เมื่อ “หนุ่มเมืองจันท์” ไปนั่งอยู่ในแวดวงครเอทีฟ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

“ปัญญา” ที่เคารพ

วันก่อนผมไปงานของ “พี่แก่” สาธิต กาลวันตวานิช แห่ง propaganda

เป็นงานประจำปีของ “พี่แก่” ที่จะเชิญพี่พ้องน้องเพื่อนในแวดวงความคิดสร้างสรรค์มาเจอกัน

กิจกรรมปีนี้คือ การเปิดตัวเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ของ FLO ที่ “พี่แก่” เป็นคนออกแบบ

และมีคอนเสิร์ตย่อมๆ แบบเป็นกันเองของ “วงนั่งเล่น”

โดยมีเพลงหนึ่งชื่อว่า “ตีนที่มองไม่เห็น” มาจากคอนเซ็ปต์ของ “พี่แก่”

ฟังดูแปลกๆ ดีไหมครับ

“พี่แก่” ตอนนี้อายุ 61 ปีครับ

ถ้ารับราชการก็เกษียณอายุแล้ว

แต่ “วิธีคิด” ของเขาตรงข้ามกับชื่อ “แก่”

เพราะเป็นความคิดที่ “หนุ่ม” มาก

เรื่องแรก เขาไม่เคยคิดแม้แต่นิดเดียวว่าจะรีไทร์ หรือเลิกทำงาน

และเมื่อ “ใจ” ไปทางไหน

“ร่างกาย” ก็ต้องไปทางนั้น

“ใจ” คิดว่าจะทำงานต่อไปเรื่อยๆ

เขาก็วางแผนชีวิตใหม่

ร่างกายต้องแข็งแรง

ตอนนี้เขาว่ายน้ำวันละ 20 รอบ

ออกกำลังกาย ดูแลเรื่องอาหาร

เพราะคนอายุ 60 จะทำงานต่อไปเรื่อยๆ

ร่างกายต้องแข็งแรง

เรื่องที่สอง เขาจะเกิดใหม่

อายุ 60 สำหรับคนส่วนใหญ่คือ การวางมือ หรือวันสิ้นสุดของการทำงาน

แต่สำหรับ “พี่แก่” อายุเกิน 60 คือ การเกิดใหม่

คนที่อายุ 60 ปี คือ คนที่มีประสบการณ์สูงมาก

แต่เป็นประสบการณ์ในงานที่เคยทำ

ดังนั้น ถ้าอายุ 60 แต่เริ่มต้นงานใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน

มันก็คือ การเกิดใหม่ดีๆ นี่เอง

เพราะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้

หรือได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ

แค่ “วิธีคิด” ก็ “หนุ่ม” แล้ว

แม้ว่า “พี่แก่” ผ่านงานออกแบบมามากมาย

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยทำ คือ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์

เขาเลือกที่จะ collap หรือทำงานร่วมกับนักออกแบบรุ่นใหม่เจ้าของเฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อ FLO

“ดุ๊กดิ๊ก” นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ เด็กหนุ่มไฟแรงที่สืบทอดกิจการโรงงานเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัว

ก่อนที่จะสร้างเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ FLO ขึ้นมา

ถามว่า ร่วมงานกับ “พี่แก่” เป็นไงบ้าง

“ดุ๊กดิ๊ก” บอกว่า ตื่นเต้น เพราะ “พี่แก่” เป็นนักออกแบบรุ่นใหญ่

แต่ที่เขาประทับใจมากก็คือ “พี่แก่” เดินมายอมรับว่าเขาไม่รู้เรื่องเฟอร์นิเจอร์เลย

ถ้าผิดบอกได้

ถ้าสิ่งที่เขาออกแบบทำไม่ได้ บอกเลย

นี่คือ การยอมรับความเป็น “เด็ก” ในงานเฟอร์นิเจอร์ของคนอายุ 61 ปี

และเป็นคนอายุ 61 ที่เคยสร้างงานระดับโลกกับแบรนด์ propaganda มาแล้วด้วย

ส่วน “พี่แก่” เขาประทับใจในตัวเด็กหนุ่มอย่าง “ดุ๊กดิ๊ก” มากตอนที่ไปดูโรงงาน

“ดุ๊กดิ๊ก” ยกมือไหว้ช่างที่อายุมากกว่าทุกคน

“เจ้าของ” ไหว้ “คนงาน”

“พี่แก่” รู้สึกว่าเด็กคนนี้ไม่ได้ไหว้ช่างเหล่านั้นเพราะเขา “อาวุโส” กว่า

แต่เขาไหว้ “ปัญญา”

เพราะ “ช่างฝีมือ” เหล่านี้คือ ผู้ที่สั่งสม “ปัญญา” ในการทำเฟอร์นิเจอร์

สมควรต่อการไหว้อย่างยิ่ง

หลังจากลองผิด ลองถูก ทำงานด้วยกันมาพักใหญ่

สุดท้ายก็ได้เก้าอี้นั่งที่สวยมากตัวหนึ่ง

เพิ่งเสร็จแบบอุ่นๆ มาวางโชว์ในงานนี้

จะซื้อก็ไม่ได้

เพราะยังไม่ได้กำหนดราคา

อุ่นจริงๆ

หลังการเสวนาบนเวที มีการแสดงดนตรีของ “วงนั่งเล่น”

วงนี้เป็นการรวมตัวของสุดยอดนักดนตรีในวงการ

เคยได้ยินเพลงเหล่านี้ไหมครับ

พี่ชายที่แสนดี, ทั้งรู้ก็รัก, รักนิรันดร์, รักล้นใจ, เพียงแค่ใจเรารักกัน, ขีดเส้นใต้, ปาฏิหาริย์, คนไม่มีวาสนา, อย่ายอมแพ้, เล่าสู่กันฟัง, แค่มี, ขอให้เหมือนเดิม, รับได้ไหม, โอ้ใจเอ๋ย, ใช่เลย ฯลฯ

ถ้าเคยหมายความว่า…

…คุณเป็นนักฟังเพลงที่มีรสนิยมครับ 555

เพลงดังๆ เหล่านี้คือฝีมือการแต่งเพลง โปรดิวซ์ ของนักดนตรีวงนั่งเล่น

เป๋า-กมลศักดิ์ สุนทานนท์, ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์, พง-อิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา, ตู๋-ปิติ ลิ้มเจริญ, ป้อม-เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์, ตุ๋ย-พรเทพ สุวรรณะบุณย์, แตน-เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์, เก่ง-เทอดไทย ทองนาค และโอ-ศราวุธ ฤทธิ์นันท์ คนในแวดวงดนตรีรู้จักคนกลุ่มนี้เป็นอย่างดี

วันหนึ่ง ทุกคนตัดสินใจกลับมายืนข้างหน้าอีกครั้งด้วยการทำวงนั่งเล่น ที่ให้ความสำคัญกับตัว A-Art มากกว่าตัว C-Commercial

เพลงของวงนั่งเล่นไพเราะ แต่ลุ่มลึกมาก

ยิ่งถ้าคุณได้ฟังสดๆ จะยิ่งเบาสบาย

เพลงของเขาแม้จะลุ่มลึก แต่ไม่ใช่ผู้ใหญ่สอนเด็ก

บังคับให้เชื่อ

แต่เป็นการเล่าเรื่องบทเรียนของชีวิตให้ฟังแบบมีท่วงทำนอง

ผมนึกถึงตอนที่ “ดี้” นิติพงษ์ ห่อนาค แต่งเพลง “ก้อนหินก้อนนั้น” ให้ “โรส” ศิรินทิพย์ ร้อง

คีย์เวิร์ดของเพลงนี้ คือท่อนที่ว่า “ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอได้เท่ากับเธอทำตัวของเธอเอง”

เป็นเพลงสอน

แต่ “โรส” อายุน้อยมาก

ร้องเพลงนี้อย่างไรคนก็ไม่เชื่อ

สุดท้าย “ดี้” ต้องเริ่มท่อนแรกว่า “เคยมีใครสักคนได้บอกฉันมา”

คนจึงเชื่อ

แบบเดียวกับตอนที่ “บอย โกสิยพงษ์” แต่งเพลง Live And Learn

ด้วยเนื้อหาของเพลง เขารู้ว่าถ้าให้นักร้องรุ่นใหม่ร้อง คนจะไม่เชื่อ

เขาจึงเลือก “กมลา สุโกศล” มาร้อง

เพราะด้วยวัยและเสียงอันทรงพลัง ทำให้คนเชื่อ

เช่นเดียวกับเพลงของวงนั่งเล่น

ด้วยวัย ด้วยเสียงร้อง ด้วยท่าทีที่เหมือนผู้ใหญ่ใจดี ทำให้เราฟังเพลงของเขา

แล้ว “เชื่อ”

งานล่าสุดของเขา ใช้วิธีการแต่งเพลงใหม่ ด้วยการไปหาคอนเซ็ปต์เพลงจากคนอื่น

“พี่เก้ง” จิระ มะลิกุล, จิระนันท์ พิตรปรีชา, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล และ “พี่แก่” สาธิต

แต่ละเพลงไพเราะและชวนคิดตามมาก

อย่างเพลงของ “พี่แก่” ชื่อเพลง “ตีนที่มองไม่เห็น”

เขาบอกว่า ชีวิตทุกคนต้องเคยผ่านประสบการณ์ที่เลวร้าย เหมือนโดน “ตีนที่มองไม่เห็น” ถีบให้เราจมน้ำ

ช่วงเวลาที่แย่ที่สุดคือ ช่วงเวลาที่ทรงพลังมากที่สุดเช่นกัน

เราได้รู้ว่าเราเก่งแค่ไหน

เมื่อผ่านมาแล้วประสบการณ์ช่วงนั้นจะอยู่ในความทรงจำของเราไม่รู้ลืม

และรู้สึกขอบคุณ “ตีนที่มองไม่เห็น”

ผมยืนฟังเพลงของวงนั่งเล่นอย่างมีความสุข

บางช่วงต้องหลับตาฟัง

เพื่อซึมซับเสียงดนตรี เสียงร้อง และเนื้อหาของบทเพลง

ผมชอบลีลาการเล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้นของพี่ๆ วงนั่งเล่นมาก

ทุกคนดูมีความสุข

และ “เก๋า” มาก

ทุกครั้งที่เพลงจบ ผมปรบมือเหมือนกับทุกคน

และมีบางจังหวะ ผมแอบประกบมือนิ่ง

พนมมือไหว้วงนั่งเล่น

รู้สึกคล้ายๆ กับ “ดุ๊กดิ๊ก”

อยากไหว้ “ปัญญา” ของทุกคน