โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ/เหรียญหลวงพ่อจาด 2495 แจกที่ระลึกคณะกรรมการ วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี

หลวงพ่อจาด คังคสโร

โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ [email protected]

เหรียญหลวงพ่อจาด 2495

แจกที่ระลึกคณะกรรมการ

วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี

 

ย้อนไปในยุคสงครามอินโดจีน พระเกจิอาจารย์ชื่อดังอยู่ 4 รูป ที่มีลูกศิษย์ลูกหาเลื่อมใสศรัทธามากมาย วัตถุมงคลเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพราะโดดเด่นทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เล่าลือกันปากต่อปากจนถึงทุกวันนี้

พระเกจิอาจารย์นามพยางค์เดียว นิยมเรียกผูกติดกัน “จาด-จง-คง-อี๋”

ประกอบด้วย หลวงพ่อจาด คังคสโร วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี, หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อคง ธัมมโชโต วัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และหลวงพ่ออี๋ พุทธสโร วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี

“หลวงพ่อจาด คังคสโร” หรือ “พระครูสิทธิสารคุณ” พระเกจิเรืองวิทยาคมแห่งวัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

วัตถุมงคลล้วนเป็นที่นิยมสะสม โดยเฉพาะเหรียญที่สร้างในปี พ.ศ.2495 ที่ระลึกสำหรับคณะกรรมการวัด

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม รูปทรงคล้ายน้ำเต้า มีหู ด้านหน้าเหรียญตรงกลางเป็นรูปเหมือน หน้าตรง จีวรลงยาสีเหลืองอยู่ในซุ้มรูปทรงเสมา ด้านข้างเป็นลายกนก ด้านบนเป็นยันต์อุณาโลม ด้านล่างเขียนคำว่า “(จาด) พระครูสิทธิสารคุณ” ขอบเหรียญลงยาเป็นสีต่างๆ

ด้านหลัง มีข้อความว่า “ที่ระลึกคณะกรรมการ วัดบางกระเบา ๒๔๙๕” ด้านบนข้อความมีอักขระยันต์มหาอุด

ด้านหน้ามีแบบเดียว แต่ด้านหลังมี 2 แบบ คือ แบบหลังหนังสือ “ที่ระลึกคณะกรรมการ วัดบางกระเบา ๒๔๙๕” มีทั้งแบบติดเข็มกลัดและไม่ติดเข็มกลัด

ส่วนอีกแบบหลังเรียบ โดยหลวงพ่อจาดลงจารอักขระยันต์ให้ทุกเหรียญ

ได้รับการยกย่องเป็นเหรียญยอดนิยมของ จ.ปราจีนบุรี

เหรียญหลวงพ่อจาด พ.ศ.2495 (หน้า-หลัง)

 

มีนามเดิมว่า จาด วงษ์กำพุช เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2415 ตรงกับวันอังคาร เดือนสี่ ปีวอก แรม 6 ค่ำ ที่บ้านดงน้อย อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

ในช่วงวัยเยาว์ บิดายกให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายถิน และนางหลิน สีซัง คหบดีชาวบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

เมื่อท่านอายุครบ 20 ปี บิดาบุญธรรมนำท่านไปฝากกับพระอาจารย์ที่วัดบ้านสร้าง เพื่อเรียนขานนาค และรับใช้ปรนนิบัติ

เมื่อได้เป็นเวลาพอสมควร ในวันที่ 13 เมษายน 2436 พิธีอุปสมบทที่พัทธสีมา วัดบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี โดยมีพระครูปราจีนบุรี แห่งวัดหลวงปรีชากุล เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อ้วน วัดบ้านสร้าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์หลี วัดบางคาง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ต่อมาได้เดินทางไปโปรดโยมบิดา ที่วัดเกาะแก้วเวฬุวัน ต.ดงน้อย อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แล้วได้จำพรรษาที่วัดดังกล่าว

 

ขณะที่จำพรรษาที่วัดเวฬุวัน มีโอกาสศึกษาวิชาจากพระอาจารย์จัน (บางตำราว่าชื่อ พระอาจารย์จีน) ซึ่งเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น และยังเป็นผู้สอนภาคปฏิบัติ ฝึกกรรมฐานจนแก่กล้า

ครั้นพรรษาที่สอง จึงได้ติดตามพระอาจารย์อ้วนไปศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระอาจารย์อยู่ วัดไกรสีห์ บางกะปิ กทม. และเมื่อพรรษาที่สี่ ท่านจึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดบางกระเบา

หลังจากนั้นจึงได้ออกธุดงค์อยู่ในป่าเป็นเวลาหลายปี ได้พบพระภิกษุมากมาย อาทิ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จ.นครปฐม เป็นต้น

ศึกษาวิชาหลายแขนง เช่น คาถาการปล่อยคุณไสย เมตตามหานิยม และอยู่ยงคงกระพัน

เมื่ออายุประมาณ 40 ปี เดินทางกลับไปจำพรรษา ณ วัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

เป็นพระที่เชี่ยวชาญวิทยาคม โดยเฉพาะในด้านวิชามหาอุดอยู่ยงคงกระพัน แต่จะไม่แสดงตนอวดวิชา แต่จะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

 

ยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา วัตถุมงคลหลวงพ่อจาดจัดสร้างกันหลายครั้ง แต่ครั้งที่ยิ่งใหญ่และสร้างกันเป็นจำนวนมาก เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2483 ซึ่งพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิทยาคมทั่วประเทศ สร้างวัตถุมงคลแจกทหาร

หลวงพ่อจาดได้รับอาราธนาจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ร่วมประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เป็นเหรียญนั่งเต็มองค์ ด้านหลังเป็นพระมหาอุตม์ นั่งอยู่กลางดอกบัว มีทั้งเนื้อเงินลงยาและทองแดง

เกียรติคุณได้มาประจักษ์ขึ้น เมื่อเครื่องบินฝรั่งเศสมาทิ้งระเบิด แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเกิดปาฏิหาริย์เลื่องลือไปทั่ว จนได้รับสมญานามว่าเทพเจ้าแห่งภาคตะวันออก

ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระภิกษุทั่วไป และเป็นที่เคารพนับถือของพระเถระผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ)

ลำดับสมณศักดิ์และงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2447 พ.ศ.2457 เป็นเจ้าคณะแขวง อ.บ้านสร้าง พ.ศ.2461 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2470 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ที่ พระครูสิทธิสารคุณ ระดับชั้นโท

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2499 สิริอายุ 85 ปี