คุยกับทูต : เฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (ตอนจบ) “โจทย์ท้าทายของประเทศวางตัวเป็นกลาง”

สวิตเซอร์แลนด์มีบ้านเมืองสวยงามราวกับเทพนิยาย เป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่มีภาษาราชการถึงสี่ภาษา นั่นก็คือ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาเลียน และโรมาเนสก์

จึงเป็นที่มาของประเทศที่มีชื่อเรียกถึง 4 แบบ ซึ่งก็คือ Schweiz, Suisse, Svizzera และ svizra และยังเป็นสถานที่ตั้งขององค์กรนานาชาติหลายแห่ง

นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงภารกิจที่ต้องการจะให้บรรลุตามเป้าหมาย หลังมาประจำการที่ประเทศไทยนานกว่าหนึ่งปีแล้ว

“ดิฉันคิดว่าดิฉันเห็นบทบาทของตัวเองชัดเจนที่นี่ ดิฉันมีความสนใจทางด้านธุรกิจเพราะมันส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประเทศโดยตรง อีกทั้งดิฉันก็เรียนจบมาทางด้านนี้ด้วย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการให้บริษัทสวิสได้รับเงื่อนไขที่ดีที่สุดในการดำเนินธุรกิจ โดยพยายามหาช่องทางเพื่อจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงธุรกิจ และสร้างโอกาสในการลงทุนให้แก่บริษัทของสวิส”

“รวมทั้งมีความสนใจที่จะดึงดูดบริษัทของไทยไปลงทุนที่สวิตเซอร์แลนด์มากขึ้นนับเป็นความท้าทายส่วนตัวอันดับแรก”

ร่วมงานกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป

“ความท้าทายเอันดับที่สอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับชุมชนชาวสวิส ต้องขอบอกก่อนว่า ยังเห็นช่องว่างสำหรับการพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงาม ดังนั้น การที่ไทยส่งเสริมประเทศให้เป็นศูนย์การแพทย์และสุขภาพสำหรับชุมชนผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งชาวสวิสชอบแบบนั้น และมีบางคนต้องการที่จะมาตั้งรกรากในประเทศไทย”

“แต่ระบบราชการในเรื่องดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากสำหรับชาวต่างชาติ เช่น การขอสถานะการพำนักหรือการดำรงตนให้อยู่ในเกณฑ์ข้อบังคับสำหรับผู้อพยพ”

“การย้ายถิ่น ถือว่าเป็นหัวข้อที่ท้าทายในทุกประเทศ เช่นเดียวกับสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนไทยจะสามารถไปสวิตเซอร์แลนด์ แต่บทบาทของดิฉันคือการสร้างสะพานเชื่อม หากชุมชนของดิฉันมาเล่าว่ามีความกังวลในบางเรื่อง ดิฉันก็จะเห็นบทบาทของตัวเองเสมือนผู้ส่งสารที่พยายามจะถ่ายทอดข้อความบางอย่างให้กับรัฐบาลและดูว่าเราจะร่วมกันปรับปรุงบางสิ่งได้อย่างไร”

“โดยปกติ ชาวสวิสจะได้รับสวัสดิการและเงินบำนาญที่ดี พวกเขาพักอาศัยทั่วประเทศไทย และมีส่วนช่วยในแง่ของเศรษฐกิจ ชุมชนบางส่วนเลือกอยู่ที่กรุงเทพฯ บางส่วนอยู่ที่หัวหิน บางส่วนอยู่บนเกาะ บางส่วนอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย และอีสาน เท่ากับพวกเขากำลังนำเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่น ชาวสวิสส่วนใหญ่มีอุปนิสัยเชื่อฟังกฎหมายและมีระเบียบ ดิฉันเชื่อว่า เราเป็นลูกค้าที่น่าสนใจ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของดิฉันที่จะสร้างสะพานเชื่อมกันและดูว่าเราจะปรับปรุงสถานการณ์ได้อย่างไร”

“ปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์เป็นส่วนหนึ่งของ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ซึ่งมีความต้องการที่จะดำเนินการเจรจาการค้าเสรีกับไทย และกำลังอยู่ในขั้นตอนเบื้องต้น”

“ในทางเทคนิค มีการเริ่มต้นกระบวนการเจรจามาเมื่อนานแล้ว และได้หยุดไประหว่างทาง ปัจจุบันเราต้องการที่จะทำการเจรจาใหม่ โดยดิฉันได้ทำงานใกล้ชิดกับเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ ซึ่งเป็นตัวแทนของอีกหนึ่งประเทศกลุ่ม EFTA ที่สำคัญในประเทศไทย”

ในวันที่ประชาธิปไตยยังไม่กลับคืนสู่มือของประชาชนอย่างแท้จริง ท่านทูตมองประชาธิปไตยของไทยอย่างไร

“ประชาธิปไตยของประเทศไทยค่อนข้างอ่อนวัย และก็ยังเคยมีช่วงที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองระบอบอื่น ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องพยายามทำทุกๆ วันและทำอย่างเข้มข้น ดิฉันพูดแบบนี้เพราะสวิตเซอร์แลนด์มี “ประชาธิปไตยทางตรง” ชาวสวิสต้องไปลงคะแนนเสียงทุกสามเดือนเกี่ยวกับประเด็นสำคัญๆ ของประเทศ นั่นหมายถึง ในอุดมคติ คุณในฐานะพลเมืองต้องให้ความสนใจเกี่ยวกับทุกเรื่องในสังคมสมัยใหม่ และมีส่วนกำหนดอนาคตของประเทศผ่านการลงคะแนนเสียง”

“แต่ความที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์ จึงยากที่จะนึกถึงภาพของการอยู่ในองค์กรทางสังคมในรูปแบบอื่นๆ ส่วนตัวดิฉันมีความเชื่อว่า หลักประชาธิปไตย ความสำนึกรับผิดชอบ และหลักนิติธรรม ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประเทศประสบความสำเร็จ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน และในฐานะตัวแทนของภาครัฐ ดิฉันต้องรู้รับผิดชอบในหน้าที่ ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการบริการประชาชนคือส่วนสำคัญในชีวิตการทำงานสถานทูต”

“ในฐานะประเทศที่เป็นกลาง สวิตเซอร์แลนด์จะไม่นำระบบความคิดตนเองมาบังคับใช้กับผู้อื่น สุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องที่คนไทยต้องตัดสินอนาคตของประเทศ ดิฉันแนะนำได้เพียงจากประสบการณ์ว่า สวิตเซอร์แลนด์พัฒนาขึ้นเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งขึ้นมา หลังจากที่เราตัดสินใจวางตำแหน่งประเทศให้ตั้งอยู่บนหลักความมั่นคง สันติภาพ และประชาธิปไตย โดยที่อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง”

 

ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ประชาธิปไตยได้แพร่หลายและฝังรากลึกในหลายประเทศทั่วโลก ในขณะที่การขับเคลื่อนและคุณภาพของประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้มีความแตกต่างกัน ประชาชนที่ถูกปกครองโดยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งมีจำนวนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ดังนั้น การปกครองที่มีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยจึงเป็นการปกครองที่มีการนำไปใช้มากที่สุดในโลก ระบอบการปกครองที่ไม่สามารถนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยได้ ถือว่าขาดความชอบธรรม พลเมืองในประเทศที่มีการปกครองแบบไม่เป็นประชาธิปไตยเหล่านั้น ก็ยังคงแสดงออกอย่างต่อเนื่องถึงความปรารถนาในอิสรภาพ ศักดิ์ศรี และโอกาสที่จะได้เลือกรัฐบาลที่ต้องการ ผ่านการมีส่วนร่วมในการต่อสู้ดิ้นรนหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการต่อสู้ดิ้นรนเช่นนั้นก็ตาม การทำให้เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความอดทน

สมาพันธรัฐสวิสจึงได้รับการยอมรับด้านความเป็นประชาธิปไตย การยึดถือหลักนิติธรรม ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

สําหรับประเทศไทย อะไรคือความประทับใจของท่านทูต

“หลังจากที่ได้อยู่เมืองไทยมากว่าหนึ่งปี ดิฉันมีความชอบในหลายสิ่งหลายอย่างและรู้สึกปลอดภัยเป็นอย่างมาก ไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่นี่ที่รู้สึกไม่ปลอดภัย หากแต่สบายใจมาก กรุงเทพฯ เป็นเมืองศูนย์กลางที่เข้าถึงได้ง่ายมาก มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ และดิฉันเป็นแฟนตัวยงของงานหัตถกรรมไทย ซึ่งคนไทยมีความสามารถประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ได้อย่างสวยงามมาก”

“ตอนที่ดิฉันขึ้นไปทางเหนือ ก็ได้เห็นวัฒนธรรมล้านนา ได้เห็นชุมชนกะเหรี่ยง เมื่อครั้งไปภาคใต้ ก็ได้เห็นภาพเด็กนักเรียนหญิงขี่มอเตอร์ไซค์พร้อมสวมชุดแบบมุสลิม ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ดีงามมากอย่างหนึ่งเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งดิฉันประทับใจ”

“ส่วนสวิตเซอร์แลนด์มีความเป็นพหุวัฒนธรรม มีการพูดที่แตกต่างกันหลายภาษา และสังคมที่มีความหลากหลาย จึงถือว่าเป็นจุดแข็ง”

“หลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวสวิสเองก็ต้องดิ้นรนเช่นกัน มีการต่อสู้กันเพราะความแตกต่างทางศาสนาและความเชื่ออื่นๆ แต่สวิตเซอร์แลนด์ยุคใหม่ มีการสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นในปี 1848 และเมื่อยอมรับความจริงที่ว่าเราเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย มีการพูดภาษาที่แตกต่างกัน มีการเฉลิมฉลองวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นั่นไม่ใช่จุดอ่อน แต่นั่นคือจุดแข็งของเรา ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของชาวสวิสด้วย”

ท่านทูตเล่าถึงภารกิจที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้เริ่มทำ

“ในสวิตเซอร์แลนด์มีคนหนุ่มสาวเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไปเรียนในมหาวิทยาลัย อีก 70 เปอร์เซ็นต์ได้เริ่มไปฝึกงานหรือที่เรียกว่า อาชีวศึกษา นี่เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของสวิส คือเรามีการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างการปฏิบัติจริงกับทฤษฎี ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพสูงมาก”

“จากการที่ได้เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย ทราบว่าในประเทศไทยเองก็มีความสนใจที่จะดำเนินการด้านการฝึกอบรมอาชีวศึกษาให้มากขึ้น ซึ่งดิฉันก็อยากจะเริ่มต้นในความร่วมมือนี้อย่างจริงจัง แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการจัดการขั้นวิกฤต รวมทั้งการที่เราไม่สามารถนำผู้เชี่ยวชาญจากสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาในประเทศไทย หรือการจัดทัศนศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์ จึงทำให้โครงการความร่วมมือนี้ยังคงต้องรอต่อไปตามสถานการณ์ แต่ตอนนี้ก็พอจะมีโครงการแลกเปลี่ยนในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี”

กิจกรรมในยามว่างของท่านทูต

“ดิฉันมักจะทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ และถ้าไม่ทำงาน ก็จะชอบเดินเล่นไปรอบๆ แถวนี้กับสุนัขที่เราเลี้ยงไว้ แต่ดิฉันคนเดียวไม่สามารถรับมือกับสุนัขทั้งสามได้ ดิฉันจึงไปกับสามี ตัวดิฉันก็จะจูงสุนัขสองตัว เขาก็จะจูงอีกตัว หรือสลับกัน จูงคนเดียวสามตัว ไม่ไหว มากเกินไป”

“นอกจากนี้ ดิฉันยังชอบเล่นจิ๊กซอว์ดิจิตอล และชอบภาพยนตร์แนวระทึกขวัญที่มีเนื้อหาทางการเมือง เพราะมันน่าสนใจทีเดียว”

สุดท้าย ท่านทูตฝากข้อความถึงผู้อ่านว่า

“ขอขอบคุณท่านที่สนใจรับทราบเรื่องราวที่เกี่ยวกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดิฉันทำงานมาก็หลายประเทศ แต่รู้สึกได้ว่า คนไทยรักสวิตเซอร์แลนด์จริงๆ และเป็นความรู้สึกที่ดีมากยิ่งขึ้น ที่เมื่อใดก็ตามดิฉันพูดว่า “ดิฉันเป็นทูตของสวิตเซอร์แลนด์” ผู้คนรายรอบก็มักบอกกับดิฉันว่า “โอ้ ฉันเคยไปสวิตเซอร์แลนด์” หรือ “ประเทศโปรดของฉัน” หรือ “ประเทศที่สวยงามมาก” เป็นต้น แน่นอนว่า นั่นเป็นสิ่งที่วิเศษสุด ซึ่งทำให้ชีวิตของดิฉันง่ายขึ้นมาก”

“สำหรับผู้ที่กำลังอ่านเรื่องนี้ เราซาบซึ้งกับความรักและความเคารพที่คนไทยมีต่อสวิตเซอร์แลนด์ เราเข้าใจดีว่า ปัจจุบันการเดินทางระหว่างกันไม่ปลอดภัยแน่นอน แต่บทความนี้อาจจะช่วยเตือนความทรงจำให้ท่านผู้อ่านไปเยือนสวิตเซอร์แลนด์เมื่อโรคระบาดนี้สิ้นสุดลง หรือในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์จะยินดีอย่างมากที่จะต้อนรับคนไทย”