การศึกษา/จับตาท่าที ‘ศธ.-ทปอ.’ ‘เลื่อน-ไม่เลื่อน’ สอบทีแคส??

การศึกษา

จับตาท่าที ‘ศธ.-ทปอ.’

‘เลื่อน-ไม่เลื่อน’ สอบทีแคส??

 

กลายประเด็นร้อนแรงกระหึ่มโลกออนไลน์ หลังนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ออกมาเรียกร้องขอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) “เลื่อน” การจัดสอบปลายภาค รวมทั้งการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) การทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ (โอเน็ต) การสอบ 9 วิชาสามัญ ไปก่อน

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ทำให้นักเรียนต้องปรับตัวไปเรียนผ่านออนไลน์อีกครั้ง ซึ่งบางคนอุปกรณ์ไม่พร้อม บางคนไม่มีสมาธิ ประกอบกับครูให้การบ้านเป็นจำนวนมาก จึงกังวลว่าจะไม่มีเวลาเตรียมตัวอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเหลือเวลาแค่ 2 เดือนเท่านั้น!!

ทำให้เด็กเกิดความเครียด คิดมาก ประกอบกับไม่มีความมั่นใจ เพราะการไปสอบคือการรวมตัวของคนหมู่มาก อาจทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดอีกรอบหรือไม่

ข้อเรียกร้องของนักเรียนนั้น ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก เพราะจากการที่เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดรอบแรกในประเทศเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ศธ.จำเป็นต้องปิดเรียนเป็นระยะเวลานาน โดยได้เลื่อนวันเปิดภาคเรียน และกำหนดวันสอบใหม่หมดแล้ว คือ ภาคเรียนที่ 1 เปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม-13 พฤศจิกายน 2563 ส่วนภาคเรียนที่ 2/2563 เปิดภาคเรียนวันที่ 1 ธันวาคม 2563-9 เมษายน 2564

 

ส่วนกำหนดการสอบที่นักเรียนชั้น ม.6 จะต้องสอบ มีดังนี้ สอบโอเน็ต วันที่ 27-28 มีนาคม GAT และ PAT สอบวันที่ 20-23 มีนาคม และ 9 วิชาสามัญ สอบวันที่ 3-4 เมษายน

จะเห็นว่ากำหนดการสอบต่างๆ ค่อนข้างกระชั้นชิดอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม กระแสเลื่อนการสอบ มีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เพราะนักเรียนบางคนมองว่าเมื่อได้เรียนที่บ้าน มีเวลาอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ทำให้เตรียมตัวได้ทัน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเลื่อนการสอบ แต่นักเรียนบางคนมองว่า จากการเรียนออนไลน์ที่เครียด การบ้านจำนวนมาก และโรงเรียนยังจัดตารางสอนชดเชยในวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย แม้จะอยู่บ้าน ก็ไม่มีเวลาอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบ

โดยนักเรียนขอเลื่อนการสอบออกไปก่อนเท่านั้น ไม่ได้ขอให้ยกเลิกการสอบ อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้แผนการเตรียมตัวของนักเรียนล่มไปหมด!!

 

เมื่อนักเรียนส่งเสียงเรียกร้องมาเช่นนี้แล้ว ฝากฝั่งผู้ให้บริหารการศึกษา ออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกัน เริ่มจากนายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ระบุว่า กระแสการเลื่อนสอบ มีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ถ้าจะเลื่อนสอบจริง ต้องมีเหตุสุดวิสัยที่นำมาพิจารณาเลื่อนสอบ เช่น เกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง จนมีคำสั่งให้ล็อกดาวน์ห้ามออกจากบ้าน เป็นต้น

“ถ้าเลื่อนสอบจริงจะเกิดผลกระทบอย่างมาก คือการประกาศผลสอบต้องถูกเลื่อน กระบวนการการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย การเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย กระบวนการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย การฝึกงาน และการจบการศึกษาจะถูกเลื่อนไปด้วย” นายพีระพงศ์ระบุ

ส่วนการเลื่อนสอบจะเป็นอำนาจของหน่วยงานไหน นายพีระพงศ์แจกแจงว่า ต้องดูว่าเป็นการสอบอะไร เช่น ถ้าเป็นการสอบปลายภาค และโอเน็ต จะเป็นอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อย่างไรก็ตาม การกำหนดวันทดสอบต่างๆ จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันกำหนดอยู่แล้ว ว่าจะกำหนดวันสอบแบบไหน เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปด้วยความสะดวกต่อทุกฝ่าย

ดังนั้น การเลื่อนจึงไม่ใช่อำนาจของใครที่จะตัดสินใจได้

 

ด้านนางศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการ สทศ.ระบุว่า สทศ.ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนว่าอยากให้เลื่อนสอบ อย่างไรก็ตาม สทศ.เป็นเพียงหน่วยงานที่จัดสอบเท่านั้น โดยจัดสอบให้ ทปอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำผลคะแนนไปใช้เพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ดังนั้น การจะเลื่อนสอบด้วยสถานการณ์ใดก็ตาม สทศ.ต้องถาม ทปอ.ว่าจะเลื่อนวันนำผลคะแนนไปใช้ได้หรือไม่

“หาก ทปอ.มีมติเลื่อนวันสอบออกไป สทศ.ไม่มีปัญหา สามารถจัดสอบได้ ซึ่ง สทศ.เข้าใจถึงการเลื่อนวันสอบ เนื่องจากขณะนี้มีสถานการณ์โควิด-19 นักเรียนอาจเข้าสอบยาก อย่างไรก็ตาม สทศ.จะเร่งหารือ ทปอ.ภายในเดือนมกราคมนี้ ว่าจะเลื่อนสอบให้นักเรียนหรือไม่”

ผู้อำนวยการ สทศ.ระบุ

 

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า กรณีที่นักเรียนเรียกร้องขอให้เลื่อนสอบปลายภาคนั้น สพฐ.ได้กำหนดแค่วันเปิดและปิดภาคเรียนเท่านั้น ส่วนการสอบปลายภาค โรงเรียนจะเป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ตาม จากการที่โควิด-19 ระบาดรอบแรก ศธ.ได้กำหนดการเปิดปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2563 ใหม่ไว้แล้ว โดยภาคเรียนที่ 2 จะเปิดวันที่ 1 ธันวาคม-9 เมษายน ซึ่งจะทำให้การสอบปลายภาคเลื่อนไปอยู่แล้ว

“ถ้าจะขอเลื่อนสอบปลายภาค หรือการสอบอื่นๆ จะต้องทำทั้งระบบ ต้องหารือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การเลื่อนสอบสัมพันธ์กันทั้งระบบ จะทำในส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ ทั้งนี้ ต้องดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปก่อน ถ้าภายในวันที่ 31 มกราคม มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็ไม่ต้องเลื่อนการสอบ เพราะเดือนกุมภาพันธ์จะกลับมาเปิดเรียนตามปกติได้อยู่แล้ว แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ทุกหน่วยงานจะมาหารือร่วมกันว่าควรจะทำอย่างไร” นายอัมพรกล่าว

ส่วนนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.มองว่า ผลการสอบต่างๆ ของนักเรียนจะถูกนำมาใช้ในการคัดเลือกทีแคส รอบ 3 แอดมิสชั่นส์ 2 ซึ่งขณะนี้ สทศ.อยู่ระหว่างหารือกับ สพฐ.ถึงเนื้อหาการจัดสอบว่าสิ่งไหนนักเรียนควรรู้ และสิ่งไหนนักเรียนต้องรู้บ้าง ระดับการวิเคราะห์ของนักเรียนควรอยู่ในระดับใด เนื่องจากการเรียนในช่วงนี้ มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันอยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ศธ.ได้ยืดเวลาการสอบโอเน็ตของ ม.6 ให้อยู่ช่วงปลายเดือนมีนาคมแล้ว นักเรียนจะมีเวลาทบทวน และเตรียมตัวอยู่

ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นว่า การสอบต่างๆ เกี่ยวข้องกับทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ด้วย ศธ.ได้แต่นำเสนอแนวทาง และทางออกต่างๆ ซึ่งทุกหน่วยงานได้พูดคุยกันตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคณะกรรมการวิชาการของ ทปอ.ระบุว่า ทปอ.ได้ประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา หากถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น ทปอ.ก็เตรียมแผนรับมือ

อาทิ จัดให้สอบในสถานที่โล่ง ยกเลิกการสอบบางวิชาออกไป หรือปีนี้ระบบทีแคสอาจต้องข้ามการรับรอบ 3 รอบแอดมิสชั่นส์ และไปเปิดรับรอบ 4 รอบรับตรงอิสระ โดยให้มหาวิทยาลัยออกแบบวิธีการรับเด็กเอง แต่สุดท้ายต้องรอดูสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 หากยังไม่คลี่คลาย ก็จำเป็นต้องเลื่อน

ต้องจับตาดูว่า ศธ., สทศ. และ ทปอ.จะประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาด ผลดี ผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร!!

 

ภาพ สอบทีแคส