เกษียร เตชะพีระ | นโยบายอเมริกันต่อจีนยุคทรัมป์ : สรุป

เกษียร เตชะพีระ

นโยบายอเมริกันต่อจีนยุคทรัมป์ : สรุป (จบ)

สถาบันโลวี (The Lowy Institute) เป็นสถาบันคลังสมองอิสระที่ทำวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับประเด็นยุทธศาสตร์ การเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อยู่ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2003 โดย Frank Lowy มหาเศรษฐีชาวออสเตรเลียเชื้อสายยิว อดีตประธานบรรษัท Westfield Corporation ผู้บุกเบิกธุรกิจศูนย์ช้อปปิ้งขึ้นในออสเตรเลียจนมีสาขาแผ่กระจายไปทั่วโลกในสหรัฐ สหราชอาณาจักรและยุโรป รวมสินทรัพย์ 29.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตารางการจัดอันดับดัชนีชี้วัดอำนาจในเอเชียแสดงผลงานล่าสุดส่วนหนึ่งในปีปัจจุบันจากโครงการวิจัยของสถาบันโลวีที่เรียกว่า Lowy Institute Asia Power Index ซึ่งประมวลวิเคราะห์และชั่งวัดประเมินอำนาจโดยเปรียบเทียบของ 26 ประเทศและเขตแคว้นในเอเชียรวมทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซียทุกๆ ปี แล้วแสดงออกมาเป็นดัชนีชี้วัดอำนาจด้วยคะแนนเต็ม 100 อันประกอบไปด้วยมาตรวัดอำนาจ 8 ประการ, มาตรวัดอำนาจย่อยจำแนกตามแก่นเรื่องต่างๆ 30 ประการ, และดัชนีบ่งชี้ 128 ตัว

ว่าแต่ละประเทศมีอำนาจเพิ่มขึ้น ลดลงหรือเสมอตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

บุคลิกภาพและอุปนิสัยส่วนตัวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่บ้ายอ ปลื้มพวกจอมเผด็จการและไม่มีหลักการใดๆ ทั้งสิ้น นับเป็นจุดอ่อนฉกรรจ์ที่ทำให้การนำประเทศสหรัฐอเมริกาของเขาในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาบกพร่องอย่างร้ายแรง

กล่าวคือ สับสนอลหม่าน ไม่คงเส้นคงวา พลิกพลิ้วตามอารมณ์วูบไหวของตัว จนยากจะดำเนินยุทธศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศอย่างแน่วแน่มั่นคงได้

ทรัมป์มิเพียงกุมตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งต้องรับผิดชอบต่อความเสื่อมทรามลงของบรรดาสถาบันการเมืองการปกครองและบริหารต่างๆ ของอเมริกาเท่านั้น หากเขายังยุยงส่งเสริมให้มันเสื่อมถอยฉ้อฉลโดยเอามันมารับใช้ตัวเองทางการเมืองด้วย

เจ้าหน้าที่รัฐคนใดหน้าไหนก็ตามไม่ว่าจะสังกัดพรรคเดโมแครต พรรครีพับลิกัน หรือไม่สังกัดพรรคใดเลย หากบังอาจขัดฝืนคำบงการของทรัมป์ที่สั่งออกมาเพื่ออวยประโยชน์และอวดโอ่ตัวทรัมป์เองแล้ว มันผู้นั้นก็จะถูกเล่นงานลงโทษ

กล่าวได้ว่าภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์นี่เองที่ระบบสถาบันการเมืองการปกครองของอเมริกาฝ่อลีบเหี่ยวลง ในขณะที่ทางการปักกิ่งกลับรวบรวมสั่งสมสมรรถภาพของรัฐมาไว้มหาศาลและแผ่ขยายมันออกไปอย่างมีวินัยและเหี้ยมเกรียม

ในแง่นี้การระบาดไปทั่วโลกของโรคโควิด-19 เผยให้เห็นเนื้อแท้ของระบบการเมืองทั้งสองได้กระจะกระจ่าง

– ในจีน แรกเริ่มเดิมทีพรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดการการปะทุระบาดของโรคโควิด-19 ผิดพลาด หันไปเล่นงานเอาโทษปิดปากบรรดาแพทย์และนักหนังสือพิมพ์ที่พยายามร้องเตือนภัยการแพร่กระจายของเชื้อโรคในนครอู่ฮั่นเมื่อเดือนธันวาคมศกก่อนต่อเดือนมกราคมศกนี้

ทว่า ครั้นเจ้าหน้าที่รัฐ-พรรคส่วนกลางตระหนักถึงหายนภัยอันร้ายแรงและลงมือปฏิบัติการแล้ว ปรากฏว่าองค์การปกครองระดับต่างๆ สามารถระดมสรรพกำลังและอำนาจที่ไม่ถูกตรวจสอบเหนี่ยวรั้งของตนมาระงับยับยั้งไวรัสโคโรนาไว้ได้อย่างเห็นผลเฉียบพลัน ส่งผลให้ตอนนี้เศรษฐกิจจีนกำลังกระเตื้องฟื้นตัวกลับมาแล้ว

– ตรงกันข้าม ในสหรัฐอเมริกา ทรัมป์กลับโป้ปดมดเท็จหรือไม่ก็ชักจูงสาธารณชนอเมริกันให้ไขว้เขวเกี่ยวกับความหนักหน่วงร้ายแรงของโรคระบาดทั่วโควิด-19 พลิกลิ้นกลับไปกลับมาระหว่างการยกย่องชื่นชมสีจิ้นผิงกับการหันไปโทษสีจิ้นผิงว่าเป็นตัวการทำให้ไวรัสโคโรนาระบาด แล้วก็คว้าประเด็นโควิด-19 นี้มาโจมตีศัตรูทางการเมืองของตน

ส่งผลให้ในที่สุดโควิด-19 กลายเป็นแค่สมรภูมิอีกแห่งในสงครามวัฒนธรรมที่ไม่สิ้นสุดหยุดหย่อนระหว่างสองพรรค ยิ่งทำให้ระบบการเมืองอเมริกันอ่อนเปลี้ยเพลียแรงลงไปอีกทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งคนอเมริกันต้องล้มตายลงเพราะโรคร้ายนี้ราวใบไม้ร่วงเกือบสามแสนคนแล้ว (ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 294,715 คน ณ วันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ.2020 ดู Home – Johns Hopkins Coronavirus Resource Center (jhu.edu))

ดังที่สถาบันโลวีได้เปรียบเทียบอำนาจของอเมริกากับจีนในปี ค.ศ.2020 ให้เห็นว่าในมาตรวัดอำนาจ 8 ประการนั้น จีนนำอเมริกาอยู่ 4 ประการซึ่งรวมทั้งด้านสมรรถภาพทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการทูตด้วย กล่าวคือ :

ด้านสมรรถภาพทางเศรษฐกิจ (ซึ่งรวมมาตรวัดอำนาจย่อยด้านขนาดของเศรษฐกิจ, พลังต่อรองระหว่างประเทศ, เทคโนโลยีและภาวะเชื่อมต่อ) จีนนำอเมริกา แม้ว่าคะแนนของอเมริกาจะรอบด้านกว่าก็ตาม

ด้านอิทธิพลทางการทูต (ซึ่งรวมมาตรวัดอำนาจย่อยด้านเครือข่ายการทูต, อำนาจพหุภาคีและนโยบายต่างประเทศ) บัดนี้จีนมีเครือข่ายการทูตกว้างใหญ่กว่าประเทศใดๆ ในโลกแล้ว

ทว่าคะแนนนำของจีนด้านอิทธิพลทางการทูตทิ้งห่างประเทศอื่นๆ น้อยลงหลังโควิด-19 ระบาด และญี่ปุ่นกำลังกวดใกล้ไล่ทันจีนเข้ามา