เนิร์ดข้างบ้าน : เสียงของ Gen Y ในม็อบปี 2563

“เขาไม่ได้สู้กับประชาชน แต่เขาสู้กับความเปลี่ยนแปลง”

ลูกเกด (อายุ 27) เอ่ยประโยคนี้ออกมาเมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับฝ่ายที่พยายามขัดขวางการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย

เธอเป็นหนึ่งใน Gen Y หรือเจเนอเรชั่นวาย (อายุ 23-40 ปี) ที่ไปร่วมชุมนุมหลายครั้ง

เธอโดนแก๊สน้ำตาเป็นครั้งแรกในชีวิตในม็อบสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหน้าอาคารรัฐสภาใหม่ที่เกียกกาย

แทนที่จะถอดใจหรือกลัว กลับบอกว่าพรุ่งนี้ (วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563) จะลางานแล้วไปร่วมที่ราชประสงค์อีก “จะโดดค่ะ ไม่ไหว ไม่เอาแล้วยอด”

จะกล่าวว่า 2563 เป็นปีแห่งการตื่นตัวทางการเมืองระดับสั่นสะเทือนประเทศครั้งใหญ่ก็คงไม่ผิด

เพียงหนึ่งปีมีการชุมนุมเกิดขึ้นถึง 408 ครั้ง (ข้อมูลจาก https://www.mobdatathailand.org/ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563) ซึ่งตัวเลขนี้ยังคงวิ่งไปข้างหน้าเหมือนกับเวลาของคนหนุ่ม-สาวที่เคลื่อนไปไม่หยุด

การร่วมชุมนุมคือชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงของพวกเขา

การชุมนุมช่วงแรกเริ่มจากในรั้วมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยม ทุกคนต่างจดจำว่า “นี่คือม็อบของเด็ก”

แต่เมื่อเวลาผ่านไป แนวร่วมเริ่มขยายตัว จากการลงพื้นที่ชุมนุมสำรวจอย่างไม่เป็นทางการสามครั้งโดยการยืนถือกระดาษในม็อบแล้วให้คนมาติดสติ๊กเกอร์อายุแยกตามช่วงวัย

พบว่า Gen Y กลับเป็นกลุ่มคนที่ออกมาร่วมชุมนุมมากที่สุด

ครั้งแรกวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ถนนสีลม (ม็อบแฟชั่นโชว์) คิดเป็น 76% (146 จาก 192 คน)

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเคลื่อนไปสำนักพระราชวัง (ม็อบราษฎรสาส์น) คิดเป็น 50% (388 จาก 777 คน)

และวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (Mob Fest) คิดเป็น 56% (365 จาก 652 คน)

ซึ่งกลุ่มที่ออกมาเยอะที่สุดใน Gen Y ด้วยกันเองคือกลุ่มอายุน้อยได้แก่อายุ 23-31 ปี

ทำไมถึงเป็นพวกเขา? ผู้เขียนคุยกับผู้เข้าร่วมชุมนุม Gen Y สามคนเพื่อหาคำตอบ?

 

โตมากับความไม่ประเจิดประเจ้อ
ทางการเมือง

สมัยที่เติบโตมา นอร์ธ (อายุ 30) บอกว่า การเมืองไม่เป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน การเมืองเป็นเรื่องเครียด ต้องตามข่าว เช่น มติชนหรือผู้จัดการถึงจะถือเป็นการเมือง

สมัยนั้น “เราไม่ได้ไปโรงเรียนเพื่อพูดกับเพื่อนเรื่องภาษี” นักการเมืองโกงคือวาทกรรมที่เธอได้ยินจนชาชิน

ลูกเกด (27) ที่เด็กกว่าสามปีก็มีประสบการณ์ไม่ต่างกัน ระหว่างโตมาเต็มไปด้วยคำพร่ำสอนว่า “อย่าคุยกันเรื่องการเมืองในบ้าน” จะทำให้ทะเลาะ การเมืองเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครพูด ถ้าพูดออกไปจะดูก้าวร้าว ไม่รู้จักคุณคน เมื่อทุกคนเงียบเธอก็เงียบ แม้ในใจจะรู้สึกถึง “ความสองมาตรฐานบางอย่าง”

พาย (อายุ 24) บอกว่า อยากคุยการเมืองตั้งแต่ ม.ปลาย แต่ที่โรงเรียนไม่มีใครคุยด้วย ทุกคนก็ไปเตะบอล เขาถูกเพื่อนเพ่งเล็งว่าเป็นพวกเสื้อแดง เพราะไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของ กปปส. ตั้งแต่ตอนอายุ 17-18

พวกเขาเติบโตมาในทศวรรษที่นอร์ธใช้คำว่า “ไม่ประเจิดประเจ้อทางการเมือง” ทุกคนต่างมีความเห็นทางการเมืองที่เก็บงำไว้ในใจ แต่ไม่มีใครกล้าแสดงออกมาในที่แจ้ง เพราะมีราคาทางสังคมที่ต้องจ่าย

ทุกคนจึงดำเนินชีวิตแบบการเมืองไม่ใช่เรื่องของเรามาเรื่อยๆ

 

มายาทลายแบบโดมิโน

แต่หยุดเวลาไม่ได้ฉันใด ก็หยุดความคิดไม่ได้ฉันนั้น เมื่อทั้งสามคนเติบโตขึ้นก็ประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ความเชื่อเก่าทยอยโดนชำระล้าง

“สมัยนั้นเข้าพันทิป (pantip.com) มันก็จะมีห้องราชประสงค์ เราเพิ่งเริ่มเล่นอินเตอร์เน็ตเป็น เสื้อแดงก็อยู่กันเยอะ ปี 2553 เขาเถียงกันเยอะเลย”

การที่มีคนถูกยิงตายกลางเมืองในปี 2553 ทำให้พาย (24) เริ่มตั้งคำถามกับสังคมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง

แต่ประโยคที่ทำให้หยุดคิดเพื่อประมวลความเชื่อตลอดชีวิตมาจากไอดอลแห่งม็อบปี 2563 อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในรายการตอบโจทย์ “ผมจำไม่ได้แม่นๆ นะ แต่พูดเชิงว่าพอมันไม่มีการตรวจสอบ จะรู้ได้ไงว่าดีหรือไม่ดี เราตาสว่างเลย” หลังจากนั้นพายก็ใช้ประโยคนี้กับทุกเรื่องในสังคมไทย

สำหรับนอร์ธ (30) ปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” ของเธอเริ่มเมื่อปี 2554 ตอนเรียนคณะรัฐศาสตร์อยู่ปี 2 เมื่อเธอเริ่มมีเพื่อนเสื้อแดง “ทุกวันนี้ไปม็อบเจอเสื้อแดงยังขนลุก รู้สึกขอโทษ” จากคนที่เคยว่าเสื้อแดงมาก่อน

วันหนึ่งนอร์ธกลับเริ่มตั้งคำถามช่วงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ว่าทำไมรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งถึงโดนพิจารณาคดีจนต้องออกจากตำแหน่งไปในที่สุด

เมื่อมีโอกาสเรียนวิชาการเมืองไทย ถึงได้ตกผลึกว่าเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงเป็นเหรียญคนละด้าน เน้นกันคนละจุด ทำให้เธอเริ่มมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น

ยิ่งพอเกิดการรัฐประหารในปี 2557 เห็นนักวิชาการหลายคนโดนคุกคามก็รู้สึกโกรธมาก รู้สึกประเทศไม่ไปไหน

ลูกเกด (27) เพิ่งสัมผัสความจริงอีกด้านเพียงปีที่ผ่านมา เมื่อเริ่มเล่นทวิตเตอร์ เธอพบลิงก์ข่าวเกี่ยวกับไทยในสำนักข่าวต่างประเทศ แต่ว่าในไทยกลับถูกสกัดกั้นไม่ให้เข้าถึง เธอจึงเริ่มตั้งคำถามว่า “เราถูกปิดกั้นอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า”

หลังจากตามอ่านทวิตเตอร์ไม่นาน เธอก็ได้พบกับความจริงหลายๆ ด้านที่ไม่เคยรู้มาก่อน

“พอมันมาปุ๊บ มันมาหมดเลย” เมื่อมีคำถามแรก คำถามต่อๆ ไปจึงครอบคลุมไปยังมิติต่างๆ ของสังคม ทั้งเรื่องเกณฑ์ทหาร ลำดับขั้น อาวุโส ปรัชญา

“พอเก็ตเรื่องคนเท่ากัน ทุกอย่างมันก็ตามมาหมดเลย”

 

เสพสากล

Gen Y โตมาพร้อมการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เผยแพร่วัฒนธรรมของชาติอื่นผ่านสื่อต่างๆ เมื่อเสพมากเข้าก็โอบรับคุณค่า เช่น สิทธิมนุษยชน หรือการเคารพเรื่องคนเท่ากันแบบที่ประชากรโลกร่วมสมัยยึดถือ

ลูกเกด (27) ยามเด็กชอบอ่านหนังสือมาก เธออ่านวรรณกรรมเยาวชนตะวันตกโด่งดังอย่าง Harry Potter และ The Hunger Games ซึ่งต่างก็พูดเรื่องอำนาจอย่างเปิดเผย คนธรรมดาที่สู้กับอำนาจ

แต่วัฒนธรรมป๊อปที่ทำให้ตาสว่างเรื่องชนชั้นคือ Les Miserable เธอไปดูหนังในโรงแล้วกลับมายืมหนังสือห้องสมุดอ่าน ทำให้เห็นมุมมองของผู้เขียนที่พูดถึงอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูง ลูกขุนนางที่ยอมลงมาต่อสู้เพื่อชนชั้นล่าง และเคารพความเป็นคนของชนชั้นล่าง

นอร์ธ (30) รู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองโลก เธอตามนักแสดงภาพยนตร์อเมริกันแล้วก็เห็นเขาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำตาม นอกจากนั้นยังชอบการ์ตูนญี่ปุ่นกันดั้ม เพราะมีความเป็นการเมืองสูงมาก มีตัวเอกที่เป็นคนชายขอบ

พาย (24) ชอบดูซีรี่ส์อเมริกาซึ่งปลูกฝังเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงออก” (freedom of speech) ค่อนข้างมาก ทำให้เขาตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยถึงมีสิ่งนี้ไม่ได้

 

ม็อบนี้เป็นของทุกคน

การชุมนุมปี 2563 อาจจะจุดติดโดยนักเรียน-นักศึกษา แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาในการโดดมามีส่วนร่วมของ Gen Y สามคนนี้แต่อย่างใด เพราะม็อบนี้ขับเคลื่อนด้วยประเด็น ไม่ใช่แกนนำ

พาย (24) บอกว่า “ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นม็อบของเรา แต่เป็นม็อบของทุกคน ม็อบไม่ได้ถูกใจเราทุกอย่าง แต่มีหลักการ ความเปิดกว้าง ยอมรับให้ทุกความคิดถกเถียงกันเป็นประชาธิปไตย ไม่มีสถาบันใดชูประเด็นหลากหลายขนาดนี้ ขนาดพรรคการเมืองยังทำไม่ได้”

ลูกเกด (27) บอกว่าม็อบนี้คือ “สิ่งที่ต้องการมาตลอด” เธอได้ยินคำครหาต่างๆ นานาว่าม็อบนี้โดนล้างสมอง ตามแฟชั่นกันมา แต่ในวันที่ไปสัมผัสด้วยตัวเอง ลูกเกดต้องประทับใจ ม็อบไม่มีหัวก็จะเต็มไปด้วยข่าวลือ มีเสียงที่ตะโกนต่อๆ กันเพื่อคุมฝูงชน ครั้งหนึ่งมีคนตะโกนว่า “กระทืบมันเลย” จากที่ทุกคนตะโกนตามกลายเป็นเสียงเงียบงัน

สักครู่คนที่ตะโกนก็รู้ตัวว่าสิ่งที่ตะโกนไม่มีใครเห็นด้วยจนเงียบไปเอง เห็นได้เลยว่าทุกคนมีสติ มีการพิจารณาอย่างดีว่าจะเชื่ออะไร ไม่เชื่ออะไร

นอร์ธ (30) ก็บอกว่ารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับม็อบครั้งนี้ชัดเจน ม็อบอื่นๆ “ไม่อินเท่าม็อบครั้งนี้” ม็อบนี้ชูเรื่อง “ถ้าการเมืองดี” ซึ่งทำให้เธอรู้สึกว่า “เรามองเห็นปัญหาแบบเดียวกัน” ม็อบในครั้งนี้เปิดพื้นที่ให้รุ่นของเธอได้ช่วงชิงการเมืองมาจากคนแก่ “เด็กๆ ปลุกผีเจนวายให้ลุกมาต่อต้าน ขนาดสิ่งที่กลัวมาทั้งชีวิตเด็กยังลากไปตบได้”

ตบในที่นี้ไม่ใช่การทำร้ายร่างกาย แต่เป็นการเถียงกันด้วยข้อมูล เป็นค่านิยมแห่งคนรุ่นใหม่ ได้แก่ การใช้ “หลักฐาน” “ข้อมูล” และ “ความไม่มั่ว”

 

ออกมาด้วยความหวัง

โดยไม่ได้นัดหมาย ทั้งสามคนต่างทิ้งท้ายด้วยความหวังและอนาคตที่ยังไงก็ต้องเปลี่ยนแปลง

ลูกเกด (27) กล่าวว่า “ก็ยังไม่ถอดใจกับประเทศนี้ ต่อให้ใครจะไล่เราไปที่อื่น เราก็ไม่ได้อยากไป เราไม่ได้ชังชาติ เราแค่อยากให้ชีวิตไปข้างหน้า”

เธอมองเห็นว่าฝ่ายต่อต้านกระบวนการเคลื่อนไหวกำลังสู้กับสิ่งที่ไม่มีวันเอาชนะได้ นั่นคือความเปลี่ยนแปลง

“จากโทรศัพท์ปุ่มกดยังต้องเปลี่ยนเป็นโทรศัพท์มือถือ จากเสลี่ยงเป็นรถ ไม่ใช่ว่าคุณขี่ช้างแล้วจะขี่ช้างได้ตลอดไป ต่อให้อยากอนุรักษ์ไว้แค่ไหน” มวลชนนำมาซึ่งชัยชนะทางความคิดแล้ว “อนาคตเราชนะแน่ๆ”

นอร์ธ (30) บอกว่า “นี่เป็นการต่อสู้ระยะยาวเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรม ฉะนั้น ต้องสู้กันไปเรื่อยๆ…อย่าเพิ่งท้อกันไปก่อน…ไม่ว่าช้าหรือก็เร็วความเปลี่ยนแปลงก็ต้องเกิด” เธอเต็มไปด้วยความหวัง เพราะประจักษ์ด้วยตัวเองว่าสังคมมาไกลขนาดไหน หลายอย่างที่เคยเป็นเรื่องต้องห้ามก็เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง

พาย (24) กล่าวว่า “อยากให้คนมีหวัง เราก็อ่านมาเยอะ แม้จะไม่เท่าคนแก่ๆ ยุคนี้มันทำให้เราเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น ไม่ว่าจะเกิดอะไรยังไงขึ้น ยังไงมันต้องเปลี่ยน มันหยุดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ขนาดเคสที่มันแย่ที่สุด มีคนตาย มีรัฐประหารก็ยังคิดว่าจะหยุดได้ แต่ก็หยุดไม่ได้ เพราะความคิดคนมันแข็งแกร่ง”

 

สุดท้าย สรุปจากทั้งสามคน ศัตรูที่แท้จริงของผู้มีอำนาจจึงไม่ใช่ม็อบและมวลชน

หากแต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าจะต้องมาถึงสักวันหนึ่ง

พวกเขาต่างรู้ว่าการเรียกร้องครั้งนี้เป็นเกมระยะยาวไม่ใช่ระยะสั้น เป็นกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่ชัยชนะที่คว้ามาประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็จบไป

เหนืออื่นใดพวกเขาขับเคลื่อนด้วยความหวัง อนาคตยังมีพื้นที่ให้พวกเขาช่วงชิง

สักวันหนึ่งสังคมจะต้องเปิดกว้างกว่านี้ ไม่มีใครหยุดสิ่งนี้ได้