มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส/ สะพานวุฒิกุล

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

สะพานวุฒิกุล

 

พอมองบ้านมองเมืองพาดพิงถึงสะพานสูงที่บางตะบูน ก็มีคนส่งเสียงก้องกลับมาว่า สะพานของกรมทางหลวงที่สวยๆ ก็มีเหมือนกัน และแนะนำให้ไปมองสะพานเล็กๆ อยู่ไกลถึงเมืองตาก

สะพานที่ว่านี้ ชื่อ สะพานวุฒิกุล อยู่บนทางหลวงหมายเลข 104 เดิมคือหมายเลข 1 สายเก่านั่นเอง ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ใช้ถนนสายเอเชีย เลยไม่ค่อยมีใครผ่าน

สะพานวุฒิกุล เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิง อยู่ระหว่างบ้านวังเจ้า จังหวัดตาก และบ้านโกสัมพี จังหวัดกำแพงเพชร

ความสวยงามของสะพาน มาจากการเลือกรูปแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก โค้งแบบคันธนู และมีเหล็กเส้นดึงคานและพื้นสะพาน คล้ายสะพานอีกหลายแห่ง ที่สร้างในยุคสมัยใกล้กัน

เช่น เดชาติวงศ์ นครสวรรค์ สะพานรัษฎาภิเศก ลำปาง สถานีรถไฟทาชมภู ลำพูน

 

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งห่างไกล ด้วยความกว้างของแม่น้ำกว่า 100 เมตร ด้วยความรู้ทางด้านการออกแบบสะพาน ด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างสะพานแห่งนี้ยาวนานหลายสิบปี เพื่อจะสู้กับปัญหาการสร้างตอม่อ กลางแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว

ดังนั้น แม้จะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 แต่ตัวตอม่อกลางสะพาน ถูกกระแสน้ำพัดพา บริษัทอิตาเลียน เลยเสนอแบบไม่มีตอม่อกลางน้ำ

แต่มีปัญหาแบบไม้โครงสร้างคอนกรีตเกิดพังทลายลง มีคนงานเสียชีวิต

จนถึงปี 2496 จึงเปลี่ยนกลับไปสร้างแบบเดิม ที่มีตอม่อกลางน้ำ และใช้เทคนิคอัดแรงโครงสร้างคอนกรีตโค้ง ช่วยให้แข็งแรงและรับแรงได้มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 ธันวาคม 2493 จึงมีประกาศให้สะพานข้ามแม่น้ำปิง ที่วังเจ้า นามว่า สะพานวุฒิกุล

เพื่อเป็นเกียรติแก่นายอุทัย วุฒิกุล นายช่างหัวหน้ากองออกแบบกรมทาง ผู้ออกแบบและอำนวยการก่อสร้าง

 

มองบ้านมองเมือง เลยอยากเสนอให้กรมทางหลวงกลับมาใช้วิธี ตั้งชื่อสะพานที่จะสร้างต่อไป ตามชื่อผู้ออกแบบ

เพื่อให้ผู้คนได้ชื่นชมกับสะพานที่สวยงาม เหมือนสะพานวุฒิกุล

หรือบ่นว่า หากผู้ออกแบบไม่คิดอะไร เอาง่าย ใช้แบบมาตรฐานกรม

ด้วยวิธีนี้ บ้านเมืองไทยคงจะมีสะพานสวยๆ เหมือนในอดีต