บทวิเคราะห์ | มรสุมรุมเขย่าเก้าอี้ ‘บิ๊กปั๊ด’ ทั้งต่างด้าว-บ่อน-ม็อบ หึ่ง! สัญญาณแรงทำ ผบ.ตร.เข้ม

โล่เงิน

มรสุมรุมเขย่าเก้าอี้ ‘บิ๊กปั๊ด’ทั้งต่างด้าว-บ่อน-ม็อบ หึ่ง! สัญญาณแรงทำ ผบ.ตร.เข้ม

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ขึ้นมากุมบังเหียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีปัญหาหลายอย่างถาโถมเข้ามาให้สะสาง จนบานปลายเป็นปัญหารุมเขย่าขาเก้าอี้รายวัน

เริ่มด้วยปัญหาแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ใน จ.สมุทรสาคร

เมื่อ ผบ.ตร.ส่ง “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ลงไปจัดการ พบว่าแรงงานพม่าที่ป่วยด้วยไวรัสร้ายนี้เชื่อมโยงขบวนการขนแรงงานเถื่อนที่ลักลอบเข้าประเทศด้าน จ.กาญจนบุรี มีตำรวจ 25 นาย ตั้งแต่ชั้นประทวน-รอง ผบก. และพลเรือน 8 คน ร่วมกระทำผิด

อยู่ระหว่างแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเตรียมออกหมายจับพลเรือน 8 คนในขบวนการขนแรงงานเถื่อน ในความผิดฐานหลบหนีเข้าเมือง ทั้งช่วยเหลือ ซ่อนเร้น อำพราง

ปัญหาบ่อนพนันภาคตะวันออก ซึ่งตำรวจถูกมองว่ารู้เห็นเป็นใจให้มีบ่อนเป็นคลัสเตอร์หนึ่งเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ จนเกิดการย้ายตำรวจครั้งใหญ่ ตั้งแต่ 5 เสือโรงพัก 4 ผู้การจังหวัด ผู้บังคับการสืบสวนภูธรภาค 2 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2

บิ๊กปั๊ดส่ง พล.ต.ท.รอย อิงคไพโรจน์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ลงไปขันน็อตสีกากี กวาดล้างบ่อนการพนันในท้องที่ ส่วนจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่

คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ขณะที่เรื่องเก่ายังสะสางไม่จบ ปมร้อนการเมืองปะทุขึ้นมาท่ามกลางการแพร่โควิด-19 ระลอกใหม่

15 มกราคม 2564 กลุ่มราษฎร พร้อมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำแพะใส่เสื้อ 112 เดินทางไปที่ สภ.คลองหลวง เพื่อให้กำลังใจนายชยพล ดโนทัย หรือเดฟ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าพ่นสีพระบรมฉายาลักษณ์ มีความผิดตามมาตรา 112 ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้กระทำผิด เพราะไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ

ต่อมาตำรวจ สภ.คลองหลวง ได้ขอยกเลิกหมายจับ เนื่องจากไร้หลักฐานเอาผิด และศาลอนุญาตให้ถอนคำร้อง

ระหว่างนั้น กลุ่มมวลชนได้ทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการเปลี่ยนธงชาติไทยบริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจ และนำผ้าสีแดงที่มีข้อความว่า 112 สลับขึ้นยอดเสาแทน

ต่อมากลางดึกวันเดียวกัน “บิ๊กปั๊ด” สั่ง “บิ๊กเด่น” ไปประชุมด่วนที่ สภ.คลองหลวง เนื่องจากเป็นพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม เข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมาย ข้อหาฝ่าฝืนการใช้ ชัก หรือแสดงธงที่มีความหมายถึงประเทศไทย หรือชาติไทย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ธง พ.ศ.2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ช่วงเช้าวันที่ 16 มกราคม พล.ต.อ.สุวัฒน์เดินทางไปขับเคลื่อนคดีด้วยตนเอง พร้อมกำชับแนวทางการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่ชักธงแดงขึ้นยอดเสาแทนธงชาติ

โดยเน้นย้ำจะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก เพราะกระทบความรู้สึกของคนทั้งประเทศ

พร้อมกับให้สัมภาษณ์ว่า “ยุทธวิธีของผู้กระทำผิดต้องการสร้างพื้นที่ข่าว ก็ต้องยอมรับเขาทำได้ดี ภาพที่ตำรวจชักธงลงก็กลายเป็นภาพตำรวจยืนดู ซึ่งจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่มีกำลังพร้อมอยู่ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมามีหลักคิดอยู่บนพื้นฐานที่จะไม่ใช้กำลังโดยไม่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการปะทะ”

“แต่หลังจากนี้ก็จะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ใต้บังคับบัญชาใหม่ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และหากจำเป็นต้องใช้กำลังหรือบังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำ อย่าลังเล ขอให้มั่นใจสิ่งที่ทำ เพราะไม่ได้สั่งให้ทำอะไรนอกอำนาจหน้าที่ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ต้องรับผิดชอบร่วมกันและไม่ทอดทิ้งกัน”

“ซึ่งเราอาจจะเพลี่ยงพล้ำเรื่องการข่าวก็ว่ากันไป แต่อย่างที่บอกว่าสงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร”

ผบ.ตร.กล่าวอีกว่า จากนี้จะต้องปรับเรื่องการทำงาน ที่ผ่านมาตำรวจระดับเล็กอาจไม่มั่นใจเรื่องการทำงาน อำนาจหน้าที่ เรื่องกฎหมายอาจยังไม่แตกฉานเพียงพอ เรื่องพวกนี้ต้องปรับความคิดกันใหม่ ทำให้เข้มข้นขึ้น ให้เขาเข้าใจว่าสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้ ยุทธวิธีควรเป็นอย่างไร นำบทเรียนมาถอด

จากนี้จะต้องไปทำความเข้าใจกับตำรวจทั่วประเทศ อยากให้ลูกน้องมั่นใจว่าเรารับผิดชอบในสิ่งที่สั่ง ขอให้เขามั่นใจในสิ่งที่ทำ เพราะเราไม่ได้สั่งให้เขาทำอะไรนอกอำนาจหน้าที่ เพียงแต่ต้องให้รู้ว่าอะไรทำได้ และเมื่อจำเป็นต้องใช้กำลังอย่าลังเล ต้องใช้

จากคำสัมภาษณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงท่าทีของ ผบ.ตร.ที่เปลี่ยนไป ท่ามกลางข่าวลือว่าได้รับสัญญาณแรง จึงปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้ชุมนุมอย่างเข้ม

คล้อยหลังไม่กี่ชั่วโมง ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีมวลชนจำนวนหนึ่งทำกิจกรรมเขียนป้ายยาว 112 เมตร เพียงไม่นาน ถูกตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เข้ากระชับพื้นที่ พร้อมจับกุมนักกิจกรรม 2 ราย และยึดป้ายผ้าที่ใช้เขียนข้อความ ทำให้เกิดการยื้อยุดฉุดกระชากกัน ระหว่างตำรวจกับประชาชน กลายเป็นภาพเหตุการณ์ชุลมุน ต่อมามวลชนย้ายไปรวมตัวกันที่แยกสามย่าน

จุดนี้ตำรวจยังได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่กระทำความผิดอีก 4 ราย จนสังคมมองว่าการกระทำของตำรวจเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุหรือไม่

ด้าน พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร.ชี้แจงว่า เวลานี้เป็นช่วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ การแจ้งการชุมนุมสาธารณะไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อกฎหมายทั้งสองฉบับ ตำรวจจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากไม่ดำเนินการจะเป็นเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อมีเหตุผู้ชุมนุมรวมตัวกัน ตำรวจได้ดำเนินการอย่างละมุนละม่อม เป็นขั้นตอน ที่กล้ายืนยันแบบนี้เพราะมีสื่อมวลชนหลายสำนักได้ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ยูทูบ สามารถตรวจสอบได้ ตำรวจมีการอธิบายข้อกฎหมายและการเข้าดำเนินการก็พิจารณาแล้วว่าผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พยายามต่อต้านการทำงานของตำรวจตลอดเวลา เจ้าหน้าที่จึงต้องดำเนินการตามยุทธวิธี

จากนี้การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุม จะเป็นไปด้วยความเข้มข้น โดยอ้างว่าเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อาจเป็นการเติมเชื้อให้สถานการณ์การเมืองร้อนขึ้นมาอีก