คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : จีวร เครื่องแบบ ชุดนักเรียน และผ้าเหลืองน้อยห้อยหู

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ประตูหน้าภาควิชาปรัชญา สถานที่ทำงานของผมมีโปสเตอร์แผ่นใหญ่ติดอยู่ เนื้อความเป็นกลอนที่แต่งโดยอาจารย์ธีรศักดิ์ โอภาสบุตร อาจารย์อาวุโสของภาควิชาฯ ชื่อกลอนว่า “philosophy”s philosophy” ขออัญเชิญมาทั้งบท ดังนี้

“ความสุภาพเรียบร้อยใดใครกำหนด

สร้างเป็นกฎสากลบนแดนสรวง

ใช้กำกับบังคับคนทั้งปวง

จริงหรือลวงอย่างไรสงสัยจัง

นักศึกษาผู้ใดใคร่มาหา

จงก้าวมาอย่างเสรีมีความหวัง

กูจะรับกูจะรู้กูจะฟัง

หยุดพะวังเลิกพะวงตรงแต่งตัว”

จากกลอนก็คงเห็นว่า พวกเราไม่เคยสนใจว่าใครจะใส่อะไรมาเรียน เอาเป็นว่าขอให้ใส่เสื้อผ้ามาแล้วกัน ส่วนการ “เคารพ” ต่อห้องเรียนสำหรับพวกเราอาจารย์นั้นคือ พึงตั้งใจเรียน ใช้สติปัญญาให้เต็มที่ สนใจประเด็นชวนสนทนาถกเถียงหรือชวนคิดในห้อง อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยไม่รบกวนคนอื่น เช่น ไม่คุยกันเสียงดัง

ถ้าผมจำไม่ผิด อินเดียมีสุภาษิตว่า สาระที่แท้จริงคือการแยกสิ่งที่มีสาระออกจากสิ่งที่ไม่มีสาระเสียได้ อะไรทำนองนี้

ผมคิดว่า นี่คงเป็นความพยายามจะแยกสิ่งมีสาระออกจากสิ่งไม่มีสาระกระมัง

 

ช่วงนี้การเรียกร้องเรื่องให้ยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษาเป็นประเด็นที่พูดถึงกันโดยทั่วไป

ต้องชัดเจนนะครับว่า กลุ่มที่เขาเรียกร้องไม่ได้ให้ “ยกเลิก” แต่ให้ “เลิกบังคับ” คือใครใคร่ใส่ก็ใส่ ไม่ใส่ก็ไม่ใส่ หรือหาข้อตกลงที่ลงตัว เอาแค่นี้ให้เข้าใจตรงกันก่อน ไม่งั้นไปเถียงน้องๆ โดยไม่เข้าใจข้อเสนอของเขาจะโดนถอนหงอกเสียเปล่าๆ

ที่จริงประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อโต้แย้งต่อเรื่องไม่บังคับเครื่องแบบ มีผู้กล่าวไว้มากแล้ว อาทิ เรื่องระเบียบวินัย ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่ามันไม่ได้นำไปสู่อะไร เพราะเราก็ใส่เครื่องแบบกันมาจะร้อยปีแล้วก็ยังไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น หรือเรื่องอำนาจนิยมและอะไรอื่น

ข้ออ้างอันหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข้ออ้างเรื่องการ “เคารพสถานที่” กับเครื่องแบบที่มีความ “ศักดิ์สิทธิ์” เพราะไม่ว่าจะรับพระราชทานมาหรือมีสัญลักษณ์อะไรอื่นอยู่บนเครื่องแบบก็ตามแต่

ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นวิธีคิดแบบเดียวกับศาสนาเลยครับ ซึ่งชวนให้ผมนึกไปถึงเรื่องคำพยากรณ์ผ้าเหลืองห้อยหู ใน “ปัญจอันตรธาน” คิดว่าเชื่อมโยงกับประเด็นเหล่านี้ได้ อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นวิธีคิดบางอย่าง

จึงขอนำมาชวนคุยกันในวันนี้

 

จีวรนั้นเป็นเครื่องแบบหรือไม่ ผมคิดว่าโดยเจตนารมณ์ดั้งเดิมและในสมัยพุทธกาลไม่น่าจะใช่ เพราะมันเป็นเศษผ้าที่เขาทิ้งแล้ว หาได้ตามกองขยะและซากผี เศษผ้าเหล่านั้นคงจะมีสีสัน ลวดลาย และการตัดเย็บต่างกันมากทีเดียว (ถ้าคิดว่าหนึ่งในนิยามของเครื่องแบบ คือความเหมือนกัน นี่ก็น่าจะไม่ใช่พระสมัยนั้นคงเอาไปคลุกๆ กับดินพอให้มันกลายเป็นผ้าสีตุ่นๆ ให้เหมาะแก่การครองของนักบวช แล้วก็ใช้สวมใส่

ดังนั้น หากให้ผมจินตนาการ ก่อนจะมีการถวาย “คหปติจีวร” อย่างแพร่หลาย (ถ้ากำหนดไว้ในสมัยพุทธกาล) หรือเอาให้ชัดคือก่อนมีอำนาจรวมศูนย์ของคณะสงฆ์ พระในสมัยพุทธกาลคงครองผ้าที่ต่างๆ กันไป แต่ดูคล้ายๆ กันอยู่บ้าง คือเหมือนพวกขอทานหรือคนเร่ร่อน

พูดง่ายๆ ว่า ที่จริงจีวรคือเครื่องแต่งกายที่เกิดขึ้นจากการสละ “เครื่องแบบ” เดิมที่บ่งบอกสถานภาพทางสังคมของตัวเองนั่นแหละครับ จากคนมีเครื่องแบบ ไม่ว่าพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ (ซึ่งสวมยัชโญปวีต นุ่งผ้ากรอมเท้าและมีเครื่องประดับต่างๆ กัน) ศูทร (ไม่สวมยัชโญปวีต และนุ่งสั้น) มาสู่การนุ่งสิ่งไร้สถานภาพ หรือสถานภาพต่ำมากๆ ในสังคมนั้น

ต่อมาพระพุทธะได้ให้พระอานนท์ออกแบบจีวรตามคันนา มีรายละเอียดเพิ่มเติมให้คล้ายๆ กัน คงเพราะเริ่มมีพระที่อยากแต่งจีวรให้สวยๆ เก๋ๆ (มีเรื่องเล่าในพระวินัย) แต่กระนั้นรูปแบบและสีสันของจีวรก็ยังกำหนดไว้เพียงหลวมๆ

ผมขอสรุปว่า ในสมัยพุทธกาล จีวรยังไม่ศักดิ์สิทธิ์ ยังหลายหลาก และยังไม่ได้เป็น “เครื่องแบบ” ที่ชัดเจน

 

ต่อมาจีวรค่อยๆ ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในทางวัฒนธรรม เมื่อพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาสำคัญทั้งในอินเดีย ลังกา และส่งมายังอุษาคเนย์ ไม่เพียงเพราะถือกันว่าจีวรเป็น “ธงชัยของพระอรหันต์” (คำนี้น่าจะมีที่มาจากชาดก) แต่ผมคิดว่าที่จริงก็เพราะจีวรสามารถเปลี่ยนสถานะบุคคลได้ คือจากนายมานายมี กลายเป็นพระมาพระมีที่เราต้องกราบไหว้

ของที่ทำให้เราเปลี่ยนสถานภาพได้ย่อมต้องศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองใช่ไหมล่ะครับ

ดังนั้น ในบ้านเราถึงวางจีวรบนพานแว่นฟ้าเลยทีเดียว และยังมีตำนานนิทานอีกมากที่บอกถึงพลังศักดิ์สิทธิ์ของจีวร เช่น สุบินกลอนสวดที่ชายจีวรของเณรลูกชายช่วยแม่ให้พ้นนรกได้ทั้งๆ ที่ทำบาปมามาก

ที่จริงทุกศาสนาต่างก็ใช้ “เครื่องแต่งกาย” ของนักบวช เพื่อบอกกับชุมชนทางศาสนาว่า ตนเองคือใคร

ในขณะเดียวกันพลังของเครื่องแต่งกายนั้นก็ได้เปลี่ยนมโนสำนึกของผู้สวมใส่ด้วย เป็นการบอกว่าตนเองนั้น “ศักดิ์สิทธิ์” หรือตัวตนได้เปลี่ยนไป แล้วเมื่อได้สวมใส่อะไรบางอย่าง เช่น ในพิธีราชาภิเษก สังฆราชาภิเษก เถราภิเษก สันตะปาปาภิเษก ฯลฯ เขาถึงมีขั้นตอนของพิธีที่ต้องมีการสวมมงกุฎ หรือสวมอะไรบางอย่างใหม่ทั้งนั้น

มโนสำนึกที่มีต่อตนเองนี่สำคัญมากนะครับ เพราะสถานภาพหรือตัวตนใหม่มันเกิดจากสิ่งนี้แหละ เราก็เราคนเดิม ร่างกายก็อันเดิม มีแต่สำนึกของเราที่เปลี่ยนไป เราจึงกลายเป็น “คนอื่น” ในตัวเองอีกที ซึ่งคนอื่นในตัวเองนี่จะเป็นตัวจริงของเราหรือไม่คงต้องถามกันต่อ

สถานะนักบวช มันแรงมากในบรรดา “ความเป็น” ทั้งหลาย เพราะมันเรียกร้องให้เราทิ้งตัวตนเดิมทั้งหมด มันถึงต้องอาศัย “อุบาย” จำนวนมาก ทั้งพิธีกรรม การเปลี่ยนชื่อ รวมทั้งการสวมใส่เครื่องแต่งตัวใหม่ด้วย

 

พอพูดถึงตรงนี้ ทำให้ผมนึกถึงตำนาน “ปัญจอันตรธาน” ซึ่งปรากฏครั้งแรกใน “มโนรถปูรนี” แต่งโดยพระพุทธโฆสาจารย์ในลังกา (ผมเคยอ่านพบในปฐมสมโพธิกถาด้วย) ว่าอายุพระศาสนาของพระสมณโคดมจะอยู่เพียงห้าพันปีก็เสื่อมสูญ แต่ระหว่างห้าพันปีนั้น จะปรากฏความเสื่อมห้าอย่าง คือ ปฏิเวธอันตรธาน อรหันตผลหมดไป, ปฏิบัติอันตรธาน พระวินัยหายไป, ปริยัติอันตรธาน ไม่เหลือคำสอน, ลิงคอันตรธาน พระภิกษุสามเณรหมดไป (ลิงคะ แปลว่า สัญลักษณ์) และธาตุอันตรธาน คือ พระสารีริกธาตุนิพพานหายไป

ตรงลิงคอันตรธานนี่น่าสนใจมาก เพราะเริ่มจากพระคลายความเพียรแต่ยังรักษาศีลดีอยู่

ต่อมาก็ไม่ได้ถือพระวินัยใดๆ แม้จนมีลูกเมียก็ยังไม่ถือว่าพระภิกษุสูญหรือเกิดอันตรธานตราบใดที่ยังสวมใส่จีวร

แม้จนที่สุด มีจีวรผ้าเหลืองน้อยห้อยหูหรือเอาเศษจีวรมาผูกแขน ก็ยังชื่อว่ายังมีพระภิกษุ

ครั้นเมื่อโยนจีวรน้อยทิ้งแล้ว จึงได้ชื่อว่าพระภิกษุสามเณรสิ้นสูญ เกิดลิงคอันตรธานโดยสมบูรณ์

 

น่าสนใจมากนะครับที่ในนิทานปัญจอันตรธาน ความเป็นพระไปผูกโยงกับเครื่องแต่งกายเป็นสำคัญ

กระนั้นผมและผู้อ่านหลายท่านคงยังคิดว่า ที่จริงความเป็นพระเป็นเรื่อง “มโนสำนึก” มากกว่าอะไรข้างนอกอยู่ดี เพียงแต่ตำนานนี้คงสะท้อน “มาตรวัด” ในทางรูปธรรมที่ต้องการความชัดเจน ภายใต้วัฒนธรรมพุทธเข้มข้นอย่างลังกา ที่พุทธศาสนาไปผูกโยงกับพระมหากษัตริย์และวัฒนธรรมภายนอกอื่นๆ ของลังกาทั้งหมด ความเสื่อมจึงเป็นความเสื่อมที่เห็นได้ชัดๆ มากกว่าอะไรอื่น

เครื่องแบบจึงเป็นเรื่องอำนาจของการกำหนดนิยามความหมาย มันจึงสามารถ “กดทับ” ให้คนสยบยอมอยู่ในอำนาจหรือเป็นไปตามนิยามที่กำหนดไว้ก็ได้ คือตอกย้ำว่ามึงเป็นใครและต้องสัมพันธ์กับกูยังไง หรือจะปลดปล่อยให้เป็นอิสระก็ได้

ดังนั้น เมื่อมีคนไม่ยอมถูกบังคับใส่เครื่องแบบหรือตัดผมในระเบียบ จึงมีคนเห็นว่าเป็น “ความเสื่อม” ไงล่ะครับ เพราะเขาไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของการนิยามความดีและความเรียบร้อยเดิมๆ

แต่นักเรียน-นักศึกษาไม่ใช่พระ เขาควรได้เรียนรู้เสรีภาพและความเท่าเทียม ซึ่งเป็นคุณค่าอย่างใหม่ที่เขาควรสวมใส่ ไม่ใช่ความรักในสถาบันของตัว

ไม่ใช่ความภูมิใจแค่ในหมู่พวกพ้อง หรือ ความเป็นระเบียบวินัยที่อ้างๆ กัน

 

แม้แต่พระก็เถอะ เครื่องแบบหรือจีวรไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้เหมือนๆ กันมาตั้งแต่แรก ที่พูดดังนี้ไม่ได้จะยุพระให้เลิกสวมจีวรหรือใส่จีวรลวดลายแปลกๆ นะครับ เพราะผมเห็นว่า ตราบใดที่จีวรยังทำหน้าที่ของมัน คือทำให้พระได้ตระหนักในมโนสำนึกของตนเองว่าเรากำลังสวมใส่ผ้าไร้ค่า เพราะเราเป็นผู้สละโลก พระก็ควรยังคงสวมจีวรอยู่

ทว่าปัจจุบัน จีวรหรือ “เครื่องแบบ” ของพระ ยังได้ทำหน้าที่เช่นนั้นอยู่ไหม ผมเห็นมีจีวรแพรสวยๆ แพงๆ ไว้ใส่ออกงานอวดกัน พอมีงานพระราชพิธีก็ต้องใส่สีพระราชนิยมเหมือนๆ กันยังกะข้าราชการ

มิไยต้องพูดถึงอาชีพที่มักอวดเครื่องแบบกันนักหนาอีกหลายอาชีพ เช่น ทหาร ตำรวจ ว่าเครื่องแบบเหล่านั้นได้ช่วยให้ตระหนักในมโนสำนึกถึงหน้าที่ที่พึงทำของตัวเองไหม

ถ้านึกไม่ได้ก็อย่าใส่เครื่องแบบไปไหนมาไหนเลย

ถ้าไม่อายเขา ก็อายตัวเองบ้าง