เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนแอนตี้โควิด (จบ) / เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนแอนตี้โควิด (จบ)

 

สัปดาห์ก่อน ผมได้เล่าถึงกระบวนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 vs. วัคซีนแอนตี้โควิด และค้นคว้าเรียบเรียงคำตอบต่อคำถามว่า: จะต้องฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดให้ประชากรกี่มากน้อยถึงจะส่งผลยุติการระบาดของโรคได้?

โดยคำนึงถึงตัวแปรเสริม (parameters) อย่าง ประสิทธิศักย์ (efficacy) ของวัคซีนแอนตี้โควิดขนานหนึ่ง ๆ และสัดส่วนจำนวนผู้เคยป่วยโรคโควิด-19 แล้วหายและฉะนั้นจึงมีภูมิคุ้มกันของตัวเองตามธรรมชาติด้วย

ในสัปดาห์นี้ผมจะพยายามค้นคว้าคำตอบต่อคำถามน่าสนใจที่เหลือได้แก่:

คนที่ฉีดวัคซีนแล้วยังจะแพร่เชื้อให้คนอื่นได้อยู่หรือเปล่า?

ภูมิคุ้มกันที่ผู้ฉีดได้รับจากวัคซีนจะยืนนานแค่ไหน?

ใครควรได้รับการฉีดวัคซีนเร่งด่วนเป็นกลุ่มแรกก่อนเพื่อน?

วัคซีนยังจะใช้ได้ผลไหมถ้าหากเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ไป?

 

ยังมีปัจจัยเชื้อมูลอีกอย่างหนึ่งซึ่งเรามีความรู้เกี่ยวกับมันน้อยและสามารถถ่วงหน่วงการต่อสู้โรคระบาดโควิด-19 ให้เนิ่นช้าออกไป กล่าวคือ

วัคซีนบางขนานช่วยสกัดโรคโควิด-19 ไม่ให้กำเริบร้ายแรงในตัวเราได้ แต่มันไม่สามารถขัดขวางการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาจากตัวเราต่อไปยังคนอื่นอีก

พูดอีกอย่างก็คือ ถึงแม้ตัวผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ล้มป่วยเอง แต่เขาหรือเธอก็ยังอาจแพร่เชื้อไวรัสให้ระบาดลุกลามต่อไปได้อยู่ดี

นี่คือสิ่งที่เราเรียกขานกันว่า “วัคซีนไม่สมบูรณ์แบบ” (imperfect vaccine)

หรือนัยหนึ่งวัคซีนที่ช่วยให้เจ้าตัวผู้ได้รับการฉีดวัคซีนมีชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บลง แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อโรคใหม่เข้ามาในตัว ไม่ได้ป้องกันการผลิตซ้ำเชื้อโรคนั้นในตัว และไม่ได้ป้องกันการแพร่เชื้อโรคนั้นจากตัวต่อไปให้คนอื่นอีก จึงปล่อยให้สายพันธุ์ไวรัสที่ร้ายกาจแพร่ระบาดหมุนเวียนต่อไปได้

(ดู Andrew F. Read et al, “Imperfect Vaccination Can Enhance the Transmission of Highly Virulent”, PLOS BIOLOGY, 2015 Jul; 13(7): e1002198. www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4516275/#:~:text=If%20so%2C%20keeping%20hosts%20alive,more%20virulent%20strains%20to%20circulate.)

 

ถึงแม้กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นน้อยมากในคนเรา แต่มันก็เป็นความเป็นไปได้ที่ต้องคำนึงถึง

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า “วัคซีนไม่สมบูรณ์แบบ” จะเปล่าประโยชน์ ตรงกันข้าม เพราะหากฉีดให้ประชากรจำนวนมากมายใหญ่หลวงพอ มันก็จะยังช่วยปกป้องคุ้มกันผู้ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหลายให้หลีกเลี่ยงโรคระบาดในรูปแบบที่อาการหนักหนาสาหัสได้

ท้ายที่สุดยังมีตัวแปรเสริมอีกอย่างที่ต้องคำนึงถึงในการคาดคำนวณสัดส่วนจำนวนประชากรผู้ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อจะหยุดยั้งโรคระบาดโควิด-19 กล่าวคือ ผู้ได้รับวัคซีนแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปได้ยาวนานเท่าไหร่? – เพราะปัจจัยนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนโดสวัคซีนที่จำเป็นต้องหามาให้มากพอ

เมื่อพิจารณาว่าการรณรงค์ฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดให้เสร็จสิ้นจะกินเวลาราวหนึ่งปี

ค่า R0 ของโควิด-19 (R-ศูนย์ หรือ basic reproduction number หมายถึงยอดจำนวนคนที่ผู้ป่วยรายหนึ่งอาจแพร่เชื้อติดต่อให้ได้ตลอดช่วงเวลาที่เขาหรือเธอป่วยติดเชื้ออยู่) = 2.5

สมมุติให้ประสิทธิศักย์ของวัคซีนขนานที่ใช้อยู่ที่ 90%

ในกรณีที่ภูมิคุ้มกันของวัคซีนนี้ยืนยาว 3 ปี

นักวิจัยคำนวณว่าสัดส่วนจำนวนประชากรที่จะต้องได้รับการปลูกฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดในปีแรกอย่างน้อยจะต้องเท่ากับ 60% ของประชากรทั้งหมด

แต่ถ้าภูมิคุ้มกันของวัคซีนยืนนานแค่ 1 ปี สัดส่วนที่ว่านี้จะต้องเลย 90% ขึ้นไป

สัดส่วนกว่า 90% นี้จำเป็นเพื่อชดเชยให้แก่บรรดาผู้ได้รับวัคซีนที่ค่อย ๆ สูญเสียภูมิคุ้มกันพร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไป ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อที่จะธำรงรักษายอดผู้มีภูมิคุ้มกันโดยรวมเอาไว้ที่ 60% ของประชากรนั่นเอง

ฉะนั้น ความยืนยาวของภูมิคุ้มกันจึงเป็นข้อมูลที่เป็นแม่กุญแจในการจัดวางยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพราะภาระการฉีดวัคซีนให้ประชากร 60% เทียบกับถึง 90% นั้นมันท้าทายแตกต่างกันคนละเรื่องเลยทีเดียว

 

ถึงตอนนี้คงพอสรุปอย่างแน่ใจได้ว่าควรต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมากๆ เพื่อหยุดยั้งโควิด-19 ระบาด และการรณรงค์ฉีดวัคซีนนั้นกินเวลาพอควร

คำถามถัดไปคือใครกลุ่มใดบ้างควรได้รับการฉีดวัคซีนเร่งด่วนเป็นอันดับแรกก่อนเพื่อน?

เพื่อตอบคำถามนี้ จำต้องจัดวางยุทธศาสตร์เป็นสองชั้น

ก่อนอื่น เราอาจเริ่มต้นโดยพุ่งเป้าฉีดวัคซีนเร่งด่วนให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง

เราทราบว่าผู้สูงวัยล่อแหลมต่อโควิด-19 เป็นพิเศษ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ควรคำนึงถึงด้วย อาทิ โรคอ้วน (obesity) และโรคเบาหวาน (diabetes) เป็นต้น

สำหรับคนกลุ่มเสี่ยงนี้ ยิ่งพวกเขาได้รับการฉีดวัคซีนคุ้มครองตัวเร็วเพียงใด โอกาสเสียชีวิตเพราะป่วยด้วยโรคโควิด-19 ก็จะยิ่งต่ำลงเพียงนั้น

ทว่าในประเด็นนี้ มีเงื่อนไขประกอบ 2 ประการให้คำนึงถึง กล่าวคือ :

1) วัคซีนต้องปลอดภัยสำหรับคนที่ร่างกายอ่อนแอ

2) วัคซีนต้องใช้การได้สำหรับกลุ่มประชากรจำพวกนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่จะพิสูจน์ได้โดยผ่านขั้นตอนการตรวจสอบต่างๆ ขนานใหญ่

อันดับถัดไปจากประชากรกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ควรเป็นเป้าการฉีดวัคซีนรองลงมาได้แก่ กลุ่มคนที่มีโอกาสแพร่เชื้อติดต่อไปให้คนอื่นมากที่สุด

เพื่อการนี้ จำต้องหวนกลับมาพิจารณาตัวเลข R0 อีกครั้ง เพราะพึงเข้าใจว่าตัวเลข R0 = 2.5 ที่ใช้ข้างต้นเป็นค่าเฉลี่ย

เอาเข้าจริงในหมู่ประชากร ค่า R0 หาได้เหมือนกันสำหรับบุคคลแต่ละคนไม่ อาทิ คนที่อยู่ลำพังและห่างไกลชุมชนย่อมมีโอกาสน้อยมากที่จะได้พบปะและแพร่เชื้อไปติดคนอื่น ฉะนั้นค่า R0 ของเขาย่อมเกือบเป็นศูนย์

ในทางกลับกัน พ่อค้าแม่ขายตามตลาดหรือร้านอาหารที่ทำงานทุกวันและพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ค่า R0 ของเขาหรือเธอส่วนใหญ่ย่อมเลย 2.5 ไป

ยังเป็นไปได้ด้วยว่าคนต่างๆ ย่อมมีอัตราการแพร่เชื้อโรคติดต่อแตกต่างกันไปเนื่องจากสาเหตุทางชีววิทยาซึ่งจนถึงบัดนี้ก็ยังค้นคว้าวิจัยไม่รู้ชัดกันเป็นส่วนใหญ่

ในทุกๆ กรณี เราอาจเร่งฉีดวัคซีนให้แก่บรรดาบุคคลที่ค่า R0 มีศักยภาพที่จะสูงเนื่องจากกิจกรรมของพวกเขา

วิธีการแบบนี้จะช่วยให้การใช้วัคซีนมีประสิทธิศักย์สูงกว่า ดังที่นักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณว่าหากพุ่งเป้าฉีดวัคซีนแค่คนจำพวก R0 น่าจะสูงดังกล่าว สัดส่วนจำนวนประชากรที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อหยุดโควิด-19 ระบาดจะลดลงเหลือ 43% แทนที่จะเป็น 60% ข้างต้น

เพื่อใช้วัคซีนได้อย่างมีประสิทธิศักย์ การรู้ค่า R0 แม่นยำจึงเป็นตัวช่วยขั้นชี้ขาด ทว่าไม่เฉพาะในระดับบุคคลเท่านั้น เพราะค่า R0 ในระดับรวมหมู่ก็อาจเปลี่ยนไปได้เช่นกัน

เช่น ในประเทศหนึ่งๆ เมื่อมีการกำหนดมาตรการป้องกันจำกัดกิจกรรมการเดินทางรวมตัวต่างๆ ออกมารวมทั้งการเว้นระยะห่างทางกายภาพ ค่า R0 โดยเฉลี่ยก็อาจไม่เกิน 1.5 ก็เป็นได้ ยิ่งถ้าบุคคลใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ หมั่นล้างมือและเว้นระยะห่างทางกายภาพ เขา/เธอก็ยิ่งมีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นน้อยลง

ในเงื่อนไขสภาพการณ์เช่นนี้ หากเราคำนวณหาค่า P (สัดส่วนจำนวนประชากรที่ต้องฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อหยุดโรคระบาดได้) ใหม่ ตามสมการ P > (1 – 1/R0)/vaccine efficacy

โดยให้ R0 = 1.5

ประสิทธิศักย์ของวัคซีน = 90% ซึ่งเป็นขนานที่สร้างภูมิคุ้มกันให้ได้ยืนยาวแล้ว

แค่ฉีดวัคซีนให้ประชากร 37% ก็เป็นการเพียงพอ

ทว่าเพื่อบรรลุเป้าดังกล่าว ก็จะต้องธำรงรักษามาตราการเว้นระยะห่างทางกายภาพที่ทำอยู่เอาไว้จนกว่าประชากรสัดส่วนมากขึ้นจะมีภูมิคุ้มกัน

 

สรุปรวมความได้ว่า เมื่อพิจารณาตัวแปรเสริมทั้งหลายแหล่แล้ว วัคซีนแอนตี้โควิดหาใช่ยาวิเศษที่จะกำจัดโรคระบาดให้หมดไปดังใจนึกไม่

แต่หากใช้มันประกบประกอบกับมาตรการอนามัยอื่นๆ แล้ว วัคซีนก็จะเป็นตัวช่วยล้ำค่าในการหยุดยั้งโรคระบาดโควิด-19 ลงได้

ประสิทธิศักย์ของวัคซีนขนานต่างๆ, จำนวนคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน, จะฉีดวัคซีนให้ใครบ้าง, ความยืนนานของภูมิคุ้มกันจากวัคซีน, การดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างและจำกัดการเดินทางรวมตัวอื่นๆ ไว้หรือ ไม่นานแค่ไหนเพียงใด ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ผลสำเร็จของการใช้วัคซีนในแต่ละประเทศ แตกต่างกันไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยเราด้วย