โครงการทวาย อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล / เทศมองไทย (ฉบับประจำวันที่ 22-28 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2110)

เทศมองไทย

โครงการทวาย
อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล

เว็บไซต์ข่าวอาเซียนทูเดย์ หยิบเอากรณีโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของเมียนมา โดยกองบรรณาธิการมานำเสนอไว้ หลังจากมีรายงานข่าวว่า อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ไอทีดี) ถูกยกเลิกสัญญาสัมปทานก่อสร้างโครงการมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์ ดังกล่าว “อีกครั้ง” เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา
พร้อมตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การที่โครงการนี้จะยังคงมีปัญหาในการแสวงหาทุนสนับสนุนตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ “สะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพและการบริหารจัดการผิดพลาดของโครงการ” ตั้งแต่ต้นจวบจนปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นถึง “เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ก็ตามที
ข้อเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นเมื่อไอทีดีเปิดเผยเรื่องนี้ออกมาเพราะจำเป็นต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา
โดยระบุว่า เหตุผลที่ทางการเมียนมายกเลิกสัญญากับไอทีดีและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหุ้นส่วนนั้นเป็นเพราะ “ไม่สามารถชำระเงินตามสัญญาสัมปทานและไม่สามารถทำตามเงื่อนไขอื่นๆ” ได้
เป็นการเขียนขึ้นก่อนที่คณะกรรมการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของทางการเมียนมา จะประกาศยกเลิกสัญญาดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อ 18 มกราคมที่ผ่านมา
โดยให้เหตุผลประกอบไว้ว่า สืบเนื่องจาก “เกิดความล่าช้าซ้ำซ้อนหลายครั้ง, ทั้งยังมีการละเมิดพันธะทางการเงินตามสัญญาและผู้รับสัมปทานไม่สามารถให้การยืนยันว่ามีศักยภาพทางการเงินเพื่อสนับสนุนให้มีการดำเนินตามแผนพัฒนาต่อไป”

สําหรับเมียนมาแล้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หรือทวายเอสอีซี มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มาตั้งแต่เริ่มต้นคิดโครงการเมื่อปี 2008
เพราะนี่คือหนึ่งในโอกาสครั้งใหญ่ที่สุดที่จะมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมา นอกเหนือจากจะเป็น “แบบอย่าง” เพื่อดึงดูดเงินลงทุนต่อๆ ไป
โครงการนี้ยังจะเปิด “ทางลัด” ที่จะเป็นเส้นทางการค้าทางบก โดยไม่จำเป็นต้องผ่านช่องแคบมะละกาด้วยอีกต่างหาก
เขตเศรษฐกิจทวายตั้งอยู่ในพื้นที่ของเขตตะนาวศรี ห่างจากกรุงย่างกุ้ง 600 กิโลเมตร แต่ห่างจากชายแดนไทยบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีเพียง 150 กิโลเมตร
พื้นที่ตั้งอยู่เลียบไปตามชายหาด ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นท่าเรือน้ำลึก
ในขณะที่เส้นทางถนนที่ตัดผ่านพื้นที่ป่าตรงเข้าหาชายแดนไทย จะกลายเป็นเส้นทางเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกับท่าเรือน้ำลึกของไทยในจังหวัดชลบุรี

ข้อเขียนของอาเซียนทูเดย์ให้ปูมหลังของโครงการนี้ไว้ว่า เริ่มตั้งแต่การให้สัมปทานต่อไอทีดีในฐานะ “ผู้พัฒนาหลัก” ของโครงการนี้เป็นเวลา 75 ปี เมื่อปี 2008
ก่อนที่ไอทีดีจะ “ถอนตัว” ออกมาในปี 2013 เพราะปัญหาทางการเงิน พร้อมๆ กับเกิดมีชาวบ้านยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยปัญหาสิทธิในที่ดินและการละเมิดอื่นๆ ในโครงการทวาย
ที่น่าสนใจก็คือ ในปี 2015 ทางการเมียนมาดึงไอทีดีกลับมาร่วมโครงการอีกครั้งโดยให้เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาโครงการระยะแรก มูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยังจะเดินหน้าระยะอื่นๆ ของโครงการ 8,000 ล้านดอลลาร์นี้ไปพร้อมๆ กัน
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ไอทีดีมีปัญหาทางด้านการเงินมาตั้งแต่ตอนนั้น “ทั้งๆ ที่มีความสนใจใหม่ๆ จากอย่างน้อย 8 บริษัทของจีน” ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นกับหน่วยงานการลงทุนระหว่างประเทศก็หันมาสนับสนุนโครงการนี้ด้วยเช่นกัน
แต่ปัญหาเรื่องเงินทุนสนับสนุนที่ไม่น่าจะเป็นปัญหา สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น

ปัญหาหลักอีกประการที่อาเซียนทูเดย์นำเสนอไว้ก็คือ ปัญหาการคัดค้านต่อต้านโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มแรกของประชาชนทั้งในเมียนมาและในประเทศไทย ที่ทำให้ 13 ปีของโครงการนี้ “อื้อฉาว” มาตลอด
“พวกเขาต่อต้านการเวนคืนที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม, การขาดการหารือกับสาธารณะ และไม่มีหรือไม่เปิดเผยข้อมูลของโครงการตามที่กำหนดไว้ทั้งในกฎหมายของไทยและกฎหมายของเมียนมา” และ “ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าโครงการจะมุ่งหน้าไปไหนอย่างไร ก็มีการเวนคืนที่ดิน โยกย้ายประชาชนเป็นจำนวนมากออกไป รบกวนหรือไม่ก็ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรอบ” ที่ไม่เคยได้รู้ได้เห็นกับการก่อสร้างโครงการ
ถนนกลายเป็นที่มาของความขัดแย้งเรื่องที่ดิน การพัฒนาส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศในพื้นที่ที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้ว
ข้อเขียนของอาเซียนทูเดย์ชี้ให้เห็นว่า การยกเลิกสัญญาสัมปทานกับไอทีดีครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่หน่วยงานผู้เป็นเจ้าของโครงการเองก็ยังไม่มี “ความคิดที่กระจ่างชัด” ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับโครงการนี้
หลายคนถึงกับคาดหวังว่า เลิกสัญญาครั้งนี้แล้วก็น่าจะเลิกล้มไปทั้งโครงการเสียเลยด้วยซ้ำไป
แต่จนกระทั่งถึงบัดนี้ชาวทวายและชาวบ้านใกล้เคียงก็ยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ขึ้นๆ-ลงๆ ต่อไปอีกนานปีไม่น้อยเลยทีเดียว