นพมาส แววหงส์ /ภาพยนตร์ : MANK ‘ภาพยนตร์อมตะ’

นพมาส แววหงส์

MANK
‘ภาพยนตร์อมตะ’

กำกับการแสดง
David Fincher

นำแสดง
Gary Oldman
Amanda Seyfried
Lily Collins
Arliss Howard
Tuppence Middleton
Charles Dance

Citizen Kane (1941) เป็นหนังคลาสสิคอมตะนิรันดร์กาล และได้รับการกล่าวขวัญเชิดชูในฐานะภาพยนตร์อเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างมา

ตราบถึงทุกวันนี้กาลเวลาก็ล่วงผ่านมาร่วม 80 ปี นับแต่ปีที่สร้างขึ้นในสมัยที่ศิลปะและอุตสาหกรรมของ “ภาพยนตร์” (ขอบคุณผู้ที่คิดคำนี้ให้เราใช้กันในภาษาไทย โดยไม่ต้องทับศัพท์ฝรั่งว่า moving picture หรือ motion picture ซึ่งแปลเหมือนกันว่าภาพที่เคลื่อนไหว) ยังอยู่ในระยะหัดเดินเตาะแตะ และยังสร้างเป็นหนังขาว-ดำอยู่เลย

ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับสงครามโลกครั้งที่สองวิกฤตเศรษฐกิจ และการคุกคามจากฮิตเลอร์และลัทธินาซี

ในวัยเพียง 24 ปี ออร์สัน แวลส์ กำลังร้อนแรงอยู่ในวงการละครเวทีและวิทยุ เป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับฯ หนุ่มเลือดใหม่ไฟแรง ที่เพิ่งสร้างเสียงฮือฮาไปทั่วด้วยละครวิทยุที่ทำจากนิยาย The War of the Worlds จากปลายปากกาของเอช.จี. แวลส์ ละครที่ออกอากาศทางวิทยุเรื่องนี้สร้างบรรยากาศที่สมจริงสมจังเสียจนผู้คนตระหนกตกใจนึกว่าโลกกำลังถูกมนุษย์ต่างดาวบุกเข้าแล้วจริงๆ

ออร์สันได้รับการทาบทามและรับข้อเสนอจากวงการภาพยนตร์ ให้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของเขาด้วยเสรีภาพทางศิลปะอย่างที่ไม่เคยมีใครได้รับมาก่อน

นั่นคือเขามีสิทธิเต็มที่ในการเลือกเรื่อง กำหนดทิศทางและทีมงานที่จะทำงานด้วยโดยสตูดิโอไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยเหมือนหนังทั่วๆ ไป

ผลงานชิ้นโบแดงของเขาคือ Citizen Kane ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงอันยืนยงคงกระพันให้แก่ออร์สัน แวลส์ ซึ่งได้รับการยกย่องในด้านอัจฉริยภาพด้านสร้างสรรค์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถึงเก้าสาขา แต่โดนกระแสการเมืองเล่นงานจนได้รับรางวัลในสาขาการเขียนบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเพียงรางวัลเดียว

รางวัลนี้ตกเป็นของเฮอร์แมน เจ. แมงคิววิซ กับออร์สัน แวลส์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ร่วมกัน

แต่สาเหตุที่หนังเรื่องนี้โดนมรสุมการเมืองกระหน่ำใส่ และโดนกีดกันทุกทางจากคนในวงการสื่อ ก็เนื่องจากเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าตัวละครหลักในเรื่องมีที่มาจากบุคคลจริง และคนคนนั้นคือเจ้าพ่อผู้ยิ่งใหญ่ในวงการสื่อสารมวลชนของอเมริกา

วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สต์

เฮิร์สต์โกรธมากที่มีคนเอาชีวิตเขาไปตีแผ่ในสื่อสาธารณะที่แพร่หลายอย่างภาพยนตร์ ว่ากันว่าเขาไม่ยอมดูหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ

แต่พยายามทุกทางที่จะ “แบน” หนังที่ออกฉาย ใช้อิทธิพลไม่ให้ได้เข้าฉายในโรงหนัง

อันที่จริง เรื่องราวของชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคน ไม่ใช่อัตชีวประวัติของวิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สต์ แต่เป็นการเก็บเล็กผสมน้อยมาจากชีวิตของคนหลายคน และวางพล็อตอย่างชาญฉลาดอยู่บนคำพูดคำเดียวที่ออกจากปากของเคนก่อนสิ้นลม

ก่อนตาย เจ้าพ่อแห่งวงการสื่อ ชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคน ถือ “สโนว์ โกล้บ” (ของตั้งโชว์ชิ้นเล็กๆ ที่เป็นทิวทัศน์บางอย่าง แบบที่เรายกขึ้นเขย่าแล้วปล่อยให้ “หิมะ” โปรยปรายลงกับพื้นเหมือนภาพยามหิมะตก) และเอ่ยคำว่า “โรสบั้ด” (กุหลาบตูม) เป็นคำสุดท้ายก่อนสิ้นใจ

นั่นคือปริศนาที่ไม่มีใครแก้ตกว่า โรสบั้ด คืออะไร และนักข่าวคนหนึ่งพยายามสืบค้นข้อมูล ล้วงลึกเข้าไปในชีวิตของเคน ที่ดูเหมือนจะพรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สิน ฐานะและอำนาจบารมีซึ่งเป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทุกคน

ปริศนาข้อนั้นไม่มีใครแก้ตกว่า กุหลาบตูม คืออะไรในชีวิตของเคน จนกระทั่งเมื่อมีการเผากำจัดขยะที่เคยเป็นสมบัติในอดีตของเคน เราเห็นภาพของเลื่อนหิมะที่เคนเคยเล่นในสมัยเด็ก กำลังมอดไหม้อยู่ในกองเพลิง และเห็นคำว่า “โรสบั้ด” ประทับอยู่บนเลื่อนอันนั้น

เป็นบทหนังที่วางเรื่องไว้อย่างเหมาะเจาะ ลงตัว แยบคายและแหลมคมเชิงสัญลักษณ์อันตรึงตราน่าประทับใจยิ่ง

และมาจากปลายปากกาของนักเขียนปากคม เฮอร์แมน “แมงก์” แมงคิววิซ (แกรี่ โอลด์แมน) ผู้ที่ได้รับการว่าจ้างให้เขียนบทภาพยนตร์เพื่อให้ “หนุ่มอัจฉริยะ” ออร์สัน แวลส์ นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และแสดงบทนำเอง

ประเด็นที่ถกเถียงกันมานานคือ งานสร้างสรรค์ชิ้นนี้เป็นของแมงก์ หรือออร์สันมากกว่ากัน

และ Mank นำเสนอประเด็นในช่วงของการเขียนบทดราฟต์แรก ซึ่งแมงก์ระหว่างที่ประสบอุบัติเหตุขาหักและต้องเข้าเฝือกอยู่ ถูกส่งไป “เก็บตัว” เขียนบทหนัง พร้อมพยาบาลและเลขาส่วนตัว เพื่อปั่นบทให้เสร็จในระยะเวลาจำกัดแค่สองเดือน ก่อนจะส่งให้แวลส์อ่าน

Mank เป็นบทหนังที่แจ็ก ฟินเชอร์ เขียนไว้ และอยากให้ลูกชาย คือ เดวิด ฟินเชอร์ กำกับ แต่เดวิดยังติดงานกำกับฯ ในมืออยู่มากมายหลายเรื่อง รวมทั้ง The Social Network และ Gone Girl กว่าจะได้มากำกับฯ เรื่องนี้ ก็หลังจากพ่อเขาเสียชีวิตไปแล้ว

ฝีมือการกำกับฯ ของเดวิด ฟินเชอร์ ยังแหลมคม แพรวพราย พร้อมไปด้วยวิสัยทัศน์ที่ชวนสะกิดใจ
เขาเลือกทำหนังเรื่องนี้เป็นหนังขาว-ดำ เพื่อให้ตรงกับยุคสมัย และสร้างแคแรกเตอร์ของแมงก์ นักเขียนที่ติดเหล้างอมแงม ที่ทำงานได้ดีภายใต้แรงกดดัน

หนังใช้แฟลชแบ็กเรื่องราวในอดีตของแมงก์ ที่ทำงานร่วมเขียนบทหนังเป็นทีมเป็นการระดมสมอง โดยปิดป้ายไว้หน้าห้อง ว่า “อัจฉริยะกำลังทำงาน ห้ามใครรบกวน”

รวมทั้งการได้เจอะเจอกับผู้อำนวยการสร้างชื่อดังในวงการ เช่น ลุยส์ บี. แมเยอร์ (เจ้าพ่อของ เอ็ม.จี. เอ็ม ซึ่งชอบพูดว่า MGM ไม่ได้มาจาก Metro Goldwin Mayer ตามที่ใครๆ เข้าใจกัน) เดวิด โอ. เซลส์นิก (ผู้อำนวยการสร้างของ Gone With the Wind และ Rebecca) และเออร์วิง จี. ธาลเบิร์ก (ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าทำได้ทุกอย่าง แม้แต่ให้คนเชื่อว่ามีสัตว์แบบคิงคองสูงเท่ากับตึกสิบชั้น หรือให้ใครๆ เชื่อว่าแมรี่ พิกฟอร์ด ในวัยสี่สิบยังเป็นสาวบริสุทธิ์อยู่ และมีรางวัลที่ระลึกในชื่อเออร์วิง จี. ธาลเบิร์ก มอบให้ทุกปีในการประกาศรางวัลออสการ์)

รวมทั้งการพบปะสมาคมกับแมเรียน เดวีส์ (อแมนดา เซย์ฟรีด) ดาราสาวที่เป็นเมียน้อยที่ออกนอกหน้าของวิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สต์ (ชาร์ลส์ แดนซ์)

และการเจอะเจอกับเฮิร์สต์ เจ้าพ่อสื่อตัวจริงเสียงจริง โดยเฉพาะในฉากงานเลี้ยงที่แขกในงานแต่งแฟนซีเหมือนอยู่ในละครสัตว์ มีแมงก์คนเดียวที่มางานโดยไม่ได้แต่งแฟนซีตามข้อกำหนดของเจ้าภาพ

ฉากนี้สำคัญนะคะ และสื่อความหมายได้แหลมคมมาก โดยเฉพาะในเรื่องคนเล่นออร์แกนที่บรรเลงให้ลิงเต้นไปตามจังหวะ และเป็นฉากที่มาก่อนฉากที่แมงก์ได้คุยกับออร์สัน โดยขอให้ใส่ชื่อเขาลงด้วยในฐานะผู้เขียนบทหนัง

ทั้งที่ตามสัญญาที่ทำกันก่อนหน้า เขาได้สละสิทธิ์ในการจะมีชื่อปรากฏในฐานะผู้เขียนบท

Mank เป็นหนังที่ต้องใช้ภูมิหลังของวงการภาพยนตร์พอควรจึงจะเข้าใจสายสนกลในและรู้ว่าใครเป็นใคร มีอยู่ฉากหนึ่งเป็นงานปาร์ตี้ที่มีชายหนุ่มหน้าตาดีนั่งเล่นเปียโน และพูดคุยถึงฮิตเลอร์ที่มีหนวดกระจุกเล็กๆ เหนือริมฝีปาก ไม่มีการเรียกชื่อเสียงเรียงนาม แต่ผู้เขียนดูแล้วเชื่อว่าเป็นชาร์ลี แชปลิน ที่มีภาพลักษณ์ของหนวดแบบฮิตเลอร์ เลยไปค้นรายชื่อนักแสดงดู เห็นชื่อ เจย์ วิลล์ค็อก เล่นเป็นซี.ซี. เลยค่อนข้างแน่ใจว่าเป็นตัวย่อของชื่อชาร์ลี แชปลิน

เป็นหนังที่ถ้าดูผ่านๆ อาจงงๆ และจับต้นชนปลายไม่ถูก ต้องดูอย่างตั้งใจและเก็บรายละเอียดนะคะ

ฝีมือกำกับฯ ของเดวิด ฟินเชอร์ ยังโดนใจอยู่ไม่เสื่อมคลาย รวมทั้งฝีมือการแสดงของแกรี่ โอลด์แมน ด้วยค่ะ