เกษียร เตชะพีระ | วัคซีนแอนตี้โควิด : อาวุธใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ (1)

เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

วัคซีนแอนตี้โควิด
: อาวุธใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ (1)

โลกส่งท้ายปีมหาภัยพิบัติโควิด-19 ระบาด ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ 81,475,053 คน และผู้เสียชีวิต 1,798,050 คนใน 222 ประเทศทั่วโลก (ตามรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก ณ 31 ธันวาคม 2020 https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019) พร้อมกับการค้นพบและผลิตวัคซีนแอนตี้โควิดที่ผ่านการรับรองมาตรฐานโดยทางการสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรแล้ว 3 ขนานของบริษัท Pfizer-BioNtech, Moderna และ AstraZeneca-Oxford University
ปัญหาก็คือ ในจำนวนวัคซีนแอนตี้โควิดที่อุตสาหกรรมยาทั่วโลกจะผลิตได้ 12 พันล้านโดส (dose หมายถึงปริมาณกำหนดของยาที่ให้ต่อครั้ง) ตลอดปีใหม่ 2021 นี้นั้น บรรดาประเทศร่ำรวยซึ่งมีประชากร 14% ของโลกได้จองซื้อไปแล้ว 9 พันล้านโดส เหลือให้ประเทศรายได้ปานกลางและยากจนซึ่งมีประชากร 86% ของโลกแค่ 3 พันล้านโดส (https://apnews.com/article/poorer-countries-coronavirus-vaccine-0980fa905b6e1ce2f14a149cd2c438cd)

วัคซีนแอนตี้โควิดทั้งหมดของ Moderna และ 96% ของวัคซีน Pfizer-BioNtech ชุดแรกราว 1.1 พันล้านโดสได้ถูกเหล่าประเทศร่ำรวยจองซื้อเหมารวบไปแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาสั่งซื้อล่วงหน้าไว้ 600 ล้านโดสหรือเกือบสองเท่าของจำนวนประชากรอเมริกัน 328 ล้านคนและแคนาดาก็ได้เซ็นสัญญาจองซื้อวัคซีนไว้เกือบ 200 ล้านโดสซึ่งมากพอจะรองรับประชากรแคนาดา 38 ล้านคนกว่า 5 เท่า

แผนที่แสดงบรรดาประเทศที่รับทำการทดลองวัคซีนแอนตี้โควิดขนานต่างๆ ทางคลินิก เป็นแต้มต่อเพื่อให้ได้วัคซีนมาใช้ จำแนกตามบริษัทยาและประเทศที่ตั้ง (Le Monde, 21 ธันวาคม 2020)

เพื่อรณรงค์หาวัคซีนแอนตี้โควิดมาให้ประเทศรายได้ปานกลางและยากจนทั่วโลกใช้บ้าง ได้มีการก่อตั้งโครงการ COVAX ขึ้นมาเมื่อเดือนเมษายน 2020 ภายใต้การนำขององค์การอนามัยโลก, Gavi (พันธมิตรของรัฐบาลบางประเทศ บริษัทยาบางแห่ง กลุ่มให้การช่วยเหลือและองค์กรระหว่างประเทศบางแห่ง) และแนวร่วมนวัตกรรมเพื่อเตรียมพร้อมรับโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) โดย COVAX วางแผนตั้งเป้าจะแจกจ่ายวัคซีนแอนตี้โควิด 2 พันล้านโดสให้ประชากรเสี่ยงสูง 20 เปอร์เซ็นต์ใน 91 ประเทศของทวีปแอฟริกา เอเชียและละตินอเมริกาภายในสิ้นปี 2021 (https://learningenglish.voanews.com/a/report-poor-countries-may-not-get-vaccine-until-2024/5703848.html)

ทว่าปัญหาหลักที่โครงการ COVAX กำลังเผชิญคือขาดเงินทุน โดยเพิ่งจะระดมเงินมาเป็นค่าหาซื้อวัคซีนได้ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากงบประมาณทั้งสิ้น 7 พันล้านดอลลาร์ ยังขาดอยู่อีกถึง 4.9 พันล้านดอลลาร์

ที่ผ่านมาประเทศ/กลุ่มประเทศผู้บริจาครายหลักแก่ COVAX ได้แก่ อังกฤษกับสหภาพยุโรป ส่วนสหรัฐกับจีนไม่เสนอเงินอุดหนุนให้แต่อย่างใด

ด้านธนาคารโลกกับกลุ่มการเงินพหุภาคีอื่นๆ ก็เสนอสินเชื่อต้นทุนต่ำให้บรรดาประเทศยากจนกู้ยืมเพื่อซื้อหาและแจกจ่ายวัคซีนแทนโดยผ่าน COVAX

COVAX แก้ขัดโดยจะออกพันธบัตรวัคซีนมาขายให้แก่ประเทศผู้บริจาคในปี 2021 ซึ่งคาดว่าจะระดมเงินได้อีก 1.5 พันล้านดอลลาร์ และอาศัยผู้บริจาคภาคเอกชนมาเสริมเติมโดยเฉพาะมูลนิธิบิลกับเมลินดา เกตส์ อภิมหาเศรษฐีไมโครซอฟท์

แต่กระนั้นก็ยังไม่น่าจะพอเพียง ดังนั้น รายงานภายในของ Gavi จึงระบุว่าเนื่องจากปัญหาขาดแคลนเงินทุน ความเสี่ยงด้านอุปทานวัคซีน (ในกรณีราคาสูงกว่าที่คาดหรือผลิตล่าช้าออกไป) ข้อตกลงซื้อยาที่สลับซับซ้อน และการก่อตัวดำเนินงานของโครงการเองอย่างเร่งด่วนฉุกละหุก

โครงการ COVAX จึงเผชิญความเสี่ยงสูงยิ่งที่จะล้มเหลว!

เรื่องน่าอนาถอยู่ตรงความแผ่กว้างของวัคซีนแอนตี้โควิดสัมพันธ์แนบแน่นกับอัตราการตายจากโควิด-19 ระบาดในโลก ดังผลการศึกษาของทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Northeastern ของอเมริกาบ่งชี้ว่า หากสมมุติความแผ่กว้างของวัคซีนขึ้นมา 2 ฉากทัศน์ ได้แก่ : (https://www.bangkokpost.com/world/2021687/poorer-nations-face-vaccine-wait-as-west-locks-down-supply)

1) ฉากทัศน์จัดสรรวัคซีนแบบไม่ร่วมมือกันหรือชาตินิยมวัคซีน (uncooperative allocation or vaccine nationalism วัคซีนของชาติใครชาติมัน ไม่แบ่งปันช่วยเหลือร่วมมือกัน) ในกรณีชาติร่ำรวย 50 ประเทศผูกขาดเหมารวบกักเก็บวัคซีนแอนตี้โควิด 2 พันล้านโดสแรกที่ผลิตออกมาเอาไว้เอง จะช่วยลดจำนวนผู้ล้มตายจากโควิด-19 ทั่วโลกลงเพียง 33%

2) ฉากทัศน์จัดสรรวัคซีนแบบเป็นธรรม (fair-share approach) กล่าวคือ จัดสรรตามขนาดประชากรของแต่ละประเทศ ไม่ใช่กำลังซื้อแล้ว จะช่วยลดจำนวนผู้ล้มตายจากโควิด-19 ทั่วโลกลงถึง 61%
ซึ่งนั่นเท่ากับประหยัดชีวิตคนในโลกต่างกันเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว โดยเฉพาะคนในประเทศยากจน!
ฉะนั้น จะโดยจงใจหรือไร้เจตนา โรคระบาดทั่วโลกโควิด-19 ได้ทำให้วัคซีนแอนตี้โควิดกลายเป็นอาวุธใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลขยับปรับเปลี่ยนดุลอำนาจการเมืองโลกไปแล้ว

ดังแสดงให้เห็นผ่านแผนที่ของหนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศสด้านบนว่าบรรดาห้องทดลองวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อค้นหาวัคซีนของบริษัท/ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ได้แบ่งโลกออกจากกันอย่างไร โดยแต่ละมหาอำนาจก็รับใช้ประเทศตนเองและแบ่งปันให้ประเทศหุ้นส่วนพันธมิตรด้วยกันก่อนเพื่อน

ทางซ้ายมือสุดของแผนที่คือวัคซีนอเมริกันซึ่งทดลองเชิงคลินิกไปถึงขั้น 3 แล้ว ได้แก่ของบริษัท Pfizer-BioNtech (อเมริกัน+เยอรมัน), Moderna, Johnson & Johnson และ Novavax
ตรงกลางแผนที่คือวัคซีนอังกฤษ ได้แก่ของบริษัท AstraZeneca-Oxford University (สวีเดน+อังกฤษ)
ส่วนทางขวาคือวัคซีนจีน ได้แก่ของบริษัท CanSino, Sinopharm (2 ขนาน), Sinovac & Instituto Butantan (จีน+บราซิล) และ Zhifei Biological

บรรดาประเทศรายได้ปานกลางอย่างตุรกี แอฟริกาใต้ บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ก็พยายามดึงศักยภาพส่วนหนึ่งของตัวเองออกมาใช้ โดยทำข้อตกลงกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมร่ำรวย เพื่อให้มาทำการทดลองวัคซีนแอนตี้โควิดทางคลินิกในประเทศตน รวมทั้งระดมสมรรถภาพที่มีของตัวในการผลิตวัคซีนด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนกับการตกลงสั่งซื้อวัคซีนจากแหล่งประเทศร่ำรวย/บริษัทเหล่านั้น
(ต่อสัปดาห์หน้า)