งัดผลงานจัดการน้ำ แก้ปัญหาแล้ง-ท่วม เบ็ดเสร็จยุค‘บิ๊กป้อม’ สู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ

พล.อ.​ประ​วิตร วงษ์​สุวรรณ รอง​นายกรัฐมนตรี พร้อม​คณะ ลงพื้น​ที่ จ.​ขอนแก่น เพื่อ​ส่ง​มอบ​โครงการ​ศึกษา​สำรวจ​จุด​จ่าย​น้ำ​บาดาล​เพื่อ​ประชาชน ให้​แก่​เทศบาล​ตำบล​บ้าน​แฮด อ.​บ้าน​แฮด​บรรเทา​ปัย​หา​ขาดแคลน​น้ำ​อุปโภค​บริโภค เป็น​จังหวะ​เดียว​กับ​เจ้าหน้าที่​กำลัง​เติม​น้ำ​ใส่​รถ​น้ำ ปราก​ฎ​ว่า​แรง​ดัน​น้ำ​พุ่ง​เข้าใส่ พล.อ.​ประ​วิตร จน​เปียก​ชุ่ม วัน​ที่ 28 สิงหาคม 2563

นับเป็นบทพิสูจน์สำคัญ ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯที่ถือเป็นตัวหลักให้กับรัฐบาล ตั้งแต่ยุคคสช.

เมื่อปรับเปลี่ยนภาระหน้าที่และบทบาทจากมิติด้านความมั่นคง เป็นเจ้ากระทรวงกลาโหม มาอย่างยาวนาน หันมารับหน้าที่ดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ

ผ่านการกำกับดูแลให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรน้ำ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้นๆ ที่เปรียบเสมือนสายเลือดที่ไหลหล่อเลี้ยงประเทศให้เจริญเติบโต

เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปโภค บริโภค การเกษตร หรือกระทั่งอุตสาหกรรม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ไว้คอยสนับสนุน

โดยในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตรเองก็ผลักดันโครงการต่างๆ ทั้งแผนการป้องกันน้ำท่วม และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

แต่ถึงแม้จะปรับเปลี่ยนบทบาทรับผิดชอบ พล.อ.ประวิตร ก็ยังคงเป็นชื่อต้นๆที่ฝ่ายค้านจองกฐิน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่ดี

จึงต้องดูกันว่าผลงานที่ผ่านมาของพล.อ.ประวิตร จะผ่านด่านอภิปรายไม่ไว้วางใครครั้งนี้ได้หรือไม่ อย่างไร ?

พล.อ.​ประ​วิตร วงษ์​สุวรรณ รอง​นายกรัฐมนตรี ลงพื้น​ที่​ติดตาม​สถานการณ์​ผักตบชวา​และ​วัชพืช บริเวณ​วัด​ทรง​คน​อง อ.​สาม​พราน จ.​นครปฐม เตรียม​การ​รับ​น้ำ​หลาก​ใน​ฤดู​ฝน​ปี 2563 นาย​ชาญ​นะ เอี่ยม​แสง ผู้​ว่า​ราชการ​จังหวัด​นครปฐม รายงาน​สถานการณ์ วัน​ที่ 20 พฤษภาคม 2563

การบริหารจัดการน้ำ ถือเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ ที่ต้องประเมินสถานการณ์ให้ถูกต้อง เพราะเป็นการจัดการน้ำทั้งปีให้มีใช้ไม่ขาดแคลน

ขณะที่เมื่อมีน้ำต้นทุนไหลเข้ามามาก ก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัย อันสร้างความสูญเสียให้กับประชาชน จึงต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายใต้การวางนโยบาย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ที่พล.อ.ประวิตร กำกับดูแล

โดยมีภารกิจผลักดันและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เสนอแนะนโยบายจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำและแผนปฏิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ตลอดจนบูรณาการการดำเนินการในภาคส่วนต่างๆ ให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีเอกภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ โดยเสนอให้ครม.พิจารณา

ซึ่งเมื่อเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ต้นปี 2563 พล.อ.ประวิตร ก็เริ่มมอบนโยบายด้วยการป้องกันน้ำท่วมจากฤดูฝนที่มาถึง ด้วยการให้ขุดลอกดินตะกอน เพื่อเปิดทางแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่คลองเปรมประชากร โดยเริ่มต้นที่ต.บางกระสั้น อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเริ่มต้นที่ปากคลองบางกระสั้นกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตื้นเขิน ใช้การขุดดินด้วยเรือขุด แล้วขนดินตะกอนด้วยเรือบรรทุก พร้อมนำดินขึ้นตลิ่งและปรับเกลี่ย จำนวน 70,000 ลบ.ม. เพื่อให้น้ำสามารถไหลเวียนเข้า-ออก คลองเปรมประชากรได้สะดวก

ทำให้เกิดประโยชน์ในการบรรเทาปัญหาน้ำเสียในคลองเปรมประชากร สามารถป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ กรุงเทพมหานครได้อีกด้วย

พล.อ.​ประ​วิตร วงษ์​สุวรรณ รอง​นายกรัฐมนตรี เป็น​ประธาน​ใน​พิธี​เปิด​บ่อ​บาดาล เพื่อ​การ​เกษตร​แปลง​ใหญ่ ญ บ้าน​สะอาด หมู่ 6 ต.​น้ำ​สาย อ.​เมือง จ.​เลย วัน​ที่ 10 มิถุนายน 2563

นอกจากนั้น ยังได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผักตบชวา และวัชพืชในลุ่มน้ำภาคกลาง บริเวณคลองรังสิตประยูรศักดิ์, คลองหกวา, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำน้อย และแม่น้ำท่าจีน ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.ปทุมธานี, จ.พระนครศรีอยุธยา , จ.อ่างทอง, จ.สิงห์บุรี, จ.ชัยนาท, จ.สุพรรณบุรี และ จ.นครปฐม

โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศจากดาวเทียมของ GISTDA ซึ่งทำให้ผักตบชวาในพื้นที่เป้าหมายมีปริมาณลดลงไปมากถึง 275,000 ตัน จากปริมาณการสำรวจครั้งแรก 285,920 ตัน คิดเป็นร้อยละ 96

พร้อมทั้งสั่งการให้เตรียมแผนรองรับปริมาณน้ำใน 8 ด้าน ประกอบด้วย

1.การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 2.การปรับแผนการเพาะปลูกพืช ในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 13 แห่ง 3.จัดทำเกณฑ์บริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝน 4.เร่งตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งานโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง

5.เร่งรัดหน่วยงานตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 189 แห่งจากทั้งหมด 625 แห่ง 6.การขุดลอก กำจัดผักตบชวา ซึ่งตั้งแต่ต.ค. 2562 ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 2 ล้านตัน ตามภาพถ่ายดาวเทียมของจิสด้าพบว่ามี 128 จุด รวมพื้นที่ 3,574 ไร่ ปริมาณ 285,920 ตัน 7.การเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือให้ความช่วยเหลือ และ 8.การประชาสัมพันธ์

เป็นแผนการที่วางไว้รองรับหากมีน้ำหลาก !

อีกด้านที่ต้องเฝ้าระวังและบริหารจัดการ

นั่นก็คือภาวะภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมไม่น้อย

ซึ่งพล.อ.ประวิตรเองก็ขับเคลื่อนผ่านการตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค เพื่อติดตาม เร่งรัด ตรวจสอบและประเมินผลโครงการที่ได้งบประมาณประจำปี งบกลาง พร้อมทั้งโครงการสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการและเตรียมความพร้อมรองรับปัญหาภัยแล้ง

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ที่มักติดขัดปัญหาในขั้นตอนการขอรับงบประมาณ การเขียนโครงการไม่สมบูรณ์ ไม่ตรงตามหลักการขอตั้งงบประมาณของสำนักงบประมาณ จึงทำให้การขับเคลื่อนโครงการไม่เป็นไปตามแผน

จึงเร่งสร้างความเข้าใจในขั้นตอนและระเบียบการเสนอขอตั้งงบประมาณที่ถูกต้องให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นพี่เลี้ยง และให้ทางจังหวัดตรวจสอบสภาพพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมแล้งซ้ำซาก เพื่อสามารถลำดับขั้นตอนในการให้ความช่วยเหลือ

รวมทั้งเร่งสร้างการรับรู้ให้กับทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและประโยชน์ของก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ต้องดำเนินแผนงานด้วยความรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส

โดยคณะกรรมการชุดนี้จะเตรียมลงพื้นที่เพื่อเร่งรัดและตรวจสอบโครงการในพื้นที่ภาคกลางให้สามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างแท้จริง

ไม่เพียงแค่นั้น พล.อ.ประวิตร ยังมอบนโยบายให้กรมน้ำบาดาล ในกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาน้ำบาดาล ซึ่งได้ประเมินกันมาตั้งแต่ปลายปี 2562 แล้วว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งหลายพื้นที่

จึงเร่งโครงการน้ำบาดาล ทั้งสิ้น 2,029 แห่ง หรือ 2,228 บ่อ หากดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ 298,872 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 63,200 ไร่ และมีปริมาณน้ำรวม 206.54 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

และโครงการที่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือระบบพัฒนาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ แบบ RBF ซึ่งเป็นการพัฒนานำน้ำบาดาลบริเวณใกล้แม่น้ำซึ่งมีปริมาณมากมาใช้ในการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำต้นทุน เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าบ่อน้ำบาดาลปกติประมาณ 20 เท่า และน้ำมีคุณภาพดี

ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด คือ ชัยนาท ราชบุรี และสุพรรณบุรี

ประชาชนจะได้รับประโยชน์กว่า 7,600 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์กว่า 2,400 ไร่ และมีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 4.52 ล้านลบ.ม. ต่อปี

และไม่ใช่แค่ใช้น้ำบาดาล แต่ก็ต้องมีแผนเติมน้ำใต้ดิน เพื่อเก็บกักไว้ใช้ในหน้าแล้ง เพื่อกักน้ำต้นทุนเป็นธนาคารน้ำใต้ดิน เร่งทำบ่อเติมน้ำใต้ดินต้นแบบ 500 บ่อ บริหารจัดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำบนดินและใต้ดินอย่างสมดุลร่วมกันระยะยาว

เป็นอีก 1 ผลงานที่ใช้ชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ต้องติดตาม !