‘ทรัมป์’ ป่วนจนวันสุดท้าย ถ่ายโอนอำนาจอันไม่ราบรื่นให้ ‘ไบเดน’ ตามมาแก้

วันที่ 19 มกราคม 2564 เอเอฟพีรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองสหรัฐอเมริกาช่วงเปลี่ยน ผ่านผู้นำ วันที่ 20 ม.ค. ว่ายังคงปรากฏความไม่ราบรื่นด้านนโยบายและการบริหารงานอย่างชัดเจน เมื่อน.ส.เจน ซากี โฆษกของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ แจ้งว่ามาตรการห้ามผู้เดินทางจากประเทศในยุโรปและบราซิลเข้าสหรัฐ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 นั้นยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ขัดแย้งกับที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยกเลิกมาตรการก่อน หมดวาระ

โฆษกหญิงกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวยังคงบังคับใช้ต่อไป เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดเลวร้ายลง อีกทั้งเชื้อโรคกลายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก จึงไม่ใช่เวลายกเลิก แต่ทีมรัฐบาลไบเดนจะเข้มงวดในมาตรการสาธารณสุขในประเด็นการเดินทางระหว่างประเทศยิ่งขึ้นอีก เพื่อลดการระบาดของโควิด-19 ขณะที่สหรัฐมีผู้ติดเชื้อเกิน 24 ล้านคน เสียชีวิตเกือบ 4 แสนราย

นายทรัมป์ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามผู้เดินทางจากประเทศในยุโรปและบราซิลเข้าประเทศสหรัฐ แต่ยังคงห้ามชาวจีนและอิหร่าน ตามประกาศเมื่อวันที่ 31 เดือนม.ค. 2563 โดยระบุว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะยังคงคุ้มครองชาวอเมริกันจากการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ขณะเดียวกันค่อยๆ อนุญาตให้เดินทางเข้าสหรัฐได้อย่างระมัดระวัง

นายทรัมป์ห่างหายหน้าไปจากสาธารณชนนับตั้งแต่เหตุม็อบหนุนทรัมป์บุกรัฐสภาเมื่อ 6 ม.ค.ที่มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ทำให้ในอีก 1 สัปดาห์ต่อมานายทรัมป์ถูกสภาผู้แทนราษฎรโหวตถอดถอนออกจากตำแหน่งเป็นครั้งที่สอง สร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกโหวตยื่นถอดถอนเป็นครั้งที่ 2 นายทรัมป์ยังไม่แสดงความยินดีกับนายไบเดน อีกทั้งยังกลายเป็นประธานาธิบดีที่กำลังจะหมดวาระคนแรกในรอบ 152 ปีที่ไม่ได้ร่วมในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ และไม่เชิญนายไบเดนไปจิบชาในห้องทำงานรูปไข่ตามประเพณี

เมลาเนียส่งสารทิ้งทวน-อย่ารุนแรง

ด้าน นางเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยานายทรัมป์ไม่ได้เชิญนางจิล ไบเดน มาจิบน้ำชาที่ทำเนียบขาวตามประเพณีเช่นกัน แต่โพสต์คลิปวิดีโอยาว 7 นาที แถลงอำลาตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ขอให้ชาวอเมริกันยกระดับเหนือสิ่งที่แบ่งแยกความเป็นชาวอเมริกัน เลือกความรักเหนือความเกลียดชัง เลือกสันติภาพเหนือความรุนแรง โปรดจำไว้เสมอว่าความรุนแรงไม่ใช่คำตอบและจะไม่มีวันชอบธรรม

หวังไบเดนยกเครื่องนโยบายอพยพ

วันเดียวกัน นายอังเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ประธานาธิบดีเม็กซิโกกระตุ้นให้สหรัฐยุครัฐบาลนายไบเดนปฏิรูปนโยบายการอพยพครั้งใหญ่ และร่วมกับประเทศเม็กซิโกและประเทศอื่นๆ ขณะที่ผู้อพยพยังคงหลั่งไหลจากประเทศแถบอเมริกากลางมุ่งหน้าไปเม็กซิโกเพื่อเข้าสหรัฐ หวังหนีความรุนแรงและความยากจน ระลอกล่าสุดมีราว 7,000 คน ส่วนใหญ่จากฮอนดูรัสผ่านประเทศกัวเตมาลา แต่ถูกตำรวจสกัดกั้นไว้