่งในการทำให้เราสับสน ทำให้คนไทยกลัว ตกลงจะเอายังไง วัคซีนจะมาไหม วันหนึ่งบอกสำคัญ พอมาอีกวันบอกไม่สำคัญ

สิ่งที่ CARE พยายามสื่อสารคือ เรากลัวได้ แต่ต้องกลัวอย่างมีสติ

“ตระหนักแต่ไม่ตระหนก เราต้องการความมั่นใจ ความมั่นใจสำหรับประชาชน นักลงทุน ต้องมีนโยบายชัดเจน เราจะไปจากจุดนี้ยังไง เราต้องการคำพูดที่เป็นข้อมูล ข้อเท็จจริงไม่ใช่ทัศนคติ แล้วก็บอกว่าพูดในวิธีที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่ใช่โทษประชาชนจนไม่โทษตัวเอง” ดวงฤทธิ์ กล่าว

ในประเด็นสุดท้าย ผมเชื่อว่าคนไทยจะไม่จน จริงๆแล้วถามว่า รัฐบาลไม่ว่าจะว่ายังไง ผมอยากให้ทุกคนคิดเสมอว่าจะไม่จนและหาทางรอดไปด้วยกัน

 

โลกมอง UBI ยังไง?

คุณปราชญ์ กล่าวว่า อย่างที่นพ.สุรพงษ์ เกริ่นไว้ UBI ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถูกนำเสนอมานานเมื่อร้อยปีก่อน อย่างไรก็ดี ยังไม่ได้รับความนิยมจนกระทั่งตอนนี้ ที่แนวคิดนี้เติบโตในหมู่นักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์ที่นำเสนอมา

เราเห็นกรณี แอนดรูว์ หยาง หรือมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เสนอแนวคิดนี้ ถามว่าทำไม UBI ที่ถูกเสนอนานมาแล้ว กลับถูกสนใจไม่กี่ปีมานี้ มี 3 แนวโน้มที่ทำให้มีแนวคิดนี้คือ 1.Disruption ทำให้ UBI มีฐานะเป็นเบาะรอง 2 .ความไม่พอใจต่อระบบทุนนิยมทั้งในหมู่ฝ่ายขวาและซ้าย เราเห็นรากหญ้าสนับสนุนทรัมป์ คนอังกฤษสนับสนุน Brexit ที่ไม่พอใจต่อระบบการค้าเสรี หรือทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ มันกระตุ้นให้คนพยายามหาทางออก มาตรการบรรเทาผลกระทบจากทุนนิยม 3. วงการนักพัฒนาและเอ็นจีโอ นักวิชาการสายนี้เริ่มมีความเห็นมากขึ้นว่า สวัสดิการที่มีประสิทธิภาพแก้ปัญหาความจนคือ การให้เงินแก่คนจนไม่ใช่สินค้า ซึ่งมีผลรับรองประสิทธิภาพ และทำให้เกิดสนใจแนวคิดนี้

UBI หรือรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า คือสวัสดิการในรูปแบบเงิน ที่รัฐจัดหาถ้วนหน้าไม่เจาะจงกลุ่ม ไม่ตั้งเงื่อนไขการรับหรือใช้จ่ายเงิน เป็นสวัสดิการที่แจกรายปัจเจกไม่ใช่ครัวเรือน แจกประจำสม่ำเสมอ ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ

แนวคิดแรกของ UBI คือ Anti-paternalism รัฐไม่ควรระบุชนิดสินค้าที่ประชาชนควรได้ เป็นแนวคิดอธิบายว่า UBIทำไมมุ่งแจกเงินมากกว่า สินค้า

แนวคิดที่สอง คือ Equality พลเมืองทุกคนเท่าเทียม สวัสดิการควรสะท้อนแนวคิดนี้ จ่ายแบบถ้วนหน้าและไม่มีเงื่อนไข สวัสดิการไม่ใช่เงินสงเคราะห์เฉพาะกลุ่มและตอนแทนเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งนโยบายนี้เกิดขึ้นได้ ถ้าวางกรอบอย่างเหมาะสม

สังคมจะสร้างสำนึกแบบไหน ถ้าทุกคนได้เงินไม่ว่าฐานะชนชั้นอะไร ถ้าได้ในฐานะพลเมืองหรือเป็นหุ้นส่วนสังคมร่วมกัน

แนวคิดที่ 3 No stigma คนที่ได้รับเงิน ไม่ควรถูกตีตราเป็นภาระเงินภาษี อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับโมเดล UBI ถ้าขึ้นกับภาษีรายได้ก็จะมีสัดส่วนคนที่จ่ายภาษีมากกว่า-น้อยกว่า ซึ่งต้องอยู่ที่รูปแบบที่รองรับ UBI

แนวคิดที่ 4 UBI จ่ายให้ปัจเจกชน ความเป็นพลเมืองอยู่ที่ปัจเจกไม่ใช่ครัวเรือน และการจ่ายเงินอาจเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศ ถ้าจ่ายให้ครัวเรือนอาจเพิ่มอำนาจให้หัวหน้าครอบครัว อาจเพิ่มอิสรภาพให้คนหนุ่มสาวที่บรรลุนิติภาวะมีความสามารถทางการเงิน

แนวคิดต่อมาคือ UBI ไม่ต้องพึ่งพาระบบราชการและลดการคอรัปชั่น

และแนวคิดสุดท้ายคือ ประกันความเสี่ยง อาจช่วยรับความเสี่ยงของคน ให้คนทำงานสร้างสรรค์มากขึ้น อาจช่วยระบบเศรษฐกิจแนวใหม่ที่กำลังขยายตัว

Zuckerburg เคยเสนอว่า ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาจากเสรีภาพที่จะล้มเหลว

ผลของ UBI ในทางปฏิบัติคืออะไร ผลที่จะเป็นบวกคือ คนมีรายได้มากขึ้น การจ้างงานมากขึ้น อาจมีผลบวกต่อสุขภาพ การศึกษา ลดอาชญากรรม แต่อาจลดแรงจูงใจในการทำงาน เกิดเงินเฟ้อ อาจเกิดการย้ายถิ่นฐานที่สร้างปัญหา หรือปัญหาครอบครัวเพราะเป็นอิสระจากครอบครัว

แต่เราจะรู้ได้ยังไง?

มีงานวิจัยอย่าง UBI ถาวรที่อลาสก้า ที่ระบุในรัฐธรรมนูญอย่าง Alaska Permanent Fund หรือการทดลองในที่ต่างๆในแคนาดา ฟินแลนด์ เป็นต้น หรืออาจเป็นผลเบื้องต้นจากการทดลองที่ดำเนินอยู่เช่น ที่เคนยาอย่างโครงการ Give Directly หรือ Stockton ในแคลิฟอร์เนียที่ตั้งเป้าให้ประชาชน 3 แสนคนแต่มีปัญหาเรื่องงบประมาณแม้เป็นโครงการนำร่อง

หรือเราใช้โครงการ Cash Transfer ที่คล้ายกับ UBI มาประยุกต์ผลว่าออกมาเป็นยังไง

ผมจะเอาผลการศึกษามาเสนอข้อกังวล 4 ข้อมาฟัง ข้อแรกคือ UBI ทำให้เกิดคนบริโภคอบายมุขมากขึ้น โดยข้อมูลทดลองเสนอ ชัดเจนทุกที่แทบพูดตรงกันทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา UBI ไม่ได้ทำให้การบริโภคอบายมุขเพิ่มขึ้น ตัวอย่างการวิเคราะห์ในปี 2014 ของ Evans & Popova มีผลขนาดเล็กมาก

แล้วคนใช้เงินไปกับอะไร ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแต่ละที่ ยกตัวอย่าง Kenya จ่ายน้อยแต่ถี่ ก็จะซื้ออาหารหรือจ่ายใหญ่แต่ไม่ถี่ก็ซื้อสินค้าคงทน

ข้อกังวลที่ 2 คือ  แรงจูงใจการทำงาน มีคนกังวลว่า Productivity ลดลงและหนักขึ้นถึงขั้นไม่มีแรงงาน และอาจทำให้สินค้าราคาสูงขึ้น และผลการศึกษาก็มีการแบ่งค่อนข้างตามความเชื่อ ว่าบางที่ไม่พบว่า UBI ทำให้อัตราแรงงานลดตัว หรือบางที่ การมี UBI ทำให้คนทำงานมากขึ้น

ข้อค้นพบนี้ตรงกับข้อศึกษาของ ODI ที่ศึกษา115 วิจัย การให้เงินไม่มีผลต่อการอัตราแรงงาน

ข้อกังวลที่ 3 คือเงินเฟ้อ เป็นอีกประเด็นที่งานวิจัยบอกชัดเจนว่า UBI แทบไม่ได้ทำให้เกิดเงินเฟ้อ

สุดท้ายข้อกังวลทางปรัชญา โดยงฝ่ายอิสรภาพนิยมอาจคิดว่า UBI มาแทนสวัสดิการพื้นฐานทั้งหมด แต่ผมคิดว่าอาจไม่ทดแทนทั้งหมด ยกเว้นสินค้าที่รัฐมีพันธะต้องหาให้ประชาชน เช่น สิทธิการเลือกตั้ง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

ถ้าเราเชื่อว่าบางสวัสดิการ Democratic good บางสินค้าอย่างการศึกษา เป็นด้วยไหม? ซึ่งมีความเหตุว่าเป็นคือ สวัสดิการนี้เป็น genuine choice ให้ตัวเอง ต้องไม่อยู่ในภาวะเจ็บป่วย หรือสวัสดิการเหล่านี้จำเป็นสำหรับสิทธิพลเมือง

แล้วทั้งนี้ UBI น่าสนใจสำหรับใคร? ก็คือ แนวคิดที่เสนอเหล่านี้ ผลทางปฏิบัติของ UBI ยังต้องการผลการวิจัยเพิ่มขึ้น ส่วนข้อกังวลทางเศรษฐกิจ 3 ข้อ ไม่น่ากังวลอย่างหลายคนคิด แต่สุดท้าย UBI ไม่อาจทดแทนสวัสดิการดั้งเดิมได้ทั้งหมด แต่เราควรเอา UBI เสริม มากกว่าทดแทนสวัสดิการทั้งหมด

 

ประสบการณ์การแก้ไขความยากจน ในสายตาทูต

เจ้าของเพจ “ทูตนอกแถว” อย่างคุณรัศม์ กล่าวว่า ในฐานะนัการการทูต หน้าที่เราอย่างหนึ่ง คือการไปประจำอยู่ต่างประเทศเพื่อประสานงาน ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับประเทศที่ประจำการอยู่ผมประจำการอยู่หลายประเทศ บรรดานักการทูตประจำการต่างประเทศ 4 ปี แล้วแต่ประเทศนั้นๆ

ประเทศแรกที่ผมไปประจำการคือ แคนาดา เป็นประเทศประชาธิปไตยและมีมาตรฐานชีวิตอันดับต้นของโลกต่อมาไปประจำที่เวียตนาม ตอนผมไปก็เป็นช่วงเปิดประเทศใหม่หลังสงครามเวียตนาม คนเวียตนามทั่วไปยากจนพอสมควรแต่ปัจจุบัน เวียตนามพัฒนารุดหน้ามาก ต่อมาไปประจำคือโปแลนด์ พอโปแลนด์เป็นประชาธิปไตยก็สามารถพัฒนาชีวิตประชาชนให้กินดีอยู่ดีได้ หลังจากโปแลนด์ก็เป็น สปป.ลาว ซึ่งปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และยากจนที่สุด แต่กรณีลาวมีข้อสังเกตคือ ต่อให้ยากจนก็ไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยังสามารถทำให้คนลาวมีความสุขตามอัตภาพ

ต่อจากสปป.ลาว ได้มีโอกาสประจำการที่โมซัมบิก และประจำที่ประเทศคาซักสถาน เป็นประเทศอดีตรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต หลังโซเวียตล่มสลาย คาซักสถานแม้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย แต่คาซักสถานปกครองแบบระบบรัฐบาลอำนาจเด็ดขาด แต่ก็สามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

หลายประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมมาเป็นประชาธิปไตยก็สามารถพัฒนาชีวิตประชาชน แต่ขณะเดียวกันเวียตนามแม้ปกครองคอมมิวนิสต์ก็สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนได้ หรือโมซัมบิกแม้เป็นประเทศประชาธิปไตยแต่ยังยากจนอยู่

สิ่งเหล่านี้บอกอะไร เอาเข้าจริง การปกครองไม่ว่าระบอบอะไรก็สามารถสร้างความเจริญได้ เพราะฉะนั้น ระบบการเมืองหรือปัจจัยที่ทำให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี ตกลงคืออะไร หลายคนถกเถียงมานานร้อยกว่าปี บางประเทศรวยและบางประเทศจน ซึ่งดูปัจจัยจากที่ตั้งประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่ทำให้ประเทศร่ำรวยได้ คือการมีสถาบัน โครงสร้างที่แข็งแรง หลักนิติรัฐที่เข้มแข็ง แต่สิ่งที่ผมเห็นและอยากเสนอคือ มีงานวิจัยที่ศึกษามาว่า ประเทศที่เจริญ ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริม การมีรัฐบาลหรือผู้นำที่มีความสามารถ นี่เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา ว่ารัฐบาลที่ดีควรมีอะไร ที่เป็นส่วนว่ามีการบริหารที่ดี

ผู้บริหารที่ดีต้องมี 1.อุดมการณ์ทำเพื่อประชาชน 2. มีวิสัยทัศน์และความสามรถในการบริหารและ 3.มีความตระหนักต่อพันธะหน้าที่หรือมีความรับผิดชอบต่อประชาชน  ซึ่งผลักดันให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า

พอเราย้อนดูประเทศไทย เอาเข้าจริงประเทศเราไม่ได้ยากจนมาก เรามีกองทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวไม่ได้ต่ำ แต่ปัญหาคือ เรามีความเหลื่อมล้ำทางสังคม และอีกปัญหาที่เห็นในฐานะข้าราชการคือปัญหาการบริหารงบประมาณแผ่นดินในการบริหารประเทศ

ผมจะเน้นปัญหาการบริหารงบประมาณ พวกเรานักการทูต มีตัวอย่างที่เห็นชัด คืองบประมาณบริหารไม่ได้ในช่วงทำงานสถานทูต เช่นการดูงาน บางคนมาแปลกๆ เขียนหนังสือมาขอดูงาน ทัศนศึกษา จริงๆแล้วการดูงาน ทั้งปีทุกคณะไม่ใช่น้อย แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณที่เสียไปโดยไม่ได้อะไร มีเยอะมาก นี่เป็นปัญหาหนึ่งที่ไม่สามารถเอางบมาแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้

ทั้งหมดนี้ ก็อยากชี้ว่า ที่เรามีปัญหาการบริหารงบประมาณคือ พันธะหน้าที่จะเอางบประมาณมาใช้ได้อย่างถูกต้อง แล้วทำยังไงถึงจะมีรัฐบาลที่มี 3  คุณสมบัติพร้อม? เราจะได้มายังไง?

ไทยก็ไม่มีทางเลือกดในอกจากทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่มีทางอื่น ขอสรุปง่ายๆว่า คนไทยไร้จนได้ ถ้าเรามีรัฐบาลที่ดี เรามีรัฐบาลที่ดี ถ้าประเทศเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ไม่นับรวม ส.ว. 250 คนนะครับ

 

หนี้ครัวเรือนกับโควิด-19 แก้ไม่ได้ก็หนีความจนไม่พ้น

คุณสฤณี กล่าวว่า ธนาคารโลกมีรายงานว่า คนไทยมีรายได้ไม่ถึง 190 ต่อวัน จากวิกฤตโควิด แต่หนี้อยู่กับเรามาก่อนโควิด วิกฤตโควิดไม่ใช่แค่วิกฤตเศรษฐกิจ การที่รายได้เราหายไป ไม่ใช่ความผิดของเรา เพราะฉะนั้น ผู้ดำเนินนโยบายควรสร้างงาน แบ่งเบาภาระ ลดค่าใช้จ่าย ไม่ใช่คิดแค่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

ธปท.มีรายงาน ก.ย.ปีที่แล้ว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2563ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปี ที่ 86.6% ต่อจีดีพี และมีแนวโน้มแตะ 90% ในช่วงต้นปี 2564 ตามสภาวะซบเซา

ธปท.ยังระบุว่าอีกลักษณะที่น่ากังวลคือ หนี้เสียสูงขึ้น ค่ากลางคือ 64,551 บาทต่อคน 80%ของบัญชีกระจุกอยู่ในบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล บางส่วนเป็นหนี้ธุรกิจ ประเด็นอีกอันที่น่าสนใจ ราวครึ่งหนึ่ง มีบัญชีหนี้มากกว่า 5 บัญชี คนจำนวนไม่ได้มีหนี้แค่อย่างเดียว แต่เป็นหนี้กับเจ้าหนี้หลายเจ้า

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง สถาบันป๋วย อึ้งภากรณ์ วิเคราะห์ผังลูกหนี้ในเครดิตบูโร วิเคราะว่า ผู้เป็นหนี้ 2.1ล้านคนอาจมีปัญญหา จากตัวเลข 24% ที่เข้าร่วมมาตรการ มีค่ากลาง 4 บัญชี ภาระหนี้สูง ค่ากลาง 5 แสนบาท พอมาดูข้อจำกัดของข้อมูล ทำให้พูดถึงหนี้ได้ไม่มากนัก คือคนมีหนี้ในระบบ แต่ยังมีคนจนที่มีหนี้นอกระบบ สิ่งที่พอดูได้คือ โรงรับจำนำหลายแห่ง และมีข้อมูลว่าช่วงโควิดคนเข้ามากขึ้น แต่สิ่งของจำนำไปถึงขั้นเครื่องมือทำมาหากิน ส่วนทองคำ อัญมณี จำนำน้อยลง เพราะส่วนใหญ่ไถ่ถอนไปขายในช่วงราคาขึ้น

โรงจำนำ กทม. 21 แห่ง มีประชาชนจำนำเดือน มิ.ย.63จำนวน  334,808 ราย คิดเป็นเงิน  5,012 ล้านคน

มีการคาดการณ์ปลายปี 63 ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการเพิ่มเติม ไม่นับรวมโควิดระลอกใหม่ อาจมีคนชำระหนี้ไม่ได้ 2 ล้านคน

ทำไมคนเราเป็นหนี้นอกระบบ ปัจจัยสำคัญที่เลือกสินเชื่อนอกระบบ คือกู้ง่าย ผ่อนง่าย การที่เรามีหนี้นอกระบบในช่วงโควิดสะท้อนว่า เรามีช่องว่างในการเข้าถึงหนี้ในระบบ แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้ยังไง?

ธปท.พยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่เมื่อดูหนี้ทั้งระบบ ต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ดูแลเรื่องการเข้าถึงทางการเงิน พอหลังเป็นหนี้ก็ดูแลเงินที่เป็นธรรม ซึ่งเรื่องก่อนและหลังเป็นหนี้ แต่เราต้องเน้นปลายน้ำเพราะตอนนี้จุดนี้เป็นปัญหา ถึงที่สุดแล้ว เราไม่อาจพ้นที่จะผลักดันการสมัครใจล้มละลาย

ธปท.พยายามทำทางแก้ตลอดช่วงโควิด แล้วค่อยๆเรียนรู้กับประชาชนว่าไม่ได้มีหนี้แค่ก้อนเดียว

ล่าสุด ธปท.ได้ผลักดันกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ ที่เอื้อกับลูกหนี้ แม้แต่หนี้ที่เข้าสู่กระบวนการศาล ก็สามารถหมุนกลับมาต่อรองกันได้ โดยใช้กลไกแก้หนี้ของธปท. เป็นเรื่องดีแต่คิดว่ายังไม่พอ เพราะลูกหนี้ยังเข้าไม่ถึงออนไลน์ และในหลักการก็ไม่ยุติธรรม เพราะลูกหนี้ไม่มีอำนาจต่อรอง ฝั่งเจ้าหนี้เองก็ไม่ยุติธรรมต่อเจ้าหนี้ จะเกิดขึ้นถ้ามีเจ้าหนี้หลายเจ้า เลยมีคำถามในตัวแนวคิด คือยังไม่สามารถแก้ไขทั้งระบบได้จริงๆ มีอีกหลายเรื่องที่ต้องหารือกันนอกเหนือจากไกล่เกลี่ยหนี้ ก็มีกลไกฟื้นฟูสำหรับบุคคลธรรมดา มองโอกาสให้ให้ลูกหนี้รายย่อยหลังโควิด-19 ถ้าเราทำแบบนั้นจะช่วยลดผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจ และเป็นวิธีที่ทำให้ลูกหนี้เปิดเผย ปัญหาแก้หนี้ที่ผ่านมาคือลูกหนี้บอกไม่หมด ดังนั้น ถ้าข้อเสนอทำให้ลูกหนี้รู้สึกเป็นทางสุดท้ายก็จะบอกหมดว่ามีหนี้อะไร และมีมาตรฐานสากล

และอีก 2 เรื่องที่ไม่เกี่ยวกันคือ ความรู้ทางการเงิน ถ้าเราเปิดช่องล้มละลายบุคคลก็เปิดโอกาสให้อบรมทางการเงิน และเราเผชิญบัณฑิตตกงาน ทำไมรัฐไม่เจียดงบประมาณ เอาบัณฑิตมาเป็นอาสมัครการเงินทำแผนปรับโครงสร้างการเงินพร้อมกับสร้างงานไปด้วย

ขอทิ้งท้ายว่า SME แยกไม่ออกกับสินเชื่อบุคคล แต่มีวิธีที่รัฐช่วยได้อย่าง Soft Loan ตั้งวงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่กลับใช้ได้เพียงส่วนเดียวแสดงว่าขั้นตอนมีปัญหา รัฐต้องกล้าการันตีแบกรับความเสียหาย และอีกอันที่ทำได้ สาเหตุที่เห็นตัวเลขสินเชื่อบุคคลเยอะ หมายถึง SME ยังเข้าไม่ถึงแหล่งการเงิน ซึ่งหลายประเทศผลักดันข้อมูลหลักประกันช่วยสามารถเข้าถึงโอกาสสินเชื่อและการปล่อยสินเชื่อในระบบ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง หนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องหารือมากกว่าที่เป็นอยู่

ถ้าเราแก้หนี้ไม่ได้ ก็ไม่พ้นความยากจนอยู่ดี

 

ภาษีเงินได้ติดลบ ทางออกคนไทยไร้จน?

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า โควิด-19 อาจส่งผลรุนแรงมากกว่าวิกฤตในอดีต ทำให้ครัวเรือนเสี่ยงต่อการเป็นคนจน จากการว่างงานและรายได้ลดลง

ในการสำรวจนี้ มีคนยากจนในไทยจริงๆ 4.3 ล้านในปี 2562 ครัวเรือนยากจน 1.31ล้านครัวเรือน มีรายได้ต่ำกว่า 2,763 บาทต่อเดือน พอโควิดมา ได้ส่งผลกระทบจากกว่า 2 พันตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 33% รายได้ลดลงกว่า 50% ผลกระทบต่อคนจนเมือง อาจหนักกว่าในต่างจังหวัด ร้อยละ 60.2 รายได้ลดลง และร้อยละ 78.97 ไม่สามารถทำงานในบ้านได้ การพูดว่า WFH มันง่ายแต่ทำยาก

ที่สำคัญ หลังจากโควิดตกลงมีครัวเรือนได้รับผลกระทบแค่ไหน ถ้าบวกกับ 1.14 ล้านคนเปราะบาง 4.67 แสนครัวเรือนที่รายได้ลดลง 0.49 แสนครัวเรือนเกษตร ไม่มีที่ดินทำกิน ดังนั้น จะมี 5.4 ล้านคนเสี่ยงต่อการตกเป็นคนยากจน

ผมเสนอว่า ภาษีเงินได้ติดลบ หากประเมินว่า รัฐบาลจ่ายคนละ 24,000 บาทต่อปี แล้วมีคนยากจนระหว่าง 10.5 ล้านคน อาจต้องใช้งบประมาณสูง 252,000- 360,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าเรามีข้อมูลบัตรคนจนแล้วก็เริ่มตรงนั้นเลย พิสูจน์รายได้และจ่ายเขา อาจทำให้ได้เร็ว แม้มีคนคิดถามว่า ถ้าดีขนาดนี้ มีประเทศไหนทำบ้าง?

ที่สหรัฐฯทำมานานกว่า 40 ปี ในชื่อ Earn Income Tax ถ้าทำรายได้ระดับหนึ่ง รัฐจะเติมเงินให้ ทำมาต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ คนโสดที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000เหรียญต่อปีหรือครัวเรือน 40,000 เหรียญต่อปี จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ 2,400 เหรียญต่อปี

ย้ำว่าเป็นสิทธิในการป้องกันคนไทยจากความยากจน ถ้ามีสิทธิทางรักษาโรค ทำไมจะมีสิทธิรักษาทางเศรษฐกิจไม่ได้ ถามว่าเป็นประโยชน์ต่อ SME ด้วยไหม? SME อยากดูแลพนักงานแต่ต้องลดเงินเดือน พนง.ลำบากแต่มีงานทำ ถ้ามี NIT พอจะมีทางช่วยได้ ช่วยทั้งธุรกิจและพนักงานและช่วยรัฐบาลมีนโยบายอุ้มเศรษฐกิจ ถ้าเกิดมีวิกฤตต่อไป

ถ้าทำให้ดี NIT จะเป็นศูนย์ประกันสุขภาพทางเศรษฐกิจ อาจช่วยลดการซ้ำซ้อนการจุนเจือประชาชน

แต่มีโอกาสทุจริตไหม? มีได้ แต่ถ้าเป็นประโยชน์ต่อผู้จ้างและผู้รับเงินเดือน ทั้งสองฝ่ายจะเข้าหารัฐบาลและเอาข้อมูลมาแมตช์ได้ ถ้าทำระบบได้ดี SME ก็อยากเข้าระบบ เท่ากับรัฐบาลช่วย SME ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ การสร้างฐานข้อมูลในที่สุดน่าจะทำได้ ย้ำว่า ถ้า 30 บาทรักษาทุกโรคทำได้ เรื่องนี้ก็ทำได้ ถ้าบางคนบอกว่า ยังน้อยเกินไป เราก็ตอบได้ จะเพิ่มปริมาณได้ แต่ถ้าแพงไปล่ะ? ผมขอพูดว่า เวลาเราให้เงินกับคนที่มีปัญหามากๆ เงินที่ใช้ก็รีบใช้ออกไป ใช้เร็ว และใช้หมด และใช้ที่ใกล้เคียงชุมชน การอุ้มเศรษฐกิจที่ดีที่สุด คือการให้เงินกับผู้ใช้ด่วน ดีกว่าเอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำแน่นอน

ขอทิ้งท้ายว่า กลับมาพูดเรื่องที่เรามักพูดกันว่า ไปแจกฟรีแบบนี้ คนจะขี้เกียจ ไม่เห็นมีประโยชน์ ผมได้ดูงานวิจัยหลายแห่งระบุว่า คนที่จนและเครียด ต้องการแก้ไขปัญหาการเงิน กระทบความสามาถต่อการตัดสินใจลงไป 13 จุด เทียบได้กับคนไม่ได้นอน เราถึงต้องลงไปช่วย แล้วมีงานวิจัยอีกอันที่พูดถึง กรณีชาวไร่อ้อยในอินเดีย  ได้เงินเกี่ยวอ้อย 1 ครั้งต่อปี ปรากฏว่าไปทำการทดสอบไอคิวชาวไร่อ้อย ไอคิวสูงตอนได้เงิน แล้วไอคิวต่ำตอนรายได้หด หรือชาวเผ่าเชอโรกี ในสหรัฐฯ พอมีการเปิดคาสิโน รายได้ชุมชนเพิ่มเป็น 4,000 เหรียญ เด็กเกเรลดลง 40% อัตราเกิดอาชญากรลดลง 22% ปัญหายาเสพติดและแอลกอฮอล์ลดลงด้วย

ถ้าไม่ช่วยตัวเราเอง ก็ช่วยลูกเราเถอะครับ