เมื่อทวิภาคีเป็นทางลัด สู่การคอร์รัปชั่น

การคอร์รัปชั่นถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมโลก โดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นในแวดวงเจ้าหน้าที่รัฐบาล ที่ใช้อิทธิพลทางการเมืองและธุรกิจของครอบครัว ครอบงำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ภายใต้ข้ออ้างการสร้างอนาคตที่ดีหรือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

ด้วยรูปโฉมและคำพูดอันสดใสนี้ กลับแฝงด้วยช่องทางในการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อหาประโยชน์เข้าตัวเองและเครือข่ายอย่างไม่มีสิ้นสุด

ตราบใดที่เรื่องไม่แดงออกไปหรือถูกขุดคุ้ยโดยนักข่าวสืบสวน ปัญหานี้ยังคงบ่อนเซาะการพัฒนาและโอกาสให้กับคนจำนวนมาก

กัดกินประเทศเหล่านั้นให้เหลื่อมล้ำเลวร้ายจนสังคมพังทลายลง

 

เรื่องการทุจริตที่ถูกเปิดโปงหลายครั้ง มาจากการทำงานอย่างหนักของนักข่าวสืบสวนที่ยอมเสี่ยง เผยความเลวร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ในโครงการหรือนโยบายของรัฐบาลออกสู่สาธารณชน

ไม่ว่ากรณีเอกสารปานามา ที่แฉการหลีกเลี่ยงภาษีและฟอกเงินมหาศาลผ่านบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งนอกอาณาเขต (Offshore Business)

หรือกรณี 1MDB อันอื้อฉาว

หรือล่าสุดอย่างฟินเซน ไฟล์ ที่แฉการฟอกเงินและธุรกรรมโดยมิชอบที่เกี่ยวพันถึงธนาคารใหญ่ในหลายประเทศ

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แฟคโฟกัส เครือข่ายนักข่าวสืบสวนของปากีสถานได้พบปัญหาการทุจริตในโครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและปากีสถานอย่างระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) หรือเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนยุคสีจิ้นผิงที่เชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจของจีนกับหลายประเทศซึ่งมีนัยยะสำคัญทั้งระบบเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์

แฟคโฟกัสพบว่า อาซิม บัชวาร์ อดีตนายพลของปากีสถานที่ได้กลายเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีในรัฐบาลอิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน และยังเป็นประธานคณะกรรมการของ CPEC ใช้ตำแหน่งในการตั้งบริษัทนอกอาณาเขตเพื่อทุจริตทางการเงินให้กับครอบครัวและวงศ์ญาติของบัชวาร์ ซึ่งมีบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งทั้งในปากีสถาน ดูไบ และหลายเมืองในสหรัฐ

บัชวาร์เริ่มเป็นที่รู้จักจากธุรกิจส่งพิซซ่าจนกลายเป็นแฟรนไชส์ใหญ่สหรัฐและขยับสร้างอาณาจักรธุรกิจจนมีบริษัทภายใต้ครอบครัวบัชวาร์ร่วม 99 แห่งใน 4 ประเทศ

ซึ่งย้อนกลับไปหลายปีก่อน นาดีม บัชวาร์ น้องชายคนสุดท้องของอาซิม เปิดร้านพิซซ่าที่แรกเมื่อปี 2544 เป็นเวลาประจวบพอดีที่อาซิมเข้าทำงานกับรัฐบาลนายพลเปอร์เวซ มูชาราฟ ขณะดำรงยศพันโท

นำไปสู่การสร้างฐานอำนาจของบัชวาร์พร้อมกับใช้อิทธิพลขยายธุรกิจของครอบครัวจนเติบโต

 

จนกระทั่งอาหมัด นูรานี นักข่าวสืบสวน ออกมาเปิดโปงการพัวพันกับเรื่องทุจริตของนายพลอาซิมและครอบครัวบัชวาร์ ซึ่งผลก็คือการถูกสถานีโทรทัศน์ของทางการปากีสถานโจมตีข่าวสืบสวนของนูรานีเป็นข่าวปลอม เจอโทรศัพท์ขู่ฆ่า หรือสื่อกระแสหลักในประเทศก็ไม่นำเสนอข่าวของเขา

อย่างไรก็ตาม รายงานของนูรานีได้เผยแพร่ในสื่อทางเลือก รวมถึงเอเชีย นิกเคอิ รีวิว จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ สังคมและโซเชียลมีเดียต่างออกมากดดันให้นายพลบัชวาร์ลาออกจากตำแหน่งและเปิดให้มีการสืบสวนคดีทุจริต

โดยข้อกล่าวหาทุจริตที่บัชวาร์เจอคือ ความไม่โปร่งใสของต้นทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ความร่วมมือทวิภาคีมูลค่า 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่คณะกรรมการที่รัฐบาลปากีสถานแต่งตั้งขึ้นก็ออกมาชี้แจงผลการสืบสวนว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของต้นทุนไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งกลบความผิดปกติของบริษัทเอกชนด้านพลังงานของจีน

มูลนิธิยุโรปเพื่อเอเชียใต้ศึกษา หรืออีเอฟเอสเอเอส วิเคราะห์ว่า นี่เป็นความผิดปกติบางอย่างต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นกับผู้มีอิทธิพลทั้งฝั่งจีนและปากีสถาน หากนายพลบัชวาร์ได้ประโยชน์จากการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับ CPEC นักการเมืองและข้าราชการปากีสถานหลายคนก็คงทำแบบเดียวกันด้วย

แสดงให้เห็นว่าการทุจริตกัดกินแบบลงลึกอย่างหนัก

 

ฮุสเซน ฮัคคานี อดีตทูตปากีสถานประจำสหรัฐและผู้อำนวยการด้านเอเชียใต้-กลางของสถาบันฮัดสันได้ลงบทความในเดอะ ดีโพรมัต เว็บไซต์วิเคราะห์การเมืองเอเชีย-แปซิฟิก ระบุว่าโครงการด้านพลังงานที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือ CPEC คณะกรรมการตรวจสอบ พบว่าบริษัทด้านพลังงานของจีนเป็นผู้กำหนดราคาต้นทุนซึ่งสูงเกินจริงกว่าราคาตามกลไกตลาด สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนทำธุรกิจอย่างไม่ปรานี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ชาวปากีสถานมองจีนเป็นเหมือนมิตรที่ไว้ใจมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นทุจริตอันฉาวโฉ่ของนายบัชวาร์ก็กลับถูกทำให้เงียบหายโดยรัฐบาล และนายพลบัชวาร์แม้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยในรัฐบาล แต่อิมราน ข่าน ก็ไม่ยอมรับการลาออก

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้มองกลับมาที่ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-จีน ทั้งในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือโครงการก่อสร้างในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่กำลังเดินหน้า ว่ามีกลไกอะไรบ้างที่จะตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไม่ให้ต่างชาติครอบงำ

เพื่อไม่ให้ประชาชนชาวไทยต้องเจอเรื่องแบบเดียวกันไปด้วย