วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ‘ทอดน่องท่องเที่ยว’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

‘ทอดน่องท่องเที่ยว’

ด้วยเหตุใดไม่ทราบแน่ แต่ผลย่อมเกิดแต่เหตุหนึ่งจากเหตุสองสามประการ
เมื่อครั้งที่เรียนโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ของขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ และเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ นับแต่พุทธศักราช 2504 เดือนพฤษภาคม เปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษานั้น ในชั้นเรียนเรียกอย่างเป็นทางการว่าเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 เรียกทั่วไปว่า มัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเรียกอย่างย่นย่อว่า มอ 7 มอ 8 เพื่อหวังไปเรียนต่ออุดมศึกษา มหาวิทยาลัย ของทั้งสามคน และเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกัน
ด้วยความที่เป็นนักอ่านในเบื้องต้นของทั้งสามคน ด้วยความที่เป็นนักท่องไปในย่านทั้งหลายทั้งปวงของขรรค์ชัย และด้วยความเป็นนักกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจของสุจิตต์ กับการเป็นผู้จัดทำหนังสือโรงเรียนของเรืองชัย ทำให้หลายครั้ง เหตุจากทุกประการจึงมาประสานสัมพันธ์กัน ณ ห้องเรียน ในโรงเรียนบ้าง นอกห้องเรียน นอกโรงเรียนบ้าง กิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงจากเมื่อนั้นจึงทอดยอดมาถึงเมื่อนี้
อาทิ กิจกรรมของสุจิตต์ ขรรค์ชัย จากเมื่อครั้งสอบเข้าเรียนในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร การเดินทางไปยังแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ เพื่อทั้งการเรียนและการศึกษา
จึงผูกสัมพันธ์มาเป็นกิจกรรม “ทอดน่องท่องเที่ยว” ในวันนี้

คําว่า “ทอดน่องท่องเที่ยว” เกิดขึ้นเมื่อครั้งสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องแหล่งศิลปินนักดนตรีไทย ณ ละแวกบ้านสมเด็จเจ้าพระยาครั้งเป็นวิทยาลัยครู แล้วทางวิทยาลัยจัดรายการทอดน่องท่องเที่ยวในย่านนั้น เพื่อรองรับการบรรยายทั้งทางวิชาการและสถานที่จริง
รวมไปถึงทุกครั้งที่ทั้งสองหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว สุจิตต์ วงษ์เทศ ทำนิตยสารโบราณคดีของคณะโบราณคดี ต่อเนื่องนิตยสารรายเดือนศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2522 ต้องเดินทางออกไปยังแหล่งวัตถุดิบตามสถานที่หลายแห่งในแต่ละจังหวัด เพื่อนำ “เรื่อง” มานำเสนอในศิลปวัฒนธรรมทุกเดือน
ส่วนขรรค์ชัย บุนปาน ต้องเดินทางออกไปจังหวัดต่างๆ หลังมติชนออกจำหน่ายแล้วตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2521 เพื่อเยี่ยมเอเย่นต์-ร้านจำหน่ายหนังสือพิมพ์ในแต่ละจังหวัดกับฝ่ายจัดจำหน่ายบ้าง ฝ่ายกองบรรณาธิการบ้าง และฝ่ายอื่นบ้าง หลายครั้งต้องออกไปพบแหล่งข่าวด้วยตัวเอง พร้อมผู้สื่อข่าว
ระหว่างออกเดินทางไปพร้อมบรรณาธิการ และเพื่อนนักข่าว เรื่องที่ขรรค์ชัยปฏิบัติเป็นประจำสองเรื่อง คือเสาะหาร้านอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวอร่อยตามตำบล อำเภอ และจังหวัด พาพวกเราแวะกินทั้งก่อนและหลังปฏิบัติหน้าที่การงาน
อีกเรื่องหนึ่ง ระหว่างทาง ผ่านสถานที่สำคัญของจังหวัด แหล่งโบราณคดี แหล่งเคยขุดเจาะ สำรวจร่วมกับสุจิตต์มาบอกเล่าความรู้ให้พวกเราและเกร็ดระหว่างนั้น ทั้งเรื่องสถานที่ เหตุการณ์ และบุคคลที่พบเจอ

ระหว่างเรียนที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ขรรค์ชัยมักชวนสุจิตต์ไปตามแหล่งวัดเก่า วัดที่เป็นโบราณสถาน วัดที่มีพระดี มีหลวงพ่อหลวงปู่เจ้าอาวาสซึ่งมีประวัติเกี่ยวข้องในสมัยรัชกาลกรุงรัตนโกสินทร์ กรุงธนบุรี กรุงศรีอยุธยา หรือขึ้นไปถึงสมัยสุโขทัย แล้วเก็บข้อมูลมาค้นคว้าต่อ โดยเฉพาะสุจิตต์นำมาศึกษาต่อเนื่อง
ครั้งหนึ่ง เรา-ขรรค์ชัย ผม กับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน พากันเดินลัดเลาะผ่านเข้า “ทางใน” คือไม่ใช่ทางถนน เข้าไปยังแถบวัดจอมทอง วัดหนัง วัดใหม่ยายนุ้ย ออกไปวัดขุนจันทร์ วัดอัปสรสวรรค์ หรือวัดหมู วัดนางชี ผ่านประตูน้ำภาษีเจริญ ทะลุไปย่านบ้านสมเด็จ ผ่านวงเวียนเล็ก เข้าไปย่านท่าดินแดง ย้อนกลับมาวงเวียนใหญ่ แล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันที่ตลาดพลู กลับบ้านใครบ้านมัน ถึงบ้านเมื่อค่ำแล้ว
นั้นอาจเป็นเหตุให้เรารู้จักท้องถิ่นตรอกซอกซอยย่านฝั่งธนฯ บริเวณหนึ่งได้ถึงทุกวันนี้

ถิ่นฐานบ้านช่องที่เป็นบ้าน ที่เป็นตำบล ล้วนแล้วแต่มีประวัติมาแต่เก่าก่อน เมื่อ “มติชน” จัดทำข่าวโทรทัศน์ จึงเกิดรายการแวะโบราณสถาน วัดวาอาราม แนะนำให้ “ท่านผู้ชม” รู้จักทางโทรทัศน์ แทนที่จะได้รู้จักจากการอ่านเพียงสถานเดียว เพราะการอ่านได้รู้เห็นได้ความรู้จากเรื่องที่อ่าน แต่รายการโทรทัศน์ได้ทั้งรับรู้และเห็นภาพ รวมถึงเมื่อมีโอกาสจะได้เดินทางท่องเที่ยวกับเขาบ้าง นับว่ามีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง
เมื่อเริ่มแรกจัดทำรายการ “ทอดน่องท่องเที่ยว” ยังมิได้เป็นกิจจะลักษณะว่ามีวันไหน เวลาใด เมื่อจะไปที่ไหน ทั้งสองคนจึงชวนกันไปให้ทั้งความรู้ จัดทำรายการมานำออกเสนอต่อผู้ชมโทรทัศน์ช่องข่าวมติชน เพื่อให้มีรายการ “ท่องเที่ยว” เพิ่มขึ้นจากรายการอื่น
เมื่อนำไปถ่ายทอดออกโทรทัศน์ แล้วยังนำมาถอดความออกเป็นงานเขียนใน “มติชนรายวัน” อีกครั้งหนึ่ง กระทั่งทุกวันนี้ กลายเป็นรายการประจำ “ทอดน่องท่องเที่ยว” ทั้งทางโทรทัศน์ และทางหน้าหนังสือพิมพ์มติชนทุกสัปดาห์ เป็นวันใดวันหนึ่ง เข้าใจว่า รายการโทรทัศน์เป็นค่ำวันพฤหัสบดี ส่วนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนนำเสนอในหน้า “ประชาชื่น” หน้า 13 สัปดาห์ละ 1 วัน

ตัวอย่างเมื่อครั้งที่สองกุมารสยามไปทอดน่องท่องเที่ยวที่ “แสนแสบ-ทุ่งบางกะปิ” ประชาชื่นเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2563 ชื่อเรื่อง “ที่เคยเชื่อ อาจไม่ใช่ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ชวนอ่าน (ใหม่) ภูมิศาสตร์ใน ‘แสนแสบ-ทุ่งบางกะปิ'”
“พรรณราย เรือนอินทร์” ขึ้นต้นเรื่องไว้ว่า
“การศึกษาไทยให้ความสำคัญกับสงครามวีรบุรุษเกินเหตุ ไม่ใช่ว่าต้องตัดทิ้ง แต่มากไปจนไม่มีสังคม ตัดขาดการศึกษา แม่น้ำลำคลอง ถ้าเราไม่เข้าใจ ไม่ได้เรียนรู้ ก็ไม่มีวันมองเห็นความสำคัญ นี่คือปัญหาโครง สร้างหลักสูตร ถ้าการเมืองยังเป็นแบบนี้ มันแก้ไม่ได้ ใช้อำนาจกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องรัก ผูกพัน และเห็นคุณค่า”
ไม่ใช่คำกล่าวบนแห่ หรือเวทีอภิปรายของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว” แต่เป็นบางช่วงบางตอน จากความเห็นของอดีตนักเรียนดีเด่นที่ชอบโดดเรียนไปศึกษานอกหลักสูตรตามวัดวาอาราม อย่างสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์อาวุโส เช่นเดียวกับขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน ผู้เติบโตในบริเวณริมคลองด่านย่านบางขุนเทียน ที่สนับสนุนสุดแรงในด้านการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองเสมอมา โดยเน้นย้ำ “น้ำ คือ ชีวิต”
รายการ “ทอดน่องท่องเที่ยว” นำเสนอเมื่อค่ำคืนวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน ในตอน “ขวัญของเรียม คลองแสนแสบ เส้นทางยุทธศาสตร์และขนส่ง” เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินรายการ
“ทอดน่องท่องเที่ยว” วันนี้ น่าจะเชื่อมโยงระหว่าง “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” นับแต่เริ่มจัดทำห้องสมุดโรงเรียน นำหนังสือไปให้ห้องสมุดโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยทั้งที่ภาคใต้และทั่วประเทศ
เริ่มพัฒนาแหล่งน้ำตั้งแต่คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร และคลองอีกหลายสายถึงวันนี้