มือถือคือผู้ฆ่า ? เมื่อแบ่งโลกออกเป็น2ยุค คือก่อนมีมือถือกับหลังมีมือถือ : ฟ้า พูลวรลักษณ์

ฟ้า พูลวรลักษณ์

๑โลกหนังสือตายไหม คำตอบคือตาย

ใครคือผู้ฆ่าหนังสือ คำตอบคือโทรศัพท์มือถือ

โลกเราตอนนี้แบ่งออกเป็นสองยุคได้เลย คือ

๑ ยุคก่อนที่จะมีโทรศัพท์มือถือ

๒ ยุคหลังมีโทรศัพท์มือถือ

มันเป็นวัตถุเล็กๆ ที่เปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ มันเปลี่ยนโลก

สองภาพนี้แตกต่างกันใหญ่หลวง

๒ ลําพังโทรศัพท์มือถือ คงไม่เท่าไร แต่วันที่มันเชื่อมสัญญาณต่อกับ wi-fi ทันใดนั้นเอง มันก็เปลี่ยนไปมาก มันเชื่อมโยงกับ internet และทันใดนั้นเอง ที่มันกลายเป็นสิ่งมีชีวิต มันมีพลังมากกว่าตัวคอมพิวเตอร์ มากกว่าตัว internet เอง ตัวมันมีพลังมากกว่าสิ่งที่มารวมกันเป็นตัวมัน

ที่สำคัญคือมันเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ได้ ในความง่าย ในการที่มันอยู่ติดมือของเราทุกวันเวลา แม้แต่เวลาเดิน เวลากิน หรือเวลาขับรถ แม้แต่คนขับมอเตอร์ไซค์บางคนยังเล่นมือถือ

หนังสือจะไปสู้มือถือได้อย่างไร ไม่มีทางเลย

ในมือถือมีสิ่งให้อ่านสนุกสนานกว่าหนังสือมากมาย หนังสือจึงหมดความหมาย หากอยากอ่านหนังสือตลก ในมือถือมีเรื่องตลกมากกว่ามาก หากจะอ่านข่าวสาร ก็มีข่าวสารมากกว่ามาก

มองง่ายๆ คือ มองพจนานุกรม

สมัยก่อน ฉันมีพจนานุกรมเล่มใหญ่ ที่มีคำศัพท์ห้าแสนคำ ฉันใช้อย่างภาคภูมิ ในบรรดาพจนานุกรมที่เคยใช้มา เล่มนี้ดีที่สุด

แต่แล้วเมื่อมีมือถือ ที่เชื่อมต่อกับ wi-fi ฉันมีพจนานุกรมในมือถือ ที่มีคำศัพท์หลายร้อยล้านคำ มันเทียบกันไม่ได้เลย

ต่อให้ฉันยังอยากใช้พจนานุกรมเล่มนั้น ก็ทำไม่ได้ เพราะมันถูกบีบ ถูกจำกัด จนในที่สุดฉันก็จะทนไม่ไหวเอง ต่อให้รักมัน มองหาข้อดีของมันเพียงไหน ในที่สุด ฉันก็ต้องทิ้ง เพราะทนความรำคาญไม่ไหว

มันหมดยุคไปแล้วจริงๆ

นี้เพียงตัวอย่าง ที่จริงมันหมดทุกวงการ โทรศัพท์มือถือเปลี่ยนพฤติกรรมของเราหมด มันดูดเอาทั้งโลกเข้าไปในนั้น

เช่น ยุคก่อนมีมือถือ เนื้อเพลงมีความสำคัญ หากมีใครสักคนเอาเนื้อเพลงสักเพลงขึ้นมา ก็มีคุณค่า แต่วันนี้ มีเนื้อเพลงไม่สิ้นสุดในมือถือ มีเพลงไม่สิ้นสุดในมือถือ

มีภาพไม่สิ้นสุดในมือถือ

มีคลิปไม่สิ้นสุดในมือถือ

โลกไม่เปลี่ยนยุคได้อย่างไร

เนื้อเพลงหนึ่งเพลง จึงกลายเป็นเพียงฝุ่นกระจายหายไปในอากาศ

มันทำให้เราค่อยๆ กลายเป็นโลกาภิวัตน์ไปโดยปริยาย มันซึมเข้ามาเอง

เวลาเราใช้แชมพู เราคงไม่คิดหรอกว่า นี้เป็นแชมพูจากชาติไหน จากบริษัทใด ต้นทุนเท่าไร คนทำน่าสงสารมากน้อย เราจะคิดแต่ว่า เราชอบกลิ่นนี้ไหม ใช้ดีไหม กำจัดรังแคไหม สระแล้วสบายหัวไหม สรุปคือ เราคือผู้บริโภค เราคือชาวโลกคนหนึ่ง ที่ใช้เงินแล้วต้องการสิ่งที่ตอบแทนคุณค่าเงินของเรา

ความคิดนี้ไม่ผิด และห้ามไม่ได้ เวลาใช้กับแชมพู เราจะไม่รู้สึกว่าผิดตรงไหน

ลองเปลี่ยนมาเป็นหนังบ้าง หนังไทย ต้นทุนต่ำกว่าหนังฮอลลีวู้ดมากมาย ตลาดเล็กกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ แล้วจะสู้กันได้อย่างไร

แต่ความเป็นโลกาภิวัตน์ ทำให้หนังทุกชนิดต้องสู้กันบนสนามเดียวกัน ในมัลติเพล็กซ์เดียวกัน จะมีหนังใหม่เข้ามาทุกอาทิตย์ เขาเปลี่ยนหนังวันพฤหัสบดี จะมีหนังใหม่จากฮอลลีวู้ดอย่างน้อยสองสามเรื่อง บางสัปดาห์จะเป็นหนังยักษ์ บางสัปดาห์เป็นแค่หนังปานกลาง แต่ทุกเรื่องก็ล้วนมีต้นทุนสูงกว่ามาก เป็นพันเท่า อย่างน้อยก็ร้อยเท่า มีทีมงานที่แข็งแกร่งกว่า มีดาราผู้กำกับฯ ที่เก่งกาจ มีเทคนิคที่เหนือชั้นกว่า แบบนี้จะสู้กันยังไง จะโทษคนดูได้อย่างไร ในเมื่อคนดูคือผู้บริโภค เขาจ่ายเงินไม่น้อย ก็ต้องอยากดูหนังที่ดีที่สุด ที่สำคัญคือยิ่งนับวันรสนิยมจะเปลี่ยน ผู้คนจะคุ้นเคยกับกลิ่นนี้ รสนี้ เหมือนติดในแชมพูยี่ห้อนี้ ติดในกลิ่นนี้

หนังก็มีกลิ่น มีรสเช่นกัน คิดง่ายๆ เช่น วิธีการตัดต่อ หนังฮอลลีวู้ดมีรสนิยมในการตัดต่อแบบหนึ่ง อาจแตกต่างกับหนังฝรั่งเศสมาก หากเราดูหนังฝรั่งเศสเสมอ เราอาจติดใจ และชอบวิธีการเล่าเรื่องแบบนั้น เหมือนกินอาหารฝรั่งเศสจนติด แต่หากเรานานๆ ดูที ก็จะรู้สึกแปลกๆ บางคนอาจทนดูไม่ได้เลย เหมือนไม่เคยกินอาหารรสนี้

ทุกวันนี้เราติดในรสของหนังฮอลลีวู้ด คุ้นเคยกับวิธีการเล่าเรื่อง วิธีการตัดต่อ ไปจนถึงติดในดารา ติดในผู้กำกับฯ ติดในมุมมองของภาพ มันซึมเข้ามาเอง

พฤติกรรมเราเปลี่ยนไป และหนังไทยก็ยากจะรอดได้ โอกาสรอดจะน้อยลงปีต่อปี ปีนี้ยิ่งยากกว่าปีก่อน และปีหน้าจะยิ่งแย่ หากเราคิดถึงความแฟร์ มันไม่แฟร์เลย แต่เราไม่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวโลก

หนังเป็นตัวอย่าง ที่จริงมันจริงในทุกวงการ ในทุกการเกษตร ในทุกสวน ในทุกสินค้า โลกแห่งโลกาภิวัตน์ คือโลกแห่งการไม่แฟร์ และไม่มีทางแฟร์ไปได้

อย่างที่ฉันบอก โลกแบ่งออกเป็นสองยุค ยุคก่อนมีมือถือ กับยุคหลังมีมือถือ

เวลาฉันนึกถึงยุคสมัยก่อนที่จะมีมือถือ ฉันตกตะลึง ภาพทุกภาพไม่เหมือนวันนี้ ทุกพฤติกรรม ทุกความหมายเปลี่ยนแปลงไปหมด

ทุกรายละเอียดจริงๆ

อยากสร้างหนังย้อนยุค แค่ย้อนไปสู่ยุคที่ไม่มีมือถือ เพียงเท่านั้นภาพที่ปรากฏก็แตกต่างมากเป็นสองโลก

หากคุณไม่เชื่อ คุณลองหลับตาคิดดูเอง ยกเว้นแต่ว่าคุณเกิดมาในยุคที่มีมือถือแล้ว ดังนั้น คุณจะนึกไม่ออก แต่ฉันนึกออก และตื่นตะลึงไม่วาย

แสบจริงๆ วัตถุเล็กๆ ชิ้นเดียวนี้

ยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ ยิ่งกว่าสิ่งก่อสร้างใด ยิ่งกว่ายานลำใหญ่

ต่อให้คุณเป็นเด็กกำพร้า ที่กำลังหลงทางในยุคนี้

คุณก็มีมือถือ

ต่อให้ตัวเองไม่มี ก็แอบใช้ของคนอื่นได้

ยืมคนอื่นได้

ที่จริงเหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว วันที่โลกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในปี 1990 นั่นคือการผลิตรถยนต์

ทันทีที่มีการผลิตรถยนต์แบบ mass โลกเปลี่ยนไปเลย หน้าตาของถนนหนทาง การเดินทาง การแต่งกาย มันเปลี่ยนเพราะพฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยน

ทันใดนั้นเองเคาบอยก็กลายเป็นสิ่งหลงยุค

เหล่ามือปืนขี่ม้า ก็หมดความหมาย

หนังสือก็คือเคาบอย

หนังไทยก็คือหนึ่งในเคาบอย