กาแฟดำ | เหมา-นิกสัน : จากการทูตลับสู่การทูตปิงปอง

สุทธิชัย หยุ่น

บันทึกประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญๆ ที่เป็นทางการย่อมสู้รายละเอียดจากตัวบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์จริงไม่ได้

สัปดาห์ก่อนผมเขียนถึงจุดเปลี่ยนผันเขย่าโลกเมื่อสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน กับประธานเหมาเจ๋อตุง ตัดสินใจจับมือกัน

สร้างความสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วโลก (รวมถึงไทยเราด้วย)

คนที่อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่แรกเริ่มและได้เขียนบันทึกไว้อย่างน่าสนใจคือ จี้ฉาวจู้ หรือ Ji Chaozhu (???)

แกเริ่มด้วยการทำหน้าที่เป็นล่ามส่วนตัวของประธานเหมาเจ๋อตุง, นายกฯ โจวเอินไหล และนายกฯ เติ้งเสี่ยวผิง

ต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำสหราชอาณาจักร

และก่อนเกษียณเป็นผู้ช่วยอาวุโสของเลขาธิการสหประชาชาติ

เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนเมษายนของปีนี้วัย 91

หนังสือชื่อ The Man on Mao”s Right (“ชายที่ประกบข้างขวาของเหมา) ของแกจารึกการติดต่อแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ฉากนี้เอาไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ตอนหนึ่งของบันทึกของจี้ฉาวจู้บอกว่า

“วันนั้น 10 พฤศจิกายน 1970 ผมกำลังทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับประธานาธิบดีปากีสถาน ท่านยาห์ยา ข่าน และนายกฯ โจวเอินไหล

“บรรยากาศการทำงานวันนั้นก็เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาคือมีเจ้าหน้าที่จดบันทึกการประชุมจากทั้งฝ่ายจีนและปากีสถาน

“หัวข้อสนทนาวันนั้นก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นมากนัก…

“แต่อยู่ดีๆ ท่านประธานาธิบดีปากีสถานเอ่ยขึ้นมาว่า ผมขอคุยเป็นการส่วนตัวกับท่านนายกรัฐมนตรี ขอให้มีล่ามคนเดียวก็พอ

“เป็นคำขอที่ค่อนข้างแปลก แต่ท่านนายกฯ โจวก็ตอบรับทันที พร้อมทั้งสั่งผมให้เดินตามท่านไป”

“พอประตูห้องปิด มีเราสามคนเท่านั้น ท่านประธานาธิบดีข่านก็เริ่มด้วยการเล่าว่าก่อนหน้านั้นไม่นานท่านได้ไปเยือนวอชิงตัน และได้พบกับท่านประธานาธิบดีนิกสัน ณ ห้องทำงานของท่านที่ทำเนียบขาว ท่านได้ขอให้ผมส่งต่อสารพิเศษมายังท่าน

“พอได้ยินอย่างนั้น ผมก็หัวใจเต้นแรงทันที นี่หมายความว่าประธานาธิบดีสหรัฐมีสารพิเศษถึงนายกรัฐมนตรีจีนกระนั้นหรือ ถ้าจริงนี่คือครั้งแรกที่มีเรื่องเช่นนี้เลยทีเดียว

“ท่านประธานาธิบดีข่านบอกต่อว่าประธานาธิบดีนิกสันได้ฝากผมให้แจ้งกับท่านว่าท่านเห็นว่าการฟื้นคืนดีกันระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น

“และท่านนิกสันยังบอกด้วยว่าสหรัฐจะไม่เข้าร่วมพันธมิตรใดที่ต่อต้านจีน

“ท่านนิกสันบอกด้วยว่าท่านพร้อมจะส่งทูตระดับสูงไปเยือนปักกิ่งผ่านช่องทางลับเพื่อเริ่มต้นเจรจาประเด็นที่ยังค้างคาระหว่างสองประเทศ และเพื่อในท้ายที่สุดเดินหน้าสู่การสร้างมิตรภาพกับประเทศจีน…”

“ท่านนายกฯ โจวยังมีท่าทีสงบนิ่ง ไม่ได้แสดงอาการไปทางใดทางหนึ่ง ผมก็ไม่รู้ว่าท่านทำได้อย่างไร เพราะสำหรับเราทั้งสอง นี่คือความฝันที่กำลังจะกลายเป็นความจริง

“สำหรับผม นี่เป็นความรู้สึกส่วนตัว และผมรู้ว่าในความเห็นของท่านนายกฯโจวนั้น ท่านเชื่อเสมอว่าจีนกับสหรัฐควรจะเป็นพันธมิตรกันตั้งแต่ต้น และแล้ว…ดูเหมือนว่ามันกำลังจะกลายเป็นความจริงในที่สุด”

จี้ฉาวจู้เขียนในหนังสือเล่มนี้ว่าก่อนที่จะมีกรณีประธานาธิบดีของปากีสถานแจ้งสารพิเศษจากนิกสันถึงโจวเอินไหลนั้น เขาได้สังเกตว่าในงานวันชาติจีน 1 ตุลาคมปีก่อนหน้านั้น ประธานเหมาและนายกฯ โจวได้ต้อนรับ Edgar Snow ไปยืนเคียงข้างผู้นำจีนที่ประตูแห่งสันติภาพสวรรค์กลางกรุงปักกิ่ง

จี้ฉาวจู้ตั้งข้อสังเกตว่า Edgar Snow เป็นนักข่าวอเมริกันที่เหมาและโจวให้ความไว้วางใจมาก

เคยให้สัมภาษณ์พิเศษตั้งแต่อยู่ในป่าเพื่อให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่าง “การเดินทางไกล” หรือ The Long March แล้ว

วันรุ่งขึ้นภาพหน้าหนึ่งของสื่อจีนคือเหมายืนเคียงข้าง Edgar Snow เหนือประตูเทียนอันเหมินโดยมีจี้ฉาวจู้ยืนเป็นล่ามอยู่ตรงกลาง

ความหมายพิเศษของภาพนั้นคือการมีคนที่ไม่ใช่ระดับผู้นำจีนมายืนตระหง่านอยู่ตรงนั้น

และในกรณีนี้เป็นนักข่าวอเมริกันเสียด้วย!

แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่ผู้นำจีนทำแล้วไม่มีจุดประสงค์ทางการเมือง

สารที่เหมาต้องการจะส่งออกไปทั่วโลกด้วยภาพนั้นคือจีนมีความสนใจจะพูดจาสร้างสัมพันธ์กับสหรัฐ

แต่ผู้นำสหรัฐจับสัญญาณนั้นไม่ได้

คิสซิงเจอร์เคยกล่าวทีเล่นทีจริงว่า

“ความคิดแบบหยาบๆ ของชาวตะวันตกอย่างพวกเราจับสัญญาณนี้ไม่ได้เลย….”

ภาพนั้นถูกตีพิมพ์ไปทั่วโลก จี้ฉาวจู้บอกว่าแกก็เลยกลายเป็นคนดังไปทั่ว

ความที่แกโตและเรียนหนังสือที่อเมริกา จี้ฉาวจู้บอกว่าเพื่อนๆ ที่อเมริกาต่างเห็นรูปในสื่อหนังสือพิมพ์แล้วก็ตื่นเต้นเป็นการใหญ่

เพราะเพื่อนๆ อเมริกันมักจะแซวว่าแกคือ “เจ้าคอมมิวนิสต์ที่มีฟันตลกๆ ที่กลับไปเมืองจีนแล้ว”

ต่อมาเหมาได้บอกกับ Edgar Snow ว่าจีนพร้อมจะต้อนรับประธานาธิบดีนิกสันไปเยือนจีน ไม่ว่าจะในฐานะนักท่องเที่ยวหรือประธานาธิบดีจากอเมริกา

ผ่านไปอีกเป็นปี จีนจึงได้รับสารพิเศษจากนิกสันผ่านประธานาธิบดีปากีสถาน

หลังจากการปิดห้องคุยกันวันนั้น ผ่านมาประมาณเดือนเศษๆ นายกฯ โจวก็ส่งสารกลับไปยังประธานาธิบดีนิกสันว่าจีนมีความยินดีและพร้อมที่จะเจรจาหาทางสร้างสัมพันธ์อย่างสันติ

นายกฯ โจวแจ้งกลับไปที่นิกสันว่าจีนยินดีที่จะต้อนรับ “ทูตพิเศษ” มาเริ่มต้นกระบวนการพูดจาที่ปักกิ่ง

นายกฯ โจวบอกกับนิกสันว่าแม้จีนจะได้รับสัญญาณต่างๆ ในทำนองนี้จากหลายแหล่งแต่การบอกผ่านประธานาธิบดีปากีสถานครั้งนี้จีนถือว่ามีความสำคัญและเป็นสาระที่น่าเชื่อถือที่สุด

เพราะเป็นสารพิเศษ “จากเบอร์หนึ่งผ่านเบอร์หนึ่งถึงเบอร์หนึ่ง”

ประวัติศาสตร์บทใหม่ก็ถูกบันทึกต่อมาในฤดูใบไม้ผลิของปี 1971 ณ เวทีการแข่งขันปิงปองนานาชาติที่ญี่ปุ่น

ปีนั้นถือเป็นครั้งแรกที่จีนส่งทีมกีฬาไปต่างประเทศ

นักปิงปองอเมริกันคนหนึ่งเปรยกับมือปิงปองของจีนว่า “ผมอยากไปเที่ยวปักกิ่ง”

นายกฯ โจวได้รับรายงานนั้น ก็แจ้งประธานเหมาทันที

ตอนแรกประธานเหมาไม่ค่อยแน่ใจนักว่าควรจะเปิดทางให้นักกีฬาอเมริกันมาปักกิ่งหรือไม่

แต่ต่อมาก็เปลี่ยนใจ มีคำสั่งถึงกระทรวงต่างประเทศจีนให้เชิญทีมนักกีฬาอเมริกันมาเยือนจีน

จีนปูพรมแดงต้อนรับทีมปิงปองอเมริกันนั้นกันเลยทีเดียว

เป็นข่าวดังไปทั่วโลก พร้อมกับพาดหัวสื่อว่า

จุดเริ่มต้นของคำว่า Ping-Pong Diplomacy (การทูตปิงปอง)

ที่สร้างความฮือฮาไม่น้อยก็เพราะนายกฯ โจวเป็นคนไปต้อนรับทีมนักกีฬาปิงปองจากสหรัฐเอง

โดยจัดงานที่หอประชุมใหญ่แห่งประชาชนอันเกรียงไกรเสียด้วย

นายกฯ โจวบอกกับนักกีฬาอเมริกันชุดแรกนั้นว่า “ผมมั่นใจว่านี่เป็นการเปิดศักราชใหม่ของมิตรภาพระหว่างเราสองประเทศซึ่งผมก็เชื่อว่าเราจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ของสองประเทศเรา”

นักกีฬาอเมริกันทั้งหมดนั่งฟังอย่างเงียบงันด้วยท่าทีเคารพสงบนิ่ง

คงไม่รู้ว่าควรจะแสดงออกด้วยปฏิกิริยาอย่างไร

นายกฯ โจวกวาดสายตาไปยังหนุ่มสาวอเมริกันคณะนั้นด้วยความหวัง และถามว่า

“ท่านเห็นด้วยกับเรา…มิใช่หรือ?”

พลันก็มีเสียงปรบมือกันกึกก้องดังสนั่นไปทั่วห้องประชุมยักษ์กลางกรุงปักกิ่งแห่งนั้น

ฉากใหม่ของการเมืองระดับโลกได้เริ่มขึ้นแล้ว!