ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : สื่อยุคใหม่(จบ) “อยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อป” นักเสียดสีสังคมบนโลกโซเชียลมีเดีย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

“การเมืองไทยตั้งแต่สิบปีมานี้ ตั้งแต่รัฐประหารทักษิณมา เราจะพบว่าบ้านเมืองเรามันมีความผันผวนในหลายๆ เรื่อง ในการต่อสู้เชิงการเมืองทุกคนก็มีวาทกรรมของแต่ละฝ่าย วาทกรรมคนดีก็ดี หรือวาทกรรมอะไรต่ออะไร มันก็ต่อสู้กันมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา” ประกิต กอบกิจวัฒนา เจ้าของเพจ “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป” กล่าว

“แต่จุดที่เปลี่ยนผมจริงๆ คือตอนปี 2553 ที่มีการสลายการชุมนุม เป็นจุดที่กระทบใจผมมากที่สุด เพราะสถานการณ์นี้มันอยู่ใกล้กับออฟฟิศผม ผมเป็นคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมันทุกวัน”

“ในวันที่ยิงกันตายเยอะ บอกตรงๆ เลยว่าผมสะเทือนใจ ไม่ว่าสีไหนตายก็เถอะ เพราะผมคิดว่าผลสุดท้ายแล้วประชาชนเป็นหยื่อ แล้วสิ่งที่แม่งกระทบใจผมมากที่สุดคือ หลังจากฆ่ากันตายเสร็จ อีกสองวันก็มี Big Cleaning แล้วเราก็จะ Sale กันอีกว่ะ คำถามคือว่าเราจะลืมกันง่ายๆ อย่างงี้เลยหรือ ผมว่านี่มันเป็นสิ่งที่โคตรดัดจริตเลยนะ”

“ผมรู้สึกว่าชีวิตคนกรุงเทพฯ ไม่ได้คิดอะไรไปไกลกว่าเรื่องของการช็อปปิ้ง คุณแค่อยากจะปัดปัญหาให้พ้นๆ ไปจากชีวิต แต่ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันใหญ่และหนักหนาเกินกว่าจะกวาดมันเข้าไปใต้พรมแล้วกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ เรารู้สึกว่า เฮ้ย! ชีวิตคนมันราคาถูกขนาดนี้เลยเหรอวะ?”

“เราไม่สนใจเลยเหรอว่าเขาเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ด้วยความอัดอั้นตันใจก็เลยหยิบรองเท้าเมียมาคู่นึง ที่แรกก็จะใช้เป็นเชิงสัญลักษณ์น่ะ เอามาเขียนตัวหนังสือลงไปเลยว่า “ไม่มีอะไรแพงกว่าชีวิตของคนไทยหรอก””

“ใจจริงคือ ถ้าวันนึงมีโอกาส เราอยากจะไปตั้งในห้างที่เขา Sale กันเลย พอทำชิ้นนั้นมันก็จุดประกายความคิดว่า การเขียนอะไรบนวัตถุที่มันสะท้อนภาพชีวิตของคนเมืองมันดูน่าสนใจดี มันก็เลยตามมาด้วยถุงช็อปปิ้ง แล้วก็ตามมาอีกหลายชุด”

“คือผมเองก็หยิบยืมสิ่งที่ แอนดี้ วอร์ฮอล ใช้ในงานศิลปะมาใช้ทำงานด้วยส่วนนึง ผมรู้สึกว่าในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรง เราจะเห็นเลยว่ามันมีวาทกรรมมาจากสองฝั่ง เป็นวาทกรรมชุดที่ถูกผลิตซ้ำๆ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ แอนดี้ วอร์ฮอล ทำและเคยกล่าวเอาไว้ว่า การกระทำซ้ำมันก็สะท้อนเรื่องสังคมการผลิตของอเมริกัน อย่างเช่นพอ มาริลีน มอนโร ดัง มันก็จะมีการปั้นผู้หญิงผมบลอนด์หน้าอกใหญ่ เป็นผู้หญิงไทป์เดียวกับ มาริลีน มอนโร ขึ้นมาในยุคนั้นหลายคน หรือแม้แต่ดนตรีร็อกแอนด์โรลก็คือการอยากจะเป็นแบบเอลวิส”

“ประเทศไทยเองมันก็มีวาทกรรมเยอะแยะไปหมด สังคมไทย พอพูดถึงคนดี คนเลว มันก็มักจะมีรูปแบบสำเร็จรูป ชุดความคิดสำเร็จรูป “คนดีต้องเป็นแบบนั้น คนเลวต้องเป็นแบบนี้” ก็เลยหยิบยืมชุดความคิดสำเร็จรูปเหล่านี้มาใช้ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคนดีสำเร็จรูป นักวิชาการสำเร็จรูป สื่อมวลชนสำเร็จรูป ก็เป็นการผลิตซ้ำๆๆ แล้วสังคมไทยแทบจะไม่มีใครคิดออกไปจากกรอบนี้เลย”

“พอคุณตัดสินอะไรบางเรื่องคุณก็ใช้กรอบนี้เป็นตัววัดน่ะ พอทำไปทำมาสักพักนึง ตอนหลังๆ ผมว่าพื้นที่การเมืองมันไม่ใช่เรื่องของการเมืองอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของอีกหลายๆ เรื่องที่มันมีผลกระทบกับเรา”

“ตอนหลังๆ ผมไม่ได้ทำเรื่องการเมืองอย่างเดียวแล้ว อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมผมก็ทำ”

 

นอกจากจะเป็นพื้นที่ในการแสดงงานศิลปะในเชิงสะท้อนสังคมของประกิตแล้ว เพจ อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป ของเขายังกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ถูกหยิบฉวยไปใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในและนอกบริบททางการเมืองและสังคมก็ตามที รวมทั้งคำว่า “เมืองดัดจริต” ก็ถูกนำไปบรรจุไว้ในพจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย ในเว็บไซต์ thaipolitionary.com อีกด้วย

“จริงๆ ในยุคแรกๆ ผมเริ่มทำมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว แต่ในช่วงนั้นมันเป็นการทำส่วนตัวโดยไม่มีพื้นที่แสดง แล้วในเมืองไทยมันก็ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้แสดงงานศิลปะเกี่ยวกับการเมืองเท่าไหร่หรอก แล้วสิ่งที่เราทำเนี่ยมันจะเป็นศิลปะหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ จริงๆ มันน่าจะเป็นบันทึกความคิดมากกว่า ด้วยความที่เราอยู่ใจกลางเมืองด้วยมั้ง มันเลยทำให้เราเห็นความแปลกแยกอะไรบางอย่างที่มันน่าสนใจ เราก็เลยหยิบมาทำ แต่พอเรามาเจอเฟซบุ๊ก ก็เลยทำให้เรามีโอกาสเผยแพร่งานในวงกว้างขึ้น มันเปิดโอกาสให้เรามีพื้นที่ในการแสดงออก”

“ชื่อของเพจมันมาจากการที่ผมหมั่นไส้ความดัดจริตของคนกรุงเทพฯ น่ะ ถามว่ามันคืออะไร? มันคือความหน้าไหว้หลังหลอก ความสองมาตรฐาน อันเป็นบุคลิกของคนกรุงเทพฯ ตอนจะทำเราก็คิดว่าจะใช้ชื่ออะไรที่มีคำว่าดัดจริต แล้วงานเรามันก็ดูป๊อปๆ ก็เลยตั้งชื่อให้มันสอดคล้องกันว่า “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป””

“ปรากฏว่าไอ้ชื่อนี้มันก็ไปโดนใจคน บางทีเผลอๆ โดนมากกว่าตัวงานอีก มันก็เลยกลายเป็นคำที่ป๊อปปูล่าร์ กลายเป็นสโลแกน ผมก็เลยหยิบชื่อนี้มาทำเป็นเพจ แล้วก็เอางานทั้งหมดอัพโหลดขึ้นเฟซบุ๊ก”

“ไอเดียที่เราทำมันอาจจะไปตรงกับความคิดหรือถูกจริตคนในช่วงนั้น มันก็เลยประสบความสำเร็จ”

 

คงไม่เป็นการเกินเลยที่จะบอกว่า โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กนั้น เป็นการปฏิวัติรูปแบบของการแสดงงานศิลปะในปัจจุบัน เพราะนอกจากมันจะรวดเร็ว ฉับไว ทันใจ ไม่เสียเวลา ไม่ต้องรอต่อคิวแสดงงาน และสามารถเข้าถึงคนได้ทุกชนชั้นแล้ว (อย่างน้อยก็คนที่เข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้น่ะนะ) ข้อดีที่สำคัญที่สุดของมันก็คือ มันฟรี

“เฟซบุ๊กมันเป็นเครื่องมือ เป็นพื้นที่ในการแสดงออกอย่างเสรี ที่สำคัญมันดีกว่าหอศิลป์ตรงที่มันมีชีวิตคนจริงๆ เข้ามามีส่วนร่วม พูดไปเหมือนเราไปต่อต้านหอศิลป์ ซึ่งมันไม่ใช่ แต่เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าหอศิลป์บ้านเรานั้น วันที่ประสบความสำเร็จที่สุดของมันก็คือวันเปิด หลังจากนั้นมันก็ไม่ค่อยมีคนเข้าไปดูหรือเข้าไปมีส่วนร่วมอีก แล้วคนที่ไปก็จะมีแต่คนในแวดวงเดียวกันที่เข้าไปดู อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้านะ วัฒนธรรมการดูงานศิลปะบ้านเรามันไม่มีไง แต่วัฒนธรรมของโซเชียลมีเดียที่มันเกิดขึ้นมา”

“อย่างเฟซบุ๊กก็ดี มันก็เข้ามาตอบปัญหาตรงนี้ เพราะคนสามารถเข้าไปดูได้ทุกวัน มันไม่มีกรอบของเวลา แล้วมันสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี อย่างในเพจผมมันไม่จำเป็นต้องมีแต่คนที่ชอบผมอย่างเดียว คนที่ไม่ชอบก็เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ได้ มันมีการสื่อสารตอบโต้กันตลอดเวลา”

“อย่างเราโยนประเด็นเรื่องสังคมเข้าไปก็จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์เสมอ มันไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว เราสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะเรียกพื้นที่นี้ว่าอะไรดี ภัณฑารักษ์หรือนักประวัติศาสตร์ศิลปะอาจจะต้องมาให้คำจำกัดความแก่มันใหม่ อีกอย่างงานของผมมันเป็นคอนเซ็ปช่วล มันเป็นงานเชิงความคิด เพราะฉะนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องเห็นงานจริงก็ได้ เราดูในจอคอมพิวเตอร์มันก็ได้ผลไม่ต่างกัน”

“แล้วที่สำคัญผมคิดว่ามันได้เรื่องของอารมณ์ร่วมของสถานการณ์ใน ณ ปัจจุบันนั้น จังหวะหรือความอัพเดตมันเป็นส่วนนึงที่ทำให้งานนั้นมันมีพลังยิ่งขึ้น เพราะถ้าเราพูดในตอนที่มันผ่านพ้นไปสักสัปดาห์นึงมันก็จะไม่มีผลอะไรอีกแล้ว มันเหมือนเป็น Happening Art กลายๆ ด้วยส่วนนึง ถึงตัวมันจะเป็นภาพสองมิติบนจอแบนๆ ก็เถอะ”

 

นอกจากศิลปะแนวป๊อปและงานโฆษณาแล้ว งานศิลปะเชิงความคิดที่มีประเด็นที่ท้าทายสังคม ของศิลปินกลุ่มเซอเรียลิสม์ ดาดา และศิลปะแนวคอนเซ็ปช่วล ก็ส่งอิทธิพลทางความคิดอย่างสูงต่องานของประกิตด้วย

“ถ้าคุณกลับไปดูในยุคสมัยของกระแสเคลื่อนไหวศิลปะเหล่านั้นก็จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นในยุคสมัยที่สถานการณ์การเมืองมีความขัดแย้ง มีสงคราม ผมคิดว่าสถานการณ์ที่ขัดแย้งเป็นแรงขับเคลื่อนให้คนทำงานศิลปะ ไอ้สิ่งที่ผมทำ อยู่ดีๆ จะคิดขึ้นมาเองคงไม่ได้ มันต้องมีสถานการณ์บางอย่างที่มากระทบเรา แล้วเราก็โต้ตอบออกไป มันเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง”

อาจเป็นเพราะความที่ประกิตทำงานหลักอยู่ในวงการโฆษณา ไม่ได้เป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะเพื่อหาเลี้ยงชีพ ดังนั้น เขาจึงมีความยืดหยุ่นและอิสระในการทำงานศิลปะมากกกว่าศิลปินทั่วไป

“ด้วยความที่ผมไม่ใช่ศิลปินอาชีพมันเลยทำให้ผมไม่มีกรอบ ศิลปินหลายๆ คนที่ทำงานอยู่นี่ผมเคารพเขานะ แต่ผมไม่แน่ใจว่าการที่ศิลปินคนนึงจะต้องทำงานแนวเดียวไปตลอดชีวิตมันถูกต้องที่สุดหรือเปล่า แต่สำหรับผมเอง ความไม่มีกรอบ ไม่มีสูตรตายตัว มันอาจจะเป็นข้อแตกต่างกับศิลปินอาชีพก็ได้มั้ง”

“ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องการสื่อสาร และดูปฏิกิริยาของคน เราอาจจะเป็นนักเล่นกับปฏิกิริยาของคนมากกว่าเป็นศิลปิน เพราะฉะนั้น รูปแบบหรือเทคนิคมันก็ต้องสดใหม่พอ มันไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความงามหรือสุนทรียะอะไรมากมาย คือเราปฏิเสธไม่ได้ว่าความงามมันเป็นพื้นฐานของคนเรียนศิลปะอยู่แล้ว แต่บางครั้งความงามก็ยังมาทีหลังเรื่องที่เราจะสื่อสารอยู่ดี”

“และถึงแม้ความมีชื่อเสียงในโลกออนไลน์จะผลักดันให้เขามีโอกาสแสดงงานในพื้นที่ในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างหอศิลป์และสถาบันต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง อาทิ ในนิทรรศการศิลปะเพื่อเสรีภาพ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในปี 2556 และในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Conflicted Visions ที่หอศิลป์ WTF Gallery ในปี 2557 รวมถึงได้ตีพิมพ์ผลงานศิลปะเป็นคอลัมน์ประจำในนิตยสาร WAY แต่พื้นที่หลักในการแสดงงานศิลปะของเขาก็ยังคงเป็นโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กอยู่ดี”

“ถ้าเราต้องการกระตุ้นคนในวงกว้าง เครื่องมือในเฟซบุ๊กก็ยังคงมีประสิทธิภาพที่สุด พื้นที่แกลเลอรีก็เคารพนะ แต่สำหรับผมผมคิดว่ามันก็สื่อสารได้กับแค่คนในวงการศิลปะ ซึ่งผมไม่เคยถือว่าตัวเองเป็นศิลปิน แต่เรียกตัวเองว่าเป็นนักสื่อสารมากกว่า คล้ายๆ คนทำโปสเตอร์ต่อต้านสงครามยุค 70 น่ะ ผมคิดว่ากรอบ ขนบ และรากฐานของศิลปะมันเป็นกรงที่กักขังเรามากๆ”

“เมื่อสองสามปีที่แล้วผมไปดูงานที่ฮ่องกง ได้ไปเห็นงานของศิลปินจีน ผมพบว่าพลวัตของความคิดมันไปไกลกว่าเรามากๆ โลกศิลปะในปัจจุบันมันไม่ใช่ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” อีกต่อไป คุณค่าของศิลปะในแต่ละยุคมันไม่เหมือนกัน”

“ถามว่าศิลปินที่ทำงานตอบสนองสุนทรียะหรือการค้นหาจิตภายในของเราอย่างเดียวมันเป็นได้ไหม? มันเป็นได้นะ แต่มันจะยืนอยู่บนโลกใบนี้ในปัจจุบันมันยาก เพราะปัจจุบันงานศิลปะมันไปอยู่บนพื้นที่ของการเมืองโลก อยู่บนพื้นที่ของการต่อสู้ทางสิ่งแวดล้อม ไปอยู่ในหลากหลายพื้นที่นับไม่ถ้วน”

“ผลสุดท้ายผมคิดว่างานศิลปะมันควรจะมีประเด็นต่อสังคม ผมไม่เคยเชื่อว่าศิลปะมันจะอยู่ลอยๆ โดดๆ โดยไม่เกี่ยวกับอะไรเลยได้ ศิลปะมันมีปฏิสัมพันธ์กับการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ศาสนามาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว เพียงแต่มันจะถูกนำไปรับใช้อะไร ถ้าคุณดูศิลปะตะวันตกศิลปินอย่าง ไมเคิล แองเจโล เอง ก็รับใช้ศาสนจักร รับใช้สันตะปาปา ลัทธิการเมืองอย่างนาซีก็ใช้ศิลปะในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง หรือแม้แต่การต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองการต่อสู้เพื่อสันติภาพเองก็ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเช่นเดียวกัน”

จริงอยู่ ที่ศิลปะมันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการเมืองเสมอไป แต่อันที่จริงแล้ว อะไรๆ ในโลกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างแม่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะได้ แม้แต่เรื่องการเมืองต่างหาก จริงไหมครับท่านผู้อ่าน?