เมื่อการเมืองแทรก ‘แอพพ์หมอชนะ’ ระวังจะแพ้ทั้งประเทศ มีแต่โควิดชนะ

เมื่อการเมืองแทรก “แอพพ์หมอชนะ” ระวังจะแพ้ทั้งประเทศ มีแต่โควิดชนะ

ความวัวยังไม่ทันหาย จากคราวก่อนรัฐบาลขู่ว่าใครไม่ดาวน์โหลด “แอพพลิเคชั่น หมอชนะ” จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย

ความควายก็เข้ามาแทรก เมื่อเกิดข่าวลือสะพัดไปทั่วคุ้งน้ำว่า กลุ่ม Code for Public ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นหมอชนะ ออกแถลงการณ์ยุติบทบาททุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับแอพพลิเคชั่นใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

สาเหตุของการยุติบทบาทของกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ นี้ มือดีแฉว่า เพราะได้รับแรงกดดันจากผู้ใหญ่ระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้อำนวยการหลายหน่วยงาน ที่ช่วยกันรุมทึ้งอำนาจในการควบคุมและกำหนดอนาคตของหมอชนะ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จากทีมงานที่สร้างมากับมือ

อีกประการ มาจากการใส่เกียร์ว่างของเจ้าหน้าที่หน่วยงานระดับกรมที่ได้รับหน้าที่ในการปรับเปลี่ยนสถานะการติดเชื้อของคนไข้จาก “เสี่ยงต่ำ” เป็น “ติดเชื้อ” ทำให้เกิดกรณีคนไข้ติดเชื้อนอนโรงพยาบาลแต่ยังคงมีสถานะเสี่ยงต่ำ โดยทราบว่ามาจากคำสั่งของระดับอธิบดีกรมที่ออกปากว่า “ไม่ใช่กงการอะไรของกรม ที่จะแจ้งว่าใครติดหรือไม่ติดเชื้อ”

แถมตอนย้ายงานออกมาเจอปลัดหน่วยงานหนึ่งพูดว่า “ถึงเธอมีเฟอร์รารี่ ฉันก็จะเอามาขนถ่าน” บอกให้ตามสั่ง ไม่ต้องคิด จากนั้นก็แผดเสียงแบบน่าเกลียด

ร้อนถึงเจ้ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่ต้องเป็นหนังหน้าไฟ รับโทรศัพท์จนสายแทบไหม้

และได้ชี้แจงว่า มีการส่งต่อหมอชนะ จากกลุ่มผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสู่การกำกับดูแลของรัฐบาลอย่างเต็มตัวแล้ว เนื่องจากหลังการนำมาใช้งานเพื่อรับมือการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นการระบาดในประเทศที่รุนแรงกว่ารอบแรก ทำให้ปริมาณผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น

ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงให้ผู้พัฒนาปรับปรุงโดยยกเลิกการขอข้อมูลส่วนบุคคลในการลงทะเบียน เช่น ชื่อ-เบอร์โทรศัพท์ ไม่ให้มีการได้มาหรือเก็บข้อมูลนั้นไว้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าข้อมูลส่วนตัวไม่รั่วไหล

นอกจากนี้ ยังตัดฟังก์ชั่นการทำงานของหมอชนะออกหลายจุด เพื่อให้ใช้งานง่าย และไม่ลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน โดยมีการใช้งานเพียงการตรวจสอบหาบุคคลที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้ติดเชื้อเพื่อแจ้งเตือนเท่านั้น

ถัดมาได้มีการตั้งโต๊ะแถลงพร้อมหน้า อาทิ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส, นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ซึ่งเป็นผู้ดูแล และสนับสนุนพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในคลาวด์, นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, นายอนุชิต อนุชิตานุกูล และนายสมโภช อาหุนัย ทีมผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นหมอชนะ

โดย “นายพุทธิพงษ์” ยืนยันว่าไม่ได้ขัดแย้งกับผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นหมอชนะ ยังทำงานร่วมกันต่อเนื่อง แต่สาเหตุที่ผู้พัฒนา และ สพร.ส่งมอบหมอชนะให้ทำต่อ เนื่องจากประชาชนทั่วประเทศใช้งานมาก มีข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้น และต้องทำในระยะยาว จึงต้องโอนถ่ายให้รัฐบาลรับผิดชอบทำให้เป็นระบบ รัดกุมทางกฎหมาย และบริหารทั้งงบประมาณและบุคลากรทั้งหมดให้สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ

ส่วนระบบการแจ้งเตือนสถานะสีของแอพพลิเคชั่น รมต.ดีอีเอสยืนยันว่าไม่มีปัญหา ไม่มีการล็อกให้เป็นสีเขียวอย่างเดียว โดยกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานเดียวในการควบคุมข้อมูล และยืนยันสีสถานะข้อมูลผู้ใช้งาน

“ยืนยันว่าระบบไม่มีปัญหา แต่ต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องชัดเจน การส่งมอบแอพพ์หมอชนะจะไม่ทำให้เกิดปัญหา แต่เนื่องจากการใช้งานมีขนาดใหญ่ขึ้นเพราะเปิดให้ประชาชนใช้งานทั่วประเทศ และรัฐบาลควรมีงบประมาณในการดูแลกลุ่มผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น รวมถึงเพิ่มบุคลากรในการรองรับให้มากขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้พัฒนาแอพพ์หมอชนะยังคงเป็นที่ปรึกษาและช่วยการทำงานของรัฐบาลต่อไป ทุกอย่างยังเหมือนเดิม และระบบจะดีขึ้นกว่าเดิม”

นายพุทธิพงษ์กล่าว

ขณะที่นายอนุชิตและนายสมโภช กลุ่มผู้พัฒนาแอพพ์หมอชนะ กล่าวในทางเดียวกันว่า ได้พัฒนาแอพพ์มาระยะหนึ่ง จำเป็นต้องส่งต่อให้รัฐบาลในการใช้งานและพัฒนาต่อ ซึ่งได้ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จนเมื่อถึงระดับการใช้งานที่ขยายมากขึ้น จึงต้องส่งต่อให้รัฐบาลดูแลและใช้งานอย่างเป็นทางการ

สำคัญคือต้องมีกระบวนการการสื่อสารที่ชัดเจน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ทำให้เกิดความสับสนกับการต่อสู้โควิดอย่างจริงจัง

ด้านรองอธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ยืนยันว่า ได้ทำงานร่วมกับผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น และ สพร.มาตั้งแต่ต้น ซึ่งเรื่องการเปลี่ยนสีสถานะของแต่ละบุคคล ต้องผ่านคนกลางที่เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมโรคแต่ละพื้นที่ ส่งข้อมูลไปยังกระทรวงดีอีเอส หากมีการเปลี่ยนสี และส่งต่อไปให้ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น อัพเดตข้อมูลสถานะสีให้ และจะเปลี่ยนสีก็ต่อเมื่อโรงพยาบาลได้ยืนยันการติดเชื้อแล้วเท่านั้น

ซึ่งล่าสุด แอพพ์หมอชนะมีผู้โหลดใช้งานแล้วกว่า 7 ล้านครั้ง และมีแนวโน้มคนใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่งานนี้ “รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแสดงความเห็นว่า ลงแอพพ์หมอชนะไปแล้ว เพราะได้ข่าวว่ามีการแก้ให้กินแบต กินข้อมูลน้อยลง แต่ได้ลบแอพพ์หมอชนะไปแล้ว เพราะได้ข่าวว่าทีมที่ทำถอนตัว และ รมต.พุทธิพงษ์จะเข้ามาดูแล

ฟาก “หมอแล็บแพนด้า” ระบุว่า เดิมทีแอพพลิเคชั่นถูกออกแบบให้แจ้งสถานะได้ว่าผู้ใช้มีความเสี่ยงแค่ไหน ตั้งแต่ระดับไม่เสี่ยงเลยที่เป็นสีเขียว ไปจนถึงเหลือง ส้ม และติดเชื้อสีแดง เวลาที่เราไปอยู่ใกล้คนที่เสี่ยง แอพพลิเคชั่นจะเด้งเตือนเพื่อให้หลีกเลี่ยง แต่ระยะหลังมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง เริ่มมีหน่วยงานเข้ามาขอแก้ไขแอพพลิเคชั่นให้ทุกคนเป็นสีเขียว หากมีการติดเชื้อ หน่วยงานจะสืบเองว่าใครบ้างที่เสี่ยง

กลายเป็นว่ามีแค่หน่วยงานที่รู้ว่าใครเสี่ยง แต่ประชาชนไม่รู้ ทำให้แอพพ์นี้เกิดประโยชน์ต่อเฉพาะหน่วยงาน แต่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น

จึงเป็นสาเหตุที่กลุ่มผู้พัฒนาทั้งหมดขอถอนตัว และมอบแอพพ์นี้ให้รัฐบาลดูแล 100%

รอยร้าวครั้งนี้จะจบอย่างแฮปปี้เอนดิ้งแบบเนียนๆ เหมือนภาพที่โชว์ออกมาหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ

แต่สำคัญคือเมื่อการเมืองเข้ามาแทรก โดยรัฐบาลอยากให้คนไทยและทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยจัดการโควิดได้เหมือนครั้งแรก โดยซ่อนข้อมูลจริงไว้ก่อน ทั้งตัวเลขติดเชื้อ พื้นที่ติดเชื้อ

โปรดระวังไว้ว่า แอพพ์หมอชนะ สุดท้ายแล้วคนทั้งประเทศไม่ใช่ แต่กลายเป็นโควิดนั่นแหละที่ชนะ