ไทม์เอาต์ / SearchSri /โควิด-เบร็กซิท สะเทือนตลาดซื้อขายพรีเมียร์

ไทม์เอาต์/SearchSri

โควิด-เบร็กซิท

สะเทือนตลาดซื้อขายพรีเมียร์

 

ตลาดซื้อ-ขายนักเตะกลางฤดูกาล 2020-2021 ของ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ปิดฉากลงแบบเหงาๆ มีวงเงินหมุนเวียนในตลาดเพียง 70 ล้านปอนด์ (2,800 ล้านบาท) น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งคราวนั้นมีการซื้อ-ขายเกิดขึ้นในวงเงินรวม 60 ล้านปอนด์ (2,400 ล้านบาท)

และเทียบกันไม่ติดกับเมื่อปีที่แล้วซึ่งมียอดจับจ่ายในตลาดซื้อ-ขายถึง 230 ล้านปอนด์ (9,200 ล้านบาท)

  ดีลอยต์ บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก เผยข้อมูลและสถิติน่าสนใจจากตลาดซื้อ-ขายรอบนี้ว่า รอบนี้มีความเคลื่อนไหวซื้อ-ขายย้ายทีมของสโมสรในพรีเมียร์ลีกเพียง 24 ราย เทียบกับตลาดช่วงปีใหม่ 3 ปีหลังสุด ที่มีความเคลื่อนไหวเฉลี่ย 46 รายแล้ว เรียกว่าน้อยกว่าเกือบครึ่งต่อครึ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น หากนับกลุ่ม บิ๊ก 6 (อาร์เซนอล, เชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์) แล้ว ในกลุ่มนี้มีการซื้อนักเตะเข้าทีมเพียง 3 ราย และเป็นสัญญายืมตัวอีก 3 ราย โดยเม็ดเงินในส่วนของทีมบิ๊ก 6 คิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินทั้งหมด 60 ล้านปอนด์ที่กล่าวไปข้างต้น

ส่วน 4 ทีมท้ายตารางที่กำลังหนีตายนั้น มียอดใช้จ่ายดึงนักเตะใหม่เข้าทีมรวม 7 คน คิดเป็นเงินเพียง 6 ล้านปอนด์ (240 ล้านบาท) เทียบกับทีมกลุ่มเดียวกันในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว มียอดเงินใช้จ่ายในตลาดซื้อ-ขาย 40 ล้านปอนด์ (1,600 ล้านบาท) กับนักเตะ 8 คน

 

และเมื่อมองไปยัง 5 ลีกใหญ่ของยุโรปในตลาดซื้อ-ขายรอบนี้ จำนวนยอดซื้อนักเตะใหม่โดยรวมคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์เศษๆ เมื่อเทียบกับสถิติเฉลี่ยช่วง 3 ปีหลังสุดของช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่จำนวนเงินหมุนเวียนในตลาดซื้อ-ขายของ 4 ลีกใหญ่ คือ ลาลีก้า, บุนเดสลีก้า, กัลโช่ เซเรียอา และ ลีกเอิง รอบนี้รวมกัน 195 ล้านยูโร (7,020 ล้านบาท) คนละเรื่องกับปีกลายที่ใช้จ่ายกันไป 660 ล้านยูโร (23,760 ล้านบาท)

โดยปกติแล้ว ตลาดซื้อ-ขายเดือนมกราคมก็ไม่ได้หวือหวามากนักเมื่อเทียบกับตลาดช่วงซัมเมอร์ แต่ปีใหม่ 2021 นั้นตลาด “เงียบ” เป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพรีเมียร์ลีก เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ 2 ประการ

หนึ่งนั้นย่อมไม่พ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ซึ่งดีลอยต์เพิ่งประเมินเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนว่า นับเฉพาะแค่ 20 สโมสรฟุตบอลที่มีรายได้สูงที่สุดในโลก ผลจากโควิดทำให้ 20 ทีมนี้สูญเสียรายได้รวมกันแล้วถึง 2,000 ล้านยูโร (72,000 ล้านบาท) การจะใช้จ่ายอะไรจึงต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงตลาดเดือนมกราคมที่ทีมส่วนใหญ่ไม่ค่อยยอมปล่อยนักเตะนัก ถ้าจะซื้อก็ต้องควักกระเป๋าแพงกว่าปกติ หรืออาจจะยังไม่ได้นักเตะที่ต้องการจริงๆ

ทีมเล็กมูลค่าความสูญเสียอาจไม่สูงเท่าทีมใหญ่ แต่อาจจะสะเทือนหนักกว่า เพราะแค่พยุงสถานะการเงินยังเป็นไปอย่างยากลำบาก ถ้าหนักหน่อยบางทีมอาจถึงขั้นล้มหายตายจากกันไปเลยก็ได้

 

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สโมสรพรีเมียร์ลีกมีความเคลื่อนไหวในตลาดซื้อ-ขายค่อนข้างเงียบ แม้จะไม่มีอิทธิพลเท่ากับโควิดก็คือกรณี เบร็กซิท หรือการแยกตัวออกจาก สหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร

เบร็กซิททำให้กฎในการซื้อ-ขายนักเตะจากนอกสหราชอาณาจักรเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มนักเตะอายุน้อย เพราะจะถูกมองเป็นการจ้างงานแรงงานเยาวชนต่างชาติทันที ยิ่งการซื้อ-ขายกับบางลีกยิ่งอาจจะยุ่งยากมากเข้าไปอีก

เบร็กซิทเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม หลายทีมในอังกฤษยังสับสนและไม่มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ เรื่องเงื่อนไขการจ้างงาน จึงอยากประวิงเวลาเพื่อศึกษารายละเอียดของกฎระเบียบต่างๆ ให้ชัดเจนเสียก่อน

น่าสนใจว่า เมื่อเข้าสู่ตลาดซื้อ-ขายรอบใหม่ ปัจจัยทั้ง 2 ประการที่ทำให้การซื้อ-ขายนักเตะของพรีเมียร์ลีกและลีกยุโรปฝืดเคืองกว่าที่เคยเป็น จะเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน

แต่ที่แน่ๆ ผลกระทบที่ยังหลงเหลืออยู่น่าจะทำให้ค่าตัวนักเตะที่เคยพุ่งกระฉูดจนเสียสมดุลไปในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ กลับเข้าสู่เรตราคาที่คุ้นเคยกันอีกครั้ง