ค้นตัวตน แอดมินเพจทูตนอกแถว รัศม์ ชาลีจันทร์ เหตุใดไปร่วมม็อบ?

“เกษียณแล้วก็มีเวลาไปม็อบ เรามีความสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง ตอนนี้ผมเป็นประชาชนคนหนึ่ง มีความห่วงใยสถานการณ์ของประเทศ ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ก็น่าจะต้องยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศของเรามีปัญหา เพื่อให้ได้รับรู้ข้อเท็จจริงว่ามันเป็นอย่างไร จึงอยากไปเห็นด้วยตาตัวเองว่าเขาคิดอะไรกัน เราก็ลงไปสัมผัสข้อเท็จจริงด้วยตัวเองในม็อบ ไม่ใช่ผ่านจากสื่อหรือคำบอกเล่าของใคร พอได้ลงไปแล้วก็เห็นว่ามีการจัดการที่ดีมาก ผมพูดได้เลยว่าไม่มีม็อบไหนในโลกที่จะมีการบริหารจัดการเก่งเท่าเด็กๆ เหล่านี้ ชื่นชมว่าเก่งมาก”

นี่คือความในใจท่านทูตรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ ที่กล่าวหลังได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ม็อบนักศึกษาในห้วงที่ผ่านมา

ท่านทูตรัศม์มองว่า ทุกคนคิดตรงกันว่า อยากจะเห็นประเทศพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่านี้ ทุกวันนี้เรากำลังถดถอย เพราะว่าการที่เราย่ำอยู่กับที่ แต่ประเทศอื่นเขาก้าวไปข้างหน้าหมด เท่ากับว่าเราถอยแล้ว มันน่าเป็นห่วง

เราไปดูเลข GDP การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มาตรวัดต่างๆ ตลอดจนสังคม การเมือง สิทธิมนุษยชน ถดถอยลงหมดเกือบทุกด้าน จึงคิดว่าเราควรจะต้องยอมรับ และหาทางแก้ไขร่วมกัน

สิ่งที่เยาวชนออกมาเขาก็เป็นห่วงอนาคตว่าจะอยู่ต่อกันอย่างไร ถ้าบ้านเมืองของเรายังคงถอยหลังอยู่แบบนี้

สําหรับที่มาของชื่อเพจ “ทูตนอกแถว” นั้น ตอนแรกจะใช้คำว่าทูตปลายแถว แต่ก็อาจจะดูฟังแล้วกระจอกไปหน่อย

ในแง่หนึ่งเราก็รู้สึกว่าเราไม่ได้เก่งอะไรกว่าคนอื่น ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองวิเศษเลิศเลอกว่าคนอื่น แต่ที่ใช้คำว่าทูตนอกแถวเพราะว่าไม่อยากจะใช้สถาบันกระทรวงการต่างประเทศมาเกี่ยวข้อง

อยากให้เห็นว่าการยืนเราไม่ได้อยู่ในแถวเดียวกับคนส่วนใหญ่ประมาณนั้น เพราะความเห็นของเราอาจจะไม่ตรงกับเพื่อนในกระทรวงการต่างประเทศเสมอไป ก็อยากให้มองว่าเรามีอิสระในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น จึงเป็นที่มาของชื่อนี้

ทูตนอกแถวผู้นี้เล่าให้ฟังอีกว่า นิสัยส่วนตัวเป็นคนที่คิดไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านตั้งแต่เด็ก เป็นคนที่ขยันตั้งคำถามและก็แปลกใจมากว่าทำไมหลายคนไม่รู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ผมเองตั้งคำถามตลอดกับทุกสิ่ง ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันจะใช่อย่างนั้นหรือเปล่าอย่างนี้หรือไม่ ผมไม่ใช่คนที่ใครเอาชุดข้อมูลชุดหนึ่งโยนมาให้แล้วก็โอเครับไปตามนั้น

ผมมักจะต้องตั้งคำถามเสมอกับทุกเรื่อง ยิ่งเป็นทูตควรจะต้องมองให้รอบด้าน รับข้อมูลให้ครบถ้วนทุกฝ่ายทุกฝั่ง แล้วมีวิจารณญาณในการศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามา ไม่ใช่ฟังข้อมูลเพียงด้านเดียว ผมเองก็เป็นอย่างนี้มาตลอด

เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ “วงการนักการทูต” ที่คนนอกมองเข้ามาว่า เป็นหนึ่งในชนชั้นนำนั้น ก็คิดว่าไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด เพราะว่าวงการทูตก็มีคนที่ทำงานสมบุกสมบัน

แต่เราอาจจะไปติดภาพจากหนังจากละคร ว่าส่วนใหญ่แล้วจะต้องเป็นผู้อยู่ในงานเลี้ยง ซึ่งนั่นเป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียว ไม่ใช่ทั้งหมด

ที่ผ่านมามีทั้งทูตที่เข้าไปทำงานการเมือง หรือกระทั่งเป็นผู้ที่ไปขึ้นเวทีปราศรัยก็มีอยู่มากมาย ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียใจ และส่วนตัวผมไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อยากให้มองว่าเป็นทูตแล้วต้องพิเศษอะไรกว่าคนอื่นด้วย

มุมมองต่อการกล่าวหาว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาครั้งนี้มีต่างชาติเข้ามาให้การสนับสนุนอยู่อยู่เบื้องหลังนั้น

ท่านทูตกล่าวว่า ขอยืมคำของน้องๆ หรือ บ.ก.ลายจุดที่กล่าวไว้ว่า คนที่รับเงินต่างชาติมามากที่สุดคือรัฐบาล ในแง่มุมนี้ก็จริง แล้วตัวผมเองก็ได้คุยกับคนหลายๆ ฝ่ายมา เท่าที่ผมสัมผัส ผมเชื่อว่าไม่มีหรอกเงินจากต่างชาติโดยตรง หรือ NGO ต่างๆ ที่เอาไปให้ม็อบ

แต่ที่อาจจะพอมีคือเขาสนับสนุนเชิงหลักการความเชื่อในการเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีตามระบอบ ตามครรลองของประชาธิปไตย ซึ่งตรงกับสิ่งที่เขาเห็นว่าเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยที่ไม่ใช่เรื่องเงิน

ยิ่งสมัยนี้โลกมันแคบลงแล้วมีเทคโนโลยีมาก เด็กพวกนี้เขาเก่งมาก มีสังคมการติดต่อ มีความสามารถในการระดมทุนได้เองโดยไม่จำเป็นจะต้องไปขอเงินต่างชาติมา

การที่บอกว่ารับเงินต่างชาติมาทำลายนู่นนี่นั่น ผมรู้สึกว่าคนเหล่านั้นดูนิยายมากไป ฟังแล้วออกแนวเพ้อเจ้อ เขาจะทำไปเพื่ออะไร? มันหมดยุคที่จะต้องทำเช่นนั้นไปแล้ว

ต่อคำว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ทูตรัศม์มองว่าเป็นคำที่เข้าใจง่าย ติดหูดี

แต่คำว่ารุ่นเราในที่นี้คือรุ่นไหน? รุ่นผมหรือรุ่นคุณ? อย่างไรก็ตาม เราต้องเข้าใจว่าทุกอย่างต้องมีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง ทุกอย่างมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คำว่าจบที่ว่าคืออะไรจบ? อาจจะกลับมาใหม่ก็ได้ของแบบนี้ เราก็ไม่รู้คำตอบแน่นอน แต่โลกก็ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนไป มีพัฒนาการของมัน

ท้ายที่สุดแล้วเรามีหน้าที่ที่จะต้องทำให้สังคมนี้ดีขึ้น เป็นธรรมขึ้น มันเป็นสิ่งที่ควรจะต้องช่วยกัน แล้วมันเป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้สังคมดีขึ้นเพื่อส่วนรวม

ซึ่งจริงๆ ผมเองจะนั่งอยู่บ้านเฉยๆ ก็ได้ ไม่ทำอะไรก็ได้ แต่ผมเห็นว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นมันไม่ถูกต้อง มันควรจะดีกว่านี้ได้

การที่ผมพูดว่าอยากเห็นส่วนรวมดีขึ้น ประเทศชาติดีขึ้น ก็ต้องพูดตามความจริงว่าในอีกแง่หนึ่งผมเองก็เห็นแก่ตัวนะ ไม่ใช่ว่าผมเห็นแก่ส่วนรวมรักประชาชนและประชาธิปไตยมากขนาดนั้น เพราะผมเชื่อว่าถ้าสังคมมันดีขึ้นกว่านี้ ผมก็จะสบายขึ้น ผมไม่ได้อยากอยู่ในสังคมที่มันเละเทะ มีแต่การถูกกดขี่ข่มเหงไม่มีความเป็นธรรม หันไปทางไหนก็หดหู่

ถึงแม้ว่าเราจะสบายก็ตาม ผมอยากอยู่ในสังคมที่ดี ซึ่งถ้าไม่ช่วยกันเลยมันจะดีได้อย่างไร

สํคัญคือในวันนี้ มันใช่แล้วหรือ ประเทศเราควรเป็นได้แค่นี้หรือ? ประเทศเราควรจะมี GDP มีระบบการพัฒนาอะไรต่างๆ แม้แต่รถ ถนนหนทางทุกอย่างมันได้แค่นี้จริงๆ หรือ มันควรจะต้องได้มากกว่านี้หรือเปล่า

ทุกวันนี้เด็กจบใหม่ทำมาหากินเงินเดือน 15,000 บาทก็ดีแล้ว

ผมถามว่ามันใช่หรือ มันจะเป็นได้แค่นี้หรอ ต้องหาวิธีทำยังไงให้มันอยู่ได้ คุณภาพชีวิตคนไทยมันได้เพียงแค่นี้เองหรือ

ถ้าคุณไปดูประเทศอื่นว่าเขาไปไหนต่อไหนกันแล้ว บางคนอาจจะสวนมาว่าให้ลองหันไปดูเพื่อนบ้านบ้าง หรือเทียบกับประเทศที่จนกว่าเรา เช่น แอฟริกา ก็ต้องถามกลับว่าทำไมคุณไปเปรียบกับประเทศเหล่านั้น ทำไมไปแข่งกับคนที่แย่กว่าเรา

ทำไมคุณไม่คิดที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้น เปรียบเทียบกับสิ่งที่ดีกว่า

ตอนนี้ไม่มีใครรู้หรอกว่า สถานการณ์จะจบอย่างไร แต่ในห้วงที่ผ่านมาผมได้ไปเจอเพื่อนในแวดวงข้าราชการทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ หรือทูตด้วยกัน เจอเพื่อนภาคเอกชนด้วยก็ยอมรับว่าจากบทสนทนา ทุกคนคิดว่าประเทศเรามีปัญหา

จะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างไร ยืนอยู่ตรงไหนก็ตาม ทุกคนรู้สึกแล้วว่าตอนนี้ประเทศมีปัญหาและอยากให้มาคุยกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณที่ดีซึ่งเราก็ต้องมีความหวัง ถ้าเราไม่มีความหวังเลยไม่ได้ ถึงแม้ว่ามันไม่ง่าย

แต่สุดท้ายสิ่งที่เกิดกับประเทศ แง่หนึ่งก็น่าเศร้าตรงที่ว่าปัญหามันเกิดจากพวกเรากันเอง หากเป็นที่อื่นเขาเกิดจากการถูกรุกราน หรือปัจจัยภายนอก นี่เราทำกันเองทั้งนั้น แต่พยายามจะไปโทษประเทศอื่นเขาอีกว่าเป็นเบื้องหลังอะไรต่างๆ ซึ่งผมเองก็มองว่ามีสัญญาณที่บวกขึ้นแล้ว ในสังคมนี้มีคนพร้อมที่จะรับฟังกันมากขึ้น

แต่อย่างว่า ก็คงต้องดูกันอีกยาวเลย

ชมคลิป