ค้นตัวตน ชีวิต ความรักของ “อานนท์ นำภา” เจ้าของรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน

“อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน หรือที่เราคุ้นเคยกับบทบาทแกนนำกลุ่มราษฎร ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยตลอดปี 2563 เป็นผู้คว้ารางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2564

รางวัลกวางจูฯ จัดมอบโดยมูลนิธิ 18 พฤษภา (May 18 Memorial Foundation) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เพื่อยกย่องบุคคล กลุ่ม หรือสถาบัน ในเกาหลีและต่างประเทศ ที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริม และพัฒนาสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสันติภาพ

ผู้มอบรางวัลกวางจูฯ ระบุว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2551 “อานนท์ นำภา” ได้ทำกิจกรรมด้านประชาธิปไตยมาโดยตลอด และมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง “กลุ่มพลเมืองโต้กลับ” ที่ติดอาวุธให้ประชาชนในการต่อสู้กับความไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบอำนาจนิยม และช่วยผลักดันให้เกิดความตื่นรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน

และเป็นหนึ่งในผู้นำที่ผลักดันการต่อสู้ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งปี 2561

ทั้งยังผลักดันให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางสิทธิมนุษยชน การต่อต้านความรุนแรง ที่เกิดขึ้นจากกฎอัยการศึกและกองทัพ

การปราศรัยของเขายังมีพลังในการก่อร่างประชาธิปไตยในประเทศไทย และทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยและเยาวชนไทยเคลื่อนไหวทางการเมือง

และถึงแม้ว่าเขาจะถูกจับจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง แต่ก็ไม่หยุดการเคลื่อนไหว และยังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนต่อไป

ทั้งนี้ เคยมีคนไทยได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนมาแล้วสองคน คือ “อังคณา นีละไพจิตร” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อปี 2549 และ “จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา” หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เมื่อปี 2560

“อานนท์ นำภา” มีพื้นเพเป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด ที่เกิดในครอบครัวชาวนา ซึ่งเขานิยามเป็น “ชนชั้นกลางที่ค่อนไปทางล่าง”

ปัจจุบัน ทนายความวัย 36 ปี มีผู้ดูแลหัวใจแล้วเป็นหญิงสาวที่คบหากันมานาน และควงกันไปร่วมม็อบเสมอ

อานนท์คุยเล่นๆ ว่าเขามีสเป๊กเหมือนชายไทยทั่วไปที่ชอบ “สาวเอเชียตะวันออก” ที่สุด พร้อมตัดพ้อว่าในมุมกลับกัน ตนเองก็ไม่ใช่หนุ่มในสเป๊กของสาวไทยเอาเสียเลย

ด้วยความที่เป็นคนหัวดี ลูกอีสานเช่นทนายอานนท์จึงมีโอกาสเดินทางเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพมหานคร

เพราะสนใจเรื่องกฎหมายมาตั้งแต่เด็ก เขาเลยมุ่งมั่นเล่าเรียน กระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2549 และสำเร็จการศึกษาจากเนติบัณฑิตยสภาเมื่อปี 2552

“ถ้าจะพูดให้โรแมนติกหน่อย ผมเรียนกฎหมายเพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงกฎหมาย โดยไม่ได้คิดว่าจะเป็นอาชีพอะไร แต่โดยกมลสันดาน ผมเป็นคนที่ชอบถกเถียง เป็นคนที่ชอบใช้เหตุผลในการพูด ดังนั้น อาชีพที่เหมาะที่สุดก็น่าจะเป็นทนายความ”

หลังเรียนจบ อานนท์มีโอกาสไปฝึกงานเกี่ยวกับคดีความด้านสิทธิมนุษยชน การชุมนุมเรียกร้องสิทธิของชาวบ้าน

จากนั้นก็เริ่มว่าความให้ผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองและนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จนถูกเรียกขานว่า “ทนายเสื้อแดง”

เขาเล่าว่า ตนเองเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2553 ผ่านทางโซเชียลมีเดีย และเริ่มปราศรัยอย่างจริงจังในปี 2557 โดยมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง “กลุ่มพลเมืองโต้กลับ” ที่ลุกขึ้นต่อต้านการรัฐประหาร ก่อนจะจัดตั้ง “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ในปี 2560

บทบาทแกนนำม็อบผลักดันให้ “อานนท์ นำภา” ต้องยืนอยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลต์ ซึ่งมีทั้งคนรักและคนเกลียด

นี่ส่งผลให้ชีวิตส่วนตัวของเขาต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตมากขึ้น

“ชีวิตที่เป็นส่วนตัวน้อยลงมาก สมัยก่อนไปกินเหล้าที่ถนนพระอาทิตย์ ไปคนเดียวได้ ทุกวันนี้ก็ต้องมีเพื่อนไป ทั้งที่ความจริง เราชอบไปคนเดียว แล้วไปเจอเพื่อนแบบฟลุกๆ ในร้านมันก็สนุก ดังนั้น ถ้าสลิ่มจะเอาผมไปเสียบไปอะไรว่าชอบกินเหล้า มันก็เรื่องจริง แค่นั้นเอง”

ทนายอานนท์เล่าต่อว่า นอกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ชื่นชอบแล้ว กับแกล้มแซบอีหลีที่ขาดไม่ได้ของเขาก็คือเมนู “ซอยจุ๊” หรือ “ก้อยเนื้อสด” ที่ตนเองชอบรับประทานเป็นชีวิตจิตใจ

“จริงๆ ถ้าให้เลือกก็ชอบกินปลาดิบแต่มันแพง เลยเลือกกินเนื้อดิบแทน แต่ช่วงนี้ น้ำหนักขึ้น เวลาเราปราศรัยใช้พลังเยอะจะเหนื่อยง่าย ก็พยายามลดแล้ว ก็กินอะไรที่มันมีประโยชน์ เช่นเนื้อดิบก็มีประโยชน์ เพราะโปรตีนเยอะ”

กว่า 10 ปีที่ผ่านมา การต่อสู้ของ “อานนท์ นำภา” ได้เปลี่ยนแปลงบทบาทของเขาจากทนายความสิทธิมนุษยชน มาสู่การเป็นแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว ซึ่งนำไปสู่การตกเป็นจำเลยที่มีคดีความติดตัวนับไม่ถ้วน อย่างไรก็ดี คดีความต่างๆ นานาไม่สามารถหยุดยั้งปณิธานของเขาได้

“ผมเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย อะไรที่เขากลัวกัน ก็ไม่ได้กลัวอะไรกับเขา คือมันอาจจะเรียกว่าเป็นคนกล้าแลกก็ได้ ส่วนคดีความ ผมนับไม่ถ้วน คือเราเพิ่งเข้าใจคำว่านับไม่ถ้วนก็วันนี้ มันนับไม่ถ้วน มันขี้เกียจนับ คือนับนิ้วมือก็เกิน นับนิ้วตีนก็เกิน ก็ไม่ต้องไปนับแล้ว”

อานนท์มองว่าแม้การจับแกนนำเข้าไปขังคุก จะทำให้ตนและเพื่อนๆ บางส่วนต้องสูญเสียอิสรภาพ แต่ในทางกลับกัน นั่นกลับสร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลผ่านปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ม็อบออร์แกนิกส์” หรือการชุมนุมโดยปราศจากแกนนำ

“การจับแกนนำส่งผลต่อขบวนการเคลื่อนไหวในแง่บวก ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเติบโตมากขึ้น เป็นการสุมไฟให้กับขบวน และคนที่มีอำนาจเขากลัวเรื่องนี้พอสมควร เห็นได้จากม็อบออร์แกนิกส์มีคนมาร่วมเยอะมาก มันมีพลังมาก มากพอๆ กับการเคลื่อนไหวที่ฮ่องกง หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำในบางจังหวัด”

นอกจากนั้น ตลอดปีที่ผ่านมา ยังมีปรากฏการณ์ลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิด้านต่างๆ ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทนายอานนท์วิเคราะห์ว่าสถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้คนรุ่นเก่าๆ หลายรายมีพลังที่จะลุกขึ้นหยัดยืนอย่างมีความหวังอีกครั้ง

“คนเสื้อแดงที่กำลังท้อแท้ พวกนักวิชาการที่มีอายุหน่อยที่กำลังห่อเหี่ยวที่เขาไม่เห็นความหวังในสังคม พอคนรุ่นใหม่ขึ้นมา มันรู้สึกมีความหวังอีกครั้งหนึ่ง อาจารย์หลายคนก็กลับมาเขียนบทความ มันเหมือนกับทำให้สังคมมีชีวิตขึ้นมาอีก”

“อานนท์ นำภา” เปิดใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาลงมือทำมากว่า 10 ปีนั้น “โคตรคุ้ม” หากเทียบกับชีวิตคนคนหนึ่งที่เติบโตมาแล้วมองเห็นปัญหาของประเทศ ซึ่งเมื่อมองเห็นปัญหา เราก็สามารถพูดถึงปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่เสียดายชีวิต

“ผมไม่รู้จะอธิบายคำว่าโคตรคุ้มอย่างไร แต่ผมคิดว่ามันไม่เสียดายที่ได้เกิดมา ได้ทำในสิ่งที่เรารัก เห็นว่ามันมีปัญหา แล้วก็พูดว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ ที่สำคัญคือ มันได้ร่วมแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันความรู้สึกดีๆ ให้กับคนอื่น ที่เขาต่อสู้อยู่ข้างๆ เรา ว่าเขาไม่ได้สู้โดยลำพัง”

เจ้าของรางวัลกวางจูฯ กล่าวทิ้งท้าย