วิเคราะห์ | “ราษฎร” ไม่ลดเพดาน ตรึง 3 ข้อเรียกร้องเดิม “บิ๊กตู่” ขอถอยคนละก้าว สัญญาณ “ลับ-ลวง-จับ”?

ท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ต่อสถานการณ์การชุมนุม ด้วยการเรียกร้อง “ถอยคนละก้าว” ออกห่างจากเส้นทางสู่ปากเหว

ตามด้วยยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อหวังลดอุณหภูมิม็อบราษฎรที่รุกไล่ให้นายกรัฐมนตรีลาออก

ทว่าการถอยคนละก้าวกลับสวนทางความเป็นจริงในทางปฏิบัติโดยสิ้นเชิง

แม้แกนนำผู้ชุมนุมบางคนถูกจับกุม แล้วปล่อยตัว แต่อีกหลายคนก็โดนตำรวจไล่ตามจับกุมคุมขังต่อเนื่อง รวมถึงการตามอายัดตัวแกนนำที่ศาลสั่งปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ด้วยหมายจับอันมีพิรุธน่าสงสัย

คำถามทั้งหมดจึงถูกโยนกลับไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการถอยคนละก้าวจริงหรือไม่

หรือเพียงปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ

พูดดี แต่ในใจไม่บริสุทธิ์ มุ่งคิดร้ายต่อผู้ชุมนุม

นับตั้งแต่ถ้อยแถลงถอยคนละก้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

แกนนำและผู้ชุมนุมก็ยังคงโดนตำรวจไล่ตามจับกุมดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง

สิ้นเสียงคำประกาศผ่านทีวีพูลของ พล.อ.ประยุทธ์ วันเดียวกับม็อบราษฎรจัดชุมนุมแบบเบิ้มๆ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเคลื่อนขบวนมายังทำเนียบรัฐบาล

หลังการชุมนุม ตำรวจนอกเครื่องแบบได้เข้าจับกุม น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แกนนำคณะราษฎร ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีชุมนุมแยกราชประสงค์ วันที่ 15 ตุลาคม

มายด์ถูกนำตัวส่งศาลก่อนได้รับการประกันตัว

26 ตุลาคม ม็อบราษฎรนัดชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ยื่นข้อเรียกร้องผ่านเจ้าหน้าที่สถานทูต จากนั้น น.ส.ภัสราวลีอ่านแถลงการณ์ โดยมีผู้ชุมนุมร่วมอ่านแถลงการณ์ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ เยอรมัน

นำมาสู่กรณีตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับ 5 คน

ประกอบด้วย มายด์ ภัสราวลี และอีก 4 คน ซึ่งเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาไทย คือนายกรกช แสงเย็นพันธ์, นายชนินทร์ วงษ์ศรี, นายชลธิศ โชติสวัสดิ์ และ น.ส.เบนจา อะปัญ

อย่างไรก็ตาม ศาลพิจารณาเห็นว่าทั้ง 5 คนยังเป็นนักศึกษา จึงให้ออกหมายเรียกแทนหมายจับ

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงออกหมายเรียกทั้ง 5 คน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ

กรณีดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากในวันเดียวกันแต่คนละเวลา กลุ่มคนเสื้อเหลืองนำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา ได้มาชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีเช่นกัน

กลับถูกเปรียบเทียบปรับ 200 บาท ในความผิดชุมนุมใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

อีกเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐถูกตั้งคำถามอย่างหนัก

เมื่อศาลอาญาสั่งยกคำร้องตำรวจขอฝากขัง ทำให้นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม

แต่เมื่อถึงเวลามีเพียงหมอลำแบงค์ได้รับอิสรภาพ

ส่วนไมค์-เพนกวิน-รุ้ง ถูกตำรวจตามอายัดตัวถึงในเรือนจำ โดยอ้างหมายจับ สภ.เมืองนนทบุรี สภ.เมืองอุบลราชธานี และ สภ.เมืองพระนครศรีอยุธยา นำตัวทั้ง 3 มาลงบันทึกคุมตัวชั่วคราว สน.ประชาชื่น

สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มผู้ชุมนุมอย่างมาก ทนายความแกนนำทั้ง 3 คนชี้แจงว่าหมายจับทั้ง 3 หมายสิ้นสภาพแล้วเนื่องจากดำเนินการครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การไปพบพนักงานสอบสวน รับแจ้งข้อกล่าวหา พิมพ์ลายนิ้วมือ จึงไม่มีเหตุต้องอายัดตัวไปสอบปากคำอีก

สถานการณ์ลุกลามบานปลายเมื่อผู้ชุมนุมไม่พอใจการทำงานของตำรวจ นัดมารวมตัวหน้า สน.ประชาชื่น ล้อมรถคุมตัวผู้ต้องขัง เรียกร้องปล่อยตัวไมค์-เพนกวิน-รุ้งทันที

ในเหตุการณ์ ไมค์เป็นลมหมดสติภายในรถคุมขัง ต้องส่งตัวไปโรงพยาบาล เช่นเดียวกับเพนกวิน-รุ้ง ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพระราม 9 เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บและอิดโรย

วันที่ 31 ตุลาคม ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยานัดพิจารณา มีคำสั่งระบุเนื่องจากตำรวจสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนที่เหลือไม่จำเป็นต้องควบคุมตัว และไม่ปรากฏหลักฐานว่าจะหลบหนี

ทั้ง 3 คนจึงได้รับการปล่อยตัว แต่ยังนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเดินหน้าเร่งรัดดำเนินคดีไม่ลดละ ปรากฏเป็นภาพนำหมายอายัดตัวให้ทั้ง 3 คนเซ็นรับถึงเตียงคนไข้

รุ้งโดนอายัดตัวในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีชุมนุมบนสกายวอล์ก แยกปทุมวัน วันที่ 5 และ 22 มิถุนายน

สภ.เมืองอุบลราชธานี นำหมายอายัดตัวเพนกวิน และตำรวจ สภ.เมืองระยอง นำหมายมาอายัดตัวไมค์

ต่อมาศาลเเขวงปทุมวันยกคำร้องขอฝากขังรุ้ง โดยเห็นว่ายังเป็นนักศึกษา และไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี

รวมถึงเพนกวิน-ไมค์ ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังเช่นกัน

กระนั้นก็ตาม พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ระบุทั้งไมค์-เพนกวิน และรุ้ง ยังมีหมายอื่นที่ต้องอายัดตัว และไม่สามารถหยุดดำเนินการได้ โดยยังมีหมายจับอีกกว่า 80 หมายรออยู่

แต่ที่เป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ของจริง กรณีวันที่ 2 พฤศจิกายน ศาลอาญายกคำร้องขอฝากขังผัดที่ 3

ให้ปล่อยตัวนายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายสุรนาถ แป้นประเสริฐ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน โดยไม่มีเงื่อนไข

หลังได้อิสรภาพคืนมา ทนายอานนท์ขึ้นกล่าวขอบคุณกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยอมเป็นเครื่องมือระบอบเผด็จการ

พร้อมประกาศยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องเดิมของผู้ชุมนุม

ด้านความเคลื่อนไหวทางฝั่งรัฐบาล

มีการเสนอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 26-27 ตุลาคม เพื่อให้มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ

ในสายตาของสังคมมองว่า เป็นเพียงการเปิดพื้นที่ให้ ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว.อภิปรายโจมตีให้ร้ายกลุ่มผู้ชุมนุม มากกว่าเปิดเพื่อรับฟังปัญหาและเสนอแนะทางออกจากวิกฤต

ถึงแม้ผลที่ได้จะมีการเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ชุมนุมมองไม่ออกว่าเป็นการเสนอตั้งขึ้นมาก็เพื่อซื้อเวลาอยู่ในอำนาจต่อไปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลหรือไม่

ผู้หนึ่งที่มีบทบาทกรณีดังกล่าวคือ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าหารือ

พร้อมส่งเทียบเชิญไปยัง 4 อดีตนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้าร่วมคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์

แล้วก็ยังเป็นนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ แสดงความเห็น ไม่เชื่อว่าคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์จะหาทางออกให้ประเทศได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตอาจมีความต้องการใช้คณะกรรมการเป็นเครื่องมือบีบนายกรัฐมนตรีลาออกหรือไม่

เช่นเดียวกับนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พลังประชารัฐ ไม่เห็นด้วยกับการเชิญ 4 อดีตนายกฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการ

เนื่องจากนายอานันท์ ล่าสุดออกมาบอกให้ พล.อ.ประยุทธ์ฟังเสียงเรียกร้องของผู้ชุมนุม เด็ก นักศึกษา หวังส้มหล่นเข้ามาเป็นนายกฯ เสียเอง ส่วนนายอภิสิทธิ์ก็ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์มาตั้งแต่แรก

ขณะที่นายสมชายก็รู้อยู่ว่าฝักใฝ่ฝ่ายใด

ทั้งหมดสะท้อนสถานการณ์ยังเดินหน้าไปในทิศทางตรงข้ามกับการ “ถอยคนละก้าว” ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสัญญาณ

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังรุกไล่ดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุมไม่ลดละ จับกุม อายัดตัวซ้ำแล้วซ้ำอีก

การพิจารณาของศาลที่มีคำสั่งทยอยปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุมออกจากเรือนจำโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าทนายอานนท์ เพนกวิน รุ้ง ไมค์ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีบางสิ่งผิดปกติภายในกระบวนการยุติธรรม

ขณะเดียวกันคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ที่ยังอยู่ระหว่างก่อรูป กลับถูกมองว่ามีเจตนาตั้งขึ้นมาเพื่อซื้อเวลา และผลลัพธ์ไม่น่าต่างจากคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์หลายชุดก่อนหน้านี้

หลังจากแนวทาง “ถอยคนละก้าว” ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ จับๆ ปล่อยๆ หวังให้แกนนำผู้ชุมนุมเหนื่อยล้า

แกนนำราษฎรก็เปิดแถลงกลางสนามหลวง ยืนยันไม่ลดเพดาน 3 ข้อเรียกร้องเดิม และไม่ยอมรับการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่เป็นเพียงการแสดงละครทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล เพื่อซื้อเวลาให้ พล.อ.ประยุทธ์

สถานการณ์จึงยังคงสภาพคุกรุ่น รอเวลา “แตกหัก” มากกว่าการประนีประนอมให้แก่กัน