#เสียดใจ ทหารห้ามจีบพยาบาล เพราะไม่บรรจุน้องเป็นข้าราชการ

กระแสดราม่าโหมกระพืออย่างหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง ครม. มีมติไม่อนุมัติอัตราข้าราชการพยาบาลจำนวน 10,992 อัตรา เนื่องจากไม่สามารถจัดสรรตำแหน่งที่ว่างกว่า 10,000 ตำแหน่งให้พยาบาลทั้งหมดได้

ทำเอาเกิดกระแสคัดค้านจากพยาบาลทั้งหลาย

ซึ่งเพจ Nurse team thailand ถึงขั้นประกาศว่า หากไม่บรรจุจะลาออกยกกระทรวง 30 กันยายนนี้

เหล่าพยาบาลคัดค้านออกมาในหลายรูปแบบ

ทั้งการออกมาประกาศจุดยืนของพยาบาลจังหวัดน่าน

การแปลงเนื้อเพลงคำแพง ของศิลปิน แซ็ค ชุมแพ ส่งสารไปยังลุงตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำนองว่า รัฐไม่เห็นความสำคัญฟังเสียงลูกจ้างชั่วคราว

พร้อมแฮชแท็ก #หรือว่าเสียงของพยาบาลอย่างเรามันไม่มีค่า #ขออนุญาตระบายความรู้สึก #อยากชวนมาเฝ้าคนไข้ทั้งคืนด้วยกันจะได้เข้าใจเรามากขึ้น #SaveNurse #บรรจุพยาบาลเพื่อดูแลประชาชน

เนื้อหาเพลงนั้นก็ช่างเสียดสีรัฐบาลยิ่งนัก

“เขาคงไม่แคร์พวกเจ้า เราคงทำอะไรไม่ได้ ขึ้นแต่เวรเหนื่อยใจเหนื่อยกาย แต่สุดท้ายรัฐไม่เห็นความสำคัญ ฟังเสียงของเราหน่อยยังดี ผลดีอาจเป็นของเจ้า ฟังเสียงลูกจ้างชั่วคราว หรือว่าเสียงเฮาบ่มีค่า

งึดสมองรัฐที่คิดได้แต่ละอย่าง ซื้อเรือดำน้ำมาดักปลาวาฬมันบ่ใช่ คนป่วยกะหลาย ขึ้นเวรเกือบตาย เจ้ากะบ่หัวซา ยางเบิงคนไข้เทิงอยากหลับบ่ได้นอน รัฐบ่เคยมองแค่อยากให้บรรจุให้ เบื่อรัฐหลาย เบื่อรัฐหลายได้ยินบ่ เป็นจังได๋หน่อทางรัฐ รีบอนุมัติตัดสินใจ ไม่อย่างนั้นมีทางเดียว คือต้องไฝว้ (ซงยากหลาย ถ้ายากหลาย ลาออกซะบ่อหนอ รอฟังอยู่เด้อ ลุงตู่)”

หรือการโพสต์สเตตัสของเพจสมาคมคนรักพยาบาลแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า ทหารห้ามจีบพยาบาล!!!! #เพราะทหารไม่ให้เราบรรจุข้าราชการ จนเป็นที่โด่งดังในโลกโซเชียล เพราะลุงตู่ไม่อนุญาตให้บรรจุ กลายเป็นประเด็นดราม่าปนฮา ที่บางคนก็บอกไม่สน ยังไงก็จะจีบ

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนภาพการเหมารวมอย่างเห็นได้ชัด คนไม่อนุมัติคือรัฐบาลทหาร แต่ทหารชายทั้งหมดกลับโดนมองว่ามีส่วนผิดไปด้วย

แม้หลายคนจะไม่เห็นด้วย แต่บางคนก็คล้อยตามความคิดนี้อย่างช่วยไม่ได้

แล้วมันเพราะอะไร?

บางคนก็บอก เพราะอาชีพพยาบาลกับความมั่นคงมันเทียบกันไม่ได้

บางคนก็บอก เพราะทั้งสองอย่างสำคัญกับรัฐไม่ต่างกัน

หากขาดพยาบาลของรัฐ ประชาชนก็แย่ หากขาดความมั่นคงของประเทศ รัฐก็แย่

แต่เพราะพยาบาลวิชาชีพชั่วคราวคือปุถุชน

ปุถุชนที่ชีวิตจริงไม่ได้มีชีวิตสวยหรูเหมือนอาชีพทั่วๆ ไป โดยเฉพาะพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวในสังกัดของรัฐ ซึ่งเราสามารถนิยามได้เลยว่า

โหมงานหนัก เงินเดือนน้อย คุณภาพชีวิตต่ำ

เพราะบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นที่รู้กันว่าขาดแคลน ส่งผลให้ต้องทำงานหนักและมีความรับผิดชอบมากมายในหน้าที่ แถมไม่มีหลักประกันว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ สิ่งเหล่านี้ว่าย่ำแย่แล้ว แต่ค่าตอบแทนนั้นแย่กว่า เพราะฐานเงินเดือนนั้น เริ่มต้นที่ 11,000-12,000 บาท ปีไหนเงินไม่มีก็ขึ้นเงินเดือนไม่ได้ ผิดกับข้าราชการที่ขึ้นเงินเดือนทุกปีตามลำดับขั้น ถึงแม้จะมีค่าเวรแต่ก็ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป เนื่องจากต้องทำงานต่อเนื่องกว่า 15-20 ชั่วโมงในหนึ่งวัน

ในแง่สวัสดิการ พนักงานชั่วคราวได้แค่สิทธิรักษาพยาบาลด้วยประกันสังคม ขณะที่ข้าราชการเป็นสิทธิเบิกจ่ายตรงซึ่งสามารถดูแลคนในครอบครัวได้

และที่สำคัญ แม้มีวันลาหยุด ก็ยากที่จะหาวันลาได้ เพราะขาดบุคลากร

ต่างกับโรงพยาบาลเอกชน ที่มีคนไข้น้อยกว่า ไม่มีปัญหาขาดแคลนกำลัง เงินเดือนก็มากกว่าเกือบ 2 เท่า

ถ้าพยาบาลเหล่านี้ไม่อยู่ดูแลล่ะ

ผู้ที่เดือดร้อนคงหนีไม่พ้นพี่น้องประชาชน เพราะหากพยาบาลชั่วคราวที่มีประสบการณ์ลาออกจากการทำงานในโรงพยาบาลรัฐ กระทรวงสาธารณสุขก็จำเป็นต้องเร่งผลิตบุคลากรขึ้นมาทดแทน ซึ่งความเสี่ยงอาจตกอยู่กับคนไข้ เนื่องจากพยาบาลหน้าใหม่ที่เพิ่งเรียนจบการศึกษา ประสบการณ์น้อย

ล่าสุด หลังจากการเรียกประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กระทรวงการคลัง เพื่อหาทางออกให้พยาบาลกว่า 10,992 ตำแหน่ง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี จนมีข้อยุติ

โดยจะนำอัตราว่างทั้งหมดจำนวน 2,200 อัตรามาใช้ในปี 2560 จากคำขอทั้งหมดกว่า 10,992 อัตรา ส่วนอัตราที่เหลือนั้นจะทยอยบรรจุใน 3 ปี เฉลี่ยปีละ 2,900 อัตรา โดยปี 2560 จะบรรจุทั้งสิ้นประมาณ 5,000 อัตรา ส่วนปี 2561 และ 2562 จะต้องนำอัตราข้าราชการเกษียณในแต่ละปีที่มีอยู่เกือบ 800-900 อัตรามารวมจะทำให้สามารถบรรจุได้ปีละ 3,000 กว่าอัตรา

นับเป็นข่าวดีของพยาบาลวิชาชีพชั่วคราวทั่วประเทศที่นายกฯ ประกาศไฟเขียวเตรียมอนุมัติตำแหน่งข้าราชการให้ในสัปดาห์หน้า (23 พ.ค.) นี้

ถือว่ารวดเร็วทันใจ

แต่หากกลุ่มพยาบาลวิชาชีพบางส่วนยังไม่พอใจ และยืนยันจะลาออก พลเอกประยุทธ์ก็บอกชัดเจนเช่นกันว่าก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะถ้าให้บรรจุ 10,992 อัตราจะนำงบประมาณมาจากที่ใด และทุกกระทรวงมีหลักเกณฑ์บรรจุข้าราชการตามขั้นตอนอยู่แล้ว ขออย่ามองเพียงข้าราชการอย่างเดียว ต้องดูในส่วนอื่นๆ ด้วย พร้อมยอมรับว่าพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญ แต่รัฐบาลได้มีการตั้งเป้าหมายความจำเป็นในการบรรจุข้าราชการพยาบาลในแต่ละปีไว้แล้ว และไม่สามารถห้ามพยาบาลไม่ให้ลาออกได้

ถึงกระนั้น นายกฯ ก็ยังมีแอบขู่เหล่าพยาบาลด้วยว่า หากเรียกร้องกันมากจนสถานการณ์ไม่เรียบร้อยก็จะไม่ดำเนินการบรรจุให้

“เชื่อว่าแพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่มีความเข้าใจ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น จึงขออย่าไปสร้างประเด็นดังกล่าวออกมา ไม่เช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวายและเกิดความเสียหายไปหมดทั้งข้าราชการ พนักงานและลูกจ้าง ส่วนที่มีการระบุว่าสัดส่วนข้าราชการมีจำนวนมากเกินไปนั้น ก็จำเป็นต้องลดข้าราชการในกระทรวงอื่นออกไปด้วย แต่ที่ให้อัตราบรรจุข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขเป็นจำนวนมากนั้นเพราะเห็นถึงความจำเป็น”

“แต่หากทุกคนเรียกร้องทั้งหมดก็ไม่สามารถทำให้ได้ และหากยังมีบางส่วนไม่เห็นด้วย ก็ยังจะไม่บรรจุจนกว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย”

นอกจากนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ก็ออกมาบอกว่า ปัญหาการบรรจุพยาบาลชั่วคราวเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขในระยะยาว จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและกำลังพล เพื่อพิจารณากำลังพลในระยะยาว โดยแยกออกจาก คปร. ที่ดูอัตราข้าราชการภาครัฐทั้งหมด

ประเด็นพยาบาลในตอนนี้ก็เลยดูเหมือนจะจบด้วยดี แต่ไม่แน่ อีก 3 ปีอาจมีลุ้นกันใหม่

เนื่องจากล่าสุดหลังการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์เริ่มดีขึ้น กลุ่มพยาบาลยอมรับข้อตกลง แต่ขอให้มีมติที่เป็นลายลักษณ์อักษร และกระทรวงสาธารณสุขก็สัญญาว่า 3 ปีจากนี้จะบรรจุพยาบาลให้ได้ 13,000 คน

ใครจะรู้อนาคตในอีก 3 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลเปลี่ยนหน้า แฮชแท็ก ทหารห้ามจีบพยาบาล เพราะทหารไม่ให้เราบรรจุข้าราชการ อาจจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นอีกก็ได้