ทำไมบางคนขี้เมา | นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

ทำไมบางคนขี้เมา

 

ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่ปักหลักสั่งเบียร์มาอีกหกขวดตอนตีสาม ณ ร้านข้าวต้ม ในช่วงเวลาที่เพื่อนทุกคนเตรียมตัวกลับบ้านกันหมดแล้ว แต่สหายคอทองแดงยังยื้อยุดคนอื่นไว้ ชักชวนให้ดื่มด้วยกันต่อ เพราะยังไม่หนำใจ, เป็นเช่นนี้เสมอ

อะไรกันหนอที่ทำให้คนเราเพลิดเพลินกับการดื่มไม่เท่ากัน

ทำไมบางคน ‘คอแข็ง’ บางคน ‘คออ่อน’

มันเป็นเรื่องที่ข่มกันได้จริงๆ หรือเราต่างได้ ‘คอ’ ของตัวเองมาตั้งแต่เกิด?

บิล ซัลลิแวน เล่าไว้ในหนังสือ Pleased to Meet Me ว่า วิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์และผลของแอลกอฮอล์ที่มีต่อร่างกายแต่ละคนนั้นเกี่ยวพันกับพันธุกรรมอยู่

ยีนมีส่วนครึ่งหนึ่งต่อแนวโน้มที่ใครสักคนจะเสพติดแอลกอฮอล์ ซึ่งโรคติดสุราที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับยีนหลายตัว อาทิ ยีนชื่อ GABRB3 ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของตัวรับในเซลล์สมองที่รับกรดแกมมาแอมิโนบิวทีริก (GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ‘ยับยั้ง’ ที่บอกให้สมองสงบลง

แล้วมันเกี่ยวข้องยังไง

โรคติดสุราเกิดจากสมองที่ขยันตอบสนองมากเกินไป คือตื่นตัวมาก แอลกอฮอล์จะเข้าไปกล่อมประสาทช่วยผ่อนคลายเส้นประสาทให้ตื่นตัวน้อยลง สงบและสบายขึ้น

ซึ่งหากร่างกายผลิต GABA หรือกรดปลอมประโลมสมองให้สงบน้อยเกินไป คนคนนั้นก็จะต้องการเหล้าเบียร์เข้าไปช่วยกล่อมสมองให้สงบลงมากกว่าคนอื่น

ผู้ร่ำสุราจึงมิได้ชื่นชอบรสชาติสุรา แต่หลงใหลความผ่อนคลายจากการร่ำสุรา

เมื่อเป็นเช่นนี้ โรคพิษสุราเรื้อรังจึงอาจมีสาเหตุจากยีนด้วย

แม้มีเพื่อนคอทองแดง แต่ตัวผมอยู่ในกลุ่ม ‘หน้าแดง’ ตั้งแต่แก้วแรก เป็นที่รู้กันในหมู่เพื่อนฝูงว่าคออ่อน ผมมาเข้าใจตัวเองมากขึ้นเมื่อได้อ่านเรื่องการทำงานของยีนภายในร่างกาย

ปฏิกิริยาหน้าแดงจากการดื่มแอลกอฮอล์ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Alcohol Flush Reaction (AFR) ซึ่งคนที่หน้าแดงง่ายนั้นมีการผันแปรของยีนที่ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นในการผลิตเอ็นไซม์ที่ช่วยย่อยสลายแอลกอฮอล์ ทำให้กลายเป็นคนที่แอลกอฮอล์อยู่ในตัวนานกว่าคนอื่น พอแอลกอฮอล์ไม่สลายก็จะทำให้หลอดเลือดขยายตัวทำให้เกิดสีแดงและความร้อน จนเราเห็นว่าไอ้คออ่อนคนนั้น ‘หน้าแดง’ นั่นเอง

ซึ่งทุกครั้งที่หน้าแดงก็ไม่ได้มีแค่อาการทางสีผิวหนัง แต่ยังจูงมืออาการมึน ปวดหัว และคลื่นไส้ตามมาด้วย คนหน้าแดงง่ายหรือพวกคออ่อนแบบผมจึงกลายเป็นคนที่ไม่สบายตัวเมื่อกินเหล้าเยอะๆ ต่างจากเพื่อนที่สบายใจและผ่อนคลายมากขึ้นตามปริมาณที่กรอกลงไปในปาก

นี่คือความแตกต่างที่ทำให้เรารู้สึกดีกับ ‘เหล้า’ ไม่เท่ากัน

มันเริ่มขึ้นจากองค์ประกอบเล็กจิ๋วภายในร่างกายเรานี่เอง

นอกจากนั้น ยังมียีนอีกตัวหนึ่งที่ทำให้ ‘ความเมาของเราไม่เท่ากัน’

ว่ากันว่า คนตัวผอมตัวเล็กจะ ‘ร่วง’ ก่อนชาวบ้านเขา

แต่อาการเมาง่ายยังขึ้นอยู่กับการผันแปรของยีน CYP2E1 ด้วย

เจ้ายีนตัวนี้ผลิตเอ็นไซม์ที่ช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ พอมันแปรผันไป แอลกอฮอล์ไม่ลดตามปกติ เจ้าของร่างนั้นจึงเคลิ้มหนักเคลิ้มเร็วกว่ามนุษย์คนอื่น

อันนี้ก็คล้ายกันกับคนหน้าแดงง่าย

ข้อดีคือไม่เปลืองเหล้า กินนิดเดียวก็สนุกได้เท่าเพื่อนที่ซัดไปสามขวด

นอกจากนั้น ยังมีข้อดีอีกอย่างคือ มีแนวโน้มจะเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังน้อยกว่า เพราะไม่ซดเหล้าเยอะจนเสพติด

แล้วทำไมบางคนลดหรือเลิกเหล้าได้ง่ายกว่าบางคน?

พูดถึงการลด ละ เลิก นั่นหมายความว่าเรากำลังพูดถึงพฤติกรรมเสพติดบางอย่าง สิ่งเสพติดส่วนใหญ่มักมอบความสุขให้กับผู้เสพด้วยการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารโดปามีนออกมา

โดปามีนเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้รับรางวัล มันทำให้เรารู้สึกดี กระตุ้นให้ทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก เพื่อจะได้มีความสุขกับโดปามีนอีก เป็นวงจรแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

เกม เซ็กซ์ ยาเสพติด โซเชียลมีเดีย ล้วนทำงานแบบนี้กับเราด้วยกันทั้งสิ้น

ทีนี้ถ้าพูดถึงแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสารแปลกปลอมสำหรับร่างกาย เมื่อเราเทมันลงไปในร่างกายซ้ำๆ ตับก็ต้องทำงานหนักกว่าเดิมเพื่อเพิ่มเอ็นไซม์สำหรับขจัดแอลกอฮอล์ในการทำให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติ

แต่ยิ่งตับพยายามทำให้ร่างกายคืนสู่ภาวะ ‘ปกติ’ บ่อยๆ ก็ยิ่งทำให้นักดื่มคนนั้นชาชินหรือตายด้านกับแอลกอฮอล์มากขึ้นเรื่อยๆ

หรือพูดอีกอย่างว่าเมายากขึ้น

เหล้าหนึ่งขวดที่เคยทำให้เมาอาจไม่พอแล้ว เขาจึงต้องดื่มมากขึ้นเพื่อพาร่างกายออกไปจากภาวะ ‘ปกติ’ นั้น ราวกับกลั่นแกล้งตับตัวเอง

พอวงจรของการดื่มเพื่อกระตุ้นสารโดปามีนทำงานเต็มวงจรไปเรื่อยๆ การดื่มหนักจึงกลายเป็นปกติ

ถ้าหยุดดื่มจะทำให้ความสุขที่เคยได้รับขาดหายไป สมองไม่ได้รับสารกล่อมประสาทจากสุรา แต่สารสื่อประสาทที่สร้างความตื่นเต้นยังถูกกระตุ้นอยู่ในระดับสูง

กระบวนการนี้เองที่ทำให้คนเลิกเหล้ามีอาการตัวสั่น วิตกกังวล และกระวนกระวาย

กระนั้น ก็มีคนบางกลุ่มที่ลด ละ เลิกเหล้าได้เก่งกว่าคนอื่นๆ เพราะพวกเขามีการแปรผันของยีนที่สร้างโปรตีนชื่อ Beta-Klotho ซึ่งเป็นโปรตีนในสมองที่คอยดักจับฮอร์โมนที่ตับหลั่งออกมาเวลาย่อยสลายแอลกอฮอล์ ไอ้เจ้า Beta-Klotho นี้เกี่ยวข้องกับการสื่อสารระหว่างตับกับสมอง เหมือนตับส่งสัญญาณมาขอความช่วยเหลือว่ามีแอลกอฮอล์อยู่ในตับมากเกินไปแล้ว คนที่มีโปรตีนชนิดนี้มากกว่าจึงเลิกเหล้าได้ง่ายกว่า

การศึกษาเรื่องเหล่านี้เผยให้เห็นว่า การที่ใครสักคนสามารถเลิกเหล้าได้เร็วหรือเด็ดขาดกว่าคนอื่นอาจไม่ได้เกิดจากความมุ่งมั่น ความเข้มแข็ง หรือวินัยของเขาที่มีมากกว่าคนอื่นเสมอไป แต่อาจเป็นเพราะเขาโชคดีที่เกิดมามีระบบสื่อสารระหว่างสมองกับตับที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

มิต้องนับว่า บางผลวิจัยยังชี้ว่า แบคทีเรียในท้องของเราก็มีผลต่อการควบคุมตัวเองไม่ให้กลับไปเสพสิ่งเสพติดอีกครั้ง เพราะคนที่ลำไส้รั่ว เกิดการรั่วซึมทำให้องค์ประกอบของจุลชีพในช่องท้องเปลี่ยนแปลง

ส่งผลให้เขาโหยหาแอลกอฮอล์มากกว่าคนที่มีแบคทีเรียในท้องเป็นปกติ

ในมุมของสภาพแวดล้อมทางสังคมก็น่าพิจารณาไม่แพ้ปัจจัยภายในร่างกาย บิล ซัลลิแวน ชี้ให้เห็นว่า เหตุผลที่มีการใช้ยาเสพติดกันมากในกลุ่มคนยากจนหรือคนที่ถูกลิดรอนสิทธิต่างๆ เป็นเพราะส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้มีความรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะเสีย และต้องการหลบหนีจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย จึงใช้ยาเสพติดเพื่อกด pause จากความวิตกกังวลหรือชีวิตอันเลวร้ายนี้ อย่างน้อยก็ชั่วคราว

การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมจึงมีผลต่อพฤติกรรมพึ่งพายาเสพติด

มีการทดลองโดยนำเอาหนูที่ติดมอร์ฟีนออกจากกรงขังที่เคยอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีอะไรทำ นั่งๆ นอนๆ ซดมอร์ฟีนไปวันๆ โดยนำมันออกมายัง ‘สวรรค์ของหนู’ ซึ่งมีพื้นที่กว้างให้วิ่งเล่น มีสิ่งของให้สำรวจ มีหนูตัวเมียและตัวผู้อยู่ด้วยกัน มีพื้นที่ให้จับคู่และสร้างครอบครัว

ปรากฏว่าหกสัปดาห์ที่ย้ายจาก ‘คุก’ ออกสู่ ‘สวรรค์’ หนูที่ติดมอร์ฟีนหันไปดื่มน้ำธรรมดา ทั้งที่มีน้ำผสมมอร์ฟีนตั้งไว้ในสวรรค์แห่งนั้นด้วยเช่นกัน

ขณะที่หนูซึ่งถูกขังในที่แคบตามลำพังยังคงซดน้ำผสมมอร์ฟีนเหมือนเดิม ทั้งที่มีน้ำเปล่าตั้งไว้ด้วย

ข้อสรุปคือ หากได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถปล่อยโดปามีนออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ มันก็ไม่ต้องแสวงหาวิธีมีความสุขผ่านยาเสพติด, มนุษย์ก็เป็นเช่นนั้น

ข้อมูลทั้งหมดที่เล่ามาชวนให้พิจารณาถึงพฤติกรรมทั้งของตัวเอง เพื่อนฝูง และเพื่อนร่วมสังคมว่าการที่เราจะตัดสินใครว่าคอแข็ง คออ่อน ติดเหล้า ไม่ยอมเลิก หรือทำไมสิ้นคิดพึ่งพายาเสพติดนั้นมีองค์ประกอบทั้งภายในร่างกายและภายนอกที่หุ้มห่อตัวเราและตัวเขาอยู่อีกเยอะมาก

เรื่องง่ายของเราอาจไม่ง่ายสำหรับเขา

เช่นกันกับบางเรื่องที่บางคนทำได้ง่ายดายแต่ไม่ง่ายสำหรับเรา

เราก็คงต้องการความเข้าใจจากคนอื่นเช่นกัน การเข้าใจ ‘เหตุผลที่มองไม่เห็น’ ทำให้เราเผื่อใจไว้สำหรับสาเหตุที่ยังไม่รู้ เปิดใจให้ความแตกต่างได้มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน การเข้าใจ ‘เหตุผลที่จับต้องได้’ อย่างสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมคน ก็ทำให้ได้จินตนาการ คิดฝัน และร่วมผลักดัน ‘โลกที่ดี’ เพื่อให้ผู้ที่มีเงื่อนไขที่แตกต่างได้ปรับเปลี่ยนชีวิตตัวเองในทางที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องใช้พละกำลังเอาชนะแรงเสียดทานมากจนเกินไป

ว่าแล้วผมก็สามารถนั่งดื่มกับเพื่อนที่ซดเบียร์หกขวดแล้วจึงจะหน้าแดงได้

ทั้งที่ตัวเองเมาไปตั้งแต่แก้วแรกแล้ว