E-DUANG : บทบาท ของสื่อใหม่ ออนไลน์ การตรวจสอบ ต่อ “กอ.รมน.”

ต้องยอมรับว่า การปรากฏขึ้นแห่งรายละเอียดของโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ของอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเงิน งบประมาณ 45 ล้านบาทจากกระทรวงพลังงาน

เป็นผลสะเทือนโดยตรงจากการปรากฏขึ้นของ #พิมรี่พาย ด้วยงบประมาณการติดตั้ง 5 แสนบาท

หากไม่มีกรณีของ #พิมรี่พาย รายละเอียดต่างๆอันเกี่ยวกับอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ คงไม่ได้รับการขุดคุ้ยและนำเสนอต่อสังคมอย่างคึกคัก

หากไม่มีกรณีของ #พิมรี่พาย สังคมคงไม่ได้เห็นคำสั่งจากสำนักการศึกษานอกโรงเรียนซึ่งสอดรับกับบรรยากาศ”ทราบแล้ว เปลี่ยน”อันเป็นแนวโน้มใหม่ในยุคแห่งการแพร่ระบาดของโควิด

นั่นก็คือ ทราบว่ามีคำสั่งล็อคดาวน์แล้วเปลี่ยนเป็นการควบคุม อย่างเข้มงวดสูงสุด ทราบว่ามีคำสั่งปิดร้านอาหารตั้งแต่ 17.00 น. แล้วเปลี่ยนเป็น 21.00 น.

ที่สำคัญเป็นอย่างมากยังอยู่ที่บรรยากาศ”ทราบแล้วเปลี่ยน” เหล่านี้ล้วนอึกทึกครึกโครมอยู่ใน”โลกออนไลน์”เป็นเบื้องต้น

 

โลกออนไลน์จึงกลายเป็นอีกโลก และดำรงอยู่เหมือนกับเป็นโลกอันจำลองมาจากโลกจริง เพียงแต่องคาพยพอันช่วยในการขับเคลื่อนไต่ ไปบนกระแสแห่งเทคโนโลยีใหม่เท่านั้น

การนำเสนอ “ข้อมูล” ผ่านโลกออนไลน์จึงดำเนินไปเหมือนกับเป็นการหยั่งเชิง ทดลองเพื่อตรวจสอบกระแส

อย่างเช่นเมื่อมีกรณีใช้เงิน 5 แสนบาทภายใต้กระบวนการขับ เคลื่อนของ #พิมรี่พาย ที่ตามมาอย่างรวดเร็วและน่าตื่นตาคือการปล่อยเอกสารโครงการอย่างเดียวกันแต่ใช้เงิน 45 ล้านบาท

เป็นเงินของกระทรวงพลังงานก็จริง แต่ผู้ที่รับเงินและดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ก็เป็นกองอำนวยการรักษาความ มั่นคงภายใน(กอ.รมน.)

จากนั้นไม่กี่ชั่วโมงต่อมา กอ.รมน.ก็ออกมายอมรับว่าเป็นจริง

เท่ากับว่า กระบวนการต่างๆในโลกออนไลน์อันเป็นโลกเสมือนจริงได้รับการการันตีว่าเป็นของจริงดำรงอยู่ในโลกจริง

 

โลกเสมือนนั่นเองเป็นพื้นที่ให้กับความจริงซึ่งไม่มีใครรู้ว่าได้”เอกสาร”ของกอ.รมน.มาอย่างไร เมื่อปรากฏเช่นนี้ข้อเท็จจริงอื่นๆก็ค่อยไหลล้นออกมาให้ตรวจสอบ

กอ.รมน.จึงเท่ากับยืน”เปลือย”อยู่เบื้องหน้าการตรวจสอบของสังคมผ่านกระบวนการของออนไลน์