ฉัตรสุมาลย์ : บนเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย (20) เอื้อต่อพระธรรมและเคารพในพระวินัย

แม้จะมีตัวเลขว่ามีภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย 285 รูปเป็นอย่างน้อย กระจายกันอยู่ในจังหวัดต่างๆ ในทุกภูมิภาคถึง 40 จังหวัด

แต่ก็เป็นความจริงเช่นกันว่า ในจำนวนนี้ ยังกระจัดกระจายกันอยู่ 2 รูปบ้าง 3 รูปบ้าง มีจำนวนถึง 40 แห่ง

ตรงนี้เองที่เป็นที่มาของทั้งข้อด้อยและข้อเด่นของภิกษุณีสงฆ์ไทยโดยรวม ภิกษุณีที่ปฏิบิตดีปฏิบัติชอบ อยู่ที่อารามของตนเอง แม้เพียง 1 รูป 2 รูป ก็จะมีความพยายามที่จะรวบรวมเพื่อนพรหมจรรย์ให้เข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นสังฆะ เพื่อประโยชน์แก่การรักษาสังฆกรรมที่ส่วนมากจะต้องอาศัยภิกษุณีสงฆ์

– ขณะเดียวกันก็มีภิกษุณีที่ไม่เห็นความสำคัญที่จะสร้างสังฆะ ความรักในอิสระ อาจจะเป็นอุปสรรคต่อรูปลักษณ์ของภิกษุณีในระยะยาว

บางรูปในต่างจังหวัดที่ห่างไกล ไม่มีญาติโยมดูแล เพราะเขาไม่เห็นอาจาระของนักบวชจากภิกษุณี เขาไม่เกิดศรัทธา และเมื่อไม่มีศรัทธาก็จะปล่อยให้ภิกษุณีนั้นอยู่ตามลำพัง นอกจากไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้ว ไม่มีบริบทสังคมโดยรวมที่จะสนับสนุนให้ภิกษุณีรูปนั้นครองตนเยี่ยงภิกษุณีได้ ตรงนี้ ผู้เขียนเห็นเป็นข้อด้อย

แต่ยังโชคดีที่มีกรณีเช่นนี้ไม่มาก

 

การสวดปาฏิโมกข์เป็นสังฆกรรมที่ต้องมี 4 รูปอย่างน้อย และจะต้องกระทำเดือนละ 2 ครั้ง คือ ขึ้น 15 ค่ำและแรม 14 หรือ 15 ค่ำ

ผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อท่านธัมมนันทานิมนต์ปวัตตินีจากศรีลังกา คือภิกษุณีสัทธาสุมนามาเข้าพรรษาด้วยที่อารามของท่านในจังหวัดนครปฐมนั้น (พ.ศ.2546) ทั้งนี้ ทราบว่าท่านสัทธาสุมนาต้องเดินทางเพื่อไปลงปาฏิโมกข์ที่วัดดัมบุลละ ใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง จึงเสนอและสนับสนุนให้ท่านสร้างอุโบสถที่วัดของท่านเอง เพื่อจะได้เอื้อประโยชน์ให้ภิกษุณีที่อยู่ในละแวกนั้นได้เดินทางมาลงปาฏิโมกข์ด้วยกัน โดยไม่ต้องเดินทางไกลถึง 5 ชั่วโมง ทั้งนี้ ต้องเข้าใจด้วยว่า ปวัตตินีของท่านนับวันจะมีอายุมากขึ้น และการเดินทางไกลก็จะเป็นอุปสรรคในระยะยาว

การให้ความสำคัญกับการรักษาสังฆกรรมในเรื่องการลงปาฏิโมกข์ มีนัยยะด้วยว่า การทำสังฆกรรมนี้ ต้องทำในสีมา

ถ้าจะยึดติดกับรูปแบบที่ต้องมีพระอุโบสถใหญ่โตใช้เงินมากก็ยิ่งเป็นอุปสรรคมากขึ้น การทำสังฆกรรมภายในสีมาก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก

แต่หากทำความเข้าใจว่า สีมานั้นคือเขตที่สงฆ์สมมุติขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นเขตที่จะทำสังฆกรรม ก็สามารถสมมุติสีมาโดยยังไม่ต้องสร้างพระอุโบสถได้

เช่นนี้ ภิกษุณีเหล่านั้น แม้จะยังไม่มีจำนวนครบเป็นสงฆ์ หากที่ดินนั้นเป็นของตนเอง ก็สามารถเตรียมความพร้อมและเอื้อให้ภิกษุณีอื่นๆ มาร่วมกันทำสังฆกรรมได้

 

เมื่อพูดถึงที่ดิน เมื่อคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมยังไม่ยอมรับภิกษุณี ภิกษุณีจึงไม่มีสถานะทางกฎหมาย วัดของภิกษุณีก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเช่นกัน อารามของภิกษุณีในปัจจุบันจึงเป็นที่ดินส่วนตัวทั้งสิ้น บางแห่งมีมูลนิธิรองรับ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มี

ภิกษุณีเมื่อสมมุติสีมาควรให้แน่ใจในเรื่องสิทธิของที่ดิน มีภิกษุณีที่ไปสร้างอารามในที่ดินที่ฆราวาสออกปากให้ เมื่อลงทุนสร้างวิหาร ฯลฯ หมดเงินไปหลายแสน แต่ในที่สุดฆราวาสไม่ให้ กลายเป็นภิกษุณีรูปนั้นต้องออกจากพื้นที่ไป โดยวิหารที่สร้างก็ตกเป็นสมบัติของส่วนบุคคล เช่นนี้ก็มี

ในการสร้างวัด ตามแบบของวัดทั่วไปนั้น ต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 6 ไร่ แต่วัดของพระภิกษุจีนนิกาย และอันนัมนิกาย (ญวน) กำหนดเพียง 2 ไร่ ถ้าภิกษุณีถือตามเกณฑ์นี้ ก็อาจจะมีอารามในพื้นที่ 2 ไร่ได้ ข้อมูลนี้ภิกษุณีควรทราบไว้เป็นเกณฑ์

การอยู่กันเป็นสงฆ์น่าจะเป็นเป้าหมายของภิกษุณี จะถือตามพระภิกษุ ว่า เห็นภิกษุบางรูปอยู่ตามลำพังตามป่าตามเขาไม่ได้ เพราะโดยพระวินัยพระพุทธองค์ไม่ได้เห็นเป็นเรื่องเหมาะสมที่ภิกษุณีจะอยู่กันตามลำพัง แม้ในนิสสัยของภิกษุณีก็เว้นข้อที่อยู่ตามโคนไม้

สตรีบางคนที่ชอบชีวิตพรหมจรรย์ ขณะเดียวกันชอบการอยู่ตามลำพังไม่เข้าหมู่คณะ คิดว่าการเป็นภิกษุณีอาจจะไม่ตอบโจทย์ ตลอดเวลา ต้องพิจารณาในบริบทของสังคมด้วย พระภิกษุณีบางรูปอาจจะนึกว่า การปฏิบัติตามพระภิกษุถูกต้อง ครองจีวรก็คลุมสองไหล่ เพราะภิกษุท่านทำเช่นนั้น

อาจจะไม่เหมาะกับความเป็นภิกษุณี หากจะระลึกได้ว่า เมื่อภิกษุท่านเข้าไปในสถานที่พึงเคารพ หรือเข้าไปหาครูบาอาจารย์ ท่านต้องครองจีวรใหม่ ท่านต้องลดไหล่ คือเปิดไหล่ขวา เป็นหมายของการแสดงความเคารพ ภิกษุณีจะทำสะดวกหรือหากอยู่ในที่สาธารณะ เช่นนี้ ภิกษุณีเองควรมีครูบาอาจารย์ฝ่ายภิกษุณีด้วย จะปฏิบัติตามภิกษุอย่างเดียวโดยไม่พิจารณาถึงข้อแตกต่างที่สำคัญ คือภิกษุณีเป็นเพศหญิง

แม้ในพระวินัยก็ยังกำหนดให้ภิกษุณีมีผ้า 5 ผืน ไม่ใช่ 3 ผืนเหมือนพระภิกษุ

 

ช่วงนี้เป็นช่วงออกพรรษา วัดวาอารามทุกแห่งมีความตื่นตัวเพราะกำลังเป็นวาระของการรับกฐิน พระเณร ทั้งภิกษุและภิกษุณีต้องเตรียมรับญาติโยมที่จะมาในงาน

ปัญหาอยู่ที่ภิกษุณีที่เพิ่งเริ่มสร้างอาราม มีกันเพียง 2 รูป ญาติโยมก็มาจองกฐิน โดยที่ญาติโยมก็ไม่เข้าใจพระวินัย ว่า เงื่อนไขการที่จะรับกฐินได้นั้น ต้องมีภิกษุณีอย่างน้อย 5 รูป และได้อยู่ในพรรษาด้วยกันตลอดพรรษา

ภิกษุณีบางแห่งก็เลี่ยงโดยการนิมนต์ภิกษุณีที่อื่นมารับกฐิน อันนี้ก็ทำได้ แต่ไม่ใช่กฐิน และจะไม่ได้รับอานิสงส์กฐิน

เคยแนะนำภิกษุณีที่อยู่กันสองรูป ว่าเวลาญาติโยมกล่าวถวายกฐิน ให้ใช้คำว่า บังสุกุลจีวร ไม่ใช่กฐิน และให้เข้าใจว่า ท่านจะไม่ได้อานิสงส์กฐิน และญาติโยมก็จะไม่ได้กุศลเท่ากับการถวายกฐินที่มีสงฆ์พร้อม

ในเรื่องการถวายและการรับกฐินนี้ มีอธิบายวิธีการชัดเจนในพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 มหาวรรค

 

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับการเกิดใหม่ของภิกษุณีสงฆ์ในบ้านเรา คือการสวดปาฏิโมกข์

พรรษาแรกที่ท่านธัมมนันทากลับมาจากศรีลังกานั้น ท่านนิมนต์ปวัตตินี คือภิกษุณีที่เป็นอาจารย์มาเข้าพรรษาด้วยกัน เพื่อไม่ให้นิสสัยขาด การถือนิสสัยกับอาจารย์สำคัญมาก โดยเฉพาะในสองปีแรกที่กำหนดในพระวินัย

เรื่องที่ขอให้ปวัตตินีสอนที่ท่านธัมมนันทาเห็นว่าสำคัญมากคือเรื่องการสวดปาฏิโมกข์ในสมัยพุทธกาล ภิกษุณีที่บวชใหม่ก็สวดกันไม่เป็น พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุมาสอน ครั้นภิกษุณีสามารถสวดกันเองได้แล้ว ก็ให้สวดเฉพาะภิกษุณีปาฏิโมกข์ แยกกันกับพระภิกษุสงฆ์

ตอนที่นิมนต์ปวัตตินีนั้น ก็มีภิกษุณีเพียง 3 รูป ปวัตตินีอธิบายว่า ถ้าจะให้สอนสวดปาฏิโมกข์ต้องมีภิกษุณีสงฆ์ โชคดีว่าภิกษุณีสันตินีจากอินโดนีเซีย และภิกษุณีธัมมนันทีจากเวียดนาม แม้อุปสมบทมาแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการฝึกสอน และยังไม่รู้จักการสวดปาฏิโมกข์ ท่านก็เลยเดินทางมาร่วมเข้าพรรษาด้วยกัน

จึงได้ลงปาฏิโมกข์ด้วยกัน เป็นครั้งแรกที่มีการสวดภิกษุณีปาฏิโมกข์ในดินแดนประเทศไทย คืออุโบสถแรกในพรรษาของ พ.ศ.2546

 

ภิกษุณีแต่ละรูปมีโต๊ะตัวเตี้ยอยู่เบื้องหน้า เพื่อวางปาฏิโมกข์ ปวัตตินี คือ ภิกษุณีสัทธาสุมนาจารย์จากศรีลังกาเป็นผู้สวดโดยมีภิกษุณีจากศรีลังกาอีกรูปหนึ่งเป็นผู้อาราธนา เวลาสวดจบแต่ละหมวด ผู้สวดจะดื่มน้ำ หรือพลิกตัว พวกเราที่ฟังสวด จะถือโอกาสนั้นขยับตัวพร้อมกัน ในขณะที่สวดปาฏิโมกข์ เรานั่งนิ่งไม่ขยับขาเลย จนกว่าจะจบหมวด

สองหมวดแรก คือ ปาราชิก และสังฆาทิเสส ท่านสวดแบบทำนอง เพราะมาก แต่ช้า ส่วนหมวดต่อๆ มาท่านจะสวดธรรมดา เบ็ดเสร็จ 2 ชั่วโมงครึ่ง เราเรียนและฝึกสวดปาฏิโมกข์ตลอดพรรษา เรียนกับปวัตตินีรูปเดียวกันทั้งสองพรรษาแรก คือ พ.ศ.2546 และ 2547

ตอนแรกเมื่อยังไม่มีภิกษุณีครบองค์สงฆ์ เราใช้เวียนกันไปสวดทั้งที่บ้านแพ้วและอุทัยธานี เพื่อให้ครบภิกษุณีสงฆ์

ต่อมาเมื่อวัตรทรงธรรมกัลยาณีมีภิกษุณีครบองค์สงฆ์ พระภิกษุณีที่อื่นก็จะมาสมทบในการสวดปาฏิโมกข์เป็นประจำ

 

ในสมัยพุทธกาลก็มีพระภิกษุที่ท่านเห็นว่าท่านเองปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว อาจจะไม่ต้องไปทำสังฆกรรมร่วมกับรูปอื่น

พระพุทธเจ้าทรงอ่านใจของพระภิกษุรูปนี้ แล้วด้วยอิทธิฤทธิ์ ทรงปรากฏพระองค์ขึ้นเบื้องหน้าภิกษุรูปนั้น ทรงสอนว่า ต้องไปร่วมสังฆกรรม ต้องไปลงปาฏิโมกข์

ตรงนี้จะตอบโจทย์ภิกษุณีหลายๆ รูปที่อยู่กันตามลำพังและมีความคิดเช่นเดียวกันนี้ จะได้ทราบว่า พระพุทธองค์ทรงสอนว่าอย่างไร ดูในพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 นะคะ แน่นอนที่สุด บางครั้งท่านอยู่ห่างไกล แต่อย่างน้อยที่สุดทราบความที่ถูกต้อง และพยายามเท่าที่จะทำได้ในความเป็นจริงตามบริบทที่ท่านเป็นอยู่ เป็นเรื่องสำคัญ

ในการที่จะรักษาพระวินัยเป๊ะทุกข้อทำไม่ได้อยู่แล้ว ที่ว่าเช่นนี้ เพราะโลกมันเปลี่ยนไป ลำพังในชีวิตของเราเอง 50 ปี 70 ปี เราก็พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากมาย นับประสาอะไรกับ 2,600 ปีที่ผ่านมา โลกก้าวหน้าไปมาก เราจะยังยึดอยู่กับพระวินัยที่เกิดขึ้นเพื่อให้เหมาะกับบริบทสังคมเมื่อสมัยก่อน ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดูง่ายๆ ข้อที่ว่า ห้ามไม่ให้พระภิกษุ (หรือภิกษุณี) ไปโดยยาน ไม่ว่าไปไหนก็ไปโดยยานทั้งนั้น

เราจึงจำเป็นต้องมาศึกษาว่า ทำไมจึงห้ามไม่ให้ไปโดยยาน ยานคืออะไร มีความหมาย มีนัยยะทางสังคมอย่างไร

พระพุทธองค์ท่านมาจากวรรณะกษัตริย์ วิถีของพระองค์ คือเสด็จโดยแคร่ คานหาม มีคนแบก อย่างต่ำสองคน หากอลังการเป็นงานพิธีแสดงถึงอำนาจราชศักดิ์ ก็เทียมวัว เทียมม้า ฯลฯ

คนทั่วไป สามัญชนเดินดินกันเป็นธรรมดา มีเฉพาะวรรณะเจ้าเท่านั้นที่จะเสด็จโดยยาน การใช้ยาน จึงหมายถึงการมีฐานะ มีอำนาจ

ก็เมื่อพระเป็นผู้ที่ออกจากเรือนแล้ว ไม่มีสมบัติอะไร แม้อาหารก็อยู่ด้วยอาหารที่ได้จากการบิณฑบาต เช่นนี้ จึงห้ามการใช้ยาน

แต่ปัจจุบัน การใช้ยาน เช่น รถเมล์ เป็นวิถีของสามัญชน ที่ต้องระมัดระวังคือ พระผู้ใหญ่ที่มีรถเบนซ์ประจำตัว เพราะนั่นเป็นการแสดงอำนาจราชศักดิ์ที่พระไม่พึงมีมิใช่หรือ

การเอื้อต่อพระธรรมวินัยจึงเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะสืบพระศาสนาต่อไป