รัฐบาล ‘แป้ง’ / ชกคาดเชือก – วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก
วงค์ ตาวัน

รัฐบาล ‘แป้ง’

ราวกับฉากเปิดของภาพยนตร์แนวสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมอันชวนระทึก แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ กทม. โดยมีการพบศพคนเสพยาเกินขนาดถึงแก่ความตาย ในหลายๆ ท้องที่ แถมพบในวันเดียวกันถึง 6 ศพ จึงทำให้ “ยาเค-นมผง” ยาเสพติดสูตรใหม่สูตรมรณะ เป็นข่าวใหญ่เป็นที่สนใจของคนทั้งสังคมในทันที
สูตรการผสมยาเสพติดชนิดนี้ มีการนำเอาเคตามีนมาผสมเข้ากับเฮโรอีน ยาอี เติมยานอนหลับเข้าไป หรือผสมกับอื่นๆ อีกหลายสูตร
เพื่อให้ออกฤทธิ์รุนแรงมากขึ้น เคลิบเคลิ้มมากขึ้น แต่ลงเอยก็เกิดอาการเสพยาเกินขนาด จนถึงแก่ความตายหลายต่อหลายรายดังกล่าว
ยังดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบรวดเร็ว จากจุดเริ่มต้นของคดีมีคนเสพยาถึงแก่ความตายหลายรายภายในวันเดียวกัน นำมาสู่การสอบสวนหาความจริงจากพยาน ทำให้รู้ว่าเป็นยาเคสูตรใหม่ กำลังเป็นที่นิยม เริ่มระบาดหนัก
เล่นเอา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ต้องโดดลงมาดูคดีนี้เอง สอบสวนผู้ต้องหาเอง เพื่อให้ตำรวจเร่งขยายผล สืบไปถึงต้นตอ และจับแบบขุดรากถอนโคนให้ได้
เป็นเรื่องดีที่ตำรวจไม่นิ่งเฉยกับยาเสพติดชนิดใหม่นี้
เพราะมีแนวโน้มสูงมากว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด ที่มีมาตรการปิดสถานบันเทิงต่างๆ จะทำให้เกิดการลักลอบจัดปาร์ตี้แบบส่วนตัวมากขึ้นตามบ้านเรือน หรือตามห้องพัก
แล้วก็หนีไม่พ้นการเสพยามึนเมา เป็นช่องทางให้การค้ายายังคงคึกคักในช่วงโรคระบาดหนักเช่นนี้
น่าเชื่อว่าการเกิดสูตรใหม่ ยาเคนมผง ก็เพื่อรองรับการแพร่หลายของปาร์ตี้วงเล็กๆ ลับๆ ดังกล่าว
ยิ่งในช่วงโควิดนี้ เพิ่งเกิดปัญหาที่ทำให้รัฐบาลและตำรวจเองเสียหาย จากกรณีบ่อนการพนันผิดกฎหมาย กลายเป็นแหล่งแพร่โรคแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน จนต้องเด้งตำรวจผู้รับผิดชอบพื้นที่กันระนาว นำมาสู่การสอบสวนเพื่อเอาผิดลงโทษกันสถานหนัก
กรณีที่เกิดกลุ่มลอบจัดปาร์ตี้ และเกิดการระบาดของยาเคสูตรใหม่ จนทำให้นักเสพถึงแก่ความตาย
จึงเป็นอีกเรื่องที่ตำรวจจะนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องเร่งจับกุมกวาดล้างกันให้ถึงต้นตอให้ได้
ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ภาพรวมของสถานการณ์ยาเสพติดในบ้านเรา เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ไม่น้อยเลย!

ความที่รัฐบาลชุดนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 2557 แล้วต่อมาก็ใช้กลไกรัฐธรรมนูญและ 250 ส.ว. เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อไป ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ดังนั้น ประเด็นการเป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองระหว่าง คสช. ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ จึงเป็นจุดที่ทั้งสังคมจับตามอง
โดยเฉพาะการเปรียบเทียบแนวนโยบายการทำงาน ไปจนถึงผลงานต่างๆ
กรณียาเสพติดเป็นอีกประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง
ในยุคทักษิณ เคยเปิดสงครามยาเสพติดอยู่หลายเดือน ในช่วงปี 2546 ต่อมาต้องหยุดยั้งเพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักว่า มีการเสียชีวิตมากมายเกินไป เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แม้ในด้านความรุนแรงเกิดการฆ่าตัดตอนกันมาก ศพมากมายก่ายกอง จะเป็นจุดบอดของสงครามยาเสพติดยุคทักษิณ
แต่อีกด้านก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สงครามยาเสพติดของทักษิณ เป็นอีกผลงานที่เข้าตาประชาชน เนื่องจากส่งผลให้ยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าที่ระบาดหนักไปทั่วสังคมไทย ถึงกับหายวับไปทันตา!
ผลงานปราบยาเสพติดของทักษิณ จึงกลายเป็นข้อเปรียบเทียบกับรัฐบาลยุคต่อๆ มา
โดยเฉพาะรัฐบาลที่เป็นคนละขั้วกัน ก็มักจะหยิบข้ออ่อนด้อยของสงครามยาเสพติด ในด้านการละเมิดสิทธิขึ้นมาใช้โจมตีทักษิณ
แต่ผลก็คือ ทำให้รัฐบาลนั้น ไม่กล้าปราบปรามยาเสพติดด้วยวิธีเด็ดขาดรุนแรง เนื่องจากไปโจมตีทักษิณเอาไว้เยอะ เลยไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
ส่งผลให้ยาเสพติดกลับมายึดครองสังคมไทยในยุคต่อๆ มา ยิ่งทำให้ชาวบ้านนึกถึงทักษิณมากขึ้น
ในยุครัฐบาล คสช.ก็เช่นกัน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เข้ามาหลังจากการรัฐประหารล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ทั้งที่เป็นรัฐบาลทหาร แต่ก็ไม่สามารถกวาดล้างยาเสพติดแนวดุดันเด็ดขาดได้ ส่งผลให้ยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ กลับมาครองเมือง
บรรดาผู้ปกครองที่มีลูก-หลานในวัยรุ่นวัยเรียน ต่างอยู่ในบรรยากาศเต็มไปด้วยความห่วงใยในอนาคตเด็กๆ ไม่ติดยา ไม่เสพยา ก็กลายเป็นเด็กเดินยา
ยังเรียนหนังสือนุ่งกางเกงขาสั้น แต่กลายเป็นเด็กส่งยากันเยอะแยะไปหมด
นี่คือความจริงของสังคมไทยในช่วงระยะนี้ ในยุคที่เป็นรัฐบาลสืบทอดต่อเนื่องมาจากรัฐบาล คสช.

เพราะเงื่อนไขผูกมัด ที่ไม่สามารถทำอะไรตามรัฐบาลทักษิณได้ จึงทำให้มาตรการปราบปรามยาเสพติด มีความติดขัด ระมัดระวังตัว จนทำให้ขาดความเข้มข้น ส่งผลให้การค้ายาเสพติดดำเนินไปด้วยความเริงร่า
ไม่เท่านั้น รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการจัดการกับคนคิดต่างทางการเมืองเป็นหลัก ทำให้ความเข้นข้นในการสืบจับ เอาคนเข้าคุก หนักไปที่คดีทางการเมือง คดีความคิด คดีอุดมการณ์
จึงทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย
เช่น ผู้ต้องหาในคดีทางการเมือง ถูกตำรวจตามสะกดรอยล่าจับกลางถนน แล้วเจ้าตัวต้องตะโกนถามว่า ผมไปฆ่าใครมาหรือเปล่า ผมไปค้ายาเสพติดหรือเปล่า ผมแค่ด่าประยุทธ์เท่านั้นนะ ตามล่ากันราวอาชญากรรุนแรงเช่นนี้หรือ!?
ได้กลายเป็นคำถามที่ส่งผลสะเทือนในทางสังคม
เพราะจะว่าไปแล้ว รัฐบาลไหนก็ตาม ใช้มาตรการจับกุมปราบปรามเข้มข้นกับคดีอาชญากรรมกับอาชญากรร้ายแรง อาจจะถูกนักสิทธิมนุษยชนตั้งคำถาม ท้วงติงได้ แต่สุดท้ายทั้งสังคมก็จะสนับสนุนรัฐบาล
เพราะการปราบปรามอาชญากรรมนั้น เป็นเรื่องความสงบสุขในชีวิต เป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
แต่ในกรณีข้อหาในคดีทางความคิดอุดมการณ์ หากรัฐบาลโหมกวาดล้างจับกุม ประเด็นนี้แหละที่จะเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง และคนในสังคมจำนวนมากจะร่วมท้วงติงรัฐบาลด้วย ไปจนถึงท่าทีจากองค์กรในระดับโลกจะตามมา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลนั้นๆ อย่างแน่นอน
การปราบปรามอาชญากรเด็ดขาดจึงมีคนในสังคมเห็นด้วยกับรัฐบาล จนเสียงดังกว่านักสิทธิมนุษยชน แต่คดีทางความคิดทางการเมือง คนในสังคมจะเห็นพ้องกับนักสิทธิมนุษยชนมากกว่า
ปัญหายาเสพติด จึงไม่สามารถใช้เป็นข้อโจมตีผลงานของทักษิณได้มากนัก เพราะชาวบ้านจะพึงพอใจที่ผลจากสงครามนั้น ทำให้ยาบ้าหายไปจากสังคมไทยอย่างฉับพลันทันที
แต่มาในยุคหลัง รวมทั้งในวันนี้ เกิดข้อเปรียบเทียบว่า เมื่อรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้มข้นจริงจัง ยาบ้าและยาเสพติดต่างๆ จึงกลับมาเกลื่อนเมือง
แล้วยิ่งซ้ำเติมกับภาพพจน์ของรัฐบาลชุดนี้ ที่เกิดความเสื่อมภายในรัฐบาลเอง
ดังที่มีอีกฉายาเรียกรัฐบาลนี้ว่า “รัฐบาลแป้ง”
คำว่ารัฐบาลแป้ง เป็นสนิมที่เกิดเนื้อใน และยิ่งเป็นภาพลบซ้ำๆ เมื่อเกิดปัญหายาเสพติดในสังคมขึ้นมาทุกๆ ครั้ง!