เขย่าสนาม / เมอร์คิวรี่ /’ประวัติศาสตร์ไทย’ จัดศึกขนไก่โลก ‘บาส-ปอป้อ’ กระหึ่มทริปเปิลแชมป์

เขย่าสนาม/เมอร์คิวรี่ [email protected]

 

‘ประวัติศาสตร์ไทย’ จัดศึกขนไก่โลก

‘บาส-ปอป้อ’ กระหึ่มทริปเปิลแชมป์

 

ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับศึกแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ ที่ประเทศไทยได้รับหน้าที่จาก สหพันธ์แบดมินตันโลก (บีดับเบิลยูเอฟ) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 3 รายการติดต่อกันตลอดช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการแบดมินตันโลกกว่า 116 ปี ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่วงการกีฬาทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับวิกฤตในครั้งนี้ จนทำให้ไม่สามารถจัดการชิงชัยในหลายชนิดกีฬา

เริ่มต้นรายการแรกในศึก “โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น” วันที่ 12-17 มกราคม

ตามด้วยรายการที่สอง “โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น” วันที่ 19-24 มกราคม

และปิดท้ายด้วยรายการใหญ่ที่สุด “เอชเอสบีซี บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟนัลส์ 2020” วันที่ 27-31 มกราคม

รวมเงินรางวัล 3 รายการจำนวน 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 105.30 ล้านบาท

จัดชิงชัยที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ภายใต้มาตรการนิวนอร์มอล ไม่อนุญาตให้แฟนแบดมินตันและผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในสนามเด็ดขาด

นับเป็นการรีสตาร์ตวงการแบดมินตันโลก หลังจากต้องหยุดพักไปนานกว่า 9 เดือนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีส่วนสำคัญให้วงการขนไก่โลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยมีมาตรการจัดการแข่งขันป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวดสูงสุด

ซึ่งนักกีฬาแบดมินตันระดับโลก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องอยู่ใน “บับเบิลควอรันทีน” และแยกการฝึกซ้อมของนักกีฬาแต่ละชาติอีกด้วย

 

ศึกแบดมินตันใหญ่ทั้ง 3 รายการครั้งนี้ มีนักกีฬาชื่อดังและนักกีฬาไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่จาก 22 ประเทศ ทั้งหมดกว่า 800 คน ร่วมการชิงชัย

ซึ่งตลอดการแข่งขันมีสถิติที่น่าสนใจหลายเรื่องด้วยกัน อาทิ ระยะเวลาการแข่งขัน โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น มากที่สุด นานรวมถึง 62.08 ชั่วโมง

รองลงมาเป็นโตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น 58.48 ชั่วโมง

และเอชเอสบีซี บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ ทัวร์ ไฟนัลส์ 42.08 ชั่วโมง

ขณะที่ค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการดวลกันต่อแมตช์มากที่สุด เป็นรายการเอชเอสบีซี บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ ทัวร์ ไฟนัลส์ ใช้เวลา 47.9 นาที แยกเป็นนานที่สุด 94 นาที เร็วที่สุด 28 นาที รองลงมา โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น 44.9 นาที แยกเป็นนานที่สุด 84 นาที เร็วที่สุด 19 นาที และโตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น 43.8 นาที แยกเป็นนานที่สุด 87 นาที เร็วที่สุด 18 นาที

ด้านจำนวนลูกขนไก่ ตลอด 3 รายการ มีการใช้ไปมากถึง 6,176 ลูก และรายการโตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น ใช้มากที่สุด 2,488 ลูก รองลงมาเป็นโยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น ใช้ไป 2,250 ลูก และเอชเอสบีซี บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ ทัวร์ ไฟนัลส์ ใช้ไป 1,438 ลูก

 

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ระบุว่า ขอบคุณความไว้วางใจที่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากทั้งหมด 22 ชาติที่เดินทางมาร่วมชิงชัยในไทย ถึงตอนนี้ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของไทยที่สามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 ที่มีผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เว้นกับวงการกีฬาที่ต้องหยุดการแข่งขันในระดับนานาชาติไปนานเกือบ 9 เดือน

“การสร้างประวัติศาสตร์จัดแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ระดับทัวร์นาเมนต์เวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 จนประสบความสำเร็จผ่านพ้นไปได้แบบที่ได้รับคำชื่นชมจากนักกีฬา รวมไปถึงองค์กรกีฬาจากทั่วโลก ความสำเร็จในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าหากไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่ต้องมาอยู่ในบับเบิลควอรันทีน และที่ต้องทำงานหนักตลอดเวลา ถือเป็นด่านหน้าในการทำงานจนกระทั่งประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อสร้างชื่อเสียงและความมั่นใจให้กับประเทศไทย” คุณหญิงปัทมากล่าว

นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่สำหรับการรีสตาร์ตวงการแบดมินตันให้กลับมาชิงชัยได้อีกครั้ง แม้จะอยู่ในช่วงที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 อยู่ ซึ่งประเทศไทยได้โอกาสแสดงศักยภาพว่าสามารถจัดการกับโควิด-19 ได้ ทำให้กระแสของกีฬาแบดมินตันจึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เห็นได้จากการที่มีคนซื้ออุปกรณ์แบดมินตันเพิ่มขึ้นมากมาย สอดคล้องกับแผนปฏิรูปกีฬาของประเทศ ที่ทำให้คนหันมาออกกำลังกายมากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ ทางด้านของโธมัส บาค ประธานโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ได้ขอให้ประเทศไทยช่วยส่งต้นแบบการจัดแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะรายละเอียดมาตรการบับเบิล ที่ได้ผลดีในการป้องกันโควิด-19 ให้กับจอห์น โคท ประธานคณะกรรมาธิการประสานงานโอลิมปิก โตเกียว 2020 ของไอโอซีชาวออสเตรเลีย โดยเชื่อมั่นว่าจะมีประโยชน์อย่างมากกับการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ “โตเกียว 2020” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้

 

อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของวงการแบดมินตันไทยคือการคว้า “ทริปเปิลแชมป์” ของ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ในประเภทคู่ผสมมืออันดับ 3 ของโลก ซึ่งควงแร็กเก็ตกระหึ่มโลกตบฟาดแชมป์ 3 รายการติดต่อกันได้แบบยิ่งใหญ่ ทำให้กลายเป็นนักแบดมินตันไทยรายที่ 2 ที่คว้าแชมป์ในระดับเวิลด์ทัวร์ 3 รายการติดต่อกันภายใน 3 สัปดาห์ต่อจาก “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ที่เคยทำได้ในปี 2016

“รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจมากที่สามารถคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทำได้ 3 แชมป์ติดต่อกัน นี่คือแชมป์ของคนไทยทั้งประเทศ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการแข่งขันตลอด 3 รายการในครั้งนี้คือเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น เราได้เห็นว่าสิ่งที่เราทุ่มเทฝึกซ้อมมาตลอด 9 เดือนสามารถนำมาใช้ได้ผลอย่างไรบ้าง และมีสิ่งไหนที่ยังผิดพลาดเราจะนำไปแก้ไขปรับปรุง ส่วนสิ่งที่ประทับใจกับการแข่งขันแบบนิวนอร์มอลคือ ทุกอย่างดีหมด ประทับใจทุกอย่าง ทีมงานดี การอำนวยความสะดวกให้นักกีฬาดีมาก” บาสและปอป้อกล่าว

“บาส-ปอป้อ” ถือเป็นคู่นักแบดมินตันไทยที่มีผลงานร้อนแรงที่สุดในตอนนี้ ซึ่งที่ผ่านมาทั้งคู่ผนึกกำลังกันคว้าแชมป์รายการต่างๆ มามากมาย จนสามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์เวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 มาครองได้แบบยิ่งใหญ่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสู่การก้าวไปคว้าเหรียญรางวัลในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

 

ศึกแบดมินตันใหญ่ 3 รายการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถือว่าสอบผ่านประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะถือเป็นต้นแบบสำคัญให้กับการจัดการแข่งขันกีฬาใหญ่อื่นๆ เป็นโมเดลในการจัดชิงชัยฝ่ามรสุมโควิด-19 ในช่วงนี้

รวมทั้งประเทศไทยยังเป็นส่วนหนึ่งในการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการแบดมินตันโลก ทั้งเรื่องมาตรฐานระดับโลกในการจัดการแข่งขัน และผลงานของนักตบลูกขนไก่ไทยที่โชว์ฟอร์มทริปเปิลแชมป์ได้อย่างยิ่งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ควบคู่กันด้วย!