แมลงวันในไร่ส้ม/แฟลชม็อบยืดเยื้อ จาก 2563 สู่ 2564 สงคราม ‘ความคิด’

แมลงวันในไร่ส้ม

แฟลชม็อบยืดเยื้อ

จาก 2563 สู่ 2564

สงคราม ‘ความคิด’

 

การชุมนุม “แฟลชม็อบ” ของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่เริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ต้นปี 2563 หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ เดินทางมาถึงเดือนที่ 12 ของปี

ถือเป็นการชุมนุมของกลุ่มที่คิดต่างจากรัฐบาล ที่ “จุดติด” แต่ชะงักไป 2-3 เดือนเพราะ “โควิด-19” ระบาดหนักจากมีนาคม และเมื่อแผ่วลง การชุมนุมก็กลับมาอีกครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก

วงการสื่อพยายามวิเคราะห์การชุมนุมของม็อบซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร 2563” ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ราษฎร” ไปตามจุดยืนและแนวความคิดของแต่ละสื่อ

สื่อบางกลุ่มระบุว่า มีความเชื่อมโยงกับแกนนำพรรคอนาคตใหม่ และโหมโจมตีข้อเรียกร้องของกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบัน

มีการโจมตี ตั้งฉายาให้กับแกนนำ วิจารณ์การชุมนุมในเชิงต่อต้าน

แต่สื่ออีกไม่น้อย ติดตามเสนอข่าวไปตามเหตุการณ์

อย่างไรก็ตาม การเสนอข่าวในเชิงให้ร้ายหรือโจมตีโดยไม่มีมูลความจริง หรือใช้เฮตสปีชมากระหน่ำสร้างความเกลียดชังไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เหมือนเมื่อคราวที่ประเด็นเรื่อง “สี” ครองพื้นที่สื่อ

เพราะมีการตอบโต้จากผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร ซึ่งรวมตัวกันเหนียวแน่น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ และแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่าง “ทวิตเตอร์”

กลุ่มผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวใช้วิธีรวมตัวกัน “แบน” สินค้าต่างๆ ที่สนับสนุนสื่อที่มีแนวทางให้ร้ายผู้ชุมนุม

วิธีการแบนสินค้าหรือสปอนเซอร์ ที่จริงไม่ใช่วิธีการใหม่ เสื้อเหลืองและเสื้อแดงเคยใช้วิธีนี้มาแล้ว

แต่เข้าใจว่า พลังการบริโภคของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา น่าจะมีน้ำหนักมาก

เพราะสินค้าหลายตัวยอมถอนตัว เอาตัวเองออกห่างจากพื้นที่สู้รบ

การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมในรอบนี้จึงมีผลต่อสื่อต่างๆ โดยทั่วกัน

ทำให้ต้องปรับตัว ระมัดระวังการเสนอข่าว

ที่ชัดเจนและเป็นข่าวมาตลอด ได้แก่ กรณีของเนชั่น ที่มีการยกทีมออก นำโดยสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม

และอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าบริหารช่องนิว 18 ของเดลินิวส์

แต่ยังไม่ลงตัว

 

ปี2564 การชุมนุมของคณะราษฎรจะดำเนินต่อไป

แกนนำหลายคนถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาด้านความมั่นคง ซึ่งมีทั้งคดีเกี่ยวกับสถาบัน และคดีความมั่นคงของรัฐ ซึ่งทางรัฐเชื่อว่า วิธีนี้จะทำให้ผู้เคลื่อนไหวเกิดความหวาดกลัว อาจถอนตัวออกไป

ตำรวจได้เปิดเผยว่า ในระหว่างเดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนธันวาคม มีคดี 112 ถึง 16 คดีแล้ว

ที่น่าสนใจคือ บรรดาแกนนำที่เป็นเยาวชน คนหนุ่ม-คนสาว ต่างยืนยันว่าไม่ได้มีความหวาดกลัว

อย่างเพนกวิน หรือพริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวว่า ในอดีต มาตรา 112 ทำให้คนรู้สึกกลัวและไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ แต่ขณะนี้เขาและผู้ต้องหามาตรา 112 ได้ “ก้าวข้ามเส้นแห่งความกลัว” จึงพร้อมเดินหน้าเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้รวมทั้งการปฏิรูปสถาบัน และเชื่อว่ากฎหมายไหนที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมประชาธิปไตยจะถูกยกเลิกโดยมติมหาชนไปเอง

นายอานนท์ นำภา แกนนำคนหนึ่ง กล่าวหลังจากเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกพนักงานสอบสวน สน.บางโพ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา แยกเกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน โดยมีนายสมชาย อิสระ เป็นผู้กล่าวหา

ทนายอานนท์กล่าวว่า วันนี้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกมาตรา 112 ไม่ได้เตรียมพยานหลักฐานอะไรมาสู้คดี และไม่ได้กังวลหรือหนักใจ ขอยืนยันว่าแกนนำและผู้เข้าร่วมการชุมนุมยินดีเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย

การเคลื่อนไหวในปีหน้า จะเป็นปีที่มีการชุมนุมที่เข้มข้นขึ้นมากกว่านี้ ทั้งในส่วนเนื้อหาสาระ ทั้งสภาพจิตใจคน ด้านเศรษฐกิจและการเมือง จะมารวมกันในปีหน้าทั้งหมด และยืนยันว่าข้อเรียกร้องยังคงเป็น 3 ข้อเช่นเดิม การชุมนุมในปีนี้เป็นเพียงการโหมโรงเท่านั้น

นายอานนท์กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่านี่คือการต่อสู้ระยะยาว ที่จะเป็นการบ่มเพาะทางความคิดของคน ตนมองว่าคนรุ่นใหม่ไม่ใช่คนที่จะหักด้ามพร้าด้วยเข่า หรือเอาชนะในวันหรือสองวัน แต่นี่คือการต่อสู้ทางความคิด และจะนำไปสู่การเปลี่ยนทางสังคมต่อไป

พร้อมกับเปิดเผยว่า ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 แล้วจำนวน 4 หมายเรียก และเชื่อว่าจะยังมีหมายเรียกย้อนหลังเข้ามาอีกในทุกๆ ที่ที่มีการจัดการชุมนุม

 

ส่วนการรับมือของทางราชการ วิธีทำงานของฝ่ายความมั่นคง ยังชี้นำด้วยแนวคิดที่มองผู้ชุมนุมเป็น “ฝ่ายตรงข้าม”

แนวทางการรับมือหลักๆ คือ หาข่าวการเคลื่อนไหว ติดตามแกนนำ กดดันผ่านพ่อ-แม่และโรงเรียน ใช้กฎหมาย ที่มีกระบวนการสอบสวนดำเนินคดี และควบคุมตัว ส่งฟ้องศาล

ใช้การตอบโต้จากเครือข่ายทั้งหมดของรัฐบาล รวมถึง ส.ส.รัฐบาล, ส.ว. และกลไกข้าราชการ

เมื่อคณะราษฎรใช้โซเชียลมีเดียในการเคลื่อนไหว ทางราชการก็ใช้ปฏิบัติการข่าวสาร หรืออินฟอร์เมชั่น โอเปอเรชั่น หรือ IO โดยเฉพาะในทวิตเตอร์

ดังที่มีข่าวว่า ทางทวิตเตอร์ได้ปิดแอ็กเคาต์ผู้ใช้จำนวนมาก เพราะจับได้ว่าเป็นแอ็กเคาต์เพื่อสร้างกระแสทางการเมือง

ในปี 2564 แนวทางของผู้ชุมนุมคือการขยายฐานของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล หรือได้รับความเดือดร้อนจากการสืบทอดอำนาจ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ ในประเทศไทย

ดังที่ได้เห็นในปี 2563 ว่าการชุมนุมมีความพลิกแพลง มีการจัดม็อบเฟสต์ที่มีกิจกรรมหลากหลาย ไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องการเมือง เรื่องอำนาจทางการเมืองเท่านั้น แต่ขยายไปถึงกลุ่มต่างๆ อาทิ LGBT ที่มาเข้าร่วมตั้งแต่ต้นๆ กลุ่มคนพิการ และผู้ด้อยสิทธิทั้งหลาย

ประเด็นที่จะเกิดในปี 2564 อาจเป็นเรื่องการทวงถามความเป็นธรรมต่างๆ จากกลุ่มทุนใหญ่ต่างๆ

เพื่อใช้พลังที่จะเกิดขึ้น ไปเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย มีกฎกติกาที่ทันสมัยเป็นมาตรฐานเหมือนประเทศอื่นๆ

เป็นโจทย์ที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย