‘หมอชนะ’ เป็นของหน่วยงานไหน เตือนก่อนลดความเสี่ยงได้จริงหรือ / รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ
โชคชัย บุณยะกลัมพ
https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/
https://www.matichonweekly.com/matichonweekly-special

‘หมอชนะ’ เป็นของหน่วยงานไหน
เตือนก่อนลดความเสี่ยงได้จริงหรือ

การตื่นกลัวความผิดหากใครไม่โหลดแอพพ์ “หมอชนะ” หลังจากการออกประกาศของโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ระบุว่า หากพบว่าใครป่วยเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ในโทรศัพท์มือถือ จะถือว่าละเมิดข้อกฎหมายตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

หลังจากนั้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ได้ออกมาชี้แจงเองว่าไม่โหลดไม่ผิดกฎหมาย เรื่องนี้เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ที่จริงไม่ใช่ขนาดนั้น เพราะเจตนาที่แท้จริงเป็นการขอความร่วมมือให้ประชาชนในพื้นที่ใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อคุมการระบาด แต่หากปกปิดไทม์ไลน์แพร่กระจายโรคถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 มี 3 ข้อ ได้แก่ 1.ยกระดับบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค 2.ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุด 3.ปราบปราม ลงโทษผู้กระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค จากสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้นครั้งใหญ่ของประเทศไทยในหลายจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา ทำให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศและผู้ป่วยสะสมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

การเพิ่มความเข้มข้นในการค้นหาคัดกรองเชิงรุกของรัฐในกลุ่มแรงงานต่างประเทศ ทำให้พบว่าแรงงานต่างประเทศเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับผู้ติดเชื้อในรอบนี้มีอาการแตกต่างจากเดิมเพราะไม่แสดงอาการของโรคในทันที จึงมีระยะเวลาแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวนานขึ้น

ทั้งยังมีกรณีที่ผู้ติดเชื้อจำนวนมากขาดความรับผิดชอบต่อสังคม โดยปกปิดข้อมูล ซึ่งทำให้การสอบสวนโรคเกิดความสับสนและล่าช้า อันเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมการระบาดของโรค

มีหลายคนคงสงสัยว่า แอพพ์หมอชนะคืออะไร เป็นของหน่วยงานใด ใช้งานอย่างไร มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่

จากข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแอพพ์ “หมอชนะ” มีดังนี้

“หมอชนะ” คือ

หมอชนะเป็นแอพพลิเคชั่นที่บันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ร่วมกับการสแกน QR Code เช่นไทยชนะ เพื่อเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ ทำให้บันทึกการเดินทางของผู้ใช้งานแม่นยำและเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น
จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรคและบุคลากรทางการแพทย์สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว
โดยหมอชนะจะแจ้งไปยังกลุ่มผู้ใช้งานที่มีประวัติสัมผัสหรือเข้าใกล้กับผู้ติดเชื้อ Covid-19 ถึงวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง

แอพพ์ “หมอชนะ” ใช้งานอย่างไร

แอพพ์หมอชนะจะคอยส่งบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ โดยแอพพ์จะทำการระบุตำแหน่งของผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถตรวจพบความเสี่ยงของผู้ใช้งานหากมีประวัติเคยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย Covid-19 ผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงจะได้รับข้อความแนะนำวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องจากกรมควบคุมโรคผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นทันที

“หมอชนะ” จะให้ผู้ใช้บริการตอบคำถามประเมินอาการป่วยเบื้องต้นผ่าน 4 คำถาม ได้แก่ มีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ไอ เจ็บคอ เหนื่อยหอบ อาเจียนหรือไม่
เดินทางไปต่างประเทศในระยะเวลา 14 วันหรือไม่
อยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันหรือไม่
และประกอบอาชีพใกล้ชิดกับชาวต่างชาติหรือไม่

เมื่อตอบคำถามเสร็จ “หมอชนะ” จะให้ QR Code ซึ่งแบ่งระดับความเสี่ยงตามสี ดังนี้

1. สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

2. สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

3. สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

4. สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบการเดินทางแบบเรียลไทม์ เพิ่มตำแหน่งที่อยู่บ้านและตำแหน่งที่ทำงานได้ อีกทั้งยังสามารถเลือกการใช้งานได้ทั้งแบบยืนยันตัวตนโดยหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ติดต่อในกรณีฉุกเฉิน หรือใช้งานแบบไม่ยืนยันตัวตนก็ได้ กล่าวคือ แบบไม่มีการระบุตัวตนโดยตรง ไม่มีการเก็บชื่อ ที่อยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ แต่ใช้นามแฝง เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นถูกออกแบบไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพของผู้ใช้งานและระมัดระวังการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

แอพพ์ “หมอชนะ”
มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่

แอพพ์หมอชนะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปเท่าที่จำเป็นเกี่ยวข้องและพอเพียงต่อขอบเขตและวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับคำแนะนำวิธีการปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19
โดยจะมีการเก็บข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังโทรศัพท์มือถือและบันทึกการเดินทางของผู้ใช้งาน
เพื่อที่จะสามารถส่งข้อความแจ้งเตือนและคำแนะนำในการปฏิบัติตนไปยังแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือในกรณีที่ผู้ใช้งานมีประวัติเคยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย Covid-19

แอพพ์ “หมอชนะ” เป็นของหน่วยงานใด

แอพพ์ “หมอชนะ” เป็นผลลัพธ์ของการผนึกกำลังระหว่าง “ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชนและภาครัฐ” โดยกรมควบคุมโรคทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล

โหลดแอปหมอชนะได้ที่นี่

นอกจากนั้น โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก

https://youtu.be/U1WaiKNFfiM

โดยมีการระบุถึงมาตรการจากโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า การยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคนั้น ต้องมีแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” เพื่อใช้ควบคู่กับการใช้แอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ต่อไปนี้หากพบว่าใครป่วยเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ในโทรศัพท์มือถือ จะถือว่าละเมิดข้อกฎหมายตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ โทษของผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)