สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/รากไม้ สมุนไพรในพระไตรปิฎก

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

รากไม้ สมุนไพรในพระไตรปิฎก

 

ในพระไตรปิฎกได้บันทึกเหตุการณ์สมัยพุทธกาลไว้ว่า เมื่อพระภิกษุเกิดอาพาธ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรากไม้ที่เป็นยา คือ ขมิ้น ขิงสด ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิต ข่า แฝก แห้วหมู หรือรากไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”

จากบันทึกได้เอ่ยชื่อสมุนไพรไว้ 8 ชนิดเป็นหลัก อาจแสดงให้เห็นว่าเป็นยาสมุนไพรที่ใช้บ่อยและน่าเป็นตัวยาหลักในการรักษาอาการต่างๆ ได้ดีในหมู่พระภิกษุในสมัยนั้น

แต่ในบันทึกไม่ได้บอกว่ามีการใช้เป็นตำรับหรือยาเดี่ยว

คราวนี้จึงขอถอดรหัสความรู้โดยนำมาเชื่อมโยงกับผลการใช้สมุนไพรในยุคปัจจุบัน

ขมิ้น คนทั่วไปอาจสงสัยคำว่าขมิ้น หมายถึง ขมิ้นชัน หรือ ขมิ้นอ้อย หรือหมายถึงทั้ง 2 ชนิด เพราะในการใช้บางที่ก็นำมาแทนกัน

แต่ถ้าเจาะลึกถึงวิธีใช้อย่างละเอียดจะพบว่า มีการใช้ขมิ้นทั้ง 2 ชนิดแตกต่างกัน

ขมิ้นชัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa L. เนื้อในของเหง้าจะเป็นสีเหลืองเข้มจนถึงสีแสดจัด ซึ่งเป็นที่มาในภาษาอังกฤษเรียกว่า “ขมิ้นเหลือง” (Yellow turmeric) และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

เหง้าที่เก็บมาต้องมีอายุอย่างน้อย 9-12 เดือน และต้องไม่เก็บไว้นานเกินไป ไม่ให้ถูกแสงแดด เพราะจะทำให้น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นสูญหายไปเสียก่อน

ขมิ้นมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยในการชะลอวัยและชะลอการเกิดริ้วรอย ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร ช่วยในการขับลม แก้ผื่นคัน และมีสรรพคุณอีกมากมาย

ส่วน ขมิ้นอ้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “ขมิ้นขาว” (White turmeric)

ขมิ้นอ้อยหรือขมิ้นขาวต่างจากขมิ้นชันหรือขมิ้นเหลืองตรงที่มีสารเคอคิวมิน (Curcumin) น้อยกว่า จึงทำให้เหง้ามีสีซีดกว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ขมิ้นชันมีสารเคอคิวมิน (curcumin) เป็นสาระสำคัญที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคต่างๆ

ส่วนขมิ้นอ้อยมีน้ำมันหอมระเหย (essential oils) ที่เป็นสาระสำคัญในการรักษาโรค จึงมีความต่างกัน

ในทางปฏิบัตินิยมใช้ขมิ้นชันประกอบอาหารและเป็นยามากกว่าขมิ้นอ้อย แต่ก็พบว่ามีการใช้ขมิ้นอ้อยเกี่ยวกับการรักษาอาการผิดปกติของกระเพาะได้ ลดอาการไอ เป็นหวัดและลดไข้ ลดอาการปวดประจำเดือน ลดอาการตกขาว ลดอาการแพ้ต่างๆ เช่นกัน

ขณะนี้มีรายงานว่าทั้งขมิ้นชันและขมิ้นอ้อยมีสรรพคุณใกล้เคียงกันจากการศึกษาปฏิกิริยาในการต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant activity) พบว่า ขมิ้นชันมี 76% ในขณะที่ขมิ้นอ้อยมี 63%

และการศึกษาการต้านแบคทีเรีย พบว่าขมิ้นชันมีคุณสมบัติที่ดีกว่าขมิ้นอ้อย แต่ไม่มาก

โบราณในสมัยพุทธกาลคงน่าจะใช้ทั้งขมิ้นชันและขมิ้นอ้อยบำบัดเยียวยาโรคภัยต่างๆ

ขิง ในบันทึกระบุว่าขิงสด ขิงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale Roscoe จัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะที่ดีมาก ในตำรายาไทยใช้เหง้า รักษาอาการท้องอืด เฟ้อ เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดเกร็งช่องท้อง แก้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร รักษาอาการหวัด รักษาอาการปวดศีรษะเนื่องจากไมเกรน และรักษาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ บำรุงธาตุไฟ ฆ่าพยาธิ

ขิงสด มีการกล่าวไว้ว่า ใช้แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ผายลมและเรอ แก้อาเจียน ยาขมเจริญอาหาร ขับน้ำดีช่วยย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก ลดความดัน ในตำรับยาบางตำรับ แต่ในสรรพคุณโบราณก็มีการใช้ขิงแห้ง แก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้หอบ แก้ลม แก้จุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน อาเจียน

สำหรับคำว่าขิงแห้งนั้น ยังมีข้อถกเถียงกันทางวิชาการออกเป็น 2 แนวทาง คือ หมอยาไทยรุ่นใหม่หลายท่านเห็นว่า ขิงแห้ง คือ ขิงสดที่นำมาตากให้แห้งแล้วนำมาใช้ในตำรับต่างๆ

ในขณะที่หมอไทยรุ่นเก่าและหมอพื้นบ้านมีความเห็นว่า ขิงแห้งเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ต่างจากขิง

ขิงแห้งที่หมอพื้นบ้านใช้กันอยู่มี 2 ชนิด คือ Zingiber mekongense Gagnep. ชื่อในภาษาไทยคือ ไพลดำ

ส่วนอีกชนิดหนึ่งที่เป็นรายงานจากกรมป่าไม้คือ Zingiber ligulatum Roxb. ซึ่งเข้าใจว่าไม่พบในป่าธรรมชาติของประเทศไทย แต่มีการนำเข้าจากต่างประเทศแล้วนำมาปลูกในประเทศไทย

และจากเอกสารของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้รายงานไว้ว่าในตำรายาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท กล่าวไว้ถึงขิงแห้งว่าอยู่ในสกุล Hedychiumsp. เรื่อง ขิงแห้ง จึงยังเป็นประเด็นทางวิชาการที่ต้องศึกษาให้กระจ่างเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แต่สำหรับขิงที่เราคุ้นเคยนี้ ใช้เลยไม่ต้องรีรอเพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีประโยชน์มากมาย ยิ่งมีการศึกษาวิจัยใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่า ขิงเป็นสมุนไพรที่มีการใช้กันทั่วโลก ปลูกง่าย ใช้ง่าย ถือเป็นยาประจำบ้านชนิดหนึ่งเลย

จากสมุนไพร 8 ชนิด นำเสนอได้เพียง 2 ชนิด

ขอยกยอดที่เหลือไปในฉบับหน้า

แต่ขอยืนยันไว้ก่อนว่า ภูมิปัญญาสมัยพุทธกาลนั้นลึกซึ้งยิ่งนัก

สมุนไพรที่พระพุทธเจ้าเอ่ยนามอนุญาตนั้น ถือว่าเป็นยอดยาสามัญประจำบ้าน หรือเป็นยาที่ดีสำหรับการดูแลสุขภาพที่เข้าถึงภิกษุ ภิกษุณี และประชาชนทั่วไปอย่างยิ่ง

ฉบับหน้าอีก 6 ชนิดจะแสดงให้เห็นว่า สมุนไพรเหล่านี้ครอบคลุมอาการและโรคพื้นฐานตั้งแต่ 2,500 ปีก่อนจนถึงปัจจุบันเลย