เทศมองไทย : แนวทาง “ภาษีดิจิตอล” จากฝรั่งเศสถึงไทย-อาเซียน

เมื่อ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ไดแลน โลห์ แห่งนิกเกอิ เอเชีย (เดิมคือนิกเกอิ เอเชียน รีวิว) นิตยสารข่าวในเครือเดียวกับไฟแนนเชียล ไทม์ส ที่มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเอเชียโดยเฉพาะ เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในการจัดเก็บภาษีดิจิตอล หรือดิจิตอลแทกซ์ของไทยกับเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกันไว้น่าสนใจอย่างยิ่ง

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถูกพูดถึงกันมานานในฐานะเป็นความเคลื่อนไหวในระดับโลกของหลายๆ รัฐบาล นำโดยบรรดาประเทศในภาคพื้นยุโรปเป็นสำคัญ เพื่อนำเอาบรรดาบริษัทเทคโนโลยีระดับยักษ์ข้ามชาติทั้งหลายเข้ามาสู่ระบบภาษี ให้จ่ายภาษีให้เหมาะสมกับเงินได้ของตนเสียที

ถึงตอนนี้มีกว่า 10 ประเทศในยุโรปจัดเก็บ “ภาษีดิจิตอล” ทำนองนี้อยู่ รวมทั้งประเทศอย่างฝรั่งเศส, อังกฤษ และอิตาลี

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี พยายามดำเนินการเพื่อสร้างกรอบดำเนินการเก็บภาษีดิจิตอลร่วมกันให้เป็นมาตรฐานระดับพหุภาคี โดยมีเป้าหมายจะเจรจาเรื่องนี้กับกว่า 130 ประเทศ

ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาไม่น้อย นิกเกอิระบุว่า ในขณะที่โออีซีดีดำเนินการดังกล่าวอยู่นั้น หลายประเทศในเอเชียก็ก้าวรุดหน้าไปแล้วด้วยการใช้ข้อกำหนดเพื่อการนี้ที่อิงอยู่กับกฎหมายภายในประเทศของตนเอง

 

รายงานวิจัยเรื่องนี้ของเมย์แบงก์ กิมเอ็ง แผนกโบรเกอร์ของมาลายัน แบงกิ้ง แห่งมาเลเซีย ไล่เรียงบรรดาประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้วเอาไว้เป็นรายประเทศ เริ่มต้นด้วยไทยเป็นชาติแรก

ไทยกำหนดให้แพลตฟอร์มดิจิตอลใดๆ ที่ไม่มีสาขาอยู่ในประเทศ แต่สามารถทำรายได้มากกว่า 57,000 ดอลลาร์ต่อปี จำเป็นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (วีเอที) 7 เปอร์เซ็นต์ต่อการขายทุกครั้ง

คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 96 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี

ในอินโดนีเซีย รัฐบาลประกาศบังคับใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม 10 เปอร์เซ็นต์สำหรับการขายของบริษัทบนอินเตอร์เน็ต ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์และที่เป็นบริการทั้งหลาย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภาษีดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่บริการสตรีมมิ่ง เรื่อยไปจนถึงโมบายแอพพ์ และเกมดิจิตอลทั้งหมด

สิงคโปร์กับมาเลเซียก็เริ่มต้นจัดเก็บภาษีดิจิตอลสำหรับกิจการต่างชาติในปีนี้เช่นเดียวกัน สิงคโปร์นั้นพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจบริการที่ “นำเข้า” จากต่างประเทศซึ่งผู้บริโภคชาวสิงคโปร์เป็นผู้ใช้บริการ ในขณะที่มาเลเซียใช้หลักการง่ายๆ เก็บภาษีบริการ 6 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ให้บริการต่างชาติทุกรายที่มีรายได้ต่อปีเกินกว่า 120,000 ดอลลาร์ขึ้นไป

ที่ฟิลิปปินส์มีการนำเสนอร่างกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีดิจิตอลนี้เข้าสู่สภาในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อจัดเก็บภาษีจากเฟซบุ๊ก, กูเกิล, ยูทูบ, เน็ตฟลิกซ์ และสปอติฟาย โดยอ้างเอาไว้ว่าเป็นการจัดเก็บรายได้เพื่อสนับสนุนการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยเมย์แบงก์ตั้งข้อสังเกตว่า ภาษีดิจิตอล 12 เปอร์เซ็นต์ของฟิลิปปินส์ คาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับรัฐบาลไม่น้อยกว่า 571 ล้านดอลลาร์ มากพอต่อการนำมาสนับสนุนโครงการส่งเสริมดิจิตอล อาทิ โครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ และดิจิตอล เลิร์นนิ่ง เป็นต้น

 

รัฐบาลของหลายประเทศในอาเซียนหันมาเข้มงวดกับการจัดเก็บภาษีดิจิตอลมากยิ่งขึ้นในปีนี้ ในทางหนึ่งนั้นเป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจการอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียนบูมสุดขีด ในขณะที่กิจการ “ออฟไลน์” ทั้งหลายซบเซาเพราะมาตรการล็อกดาวน์

รัฐบาลของชาติอาเซียนแต่ละประเทศเองก็จำเป็นต้องหาช่องทางทำรายได้เพิ่มหลังจากหมดเงินไปมากโขกับมาตรการให้ความช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทรุดตัวอย่างหนักเพราะโควิด และพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมออนไลน์ที่เบ่งบานอยู่อุตสาหกรรมเดียวในเวลานี้

ที่น่าสนใจก็คือ ลาซาด้า กิจการอีคอมเมิร์ซในเครืออาลีบาบา ยืนกรานจะร่วมมือกับรัฐบาลทุกประเทศในเรื่องของการเก็บภาษีดิจิตอล ด้วยเหตุผลที่ว่านี่เป็นเรื่องที่ “เป็นประโยชน์” ต่อทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ในขณะที่สมาพันธ์อินเตอร์เน็ตแห่งเอเชีย (เอไอซี) มีบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเป็นสมาชิก ตั้งแต่เฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ ทวิตเตอร์ เอ็กซ์พีเดีย เรื่อยไปจนถึงอเมซอนและแกร็บ แอพพ์ระดับยูนิคอร์นของสิงคโปร์เป็นสมาชิก กลับเตือนว่าการเคลื่อนไหวแบบต่างคนต่างทำเช่นนี้อาจส่งผลเสีย ทำให้การลงทุนลดลง การค้าข้ามแดนลดลงและบั่นทอนการเข้าถึงนวัตกรรมของหลายๆ ชุมชน

การจัดเก็บภาษีดิจิตอลอาจเข้าข่ายการเก็บภาษีซ้ำซ้อน และกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าอย่างหนึ่งซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแซงก์ชั่นจากสหรัฐอเมริกาได้

นักวิชาการอย่างพอล แม็กดอนเนลล์ ผู้อำนวยการบริหารของโกลบอล ดิจิตอล ฟาวน์เดชั่น เตือนเอาไว้เช่นกันว่า ภาษีดิจิตอลก็เป็นแบบเดียวกันกับภาษีบาปของบุหรี่หรือสุรา

ที่สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นการกดดัน กำราบให้การบริโภคลดน้อยลง แลกกับการที่รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้นได้นั่นเอง