มองปรากฎการณ์ หลังองค์กรศาสนามุสลิม จัด “ปกป้องสถาบันกษัตริย์”

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

วิวาทะ “ว่าเป็นการเมืองหรือไม่ในภาวะสังคมไทยที่มีความขัดแย้งแบ่งฝ่ายชัดเจน” ในโลกออนไลน์น่าจะมากที่สุดเท่าที่ติดตามประชาคมมุสลิมในประเทศไทยหลังจากวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 มีการจัดกิจกรรม “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ร่วมจัดโดยสำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยมีนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เป็นประธาน ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เขตหนองจอก กทม.

ซึ่งในกิจกรรมนี้ชาวมุสลิมสวมเครื่องแต่งกายสีเหลืองจำนวนนับพันคนเพื่อร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ “ให้คงอยู่ตลอดไป”

ผู้เขียนคงไม่ตัดสินว่าเป็นกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่อย่างไรในบทความนี้ เพียงแต่อยากจะสะท้อนว่า

“คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสังคมประชาคมมุสลิมเอง ได้รับสิทธิพิเศษมากมายเช่นกันจากสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การถือกำเนิดประชาคมมุสลิมโดยเฉพาะที่กรุงเทพมหานครและภาคกลาง ผ่านเรื่องเล่า (narrative) มุสลิมก็ไม่ต่างจากคนไทยอื่นๆ ที่มีความขัดแย้งในทางการเมืองอยู่ก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน อันจำเป็นที่จะกลับมานั่งคิดอย่างมีสติ ว่าเราจะออกจากหล่มความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร”

ผู้เขียนมีทัศนะว่า ข้อเสนอแนะจากสำนักจุฬาราชมนตรี เรื่องการเปิดพื้นที่กลางปลอดภัย การพูดคุยอย่างอารยะ (https://news.thaipbs.or.th/content/298161) น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเช่นกัน เพราะความขัดแย้งครั้งนี้เป็นความแย้งทางอุดมการณ์สองชุดที่แตกต่างจากคนสองวัย และพยายามเอาหลักการศาสนามาอธิบายสร้างความชอบธรรมซึ่งมีโจทย์มากกว่าความขัดแย้งทางการเมืองจากอดีตมากๆ เมื่อความขัดแย้งครั้งนี้เป็นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ซึ่งนักวิชาการที่ศึกษาด้านความขัดแย้งโลกมองว่า เป็นความขัดแย้งเชิงคุณค่าทางจิตวิญญาณซึ่งเขาพร้อมแม้แต่จะสละทรัพย์สมบัติ เวลา แม้กระทั่งชีพโดยไม่ต้องถามเหตุผล (ลองดูงานศึกษาของ รศ.ดร.มารค ตามไท) ยิ่งระหว่างคนสองวัยที่สัมพันธภาพค่อนข้างจะห่างกันในยุคสื่อไวที่ไร้พรมแดน

ดร.อิลยาซ หญ้าปรัง นักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Muslim Study, Islamic Thought คนหนึ่งของมุสลิมไทยให้สัมภาษณ์ The Momentum ว่า

“เมื่อพูดถึงศาสนา มันหมายถึงชุมชน คือสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสังคมไหนที่ไม่เปลี่ยนแปลง หากศาสนาไม่รับมือกับการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าศาสนาคุณมีปัญหา ท้ายที่สุดศาสนาคุณก็ตกยุคไป หรือว่าหายไป แต่พิสูจน์แล้วว่าอิสลามไม่ได้ตกยุคและหายไป มิหนำซ้ำยังเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าในอิสลามมีกลไกบางอย่างคอยอธิบาย ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงตามบริบททางสังคม”

ความท้าทายคือเราจะออกแบบพื้นที่กลางปลอดภัยนี้อย่างไร ภายใต้หลักเสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ รวมทั้งการทบทวนพระราชบัญญัติว่าด้วยกิจการอิสลาม ที่ประกาศใช้เมื่อ 23 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2540)

ที่พูดถึงสำนักจุฬาราชมนตรี พูดถึงคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยและจังหวัด ซึ่งมีอำนาจและผลประโยชน์ทับซ้อน มีนักการเมืองทั้งท้องถิ่นและระดับชาติอยู่ในองค์กรเหล่านี้ มีเรื่องการบริหารกิจการฮาลาลที่กำลังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในวงการประชาคมมุสลิม

เหล่านี้ผูกโยงกับวิถีชีวิตด้านศาสนาของมุสลิมว่าจะปรับปรุงกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาใต้พรม คุยวิจารณ์เฉพาะในร้านน้ำชา เพื่อสถาบันที่โปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้

#พื้นที่กลาง ภายใต้หลักเสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ คือความท้าทายที่เราจะออกแบบพื้นที่กลางปลอดภัยนี้อย่างไร ภายใต้หลักเสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ

ซึ่งทั้งสามหลักนี้จะต้องทำงานอย่างลงตัวและบูรณาการไม่แยกส่วน เพราะมันตั้งอยู่บนแก่นแกนฐานคิดร่วมหนึ่งเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการอิสลามคือ Hurriah Adalah Ukhuwah

เพียงแต่ผู้เขียนมองว่าควรให้ความสำคัญคำว่าภราดรภาพหรือความเป็นพี่น้องกันก่อน หลังจากนั้นเป็นความยุติธรรมซึ่งมีความหมายครอบคลุมกว่าเสมอภาคและเสรีภาพอยู่อันดับสุดท้าย

ในขณะเดียวกันยังสอดคล้องกับสิ่งที่อิสลามสอนให้ประชาคมมุสลิมตักเตือนและแก้ไขซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะผู้นำอันเป็นคำปรารภของท่านอาศิส พิทักษ์คุมผล จุฬาราชมนตรีซึ่งเคยปรารภเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรีใหม่ๆ (ซึ่งคำปรารภนี้เหมือนกับผู้นำศาสนาอิสลามในอดีตเคยกล่าวไว้เช่นกัน)

“ท่านที่เคารพรักทั้งหลาย บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของพวกท่าน และไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะดีที่สุดไปกว่าพวกท่าน ดังนั้น หากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายได้โปรดให้ความช่วยเหลือแก่ข้าพเจ้าด้วย และหากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันแก้ไข ให้ข้าพเจ้าได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง …ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ก็ขอให้ท่านโปรดเชื่อฟังข้าพเจ้า และหากข้าพเจ้าไม่เชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ ดังนั้น พวกท่านก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเชื่อฟังข้าพเจ้า”