‘เราชนะ’ เยียวยา ศก. เสียงจาก รบ. แต่ทำไมเข้าไม่ถึงใจ ปชช.!! / เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

‘เราชนะ’ เยียวยา ศก.

เสียงจาก รบ.

แต่ทำไมเข้าไม่ถึงใจ ปชช.!!

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจต้องชะลอตัวลง ประชาชนต่างส่งเสียงสะท้อนความเดือดร้อน ภาคธุรกิจที่แย่อยู่แล้วต้องทรุดหนักลงไปอีก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

รัฐบาลจึงตัดสินใจที่จะออกมาตรการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือนร้อนของทุกภาคส่วน

แต่การทำงานของรัฐบาลที่ถูกครอบด้วยระบบราชการ ขั้นตอนกระบวนการต่างๆ จึงมีความล่าช้า ไม่ทันใจประชาชนที่หวังพึ่งรัฐบาล เป็นความหวังสุดท้ายที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากโควิด-19 และพยุงภาคธุรกิจเอกชนให้เดินหน้าต่อไปได้ เพื่อรักษาการจ้างงาน

ล่าสุด มาตรการเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ที่รัฐบาลประกาศออกมา คือ โครงการเราชนะ รัฐบาลจะแจกเงินให้ประชาชน 7,000 บาทต่อคน แบ่งเป็น 2 เดือน เดือนละ 3,500 บาท ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม

โครงการนี้กว่ารัฐบาลจะแง้มรายละเอียดแต่ละครั้งต้องใช้เวลา ประกอบกับยุคโลกาภิวัตน์ ข่าวสารเดินทางไปได้เร็วและไกล รวมทั้งเป็นการสื่อสารหลายทาง ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารถูกบ้างผิดบ้าง จากการคาดคะเนไปต่างๆ นานาของผู้คนในโลกออนไลน์

การที่รัฐบาลค่อยๆ แง้มรายละเอียดข้อมูล โดยเฉพาะมาตรการร้อน อย่างโครงการเราชนะ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดๆ ถูกๆ กอปรกับรายละเอียดยิบย่อย ทำให้หลายคนเข้าใจได้ยาก เพราะมีการแบ่งกลุ่ม 3-4 กลุ่ม รูปแบบที่ต่างกัน กระบวนการซับซ้อน เนื่องจากฐานข้อมูลกลาง หรือบิ๊กดาต้า รัฐบาลมีไม่มากพอ

อีกปัญหาของรัฐบาลที่แก้ไม่หาย คือ การสื่อสาร แม้มีประสบการณ์ บทเรียนจากมาตรการที่เคยออกมาก่อนหน้า แต่ปัจจุบันบางครั้งไม่สื่อให้คนเข้าใจได้ง่าย หนังสือเอกสารก็มีภาษาเฉพาะ ประชาชนทั่วไปทำความเข้าใจได้ยาก บางคนเข้าใจผิด เมื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือจึงผิดหวัง จนกระแสด่าทอรัฐบาลตามโซเชียลกลายเป็นอุปสรรคทำให้ถูกโจมตีตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังต้องคอยตามแก้ข่าวเฟกนิวส์อยู่เสมอ

เหล่านี้คือโจทย์ซ้ำซากที่รัฐบาลยังแก้ไม่ได้

 

มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา ในมุมมองนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อย่าง “เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การออกมาตรการ ต้องระบุก่อนว่าตอนนี้ทั้งประเทศ

1. มีคนเดือดร้อนจริงกี่คน

2. แต่ละคนเดือดร้อนแบบไหน

และ 3. แต่ละกลุ่มคนควรใช้นโยบายอะไร มาตรการเยียวยาหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ทราบว่าเพราะการสื่อสารไม่ดีหรือเปล่า จึงทำให้คนสับสน แล้วนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาประเมินด้วยมาตรฐานของการเยียวยาเลยทำให้คิดว่าการเยียวยาต้องทั่วถึง

ที่ผ่านมา มาตรการมาของรัฐบาลล้มลุกคุกคลานบ้าง เพราะไม่มีใครเคยเจอเหตุการณ์ ไม่มีใครรู้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งใหญ่ การลองครั้งแรกๆ แล้วผิดพลาดนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ หลังจากนั้นมาตรการเริ่มตรงจุดมากขึ้น แต่ความทั่วถึงของมาตรการอาจยังไม่เพียงพอ

หากรัฐบาลออกแบบมาตรการมาหลายๆ ชุด หลายๆ แบบ แล้วนำมากางให้ประชาชนเห็นว่า มีมาตรการตอบโจทย์แต่ละกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันและครบถ้วน ทำให้เกิดความทั่วถึง แต่ว่าออกมาทีละชุดๆ ทำให้คนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่า “ทำไมไม่ได้รับการเยียวเสียที” ดังนั้น อยากเห็นชุดมาตรการของรัฐบาลออกมาเฉพาะกลุ่ม และแต่ละกลุ่มมีการคลี่ออกมาพร้อมๆ กัน เช่น โครงการคนละครึ่งใช้กลยุทธ์ดึงให้คนมีกำลังใช้จ่ายฐานะปานกลางออกมาใช้เงิน เป็นต้น

“รัฐบาลควรเริ่มต้นสื่อสารในเชิงเศรษฐกิจให้ดีก่อน ให้คนเข้าใจทั่วกันและออกนโยบายแยกกันให้เห็นชัดว่านี่คือนโยบายเชิงสังคม ต้องเท่าเทียมและทั่วถึง ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือการกระตุ้นคนมีเงินซื้อ ออกมาจับจ่าย ให้เงินหมุนได้เร็วที่สุด แต่ตอนนี้รัฐบาลออกนโยบายโดยไม่ได้ใส่ยี่ห้อให้ เลยทำให้คนสับสนและคาดหวังแตกต่างกันไป รัฐบาลควรสื่อสารนโยบายในเชิงเศรษฐกิจให้ประชาชนเกิดความเข้าใจตรงกัน”

เกียรติอนันต์แสดงความเห็น

 

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์รายนี้ยังให้ความเห็นเรื่องมาตรการเราชนะ ว่า การช่วยรอบนี้น่าจะดี อยากเห็นกระบวนการคัดกรองกว่า 30 ล้านคนว่ามีกลุ่มเป้าหมายอย่างไร ตรงกลุ่มหรือไม่ จากข้อมูลบิ๊กดาต้าที่รัฐบาลเก็บมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้รัฐบาลต้องเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เงิน 7,000 บาทที่เติมลงไปจะทำให้เกิดการหมุนของเงินต่อไปได้ไหม ถ้าเกิดลงไปถึงคนเดือดร้อนจริงๆ ช่วยได้เยอะ ไม่ใช่เพียงหว่านแหให้ครบกว่า 30 ล้านคน

ส่วนกรณีไม่ให้เป็นเงินสดนั้น ถือว่าดีแล้ว ถ้าให้เงินสด อาจถูกนำไปใช้จ่ายสิ่งไม่จำเป็น มีบทเรียนจากโครงการลักษณะนี้มาก่อน ที่คนนำเงินไปใช้ไม่ถูกที่ถูกทาง เพราะถ้าคนต้องการอุปโภคบริโภคจริง ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด หรือในทางจิตวิทยาอาจลองปรับเป็นแจกเงินสดบางส่วน เช่น เงิน 7,000 บาท บังคับใช้ผ่านเพย์เมนต์ 6,000 และอีก 1,000 บาท แจกเป็นเงินสด เป็นต้น เพราะในมุมคนใช้เงิน การมีเงินอยู่ในกระเป๋าจะทำให้รู้สึกมีความมั่นใจ อาจจะทำให้บางคนมีความสุขกับนโยบายนี้มากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม การให้เงินสดอย่างเดียว อาจเป็นน้ำซึมบ่อทราย เกิดสิ่งที่เรียกว่าผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจต่ำ เช่น นำเงินซื้อกระเป๋า 1 ใบ เงินที่จ่ายไป 100 บาท อาจจะอยู่ในประเทศเพียง 20 บาท ส่วนที่เหลือไหลออกไปต่างประเทศหมด เกิดการสูญเงิน เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐคุมการไหลของเงินให้หมุนอยู่ในประเทศนานขึ้น อันนี้คือเรื่องดี อยู่ที่วิธีการสื่อสารและการกระตุ้น

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์รายนี้ยังมีความเห็นต่อโครงการคนละครึ่ง ว่า หากขยายต่อเป็นเฟส 3 ประสิทธิภาพอาจลดลง เพราะนโยบายซ้ำ คนละครึ่งเฟสแรกผลตอบรับดี เพราะคนมีเงินสดอยู่ในมือเยอะ ถ้าใช้ต่อเนื่องกัน ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เงินอีกครึ่งของประชาชนอาจไม่เหลือแล้ว ดังนั้น ควรมีนโยบายอื่นๆ มาเสริมเพื่อให้คนมีเงินในกระเป๋า แล้วค่อยใช้คนละครึ่งเป็นนโยบายเสริมแรงอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สะท้อนมุมมองได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแล้วว่า จะเปิดใจรับฟัง เพื่อใช้เยียวยาประชาชนได้จริงๆ สักที!!