ศาลทหารกับคดีคาร์บอมบ์-คาร์บ๊อง : วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลทหารสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษาในคดีคาร์บอมบ์ ซึ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ในขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นนายกฯ แล้วหลังจากนั้นไม่ถึงเดือนก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อล้มทักษิณ

เหตุการณ์คาร์บอมบ์นี้ เกิดในช่วงที่การเคลื่อนไหวล้มทักษิณดำเนินไปอย่างเข้มข้น ฝ่ายตรงข้ามทักษิณก่อกระแสโจมตีต่างๆ นานา ไม่เว้นเหตุการณ์คาร์บอมบ์ โดยตั้งฉายาว่าเป็นคาร์บ๊อง

คนที่เกลียดชังทักษิณย่อมเชื่อตามโดยทันทีว่า เป็นการจัดฉากเอง เพื่อสร้างคะแนนสงสาร หรือเพื่อใส่ร้ายฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

“โดยไม่มองข้อเท็จจริงพื้นฐานว่า ขณะรถแดวูคันดังกล่าวถูกตำรวจเข้าจับกุมนั้น มีนายทหารยศร้อยโทอยู่ในรถด้วย และถูกดำเนินคดีทันที”

การสร้างเรื่องจัดฉาก เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีตัวบุคคลให้จับกุมไปด้วย

อีกทั้งนายทหารผู้นี้ ก็ไม่เคยโวยวายว่า ตนเองถูกหลอกมา หรือถูกจ้างมา โดยไม่รู้เรื่องรู้ราว

หรือคนที่จ้างวานมาเพื่อให้เป็นตัวละครประกอบฉาก ก็ไม่น่าจะจ้างได้ถึงนายทหารในราชการเช่นนี้

ไม่เท่านั้น คดีนี้ยังมีการสืบสาวต่อไปจนจับกุมนายทหารระดับพันเอก และระดับนายพล อย่างต่อเนื่องอีก

“ไม่มีใครเลยที่อ้างว่าถูกหลอกมาเข้าฉาก หรือเป็นการจัดฉาก”

ข้อท็จจริงโดยพื้นฐานประการนี้ เป็นข้อมูลเปิดเผยที่ประชาชนผู้ติดตามข่าว สามารถใช้วิจารณญาณได้ว่า ที่คือคาร์บอมบ์จริง หรือแค่คาร์บ๊อง ดังที่แกนนำฝ่ายต่อต้านทักษิณจุดกระแสขึ้นมา

ไม่เท่านั้น หลังจากมีการสืบสวนคดีและจับกุมนายทหารที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง ไม่นานนักก็เกิดปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 โค่นล้มทักษิณ แต่คดีนี้ก็ยังดำเนินต่อไป แถมเป็นการพิจารณาคดีในศาลทหารอีกด้วย คดีก็ยังเดินหน้าไปเรื่อย

“เพียงเท่านี้ ก็ยิ่งชัดเจนว่า ถ้าทักษิณจัดฉาก ถ้าที่แท้คือคาร์บ๊อง แล้วกระบวนการคดีในศาลทหาร ในยุคทหารยึดอำนาจ เขาจะยอมปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องถูกดำเนินคดีหรือ!?”

จะว่าไปแล้วกรณีคาร์บ๊อง ก็คล้ายๆ กับวาทกรรมต่างๆ ที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมา ในช่วงที่การเมืองบ้านเราขัดแย้งแตกแยกรุนแรง คนที่เชื่อก็มักจะเชื่อไปโดยไม่เอาเหตุผลมาไตร่ตรอง

ไม่ว่าจะเป็นพวกที่ถูกฆ่าตาย 99 ศพนั้น เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง หรือนโยบายจำนำข้าวที่ทำให้ชาวนาได้เงินเข้าบัญชีเป็นกอบเป็นกำ ก็ว่าเป็นนโยบายเลวร้ายผลาญเงินงบประมาณแผ่นดินมโหฬาร หรือโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็บอกว่านั่นคือเผด็จการรัฐสภา

แต่ความจริง ก็ค่อยๆ เผยออกมาให้เห็นชัดในภายหลัง ดังเช่นคดีคาร์บอมบ์ ศาลทหารตัดสินว่าจำเลยผิดจริง

ก่อนหน้านี้ศาลทหารกรุงเทพ ได้เคยมีคำตัดสินคดีนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 โดยองค์คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ได้อ่านคำพิพากษาคดีร่วมกันลอบวางระเบิดสังหาร ทักษิณ ชินวัตร ที่อัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นผู้ส่งสำนวนสั่งฟ้อง มี ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ นายทหารสารบรรณที่รับผิดชอบงานในภาคใต้ เป็นจำเลยที่ 1 พ.อ.มนัส สุขประเสริฐ นายทหารรักษาความปลอดภัยผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เป็นจำเลยที่ 2 พ.อ.สุรพล สุประดิษฐ์ หรือ เสธ.ตี๋ อดีตนายทหารแผนกการเงิน กอ.รมน. เป็นจำเลยที่ 3

กรณีที่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 หน่วยรักษาความปลอดภัยของทักษิณ พบรถเก๋งยี่ห้อแดวู สีบรอนซ์เงินทะเบียน ฐฉ-3085 กทม. จอดอยู่บริเวณข้างสะพานข้ามแยกบางพลัด ซึ่งเป็นเส้นทางที่ขบวนรถของนายทักษิณต้องผ่านทาง หน่วยรักษาความปลอดภัยของนายทักษิณจึงได้ประสานกับหน่วยอรินทราช 191 และตำรวจท้องที่ตรวจค้นจนสามารถจับกุมชายคนหนึ่งและตรวจค้นรถคันดังกล่าว พบวัตถุระเบิดทีเอ็นที ซีโฟร์ ถังแกลลอนบรรจุน้ำมันเบนซินผสมปุ๋ยยูเรียแผงวงจรควบคุมการระเบิด

“คำพิพากษาระบุว่า จากคำให้การของพยานสรุปว่า จำเลยทั้งสามได้บังอาจนำวัตถุระเบิดมาประกอบเป็นระเบิดแสวงเครื่องติดในรถยนต์ และมีการเชื่อมต่อระบบวงจรครบถ้วน ซึ่งสามารถที่จะระเบิดสังหารบุคคลหรือทำอันตรายให้แก่บุคคลอื่นถึงแก่ความตายได้ โดยใช้คลื่นวิทยุส่งสัญญาณเป็นเครื่องจุดวัตถุระเบิด”

คำพิพากษากล่าวว่า จำเลยที่ 1 ขับรถออกจาก กอ.รมน. ไปยังบริเวณใต้สะพานแยกบางพลัดในวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ซึ่งจำเลยทั้งสามได้กระทำการโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะไม่พอใจการกระทำของทักษิณ แต่มีเหตุขัดข้องที่เครื่องส่งสัญญาณจึงไม่อาจจุดระเบิดได้

นอกจากนี้ ยังมีคำให้การกรณีไปที่สนามกอล์ฟ ทบ. โดยพยานยังได้ยินจำเลยที่ 3 พูดกับจำเลยที่ 2 ว่านายใหญ่มาแล้ว และเมื่อไปถึงก็ได้พบว่าเป็นนายทหารยศ พล.อ. ที่อยู่ในรถเบนซ์สีดำ โดยมี พล.ต. อีกคนยืนรออยู่ จากนั้นได้ร่วมกันหารือเพื่อวางแผน

“เมื่อพิจารณาเอกสารประกอบพร้อมคำยืนยันของจำเลยที่ 1 ที่มีใจความสำคัญว่า พอรู้ว่ามีระเบิดที่มีอานุภาพรุนแรง หากเกิดระเบิดจริงจะเสียใจมาก เพราะจะมีตราบาปไปตลอดชีวิต และจำเลยที่ 1 ยอมสำนึกผิด เพราะเพิ่งทราบว่าระเบิดรุนแรงขนาดไหน”

ศาลทหารกรุงเทพ ตัดสินว่า จำเลยทั้ง 3 มีความผิดจริงในข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียบเคียง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 และมาตรา 63 อีกทั้งร่วมกันเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดและพาไปในเขตเมืองโดยไม่มีเหตุอันสมควร และร่วมกันมียุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมโทษทุกกระทงจำคุกจำเลยทั้ง 3 คน 6 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 คือ ร.ท.ธวัชชัย ให้การเป็นประโยชน์จึงให้ลดโทษเหลือ 4 ปี 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท

“ส่วนข้อหาพยายามฆ่าทักษิณนั้น ยังไม่มีพยานหลักฐานรองรับเพียงพอ จึงยกฟ้องในข้อหานี้”

แต่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลดโทษ

ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ศาลทหารสูงสุดจึงออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษาว่า องค์คณะตุลาการศาลทหารสูงสุดได้พิจารณาและมีคำพิพากษายืนตามองค์คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ให้ลงโทษ ร.ท.ธวัชชัยตามเดิม คือ จำคุก 4 ปี 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวไปที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11

ทั้งคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ มาจนถึงศาลทหารสูงสุด ยืนยันว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดจริง

“มีการนำรถที่ประกอบระเบิดร้ายแรง เชื่อมต่อวงจรไว้ครบถ้วนแล้ว ขับออกจาก กอ.รมน. ไปจอดที่สะพานข้ามแยกบางพลัดจริง ทั้งจำเลย โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับสารภาพทั้งหมด”

เท่ากับว่าคาร์บอมบ์คันนี้ เป็นของจริง ถึงตายกันจริงๆ เพียงแต่ศาลทหารเห็นว่า ไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป้าสังหารคือทักษิณ จึงให้ยกฟ้องข้อหานี้

ความจริงผ่านศาลทหาร บอกได้ว่า นี่เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่คาร์บ๊องแต่อย่างใด

มีเหตุการณ์ระทึกขวัญเกี่ยวกับทักษิณอีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีเครื่องบินโบอิ้งการบินไทย เที่ยวบินไปเชียงใหม่ ได้เกิดระเบิดไฟท่วมเสียหายทั้งลำที่สนามบินดอนเมือง เมื่อ 3 มีนาคม 2544 ก่อนที่ทักษิณและลูกชายจะมาขึ้นเครื่องลำนี้ไม่นานนัก

ขณะนั้นทักษิณเพิ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ เมื่อมกราคม 2544 และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหนแรก

“ทีแรกตำรวจสรุปว่าเป็นการลอบวางระเบิดเครื่องบิน ทำให้ประเด็นสังหารทักษิณกระหึ่มไปทั่ว ยิ่งตอนนี้ชื่อเสียงทักษิณยังหอมหวน ฝ่ายต่อต้านยังไม่ก่อตัวขึ้น กระแสสังคมก็เชื่อไปด้วยว่า เป็นการวางระเบิดเครื่องบินเพื่อปองร้ายทักษิณ”

แต่ต่อมา หน่วยงานตรวจสอบของสหรัฐบินมาตรวจเอง มีการนำชิ้นส่วนไปตรวจที่ห้องแล็บของเอฟบีไอ ที่สามารถตรวจสอบได้ละเอียดที่สุดในโลก ยืนยันได้ว่า ไม่มีสารระเบิดในที่เกิดเหตุแต่อย่างใด

“กรณีนี้มีข้อสรุปหน่วยงานระดับโลกในภายหลังว่า เป็นอุบัติเหตุด้านเครื่องยนต์ของโบอิ้งเองมากกว่า!”

แต่ถัดมาอีก 5 ปี เกิดเหตุคาร์บอมบ์ ในช่วงที่ทักษิณกำลังขาลง แรงต่อต้านเป็นไปอย่างกว้างขวาง

กลุ่มโค่นทักษิณจึงสบโอกาสบิดเบนเรื่องราวให้กลายเป็นคาร์บ๊อง เพื่อโจมตีทักษิณซ้ำอีก

เพียงแต่มีข้อเท็จจริงที่สามารถนำมาพิจารณาประกอบได้ว่า ถ้าจัดฉาก ไม่ควรจะมีตัวผู้ต้องหาคารถที่เกิดเหตุอย่างนั้น

อีกทั้งคำพิพากษาของศาลทหารเองก็บ่งชี้ว่า มีการประกอบระเบิดร้ายแรงในรถคันนั้นพร้อมทำงานซึ่งสามารถทำอันตรายแก่ชีวิตคนได้จริง!