รู้จัก เมทินี ชโลธร ผู้หญิงเป๊ะ! เต็มที่ทุกงาน 365 วันบนความคาดหวัง | โล่เงิน

โล่เงิน

รู้จัก เมทินี ชโลธร ผู้หญิงเป๊ะ! เต็มที่ทุกงาน 365 วันบนความคาดหวัง

เสมอภาค-สมดุล-สร้างสรรค์-ส่งเสริม-ส่วนร่วม คือนโยบาย 5 ส. ของ “เมทินี ชโลธร” ประธานศาลฎีกาคนที่ 46 ได้มอบแนวทางการทำงานให้แก่ผู้พิพากษาไว้ไม่กี่วันหลังรับตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

เมทินี หรือที่ลูกศิษย์เรียกว่า “อาจารย์เม” เป็นสุภาพสตรีหญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งประมุขตุลาการของประเทศไทย

ได้เปิดใจให้ฟังถึงการรับตำแหน่งประธานศาลฎีกาว่า ไม่ได้เปลี่ยนตัวเองเลย เหมือนเดิมทุกอย่าง และไม่ได้มีความหนักใจ ถ้าจะหนักใจมีเรื่องเดียว คือจะทำได้ทุกอย่างตามที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่ ในการทำงานจะใช้ประสบการณ์และฟังจากคนรอบข้างเพื่อวางรากฐานการทำงานให้มั่นคง

ได้พูดอยู่เสมอว่า 1 ปีดูน้อย แต่มองอีกมุม 1 ปีมี 365 วัน แต่ละวันมีหลายชั่วโมง หรือคิดเป็นนาทีก็มากมายหลายนาที

ดังนั้น ถ้าทำงานทุกนาทีทุกชั่วโมงย่อมสามารถทำงานได้มาก

ประธานศาลฎีกายอมรับว่า การนั่งตำแหน่งนี้มีความคาดหวังสูงจากบุคคลอื่น เพราะถูกมองมาจากทั้งผู้พิพากษาและคนข้างนอกว่าเป็นผู้หญิงจะสามารถทำงานได้ขนาดไหน

“ขอบอกตรงนี้เลยว่าเป็นคนที่ทำงานค่อนข้างมากอยู่แล้ว ไม่ได้บอกว่าทำมากกว่าคนอื่น เพราะผู้พิพากษาทุกคนล้วนทำงานหนัก แค่จะบอกว่าการทำงานในศาลยุติธรรมเรื่องเพศนั้นไม่ได้มีความแตกต่าง ไม่ว่าเพศใดก็สามารถไปทำงานที่จังหวัดชายแดนหรือพื้นที่ห่างไกลได้หมด ไม่ได้เลือกว่า ผู้พิพากษาจะไปอยู่ที่ไหน ดำรงตำแหน่งใดจากเพศ ในสมัยก่อนอาจจะมีบ้างที่พูดกันว่าผู้หญิงจะไม่ได้เป็นหัวหน้าศาลจังหวัด แต่กำแพงนั้นได้ถูกทลายไปหมดตั้งแต่บรรพตุลาการ ผู้พิพากษาหญิงหลายคนได้แสดงถึงความเข้มแข็งและความสามารถให้เห็น เป็นที่ยอมรับ ศาลยุติธรรมเราดูกันที่ความสามารถบวกกับอาวุโส ไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้พิพากษาผู้ชายก็มองเราเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งเหมือนๆ กัน” เมทินีกล่าว

ถามว่าเวลามีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน รู้สึกท้อหรือไม่

เธอตอบว่า “ต้องบอกตรงๆ ว่าเฉยๆ เราอายุขนาดนี้แล้ว รู้จักโลกมามาก เราทำให้ทุกคนรักไม่ได้ แต่ก็รู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่เกลียดเรา ตรงนี้จะไม่ให้กระทบการทำงาน ถ้ากระทบเราคงไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรได้มากมายขนาดนี้ เพราะเวลาคนเราท้อหรือว่าเสียใจทุกอย่างจะหดหู่ จะไม่อยากลุกขึ้นแต่งตัวมาทำงาน และความคิดใหม่ๆ จะไม่เกิด ดังนั้น ที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถมารบกวนได้ แม้เราไม่สามารถทำให้ทุกคนรักเราได้”

“แต่สิ่งที่ท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้คนที่ตำหนิติเตียนและไม่รักเราได้เห็นการทำงานของเรา ได้เห็นผลงานของเรา เพราะเชื่อว่าถ้าเขาเห็น เขาอาจเข้าใจและกลับมารักเราก็ได้”

ประธานเมทินีบอกด้วยว่า บางสิ่งที่มีการตำหนิติเตียนหรือมีการพูดกันไป หากมันไม่ใช่ความจริง เราจะไปสนใจตรงนั้นทำไม จะไม่เอาสิ่งนั้นไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเลย เพราะแม้แต่คนที่มีความดีงามมากกว่าเรามากมายก็ยังไม่พ้นคำตำหนิติเตียน แต่ถ้าเป็นเรื่องจริง ก็จะน้อมรับและนำมาปรับปรุงแก้ไข

ใจเชื่อว่าวันหนึ่งเมื่อเขาได้ยินสิ่งที่เราพูด เข้าใจสิ่งที่เราคิด เห็นสิ่งที่เราทำ ได้พบผลงานที่เราพยายามผลักดันออกไป หลายคนอาจจะเปลี่ยนความคิดก็ได้

ตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ภูมิใจมากกว่า เพราะเป็นการที่เราสามารถทำให้คนที่เข้าใจเราไปในทางไม่ดีเปลี่ยนมุมมองว่าเราก็มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน

แม้อาจจะนิดเดียวก็สามารถเก็บมาภูมิใจได้

สิ่งที่ประมุขตุลาการหญิงคนแรกยึดมั่นมาตลอด 39 ปีของการทำงานคือ ทำทุกงานที่ได้รับมอบหมายให้เต็มที่

เธอบอกว่า น้องๆ ในศาลทุกคนรู้ดีเรื่องนี้สามารถยืนยันได้ว่า ถ้าเธอได้รับมอบหมายงานใด จะทำจนสุดทาง ทำให้เหมือนกับว่าถ้าทำไม่สุดแล้ว จะเสียใจ เพราะเธอคิดเสมอว่าโอกาสไม่ย้อนกลับมาให้ได้แก้ไข จึงจะต้องทำงานให้ละเอียดกับทุกสิ่ง การทำงานต้องคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจนสุดทาง จะไม่ให้ค้างคา

สิ่งที่ได้ทำมาบางอย่างมีผลเปลี่ยนแปลงในศาลยุติธรรมค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างที่เคยมีโอกาสทำงานในส่วนการวางระบบการพิจารณาคดีครบองค์คณะ และต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้กำหนดไว้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการพิจารณาคดีในศาล

กว่าจะเป็นแบบนี้ได้ ต้องมีการต่อสู้ทางความคิดกับทั้งคนภายในและภายนอกองค์กร มีอุปสรรคมากมายกว่าจะมาถึงวันนี้

หากมองย้อนหลังไป จะมองอย่างภาคภูมิใจว่า ตอนนี้ทุกศาลมีการนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะและต่อเนื่อง ซึ่งจะเลิกหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว เพราะได้ทำต่อเนื่องกันมาแล้วและเป็นเรื่องที่ดี

ทำตอนแรกอาจมีการต่อต้าน แต่เมื่อผลออกมาดี ผู้พิพากษารู้สึกว่าดีทั้งต่อประชาชนและการทำงานของตนเอง ทุกคนต้องเลือกสิ่งที่ดี เมื่อยอมรับก็ไม่เลิก และต้องทำต่อไป

เมื่อถามว่า มองว่าตัวเองเป็นคนดุ เจ้าระเบียบหรือไม่

เจ้าตัวอมยิ้มแล้วกล่าวว่า คำถามนี้ต้องถามคนอื่น แต่รู้ตัวว่าเป็นคนพูดเสียงดังและเน้นคำ คนอื่นๆ อาจจะมองว่าดุ แต่ในความดุไม่ใช่ว่าใช้อารมณ์ หรือไม่มีเหตุผล

ตรงนี้อาจจะถูกมองว่าเป็นคนทำอะไรต้องเป๊ะ แต่ก่อนที่จะทำให้เป๊ะนั้นจะคุยกันกับคนที่ทำงานร่วมกันก่อนว่าเห็นตรงกันในเรื่องนี้หรือไม่ คือมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจนร่วมกัน แต่ถ้าระหว่างทางมันไม่เป็นไปตามที่วางต้องมีโดนดุกันบ้าง ไม่งั้นงานจะไม่เสร็จตามเป้าหมาย

ระหว่างทาง ถ้ามัวแต่แวะชมดอกไม้ เตะก้อนหิน ถ่ายรูป จะทำให้ไม่ถึงปลายทางตามเวลาที่สมควร

ผู้พิพากษาสมัยก่อนไม่มีไมโครโฟนเลยต้องพูดเสียงดังชัดถ้อยชัดคำเวลาอ่านคำเบิกความให้พยานฟัง จะไม่มาอ้อมแอ้ม จึงดูเหมือนดุ คนที่บ้านก็บอกเหมือนกัน

เมื่อเล่ามาถึงตอนนี้ประมุขตุลาการหญิงหัวเราะชอบใจ

พร้อมขยายความเพิ่มว่า งานนโยบายที่ต้องเดินหน้าในตอนนี้ในใจยังรู้สึกว่าช้าไปนิดหนึ่ง ทั้งที่คนอื่นบอกว่าก็เป็นไปตามขั้นตอน แต่เป็นคนใจร้อนและอยากให้เห็นผลเร็ว

ช่วงนี้จะเริ่มต้นเดินงานนโยบาย งานคดี งานที่จะให้บริการประชาชน ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่าศาลมีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นให้เร็วที่สุด ก่อนเดือนเมษายนน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นค่อนข้างมากในศาล

ส่วนการแบ่งเวลาในการดูแลครอบครัวนั้น เธอยอมรับไม่มีเวลาให้เลย เนื่องจากมีช่วงเวลาที่ต้องทำงานตรงนี้ไม่มากนัก จึงอยากให้เวลากับงานเป็นเบื้องต้น โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจ ตอนนี้คุณแม่ก็อยู่ด้วยกันที่บ้าน แต่พอกลับบ้านคุณแม่เข้านอนแล้ว ต่างคนต่างรู้ว่ามีกันอยู่ เพราะเป็นครอบครัวผู้พิพากษา คุณพ่อเป็นผู้พิพากษา ชินกับวิถีชีวิตแบบนี้ แต่ต่อไปเมื่อพ้นตำแหน่งบริหารจะได้ทำอะไรที่อยากทำตามใจบ้าง

แม้เป็นเพียงบทสัมภาษณ์หน้ากระดาษหนึ่ง แต่ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นตัวตนว่าเป็นผู้หญิงเก่ง มีความจริงจัง มุ่งมั่นในการทำงาน อย่างชัดเจน และตรงไปตรงมาได้อย่างดี