ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 18-24 ธันวาคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

“ไม่อยากให้คนชั่วได้ดี

คนอัปรีย์ครองเมือง”

อย่างไปรษณียบัตรของผู้ใช้นาม “ประชาชน” ว่าไว้

ประชาชน “เจ้าของสิทธิ” (ยกเว้นคน กทม.) คงต้องไปแสดงพลังกันอีกครั้ง ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้

เพื่อเลือกนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

หลังว่างเว้นมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2557

สิทธิที่ได้กลับมานี้

ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยอีกสักตั้งเถิดน่า

 

เอาให้คึกคัก อย่างที่ อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

เขียนรายงานพิเศษ (หน้า 30) ถึงบรรยากาศเลือกตั้ง จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาให้คนนอกพื้นที่ได้รับทราบ

นั่นคือ แม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จะอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ

ไม่ได้มีสิทธิหรือเสรีภาพอย่างที่อื่น

ด้วยเพราะอยู่ท่ามกลางไฟใต้กว่า 16 ปี

แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีการตื่นตัว และแข่งขันทางการเมืองกันอย่างเข้มข้น

 

นอกจากแข่งขันหาเสียงด้านนโยบายแล้ว

มีประเด็นการตีความเรื่อง “เงิน” ด้วย

“เงิน” อันถือเป็นปัจจัยหลักในการหาเสียง

ในพื้นที่มีการแลกเปลี่ยน ถกเถียง โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับเรื่องเงินนี้อย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน

โดยอุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) บอกว่า มีการแจกเงินแจกผ่านผู้นำ (บางคนเท่านั้น) เพื่อกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย

ด้วยการตีความอย่างยืดหยุ่น ผ่อนคลาย

ว่า เงินนักการเมืองให้ไม่บาป

หากเงินนั้นไม่ใช่เงินสินบน หรือริชวะห์

แต่เป็นเงินที่เรียกว่า ฮาดียะห์ หรือฮิบะห์ หรือศอดาเกาะ หรือดือเกาะฮฺ

 

ฮิบะห์เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า “การยกให้”

หมายถึงการมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในขณะที่ผู้มอบยังมีชีวิตอยู่ให้แก่ผู้อื่นโดยไม่มีสิ่งแลกเปลี่ยน

เช่นเดียวกับฮาดียะห์

ที่เป็นภาษาอาหรับ หมายถึงการมอบสินน้ำใจหรือของขวัญ

ในหลักการศาสนามีวัจนะมากมายสนับสนุน เช่น

การมอบสินน้ำใจให้แก่ผู้อื่นจะทำให้ความเป็นศัตรูหายไป (ฮะดีษติรฺมีซี และอะฮฺหมัด)

การมอบของขวัญซึ่งกันและกันจะทำให้ความรักใคร่เพิ่มพูนขึ้น (ฮะดีษฏ็อบรอนี)

เป็นต้น

กระนั้น ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการตีความอย่างยืดหยุ่นดังกล่าว

จนมีการล้อกันว่า “เงินซื้อเสียง” ฟังแล้วเหมือนขัดกับหลักศาสนา

แต่พอเรียก “เงินดือเกาะฮฺ (บริจาค) ฟังแล้วดูหล่อหน่อย”

อย่างไรก็ตาม ก็มีการตั้งคำถามว่า

“หากเงินซื้อเสียงกลายเป็นทั้งเงินบริจาค และเป็นการเสียสละ เพื่อทำบาปเล็กๆ ด้วยแล้ว เราจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นรากฐานของการเมืองที่เห็นหัวผู้คนธรรมดาสามัญได้อย่างไร?”

ถือเป็นประเด็นอันน่าสนใจ ที่อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) หยิบมารายงานถึงบรรยากาศ “ตื่นตัว” ทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ซึ่งการตื่นตัวนี้

ไม่อยากให้เกิดเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่อยากให้เกิดทั่วประเทศ

เพื่อที่จะเป็นดัชนีชี้วัดว่า สังคมไทยโหยหา “ประชาธิปไตย” มากเพียงใด

และใช้ความโหยหานี้กดดันกลับไปยังฝ่ายที่กุมอำนาจ

ให้ต้องรีบคืนอำนาจกลับมายังประชาชนอย่างสมบูรณ์ ในทุกรูปแบบ โดยเร็ว