เกษียร เตชะพีระ : นักปรัชญาแห่งการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์

เกษียร เตชะพีระ

การปฏิวัติที่นิยามความเป็นบิดาแห่งเสรีนิยมของ จอห์น ล็อก (ค.ศ.1632-1704) ได้แก่ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (the Glorious Revolution, ค.ศ.1688) ของอังกฤษ จนกล่าวได้ว่าเขาเป็นนักปรัชญาแห่งการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์นั่นแหละ

การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ซึ่งเป็นภาคสืบต่อและสรุปจบของการปฏิวัติอังกฤษ (the English Revolution: สงครามกลางเมือง + ระบบจักรภพ/สาธารณรัฐ, ค.ศ.1640-1660) นั้นถูกนักประวัติศาสตร์หัวก้าวหน้าจัดให้เป็นการปฏิวัติกระฎุมพี (bourgeois revolution) ครั้งที่สองหลังกบฏดัตช์ (ค.ศ.1566-1648) ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามการปฏิวัติที่นำพาโลกตะวันตกเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ (Modernity) อันได้แก่ :-

1) การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (the scientific revolution) ซึ่งเป็นการปฏิวัติในทางภูมิปัญญา

2) การปฏิวัติอุตสาหกรรม (the industrial revolution) ซึ่งเป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจสังคม และ

3) การปฏิวัติกระฎุมพี (the bourgeois revolution) ซึ่งเป็นการปฏิวัติทางการเมือง

โดยแก่นแท้สารัตถะของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ก็คือการสถาปนาระเบียบอำนาจแบบเสรีนิยม อันหมายถึง “การแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์โดยการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ” (นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, น.61-62)

ในทำนองเดียวกับการอภิวัฒน์ 2475 ของสยามโดยคณะราษฎรนั่นเอง

ปมเงื่อนที่นำไปสู่การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษในสมัยของล็อกคือความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองผู้เพิ่งทรงฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยขึ้นมาใหม่เมื่อปี ค.ศ.1660 กับฝ่ายเสรีนิยมที่เรียกตัวเองว่าพรรควิก (Whigs พรรคปฏิรูปนิยมรัฐธรรมนูญของอังกฤษที่เรียกร้องให้รัฐสภามีอำนาจสูงสุด ถูกแทนที่โดยพรรคเสรีนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19) ในรัฐสภาภายใต้การนำของเอิร์ลแห่งชาฟต์สเบอรี่ เสนาบดีใหญ่และเจ้านายผู้อุปถัมภ์ล็อก (ค.ศ.1621-1683) ในประเด็นการสืบราชสมบัติ โดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองทรงตั้งพระทัยจะแต่งตั้งพระอนุชาเจมส์ผู้ดำรงตำแหน่งดยุคแห่งยอร์กเป็นรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ต่อไป

ทว่า พระอนุชาเจมส์นั้นได้ทรงลอบเข้ารีตเป็นคริสเตียนนิกายคาทอลิก (Catholicism) และต่อมาก็อภิเษกสมรสกับหญิงผู้เป็นคาทอลิกด้วยกันในปี ค.ศ.1673 อันผิดแปลกแยกต่างจากนิกายแองกลิคัน (Anglicanism) ของคริสตจักรแห่งอังกฤษที่เป็นอิสระจากพระสันตะปาปาของนิกายคาทอลิกแห่งกรุงวาติกัน

เมื่อประกอบกับความสนิทสนมนิยมยกย่องที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่สองทรงมีต่อพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่แห่งฝรั่งเศส (Louise XIV ค.ศ.1638-1715) พระญาติคาทอลิกของพระองค์ผู้ทรงสร้างการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนเกรียงไกรใหญ่ยิ่งในฝรั่งเศสและได้พระสมัญญานามว่า “พระเจ้าหลุยส์มหาราช” (Louis le Grand) และ “สุริยวรมัน” (le Roi Soleil) อีกทั้งได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ก้อนใหญ่จากพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่อยู่เนืองๆ อีกโสดหนึ่งด้วยแล้ว

เหล่านี้ทำให้เอิร์ลแห่งชาฟต์สเบอรี่กับพรรควิกในสภาหวั่นวิตกว่าหากพระอนุชาเจมส์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระเชษฐา ก็อาจจะนำพาอังกฤษแห่งนิกายแองกลิคันให้ติด “โรคฝรั่งเศส” (de morbo Gallico คำล้อเลียนร่วมสมัยสองแง่สองง่าม เดิมทีหมายถึงโรคซิฟิลิสซึ่งเชื่อว่าเริ่มระบาดจากทหารฝรั่งเศสที่ไปรุกรานอิตาลี แต่ถูก จอห์น ล็อก ยักย้ายมาใช้ในความหมายทางการเมืองเป็นรหัสเรียกชื่อต้นฉบับงานปรัชญาการเมืองเสรีนิยมไม่ระบุชื่อผู้แต่งเรื่อง The Second Treatise of Government ของเขาเอง) คือไถลไปสู่การปกครองในระบอบราชาธิปไตยอำนาจนิยมภายใต้นิกายคาทอลิกได้

ชาฟต์สเบอรี่จึงกล่าวคัดค้านโจมตีการอภิเษกสมรสกับหญิงคาทอลิกของพระอนุชาเจมส์ ส่งผลให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่สองทรงปลดเขาจากตำแหน่งเสนาบดียุติธรรม (Lord Chancellor โดยมี จอห์น ล็อก เป็นเลขานุการ) ที่เป็นอยู่ตอนนั้นไป

หกปีต่อมาเมื่อชาฟต์สเบอรี่ในฐานะผู้นำพรรควิกในสภาได้คืนสู่อำนาจบริหารในตำแหน่งประธานคณะเสนาบดีของพระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง เขากับสมัครพรรคพวกก็หาทางผลักดันกีดกันขัดขวางดยุคแห่งยอร์ก (พระอนุชาเจมส์) ไม่ให้ขึ้นครองราชย์ ผ่านวิถีทางรัฐธรรมนูญ นำไปสู่วิกฤตการต่อสู้ขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสองฝ่ายนาน 4 ปีในช่วง ค.ศ.1679-1683

เริ่มโดยชาฟต์สเบอรี่และพรรควิกเสนอร่างพระราชบัญญัติการยกเว้นผู้สืบราชบัลลังก์ (Exclusion bills) ในสภาสามัญต่อกันถึง 3 ฉบับ ทว่า ร่าง 2 ฉบับติดค้างคาสภาและถูกล้มเลิกไปเพราะพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองยุบสภาสามัญติดกัน 2 ชุดเสียก่อน

ส่วนร่างอีกฉบับผ่านสภาสามัญแล้วแต่มาถูกคว่ำในสภาขุนนาง และในที่สุดชาฟต์สเบอรี่ก็ถูกปลดจากตำแหน่งประธานคณะเสนาบดีไป

เมื่อค่อยเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้นว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองไม่ทรงดำริที่จะเรียกประชุมรัฐสภาอีก ก็ส่งผลให้พรรควิกแตกกัน ฝ่ายวิกเดินสายกลางเฉื่อยชาลงหรือไม่ก็แปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายนิยมกษัตริย์ ขณะที่ฝ่ายวิกหัวรุนแรงนำโดยชาฟต์สเบอรี่เริ่มคิดจริงจังขึ้นว่าอาจต้องถึงขั้นลุกฮือก่อการกำเริบ

ถึงปี ค.ศ.1681 พระเจ้าชาร์ลส์ที่สองทรงเล็งเห็นว่าชาฟต์สเบอรี่เป็นปรปักษ์อันตรายที่สุดของพระองค์ จึงตัดสินพระทัยต้องบดขยี้ชาฟต์สเบอรี่ให้จงได้ มีการฟ้องร้องกล่าวหาชาฟต์สเบอรี่ว่าคิดคดทรยศ แต่การดำเนินคดีเล่นงานเขาล้มเหลวเพราะคณะลูกขุนที่เสนอชื่อโดยพรรควิก (พรรคเสรีนิยม) ลงมติว่าคำกล่าวหาไม่มีมูล

เดือนมิถุนายน ค.ศ.1682 รัฐบาลของพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองเรียกตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายทอรี่ (อนุรักษนิยม) สองคนเข้ามาเป็นนายอำเภอในกรุงลอนดอนเพื่อเตรียมเล่นงานชาฟต์สเบอรี่ ชาฟต์สเบอรี่รู้ตัวว่าโดนแน่ จึงหลบซ่อนตัวตั้งแต่เดือนกันยายน, และวันที่ 28 พฤศจิกายน ภายหลังแผนของเขาที่จะลุกฮือขึ้นก่อการกำเริบแผ่วเปลี้ยหมดพลังไป ชาฟต์สเบอรี่ก็ลี้ภัยไปเนเธอร์แลนด์

และถึงแก่กรรมที่นั่นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 1683

แม้จะสูญเสียผู้นำเก่งที่สุดไป แต่พรรควิกก็ยังปักใจสู้ต่อไม่เสื่อมคลาย

วิกหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งวางแผนจะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลส์ที่สองและพระอนุชาเจมส์พร้อมกันที่ไรย์ เฮ้าส์ ในเฮิร์ตฟอร์ดไชร์

ปรากฏว่าการปฏิบัติตามแผนถูกเลื่อนออกไป และมีคนเปิดโปงแผนการให้ฝ่ายรัฐบาลรู้ เดือนมิถุนายน แกนนำพรรควิกหลายคนจึงถูกจับกุม

จอห์น ล็อก ซึ่งร่วมรับรู้แผนไรย์ เฮ้าส์นี้และพลอยตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงด้วย จึงหลบออกจากกรุงลอนดอน 1 สัปดาห์ก่อนการกวาดจับ เขาไปอยู่ที่เวสต์ คันทรี่นานสองเดือน จัดแจงธุระปะปังคั่งค้างต่างๆ และโอนเงินไปต่างประเทศ จากนั้นก็หนีไปโผล่ที่เนเธอร์แลนด์ในเดือนกันยายน ค.ศ.1683

เชื่อกันทั่วไปว่างานเรื่อง “ศาสตร์นิพนธ์แห่งการปกครองสองบรรพ” (Two Treatises of Government) ของล็อกซึ่งตีพิมพ์โดยไม่เปิดเผยชื่อผู้แต่งในปี ค.ศ.1690 นั้นเอาเข้าจริงส่วนใหญ่เขียนขึ้นช่วงวิกฤตการเมืองอังกฤษ 4 ปีนี่เอง (ค.ศ.1679-1683) แม้ว่าจะมีการเพิ่มเติมบางย่อหน้าในภายหลังก่อนตีพิมพ์บ้าง

โดยเฉพาะ The Second Treatise of Government หรือศาสตร์นิพนธ์บรรพที่สองซึ่งมีเนื้อหาสำคัญในการนำเสนอหลักปรัชญาการเมืองการปกครองเสรีนิยมนั้น บริบทสำคัญของการเขียนมันขึ้นอาจได้แก่ 1) วิกฤตร่างพระราชบัญญัติการยกเว้นผู้สืบราชบัลลังก์ (Exclusion Crisis) ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ.1679

หรือ 2) การที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่สองทรงยุบสภาออกซฟอร์ดในเดือนมีนาคม ค.ศ.1681 ซึ่งจะสอดรับกับเนื้อหาของศาสตร์นิพนธ์บรรพที่สองที่ให้ความชอบธรรมทางทฤษฎีแก่แนวทางการเมืองแบบลุกฮือขึ้นก่อการกำเริบต่อผู้ปกครองที่ละเมิดสัญญาประชาคม