เหตุที่คุยกันไม่รู้เรื่อง / เมนูข้อมูล – นายดาต้า

เมนูข้อมูล
นายดาต้า

เหตุที่คุยกันไม่รู้เรื่อง

ความคิดขัดแย้งพัฒนาสู้การปะทะกันระหว่างวัย เกิดความเห็นต่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึงการลามมาสู่การคัดง้างกันระหว่างคนในครอบครัว
หลังการขับเคลื่อนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาเรียกหา “อนาคตที่มีความหวัง” บนท้องถนน และชี้เหตุไปที่เป็นเพราะคนรุ่นเก่าวางระบบงี่เง่ามาครอบงำ จนกลายเป็นเรื่องที่สร้างทำลายโอกาสที่จะสานฝันสำหรับคนทั่วไป
เสียงเรียกร้องหนึ่งจากคนเฒ่าคนแก่ คือ “ทำไมเด็กรุ่นใหม่เอาแต่เรียกร้องให้ผู้ใหญ่เข้าใจ ทำไมเยาวชนไม่เข้าใจคนรุ่นเก่าบ้าง”
และสรุปว่า “การเรียกร้องจะขึ้นมานำสังคมต้องมีความสามารถที่จะเข้าใจคนร่วมสังคมในทุกกลุ่ม”
ตรงนี้น่าสนใจ เพราะสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอในใจผู้ใหญ่ในระดับถึงกับเรียกร้องความเข้าอกเข้าใจเอาจากเด็กๆ กันแล้ว
คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วผู้ใหญ่ซึ่งเป็นวัยที่นำประเทศอยู่ขณะนี้ เข้าใจเด็กแค่ไหน

ในช่วงวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา “สวนดุสิตโพล” สำรวจความคิดของประชาชนทั่วๆ ไปว่ามองเด็กๆ อย่างไร
พบว่า ร้อยละ 36.35 เห็นว่ามีความมั่นใจ เชื่อมั่นในตัวเองสูง ร้อยละ 30.13 เห็นว่าฉลาด เรียนรู้รวดเร็ว มีความคิดสร้างสรรค์ทันโลก ร้อยละ 29.56 มองไปที่ขาดความอ่อนน้อม ไม่เคารพผู้ใหญ่ ร้อยละ 12.86 เห็นว่ามีทักษะด้านภาษา และเทคโนโลยี แต่ร้อยละ 11.60 มองในมุมใช้จ่ายเกินตัว ติดเกม ติดมือถือ
เมื่อถามถึงจุดเด่นของเด็กไทย ร้อยละ 80.64 บอกเก่งเทคโนโลยี ร้อยละ 78.24 บอกใช้สื่อโซเชียลคล่องแคล่ว ร้อยละ 69.72 เห็นการกล้าแสดงออก ร้อยละ 62.74 เห็นเรื่องการมีอิสระทางความคิด มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ร้อยละ 53.78 เห็นว่ามีความเป็นตัวของตัวเองสูง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงเรื่องที่เด็กควรพัฒนาเพิ่มเติม ร้อยละ 66.52 ชี้ไปที่การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจด้วยเหตุผล ร้อยละ 64.32 ยังไม่พอใจเรื่องการเคารพผู้ใหญ่ ร้อยละ 61.09 เรียกร้องระเบียบวินัย ร้อยละ 56.53 ให้เพิ่มความมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ร้อยละ 45.89 ให้พัฒนาทักษะการเข้าสังคม

การรวมตัวกันชุมนุมในช่วงที่ผ่านมาก่อนที่จะซาไปเพราะการกลับมาระบาดของโควิด-19 ประเด็นหนึ่งคือเด็กมองว่า การนำประเทศของผู้ใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ปิดโอกาสการเข้าสู่ความสำเร็จคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่
เนื่องจากระบบที่สร้างความเข้มแข็งให้อภิสิทธิ์ชนก่อให้เกิดการผูกขาดโอกาสที่จะเข้าสู่ความสำเร็จของคนส่วนใหญ่
โอกาสเอื้อให้เฉพาะลูก-หลานผู้มีอำนาจใช้เหนือกว่าในการเข้าผูกขาดผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจจากทุนผูกขาด หรือจากการยึดครองอำนาจรัฐ
ลูกท่านหลานเธอทั้งหลายยึดครองโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ สร้างฐานะความร่ำรวยให้กับตัวเองและพวกพ้อง โดยทอดทิ้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ไว้ตามยถากรรม ไม่ว่าจะพัฒนาความรู้ความสามารถในวิชาชีพได้ดีแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ไม่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างที่มุ่งหวังได้ หรือทำได้ยาก เนื่องจากช่องทางถูกยึดครองไปด้วยลูก-หลานของอภิสิทธิ์ชนแบบหมดสิ้น
และที่คือความหมายของ “ความไม่เท่าเทียม” ที่ม็อบเยาชนต้องการให้ทำลายไปจากกลไกของสังคม เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมขึ้นมา

ทว่าเสียงเรียกร้องนั้นกลับไม่เป็นผล
แม้กระทั่งตามผลโพลนี้ก็ยังชี้ว่า ถึงเด็กรุ่นใหม่จะมีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี และเชี่ยวชาญพัฒนาการของเครื่องมือทางธุรกิจ
แต่ยังชี้ไปที่ความกังวลเรื่องวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน ทำให้เกิดความหวั่นไหวว่าสังคมไทยจะสูญเสียวัฒนธรรมอันดีงาม อย่างเช่น การเชื่อฟัง การให้ความเคารพผู้ใหญ่ เลยไปถึงน้ำใจ ความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือเผื่อแผ่
และเพราะไม่รักษาวัฒนธรรมเช่นนั้นไว้ จึงพยายามด้อยค่าความรู้ความสามารถที่เท่าทันโลกของคนรุ่นใหม่ให้หมดความสำคัญ
เรียกร้องให้คนรุ่นใหม่เข้าใจผู้ใหญ่
ขณะที่ไม่เคยตอบคำถามว่า เข้าใจแล้วต้องปล่อยให้เป็นไปทั้งที่เห็นๆ ว่าเป็นปัญหาหรือ