เยียวยาโควิด-19 : เอกชนปูดคนรวยเนียนลง ‘คนละครึ่ง’ แย่งชาวบ้าน “สุพัฒนพงษ์” แจงชัดจ่ายค่าเช่าบ้าน-วินจยย.-แท็กซี่ได้

วันที่ 21 มกราคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ระบุตอนหนึ่งว่า “มีคำถามอีกว่าทำไมไม่จ่ายเงินเข้าบัญชี แล้วให้ถอนเป็นเงินสดได้จะได้ใช้จ่ายเงินได้ตามใจชอบ เรื่องแรกเลยคือเรากำลังอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การสัมผัสธนบัตรจึงเป็นเหตุที่อาจทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ไม่เพียงเท่านั้น เรายังคิดถึงเรื่องการลดความแออัดของประชาชนจำนวนมากที่จะไปต่อคิวกดเงินสดออกจากตู้ ATM ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสนับสนุนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญอีกประการก็คือ ความต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า และให้เงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชนเพราะร้านค้าที่รับซื้อหรือรับบริการจะเป็นร้านเล็กๆ เรามีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือคนตัวเล็ก และให้เงินหมุนหลายรอบในระบบเพื่อช่วยเหลือการใช้เงินในชีวิตประจำวันของคนตัวเล็กให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

และครั้งนี้จะเปิดกว้างให้เป็นบริการทั่วไปได้ซึ่งรวมถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ และอื่นๆ อีกมาก คนที่จะจ่ายค่าเช่าบ้านก็สามารถให้ผู้รับเงินเปิดแอพถุงเงิน เพื่อให้เราใช้เงินในแอพเป๋าตังจ่ายได้ หรือแม้แต่นำเงินสดที่ประหยัดได้จากการใช้วงเงินเราชนะ ที่นำไปใช้จ่ายในส่วนนั้นได้

สิ่งที่เป็นประโยชน์มากอีกอย่างก็คือ การสร้างสังคมไร้เงินสดซึ่งโครงการคนละครึ่งเริ่มต้นไว้ แล้ว “เราชนะ” ก็มาทำให้ต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งอนาคตเราหนีเรื่องนี้ไม่พ้น อย่างไรก็ดี ผมขอขอบคุณสำหรับคำถาม ข้อสงสัยต่างๆ ทำให้เรามองเห็นเรื่องที่อาจเป็นปัญหา หรือที่เราอาจมองข้ามไป เราจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่ประเทศไทยจะเดินต่อได้ วันนี้พวกเราต้องร่วมมือกันครับ”

‘สอท.’ ปูดคนรวยเนียนลงทะเบียน ‘คนละครึ่ง’ 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือประชาชนนั้น เอกชนอยากเสนอให้เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งเป็น 5,000 บาท ขยายระยะเวลาโครงการ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายจำนวนสิทธิผู้ได้รับ นอกจากนี้อยากให้มาตรการคนละครึ่งมีการกรองคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการเหมือนโครงการเราชนะที่ดูจากฐานบัญชีเงินฝาก เพื่อให้โครงการคนละครึ่งเข้าถึงกลุ่มประชาชนได้ครอบคลุมจริงๆ เพราะจากการลงทะเบียน 1.34 ล้านสิทธิล่าสุดที่ใช้เวลาเพียง 9 นาที มีผู้พลาดโอกาส แสดงให้เห็นว่ามีผู้ต้องการเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก

ล่าสุด มีเอกชนรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า จากการติดตามโครงการคนละครึ่งพบว่า ในกลุ่มของผู้มีรายได้สูงต่างเข้าใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งจำนวนมาก ซึ่งประเด็นนี้ไม่เห็นด้วย เพราะวิธีการเข้าถึงสิทธิคือแย่งกันลงทะเบียน ประสิทธิภาพอินเตอร์เน็ต คุณภาพมือถือ และปัจจัยอื่นมีผลเอื้อคนรวยมากกว่าคนจน ทำให้แต่ละรอบมีผู้พลาดโอกาส ลงทะเบียนไม่ได้ อาทิ ผู้สูงอายุ ดังนั้นอยากให้รัฐบาลพิจารณาทบทวน หากดำเนินการคนละครึ่งเฟส 3 ก็ควรพิจารณาจากฐานเงินฝากไม่ควรเกิน 500,000 บาท เช่นเดียวกับโครงการเราชนะ

‘สศค.’ แจงเกษตรกรได้เงินผ่านบัตรคนจน

โครงการเราชนะมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนด้วยการสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยจ่ายเป็นรายสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 เดือน (จ่ายเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม 2564) ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิ์จะคำนึงจากความสามารถในการจ่ายค่าครองชีพและการมีระบบคุ้มครองทางสังคมเป็นหลัก และการช่วยเหลือจะครอบคลุมประชาชนหลากหลายกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งกำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิ์ ดังนี้
– เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
– ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
– ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง
– ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
– ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
– ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
– ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
ดังนั้น หากเกษตรกรเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทันที
ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะมีการตรวจสอบในกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่น ๆ ของรัฐได้ (กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”ฯ) ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ หากผ่านการตรวจสอบและคัดกรองตามคุณสมบัติข้างต้นจากฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ทันที
หากเกษตรกรเป็นผู้ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”ฯ ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www. เราชนะ .com หากผ่านการตรวจสอบและคัดกรองตามคุณสมบัติข้างต้นจากฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

คนแห่กู้ล้น! ‘ออมสิน’ ประกาศปิดรับสินเชื่อพลังฐานรากชั่วคราว

ขณะที่ ธนาคารออมสิน ออกมาตรการ “กู้สินเชื่อฉุกเฉิน” เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ให้กู้รายย่อยในโครงการ “สินเชื่อพลังฐานราก” วงเงิน 10,000 ล้านบาท เปิดให้กู้สูงสุดรายละ 50,000 บาท โดยให้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น MyMo ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด ธนาคารออมสิน ได้ประกาศว่า ขอปิดรับ การสมัครสินเชื่อเสริมพลังฐานรากชั่วคราว เนื่องจากมีผู้ขอเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ที่สมัครเข้ามาแล้ว ธนาคารจะยังคงพิจารณาอย่างต่อเนื่อง และจะเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 23 มกราคม 2564

อย่างไรก็ตาม ธนาคารออมสิน ประกาศปรับหลักเกณฑ์ สินเชื่อเสริมพลังฐานราก โดยผู้ที่เคยกู้สินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (สินเชื่อฉุกเฉิน) เมื่อปี 2563 สามารถยื่นกู้ได้อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.64 เป็นต้นไป สำหรับผู้กู้รายเดิมที่ต้องการกู้ใหม่ สามารถยื่นขอสินเชื่อเสริมพลังฐานรากได้ โดย “ออมสิน” เปิดให้กู้รายละ 20,000 บาท หรือต้องมีประวัติการผ่อนชำระดีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารจะพิจารณาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อสำหรับผู้กู้จะต้องไม่เคยมีประวัติหนี้เสียมาก่อน

ป้ายโผล่กลางอนุสาวรีย์ชัย ‘จ่ายภาษีแบบบังคับ รับสวัสดิการแบบชิงโชค’

นอกจากนี้ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เผยแพร่ภาพป้ายข้อความ วิพากษ์การบริหารของรัฐบาล ผ่านแฟนเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration” พร้อมระบุว่า

“จ่ายภาษีแบบบังคับ รับสวัสดิการแบบชิงโชค”
เช้านี้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป้ายดังกล่าวถูกติดตั้งบริเวณสะพานลอย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยพื้นหลังสีเหลือง ระบุข้อความด้วยตัวอักษรสีแดงและน้ำเงิน ความว่า “จ่าย ‘ภาษี’ แบบ ‘บังคับ’ รับ ‘สวัสดิการ’ แบบชิงโชค!!”