สุจิตต์ วงษ์เทศ/ไล่น้ำลดท่วมข้าว ด้วยขบวนเรือ ‘รัฐนาฏกรรม’

พยุหยาตราทางชลมารคกระบวนใหญ่สุดของกรุงศรีอยุธยา ในพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำและดินเป็นประจำทุกปี (โดยไม่มีเห่เรืออย่างที่เข้าใจทุกวันนี้) เพื่อขอให้ไพร่บ้านพลเมืองอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร [ภาพพิมพ์โดยนักทำแผนที่ชาวฮอลันดา พ.ศ.2262 ตรงกับแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ จากห้องสมุดส่วนบุคคล ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช พิมพ์ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง สำนักพิมพ์มติชน 2549]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ไล่น้ำลดท่วมข้าว

ด้วยขบวนเรือ ‘รัฐนาฏกรรม’

“ไล่เรือ” พบรายการในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนต้น หมายถึงไล่น้ำให้ลดด้วยเรือ (เพื่อชาวนาเข้าเก็บเกี่ยว) เป็นพิธีกรรมในศาสนาผี ที่ห่อหุ้มคลุมด้วยพุทธ, พราหมณ์-ฮินดู และเป็นนาฏกรรมแห่งรัฐเพื่อแสดงและผดุงอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของพระราชาสมัยอยุธยา

ไล่เรือ ก็คือไล่น้ำ มีบอกในทวาทศมาส (โคลงดั้น) ว่า “ไล่ชล” เข้ากับวัฒนธรรมลาวลุ่มน้ำโขงเรียก “ไหลเฮือ” หมายถึงปล่อยเรือให้ลอยไหลตามน้ำ เพื่อผลักดันมวลน้ำให้ลดลงเร็วๆ

พระราชพิธีไล่เรือมิได้กำหนดช่วงเวลาตายตัว (เป็นพิธีจร) ตั้งแต่เดือน 11 (กันยายน-ตุลาคม) ถึงเดือน 12 (ตุลาคม-พฤศจิกายน) และเดือน 1 หรือเดือนอ้าย (พฤศจิกายน-ธันวาคม) พบหลักฐานในเอกสารโบราณสมัยอยุธยาตอนต้น ได้แก่ กฎมณเฑียรบาล, ทวาทศมาสโคลงดั้น ฯลฯ

ไล่เรือ หรือไล่น้ำ ทำโดยพระราชาเสด็จพยุหยาตราชลมารค (ทางน้ำ) ตั้งแต่เกาะเมืองอยุธยา ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปทำพิธีที่บางขดาน (ปัจจุบันคือบางปะอิน) เมื่อเสร็จแล้วเสด็จกลับเกาะเมืองทางน้ำ

ต้นแบบแห่พระทางน้ำ (ทางเรือ) คือพิธีไล่เรือ หรือไล่น้ำ เพราะนำขบวนด้วย “เรือเชิญพระพุทธรูป” แล้วตามด้วยเรือทรงของพระราชา และเรืออื่นๆ ตามแบบแผนขบวนเสด็จ

บางท้องถิ่นสมัยหลังสืบจนปัจจุบันเรียกแห่พระทางน้ำต่างๆ กัน เช่น ชักพระ, โยนบัว-รับบัว บูชาพระพุทธรูปในเรือ เป็นต้น

 

ขบวนเรือพิธีไล่น้ำ

ไล่เรือทำโดยเชิญพระพุทธรูปลงเรือ แล้วแห่แหนล่องไปทำพิธีผี-พุทธ-พราหมณ์ที่บางขดาน (บางปะอิน)

กฎมณเฑียรบาลจดพิธีไล่เรืออย่างกะทัดรัด สั้น ห้วน อ่านไม่ง่าย เข้าใจยากมาก เลยต้องเทียบพิธีไล่เรือในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา แผ่นดินพระเอกาทศรถ โดยสรุปตามลำดับ ดังนี้

  1. เรือนำขบวน (หัวเรือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์) เชิญพระพุทธรูป 2 องค์ ลงลำเดียวกัน
  2. เรือต้นขบวน (หัวเรือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์) พระเจ้าแผ่นดินประทับเรือต้น เข้าขบวนแห่พระพุทธรูป
  3. ขบวนเรือ (ไม่มีเห่เรือแบบที่รู้จักปัจจุบัน) จากอยุธยา ล่องไปมีพิธีกรรมที่บางขดาน ทุกวันนี้เรียกบางปะอิน
  4. พิธีกรรมไล่เรือบริเวณ “ดินสะดือ” อยู่บางขดาน
  5. ปูนบำเหน็จเลื่อนตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ขุนนางข้าราชการ
  6. พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพยุหยาตรากลับไปประทับท่าวาสุกรี (หัวรอ) คอยทอดพระเนตรขบวนแห่พระพุทธรูปกลับจากบางขดาน (บางปะอิน)
  7. ขบวนเรือแห่พระพุทธรูป 2 องค์ กลับอยุธยาขึ้นท่าวาสุกรี (หัวรอ) แล้วเชิญด้วยพระคชาธารกลับไปประดิษฐานในวัดพระศรีสรรเพชญ์

เส้นทางขบวนเรือพิธีไล่น้ำ ผ่านตำบลสำคัญๆ มีบอกในทวาทศมาสโคลงดั้น ดังนี้

(1.) เกาะเมืองอยุธยา (จากตรงไหนไม่รู้?) (2.) น้ำวนบางกะจะ (หน้าวัดพนัญเชิง) (3.) เกาะเรียน (4.) ขนอนหลวง (วัดโปรดสัตว์) (5.) เกาะพระ (คลองโพธิ์-บ้านเลน) (6.) บางขดาน (บางปะอิน)

เครื่องประโคม ไม่พบในเอกสาร แต่โบราณราชประเพณีตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม (ก่อนกรุงศรีอยุธยา) กำหนดว่าขบวนเสด็จทางชลมารค (ทางเรือ, ทางน้ำ) ประโคมด้วยปี่ชวา-กลองแขก

ปี่ชวา คือ “สรไน” (เครื่องเป่าของเปอร์เซียจากอิหร่าน) ซึ่งรับจากราชสำนักชวา (บนเกาะชวา อินโดนีเซีย) สมัยหลังไทยเรียกอีกชื่อว่าปี่ไฉน

กลองแขก คือ กลองสองหน้าในวัฒนธรรมมลายู ซึ่งรับจากราชสำนักปัตตานี

 

ไล่น้ำกลับลงบาดาล

พิธีผี-พราหมณ์-พุทธ เพื่อไล่น้ำกลับลงบาดาลที่บางขดาน (บางปะอิน) ไม่เคยพบหลักฐานบอกลำดับหมายกำหนดการว่าเริ่มอย่างไร? จบตรงไหน?

แต่โดยประเพณีที่คุ้นเคยสืบเนื่องมาหลายพันปี ทำให้น่าเชื่อว่าเริ่มพิธีกรรมด้วยสวดมนต์เย็น, อ่านโองการทำขวัญ แล้วจบด้วยเห่กล่อม เป็นเสร็จพิธี มีเครื่องประโคม เช่น ปี่พาทย์พิธี, ฆ้องชัย, เป่าสังข์, ไกวบัณเฑาะว์ ฯลฯ

สวดมนต์เย็น เป็นพิธีสงฆ์ตามปกติ

อ่านโองการทำขวัญ (มีตั้งบายศรี) เป็นพิธีผีปนพิธีพราหมณ์ โดยพราหมณ์พื้นเมือง (หมายถึงหมอขวัญพื้นเมืองที่นับถือพราหมณ์แล้วบวชพราหมณ์ ทำงานรับราชการ) อ่านโองการเชิญเทวดามหาเทพด้วยทำนองทำขวัญในศาสนาผี แล้วเชิญแม่พระคงคากับแม่พระธรณีคือผีน้ำผีดิน จากนั้นพรรณนาความเดือดร้อนต่างๆ แล้ววิงวอนร้องขอผีสางเทวดาอารักษ์ช่วยขจัดปัดเป่าความเดือดร้อนนั้นบรรเทาลง

เห่กล่อม ขับลำด้วยกลอนเพลง (บางที่เรียกกาพย์กลอน) เพื่อขอขมาผีน้ำผีดิน แล้ววิงวอนร้องขอจงบันดาลให้มวลน้ำเคลื่อนลงช่องทางรูดินสะดือกลับสู่บาดาลโลก เพื่อน้ำลดออกไปจากท้องนา

เห่กล่อม ไม่ใช่เห่เรือ เห่กล่อมทำบนบกบริเวณ “ดินสะดือ” บางขดาน (บางปะอิน) ไม่ได้ทำบนเรือลอยกลางน้ำ (แต่อาจเป็นต้นทางเห่เรือก็ได้ในสมัยหลังจากนั้น)

เห่กล่อม หมายถึง ขับลำด้วยทำนองแสดงความนอบน้อมอย่างยิ่ง ซึ่งทำโดยยืดเสียงเนิบช้าเพื่อให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้ม มักใช้ในสถานการณ์เฮี้ยนหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น เห่กล่อมพระบรรทมถวายเจ้านายชั้นสูงที่จะเข้าบรรทม, เห่กล่อมพระบรรทมทารกราชบุตรธิดา เป็นต้น (นอกจากนั้น ยังใช้ในพิธีขับไม้สังเวยกล่อมช้างต้น)

เห่กล่อมแม่ย่านาง ชาวบ้านเก็บเรือยาวไว้บนบกในวัด เมื่อถึงฤดูจะใช้แข่งเรือต้องระดมคนช่วยกันเข็นจากคานเรือลงน้ำ ขณะนั้นต้องร้องเพลงเห่กล่อมโดยมีต้นเสียงร้องขอขมาแม่ย่านางเรือ แล้วลูกคู่ร้องตาม กระทั่งเข็นเรือยาวลงถึงฝั่งน้ำ