ต่างประเทศ : ความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 ความหวังสู่ชีวิตปกติ

โรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก เวลานี้ยังไม่มียารักษา

ดังนั้น ความหวังเดียวที่โลกจะกลับมาขับเคลื่อนไปได้อย่างปกติก็อยู่ที่ “วัคซีน” ที่หลายบริษัททั่วโลกอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาอย่างแข็งขัน

ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีข่าวดีเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

เป็นข่าวการประกาศความสำเร็จในการทดลองโควิด-19 สามชนิด 1 ชนิดจากประเทศอังกฤษ และอีก 2 ชนิดจากสหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านี้เป็นการประกาศความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 2 ชนิดจาก 2 บริษัทในสหรัฐอเมริกาอย่างบริษัท Pfizer และ Moderna ซึ่งทั้งสองบริษัทพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 แบบที่ใช้การพัฒนาแบบเอ็มอาร์เอ็นเอ เหมือนกัน มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ทั้งคู่

ก่อนที่ล่าสุดจะเป็นคิวของวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ร่วมกับบริษัท AstraZeneca ที่พบว่าวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ในระดับ 70.4 เปอร์เซ็นต์

 

นี่คือวัคซีน 3 ชนิดที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดจากวัคซีนกว่า 200 ชนิดที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาในเวลานี้ ในจำนวนนี้มีเพียง 15 ชนิดเท่านั้นที่อยู่ในขั้นตอนของการทดสอบเชิงคลินิกในมนุษย์

วัคซีนของบริษัท Pfizer ที่จับมือกับบริษัท BioNTech ในเยอรมนี หรือ BNT162b2 ทำการทดลองทางคลินิกในระยะสุดท้ายกับอาสาสมัครมากถึง 43,000 คน พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงไปกว่าความเมื่อยล้า ซึ่งมีผลกับอาสาสมัครเพียง 3.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

วัคซีนของ Pfizer มีการยื่นขอใบอนุญาตเป็นกรณีฉุกเฉินแล้วในสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานกำกับดูแลของอังกฤษเองก็กำลังเริ่มต้นตรวจสอบความปลอดภัยวัคซีนของ Pfizer เพื่ออนุมัติใช้ในประเทศต่อไป

โดย Pfizer ตั้งเป้าจะยื่นขออนุญาตการใช้วัคซีนกับหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลก และตั้งเป้าจะผลิตวัคซีนให้ได้ 1,300 ล้านโดสภายในปี 2021

วัคซีนของ Pfizer เป็นการนำรหัสพันธุกรรมมีชีวิตจากไวรัสโควิด-19 มาใช้ในการผลิตวัคซีน นั่นทำให้วัคซีนชนิดนี้ต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิต่ำถึงติดลบ 70 องศาเซลเซียส

ส่งผลให้การสต๊อก การขนส่ง มีข้อจำกัดสูง และทำให้วัคซีนชนิดนี้มีราคาสูงตามไปด้วย

 

สําหรับวัคซีนของบริษัท Moderna หรือ RNA1273 นั้นยังคงอยู่ในการทดสอบระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เป็นการภายในจากการทดสอบกับอาสาสมัคร 30,000 คนนั้นพบว่าผลการทดลองมีประสิทธิภาพมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์

กล่าวคือ ในบรรดาอาสาสมัครทั้งหมด มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียง 95 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่เป็นผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ส่วนที่เหลือเป็นผู้ได้รับวัคซีนแบบดัมมี่

ทีมวิจัยระบุว่า การทดสอบวัคซีนชนิดนี้ทำกับกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้สูงอายุจำนวนมาก ทำให้วัคซีนชนิดนี้มีโอกาสที่จะช่วยป้องกันโรคในกลุ่มคนที่มีความเปราะบางได้

วัคซีนของ Moderna ต่างจากวัคซีนของ Pfizer กล่าวคือ สามารถเก็บที่อุณหภูมิติดลบ 20 องศาเซลเซียส ในระดับช่องแข็งปกติทั่วไปได้นานถึง 6 เดือน และสามารถเก็บในตู้เย็นทั่วไปได้นานถึง 30 วัน

อย่างไรก็ตาม วัคซีนของ Moderna นั้นมีข้อเสียคือมีปริมาณโดสสูงกว่าวัคซีนของ Pfizer ถึง 3 เท่า

 

สําหรับวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หรือ AZD1222 เป็นวัคซีนที่ใช้วิธีการนำเอาโปรตีนส่วนปลายแหลมของไวรัสโควิด-19 มาติดไปบนโคโรนาไวรัสของลิงชิมแปนซี และนำไวรัสที่ถูกปรับโครงสร้างดังกล่าวฉีดเข้าสู่ผู้รับวัคซีน

ไวรัสที่ถูกปรับโครงสร้างจะทำให้ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันขึ้นมาให้ตรงกับโปรตีนปลายแหลมที่อยู่บนไวรัสดังกล่าว และร่างกายจะสร้างทีเซลล์ขึ้นมาเพื่อค้นหาและรักษาเซลล์ที่ติดเชื้อให้กลับเป็นปกติ ซึ่งหลังจากนั้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้าสู่ร่างกายได้แล้ว

วัคซีนชนิดนี้ปัจจุบันทำการทดลองเชิงคลินิกครั้งล่าสุดกับอาสาสมัคร 24,000 คนในอังกฤษและในบราซิล สามารถป้องกันโรคเฉลี่ยได้ถึง 70.4 เปอร์เซ็นต์

ผลการทดลองพบด้วยว่า หากเป็นการฉีดวัคซีนครึ่งโดส ตามด้วยเต็มโดสเข็มที่ 2 สามารถป้องกันโรคได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องฉีดเข็มแรกเพียงครึ่งโดสในการทดลองดังกล่าว ขณะที่หากฉีดแบบเต็มโดสทั้ง 2 เข็ม จะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคลดลงเหลือ 62 เปอร์เซ็นต์

ผลการทดสอบวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่าผู้ได้รับการฉีดไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ไม่มีผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก และไม่มีผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล

ทีมวิจัยระบุว่า ผลการทดลองขั้นสุดท้ายจะมีรายงานออกมาอีกครั้งภายในวันที่ 25 ธันวาคมนี้

 

ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 สามชนิดที่ก้าวหน้าที่สุดในเวลานี้ โดยสั่งซื้อวัคซีนของออกซ์ฟอร์ดเอาไว้มากถึง 100 ล้านโดส ซึ่งสามารถฉีดให้กับประชาชนราว 50 ล้านคน นอกจากนี้ ยังสั่งวัคซีนของ Pfizer เอาไว้ 40 ล้านโดส และของ Moderna เอาไว้อีก 5 ล้านโดสด้วยกัน

สำหรับสหรัฐอเมริกา ได้ทุ่มงบประมาณในการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จาก 3 บริษัทนี้เช่นกัน โดยสั่งซื้อวัคซีนจาก Pfizer จำนวนมากถึง 100 ล้านโดส วัคซีนจาก Moderna 100 ล้านโดส และสั่งวัคซีนจากออกซ์ฟอร์ด-AstraZeneca อีก 300 ล้านโดสด้วยเช่นกัน

รายงานข่าวจากที่ประชุมผู้นำกลุ่มจี 20 กลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาและเพิ่งเกิดใหม่ชั้นนำของโลก หรือจี ยืนยันว่าจะมีการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมไปยังประเทศยากจนทั่วโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนี ต่างประกาศแผนที่จะเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศในเดือนธันวาคมนี้ ขณะที่สเปนประกาศแผนเตรียมฉีดวัคซีนประชาชนในเดือนมกราคม

ขณะที่ประเทศไทยเราก็จะเดินหน้าหารือกับไฟเซอร์ในปลายเดือนนี้เพื่อตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป ขณะที่ในไทยเองก็มีการพัฒนาวัคซีนแบบ mRNA แบบเดียวกับไฟเซอร์เช่นกัน เป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะมีการทดลองในมนุษย์ราวเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ ปี 2564

หลายฝ่ายคาดว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 มาฉีดกันได้เร็วที่สุดในช่วงกลางปีหน้า